Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากเทียบกับยุโรปยุคกลางอันเป็นยุครัฐคริสเตียนรุ่งเรือง ยุคกลางของสยามไทยก็คือยุคสังคมจารีตตั้งแต่สุโขทัยเป็นต้นมาถึงช่วงก่อนปฏิวัติสยาม 2475 โดยถือเอาความเป็นรัฐพุทธศาสนาเป็นแกน คือรัฐที่ใช้ปรัชญาการเมืองตามความเชื่อของพุทธศาสนาเป็นอุดมการณ์ในการปกครอง มีกษัตริย์เป็นธรรมราชา พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว หรือสมมติเทพ เทวราชอันเป็นการผสมผสานกับคติพราหมณ์ฮินดู กษัตริย์มีอำนาจปกครองทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร ฝ่ายศาสนจักรก็มีพระราชาคณะชั้นต่างๆ ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา

รัฐพุทธศาสนาอาจแบ่งเป็นสองช่วงคือ รัฐพุทธศักดินามีชนชั้นปกครองคือ กษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และพระสงฆ์ราชาคณะ ชนชั้นผู้ถูกปกครองคือไพร่ ทาส และรัฐพุทธราชาชาตินิยม คือช่วงรัชกาลที่ 5 สร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เลิกระบบไพร่ ทาส สร้างสำนึกราชาชาตินิยมที่ต่อมารัชกาลที่ 6 เน้นอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นศูนย์รวมความจงรักภักดี ความสามัคคี และความเป็นไทย 

พุทธศักดินาก็คือพุทธศาสนาแบบที่สนับสนุนระบบศักดินาไทย พุทธราชาชาตินิยมก็คือพุทธแบบสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยถือว่าความจงรักภักดีต่อกษัตริย์เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด พระสงฆ์ทำหน้าที่สนับสนุนระบบศักดินาและอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์มาตลอด ซึ่งถือว่าเป็นการทำ “หน้าที่ทางการเมือง” ในฐานะเป็นเครือข่ายชนชั้นปกครองของรัฐพุทธศาสนานั่นเอง

ปัญหาคือ เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์จากยุคเก่ายังคงอยู่ ศาสนจักรที่ขึ้นกับอำนาจกษัตริย์โดยตรง และระบบสมณศักดิ์ฐานันดรหรือศักดินาพระที่สืบทอดจากรัฐพุทธศาสนายุคกลางยังคงอยู่ ดังนั้น บทบาทหน้าที่ของพระเณรในการอวยกษัตริย์หรือเทศนาปลูกฝังความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์จึงยังคงอยู่ 

การคงอยู่ของศาสนจักรในรัฐพุทธศาสนาแบบยุคกลางได้กลายเป็นกรอบกำหนดให้พระเณรทำหน้าที่ทางการเมืองแบบยุคกลาง นั่นคือ การอวยคุณธรรมและอำนาจของกษัตริย์ที่อยู่เหนือหลักเสรีภาพในการตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบ ทำให้เกิดปัญหาต่อ “ศีลธรรมสาธารณะ” ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่อย่างเด่นชัด คือ

1. พระสงฆ์นำศีลธรรมพุทธศาสนาซึ่งเป็น “ศีลธรรมส่วนบุคคล” คือเรื่องการเป็นคนดีมีคุณธรรมต่างๆ ตามหลักคำสอนพุทธศาสนามาใช้เสมือนเป็นศีลธรรมสาธารณะ เช่น อวยกษัตริย์ว่าทรงทศพิธราชธรรมและมีคุณูปการต่างๆ แก่อาณาประชาราษฎร์ ขณะเดียวกันก็ใช้หลักศีลธรรมนั้นวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองและประชาชนว่าขาดศีลธรรม จึงทำให้การเมืองมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชันและอื่นๆ 

ปัญหาการสอนศีลธรรมเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิด “สองมาตรฐานทางศีลธรรม” เสมอ คือใช้ศีลธรรมพุทธอวยกษัตริย์ได้อย่างเดียว ตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ แต่ใช้ศีลธรรม ความเป็นคนดีตั้งคำถาม วิจารณ์นักการเมืองและประชาชนเป็นด้านหลัก และ

2. ขณะที่การสอนศีลธรรมทางการเมืองของพระสงฆ์มีปัญหาสองมาตรฐานทางศีลธรรมดังกล่าว บทบาททางการเมืองของพระสงฆ์ก็สองมาตรฐานด้วย นั่นคือ ถ้าพระสงฆ์ทำหน้าที่ทางการเมืองทั้งโดยการสอนศีลธรรม การแสดงความเห็น และการแสดงออกใดๆ ในทางสนับสนุนกษัตริย์หรืออุดมการณ์ชาติ ศาสน์กษัตริย์ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ผิดทั้งธรรมวินัยและกฎหมาย แต่ถ้าพระสงฆ์แสดงออกทางการเมืองในทางต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยร่วมกับประชาชน ย่อมผิดทั้งทางธรรมวินัยและกฎหมายหรือขัดคำสั่งมหาเถรสมาคมที่ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง

อาจเรียกได้ว่า พระสงฆ์ไทยภายใต้ศาสนจักรที่กษัตริย์ตั้งขึ้น หรือศาสนจักภายใต้อำนาจของกษัตริย์ มีบทบาทแบบ “สองมาตรฐาน” ในทางศีลธรรมและทางการเมืองอย่างชัดเจน ความเป็นสองมาตรฐานทางศีลธรรมและทางการเมืองดังกล่าวนี้ย่อมขัดกับหลัก “ศีลธรรมสาธารณะ” ของสังคมประชาธิปไตยที่ถือว่า อะไรที่เป็นศีลธรรมสาธารณะหรือศีลธรรมที่เป็นบรรทัดฐานถูกผิดในทางสังคมและการเมืองได้จะต้องเป็น “มาตรฐานเดียวกัน” ที่ยึดโยงกับการเคารพและปกป้องหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิศรีของมนุษย์ 

แต่บทบาทการสอนศีลธรรมทางการเมือง และบทบาททางการเมืองแบบสองมาตรฐานของพระสงฆ์ภายใต้ศาสนจักร (มหาเถรสมาคม) ที่ขึ้นตรงต่ออำนาจกษัตริย์ คือบทบาทที่ขัดแย้งหรือต่อต้านหลักการพื้นฐานของศีลธรรมสาธารณะในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่โดยสิ้นเชิง

ที่น่าเศร้าคือ บทบาทเช่นนี้ของพระสงฆ์และระบบการศึกษาโดยรวมของสังคมไทยที่ทำให้คนส่วนใหญ่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า “ศีลธรรม” ในความหมายของศีลธรรมแบบศาสนา โดยเฉพาะเน้นศีลธรรมพุทธศาสนาเท่านั้น ทำให้คนเข้าใจผิดไปว่าศีลธรรมแบบพุทธ (ซึ่งเป็นศีลธรรมส่วนบุคคล) ใช้ตอบปัญหาได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาทางสังคมและการเมือง ซึ่งเป็นทัศนะสอดคล้องกับคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่นิยมยกมาอ้างกันเป็นสูตรสำเร็จว่า 

ที่มา: https://www.motorexpo.co.th/news/2236

แต่เนื่องจากศีลธรรมและความเป็นคนดีแบบพุทธราชาชาตินิยมวางอยู่บนความเป็นสองมาตรฐานที่ขัดแย้งอย่างถึงรากกับหลักศีลธรรมสาธารณะในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ดังกล่าวแล้ว จึงทำให้การสร้างประชาธิปไตยทั้งในเชิงรูปแบบและวัฒนธรรมในบ้านเราสำเร็จได้ยากยิ่ง เพราะศีลธรรมแบบพุทธราชาชาตินิยมสนับสนุนอำนาจนำทางการเมืองและทางวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์ให้เข้มแข็งขึ้น ขณะที่ศีลธรรมสาธารณะบนฐานของหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่เรียกร้องให้ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้หลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบ และไม่มีอำนาจนำทางการเมืองเหนือรัฐบาลประชาธิปไตย

กล่าวโดยสรุป พระสงฆ์และพุทธศาสนาไทยไม่มีทางที่จะพัฒนาคลี่คลายไปในทางสนับสนุนศีลธรรมสาธารณะในสังคมประชาธิปไตยได้ หากไม่ยกเลิกระบบศาสนจักรและศักดินาพระที่ขึ้นต่ออำนาจกษัตริย์แบบยุคกลาง และแยกศาสนากับรัฐ เพื่อให้พระสงฆ์มีอิสรภาพปกครองกันเองได้ และไม่ถูกกำหนดโดยอำนาจรัฐให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายใดๆ อีกต่อไป 
 

 

 

ที่มาภาพ: https://workpointtoday.com/02-131/

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net