Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไรัรัฐ ยื่นจดหมายถึงประธานคณะกรรมมาธิการกิจการเด็กฯ สภาผู้แทนราษฎร หนุนถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

31 ส.ค.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการอไซลัมแอคเซสประเทศไทย ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไรัรัฐ ร่วมกับองค์กรสมาชิกเครือข่าย ยื่นจดหมายสนับสนุนเรื่องการถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ต่อ มุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคณะกรรมาธิการได้จัดงานสัมมนาเรื่อง ความเป็นไปได้และข้อห่วงใยในการถอนข้อสงวนในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อที่ 22   

โดยมีรายละเอียด :

เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (the Coalition for the Rights of Refugees and Stateless Persons หรือ CRSP) เป็นเครือข่ายการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทยที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัยและ คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ได้ติดตามการพัฒนาสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ภายใต้กฎหมายและนโยบายของรัฐไทย เครือข่ายฯ ขอสนับสนุนให้รัฐบาลไทยถอนข้อสงวนข้อ 22 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในการประกันว่าเด็กที่ร้องขอสถานะผู้ลี้ภัย หรือเด็กที่ได้รับการพิจารณาเป็นผู้ลี้ภัยจะได้รับการคุ้มครองและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่เหมาะสม เครือข่ายขอแสดงเหตุผลสนับสนุนการถอนข้อสงวนดังต่อไปนี้

1. ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในจำนวน 196 ประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ยังไม่ถอนข้อสงวนข้อที่ 22 รัฐภาคีอื่น ๆ ที่ได้เคยตั้งข้อสงวน ได้ถอนข้อสงวนดังกล่าวแล้ว เช่น เยอรมนี อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเนเธอร์แลนด์

2. คณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แนะนำให้ประเทศไทยพิจารณาถอนข้อสงวนข้อ 22 ได้ระบุในข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding observations ) ต่อรายงานประเทศไทย ครั้งที่ 1 ภายใต้ข้อ 44 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยระบุในย่อหน้าที่ 8 ว่า “คณะกรรมการสนับสนุนให้รัฐภาคีพิจารณาความเป็นไปได้ในการทบทวนการถอนข้อสงวน”

ข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding observations ) ต่อรายงานประเทศไทย ครั้งที่ 2 ระบุในย่อหน้าที่ 8 ว่า “คณะกรรมการรับรู้ความพยายามของรัฐภาคีในการทบทวนข้อสงวน และการยินยอมบางส่วนต่อข้อสงวนข้อ 7 และ 22 แต่เสียใจที่ข้อสงวนเหล่านี้ยังคงอยู่” และในย่อหน้าที่ 9 ว่า “คณะกรรมการกระตุ้นรัฐภาคีให้ถอนข้อสงวนข้อ7 และ 22”

และข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding observations ) ประเทศไทยได้ทำการถอนข้อสงวนข้อที่ 7 เรื่องสิทธิในการจดทะเบียนการเกิด มีผลในวันที่ 13 ธันวาคม 2553 แต่ยังคงข้อสงวนข้อที่ 22 เอาไว้ ต่อรายงานประเทศไทย ครั้งที่ 3-4 ระบุในย่อหน้าที่ 10 ว่า “คณะกรรมการแนะนำให้รัฐภาคีถอนข้อสงวนในข้อ 22 และดำเนินมาตรการที่จำเป็นทั้งปวงเพื่อคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือผู้แสวงหาการลี้ภัยและผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็ก”

3. ประเทศไทยเขียนรายงานประเทศ ในรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2547 โดยอ้างถึงข้อเสนอจากงานประชุมระดับชาติที่เสนอให้ประเทศไทยถอนข้อสงวน และในรายงานประเทศรอบที่ 3-4 เมื่อปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยได้ระบุไว้ในรายงานว่า ประเทศไทยยอมรับข้อห่วงกังวลที่คณะกรรมการแสดงความห่วงใยต่อข้อสงวนของประเทศไทย

4. การดำเนินการของประเทศไทยภายใต้บทบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในเรื่องต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงหลักทั่วไปในเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติ ตามข้อ 2 และหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก ในข้อ 3ซึ่งเด็กต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติและการกระทำใด ๆ ของรัฐต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก แม้ว่าจะเป็นเด็กผู้ลี้ภัยหรือเด็กที่ร้องขอสถานะผู้ลี้ภัยก็ตาม

5. คณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้ออกความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 6 เรื่องการดูแลของเด็กที่ไม่มีผู้ปกครองและเด็กที่ถูกแยกออกไปจากประเทศต้นทาง (General Comment No. 6 (2005): Treatment of Unaccompanied and Separated Children Outside Their Country of Origin) ในย่อหน้าที่ 12 ได้อธิบายระบุหน้าที่ของรัฐตามอนุสัญญา ว่าใช้บังคับภายในอาณาเขตของรัฐ โดยไม่ใช่แค่หน้าที่ต่อเด็กที่มีสัญชาติของรัฐเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ต่อเด็กทุกคน ซึ่งรวมถึงเด็กที่ขอเป็นผู้ลี้ภัย เด็กผู้ลี้ภัย ผู้อพยพที่เป็นเด็ก และเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนของรัฐด้วย

6. ประเทศไทยมีมาตรการภายในของประเทศในการบริหารจัดการและคุ้มครองเด็กหรือบุคคลที่อยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยอยู่แล้ว อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความยอมรับของรัฐบาลไทยต่อการมีตัวตัวของเด็กผู้ลี้ภัย มาตรการหรือกฎหมายภายในประเทศ เช่น

6.1 บันทึกความเข้าใจเรื่องการกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ ลงนามเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2562 ซึ่งหมายรวมถึงเด็กที่อยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยด้วย

6.2 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ. 2551 มาตรา 20 ที่รับรองการจดทะเบียนการเกิดให้กับเด็กทุกคนที่เกิดในราชอาณาจักร

6.3 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 ซึ่งถือเป็นกฎหมายในการจัดการผู้ลี้ภัยและผู้ที่แสวงหาการลี้ภัยในประเทศไทย

7. การถอนข้อสงวนข้อ 22 ไม่ได้สร้างหน้าที่เพิ่มเติมให้แก่ประเทศไทย เพราะตามตัวบทวรรคหนึ่ง คือการที่รัฐภาคีจักดำเนินมาตรการที่เหมาะสมให้เด็กที่ร้องขอสถานะผู้ลี้ภัย หรือผู้ลี้ภัยเด็กได้รับความคุ้มครองและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและตราสารระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่รัฐเป็นภาคี ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีต้องดำเนินการตามตราสารระหว่างประเทศนั้น ๆ อยู่แล้ว และตามวรรคสอง เรื่องที่รัฐภาคีให้ความร่วมมือในการคุ้มครองเด็กและการติดตามหาบิดามารดาหรือสมาชิกอื่นของครอบครัว ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีก็สามารถให้ความร่วมมือกับประเทศต่างๆ องค์กรสหประชาชาติ และองค์กรเอกชนต่างๆ ในการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยได้ ซึ่งหน้าที่ตามข้อ 22 ไม่เกี่ยวกับการที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย 1951 และพิธีสารที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด อีกทั้งประเทศไทยยังให้ความสำคัญในการคุ้มครองเด็กอยู่แล้ว การถอนข้อสงวนนี้จึงเป็นการแสดงที่ทำให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองเด็กทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ

8. การประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 1 (Global Refugee Forum) ระหว่างวันที่ 16 – 18 ธันวาคม 2562 ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนนั้นประเทศไทยได้แสดงบทบาทผ่านคำมั่นและถ้อยแถลงของไทยจำนวน 8 ข้อที่เกี่ยวกับการดำเนินการต่อผู้ลี้ภัยที่อยู่ในประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับเด็ก รัฐบาลไทยให้คำมั่นในการรับรองวุฒิการศึกษาและเอกสารทางการศึกษาของเด็กผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา และการนำมาตรการทางเลือกแทนการคุมขังเด็กที่ต้องการความคุ้มครองระหว่างประเทศ มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบคำมั่นนี้ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่ได้กล่าวมา เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะนำประเด็นการถอนข้อสวงนข้อ 22 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไปพิจารณาอย่างจริงจัง ดังที่หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ได้ให้ความเห็นและการสนับสนุนแนวคิดนี้มาเนิ่นนาน เพื่อการดำเนินการคุ้มครองสิทธิเด็กทุกคนที่อยู่ในอาณาจักรโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในประชาคมระหว่างประเทศ ในประเด็นการคุ้มครองผู้ที่แสวงหาสถานะการลี้ภัย ดังที่กล่าวมาข้างต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net