Skip to main content
sharethis

ตำรวจมีหน่วยสืบสวนสอบสวนคดีเทคโนโลยีหน่วยใหม่ "กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี" มีอำนาจตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ ยกเหตุ สตช.เดิมรับมือปัญหาเทคโนโลยีซับซ้อนไม่ทัน

8 ก.ย.2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ เรื่อง พระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2563 โดยมีสาระสำคัญคือการตั้งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีขึ้นมา

พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้ให้อำนาจกองบัญชาการดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 และพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562

นอกจากนั้นได้ระบุเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ ในปัจจุบันโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบันไม่สามารถรองรับปัญหาที่มีความซับซ้อนจากการใช้เทคโนโลยีในการกระทำความผิดในลักษณะต่างๆ และมีการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดตามกฎหมาย กระทบสิทธิของผู้อื่น หรือความมั่นคงของประเทศ

ในพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจหน้าที่ของกองบัญชาการดังกล่าวดังต่อไปนี้

(ก) เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำและเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของกองบัญชาการ ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและหน่วยงานในสังกัด

(ข) ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทั่วราชอาณาจักร

(ค) ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วย การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกฎหมายอื่น อันเป็นความผิดทางอาญาเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่อง

(ง) ดำเนินการเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือพิเศษ สนับสนุนส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่น ในการสืบสวนสอบสวน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการสืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มีความรู้ ความสามารถในการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

(จ) ดำเนินการเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี

(ฉ) ดำเนินการเกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐานดิจิทัล การตรวจสถานที่เกิดเหตุ และเก็บรวบรวมพยานหลักฐานดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนของหน่วยงานต่าง ๆ

(ช) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ท้องถิ่น ชุมชน และประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรม ของตำรวจเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานป้องกันและปราบปราม และงานสืบสวนสอบสวน อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(ซ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมอบหมาย”

ไฟเขียวตั้ง 'กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์' รอชง ก.ตร. - ศูนย์ทนายฯชวนจับตา หวั่นเปิดช่องละเมิดสิทธิคน ตจว.

PPTV เคยรายงานถึงเรื่องนี้ว่ากองบัญชาการดังกล่าวมีตัวย่อว่า บช.สอท. จะมีอัตรากำลังพลอยู่ที่ 2,000 อัตรา โดยใช้วิธีปรับเกลี่ยตำแหน่งและกำลังพลภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งจำนวนและระดับตำแหน่งที่มีอยู่เดิมให้สอดคล้องกับภารกิจและปริมาณงาน และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

โครงการสร้างของ บช.สอท.จะแบ่งออกเป็น 7 กองบังคับการ คือ 1.กองบังคับการอำนวยการ 2-6.กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1-5 และ 7.กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี  

นอกจากนั้นยังรายงานอีกว่าในส่วนของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่คล้ายเคียงกันอย่างกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) จะยังคงอยู่  แต่จะมีหน้าที่ให้รวมถึงการถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ รวมทั้งรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญอื่น ๆ รวมทั้งรักษาความสงบเรียบร้อยเพิ่มขึ้นมาด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net