Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ที่วงการ "ข้าราชการครู" เป็นเดือดเป็นร้อนกันขณะนี้ คงหนีไม่พ้นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่มีแนวโน้มจะลดเกียรติภูมิและส่งผลต่อสิทธิประโยชน์ของพวกเขา ถึงขนาดร่วมมือกันออกมาต่อต้านอย่างออกหน้าออกตา ทั้งการระดมกันแต่งชุดดำ ออกมายืนถือป้ายไวนิลข้อความต่อต้านจากความร่วมมือโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ

ผู้เขียนสนใจว่า การรวมตัวกันต่อรองเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว เพียงแต่ว่า ความเคลื่อนไหวนี้กลับอยู่ในวงที่จำกัด เนื่องจากข้อเรียกร้องนั้นไปผูกอยู่กับเพียงกลุ่มข้าราชการครูเท่านั้น (ซึ่งไม่ได้หมายรวมถึงบุคลการศึกษาจำนวนมากในโรงเรียน เช่น ครูอัตราจ้าง คนทำงานในโรงเรียน หรือกระทั่งตัวนักเรียนเอง) พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาทั้งระบบทั้งในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ไปจนถึงนอกโรงเรียน

ที่น่าแปลกใจคือ บทสนทนาดังกล่าวในสังคมไทยกลับเงียบจนน่ากลัว ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะกลายเป็นการมัดมือชกไปเสีย ทั้งที่ต้นกำเนิดของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่เกิดขึ้นในปี 2542 มาจากฉันทามติร่วมกันของสังคมไทยในระดับหนึ่งหลังรัฐธรรมนูญ 2540 กลายเป็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่กำลังเข้าสภากลายเป็นสิ่งที่พูดคุยกันในเฉพาะโรงเรียน ที่น่าวิตกไปกว่านั้นคือ วาระการผลักดันดังกล่าวหากผ่านเป็นกฎหมาย การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ก็มิอาจทำได้ง่ายแล้ว วาทะ “รับไปก่อนค่อยแก้ทีหลัง” ที่เคยหลอกลวงคนไทยมา กรณีรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจได้ดี

เมื่อเอากฎหมายมาเทียบกันดูตอนนี้พบว่ามีอยู่ 3 ชุด ชุดแรกคือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมจนถึงฉบับที่ 4 ในปี 2562 มีสาระสำคัญในฉบับปี 2545 คือ การแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาอันมีนัยของการกระจายอำนาจ ชุดที่ 2 คือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับกฤษฎีกาและประชาชน (ตามที่อ้าง) และชุดที่สามคือ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับสพฐ. (ที่เหล่าข้าราชการครูสนับสนุนกัน) สิ่งที่ครูพยายามทักท้วงและคัดค้านมีดังนี้

  1. ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ยึดหลักประชาธิปไตย ทำประชาพิจารณ์ไม่ครอบคลุมทุกประเด็น[1]
     
  2. ข้อสังเกตเกี่ยวกับนิยาม ร่าง พ.ร.บ.ได้ตัดคำว่า “ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง” เปลี่ยนคำว่า “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เป็น “ใบรับรองความเป็นครู” กรณีเช่นนี้อาจจะส่งผลต่อการได้รับเงินค่าตอบแทน เงินวิทยฐานะที่ตาม พ.ร.บ.เงินเดือนแล้วระบุว่า “จะต้องเป็นผู้มีใบประกอบวิชาชีพ” [2]
     
  3. ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ เปลี่ยนคำว่า “ผู้อำนวยการ” เป็น “ครูใหญ่” ถือว่าเป็นการลดสถานะของตำแหน่งบริหาร และไม่มีหลักประกันของความก้าวหน้าในวิชาชีพ ทั้งยังกำหนดให้ผู้ช่วยครูใหญ่มาจากบุคคลอื่นที่มิใช่ครู อานส่งผลต่อความด้อยคุณภาพในอนาคต[3]
     
  4. ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ยังตัดการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุดต่างๆ เช่น คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการอาชีวศึกษา ฯลฯ แต่ให้อำนาจมากกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ[4]

นอกจากการคัดค้านแล้วยังมีเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทยได้ทำข้อเสนอ 9 ข้อ เพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ส่วนหนึ่งจะสอดคล้องกับการยกประเด็นปัญหาขึ้นมาข้างต้น ได้แก่[5]

  1. ให้ “ครู เป็นวิชาชีพทางการศึกษา เป็นวิชาชีพชั้นสูง” โดยให้มีการบัญญัติในกฎหมาย
     
  2. ให้มี “กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลที่มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคล” โดยให้มีการบัญญัติในกฎหมาย
     
  3. ให้มี “การจัดระเบียบบริหารกระทรวงศึกษาธิการ ต้องมีองค์กรหลักที่เป็นคณะบุคคลในรูปคณะกรรมการ ที่เป็นเอกภาพและสามารถบูรณาการได้” โดยให้มีการบัญญัติในกฎหมาย
     
  4. เพิ่มสัดส่วนการมีส่วนร่วมของครูและบุคลากรทางการศึกษาและหัวหน้าส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการ ในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการศึกษาแห่งชาติให้เหมาะสม”
     
  5. ให้มีการกำหนด “แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เทียบเท่าสากล ให้สามารถดำรงชีวิตและเป็นพลเมืองและพลโลกที่มีคุณภาพ”โดยให้มีการบัญญัติในกฎหมาย
     
  6. ให้มีบทบัญญัติ “กฎหมาย ว่าด้วยการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ครอบคลุมการจัดการศึกษาให้กับปวงชนชาวไทยตั้งแต่แรกเกิด ปฐมวัย การศึกษาภาคบังคับ และขั้นพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อม ไห้การอบรมเลี้ยงดู จนสำเร็จระดับการศึกษาภาคบังคับ และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้มีทักษะพื้นฐานในการดำรงชีวิตเป็นพลเมืองไทยและพลโลกที่มีคุณภาพ มีทักษะการทำงานที่สร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรม ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาต่อ
     
  7. ให้มีบทบัญญัติ “กฎหมาย ว่าด้วยการจัดอาชีวศึกษาที่เน้นการปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบมีกลไกการบริหารจัดการ เพื่อสร้างความเป็นเลิศนำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน อย่างมีคุณภาพตามยุทธศาสตร์ของประเทศ
     
  8. ให้มีบทบัญญัติ “กฎหมาย ว่าด้วยการอุดมศึกษา ที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีอิสระมีความเป็นเลิศทางวิชาการควบคู่กับวิชาชีพ ส่งเสริม การสร้างองค์ความรู้ การค้นคว้า วิจัย และพัฒนานวัตกรรมได้อย่างรอบด้าน”
     
  9. ให้มีบทบัญญัติ “กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของชาติ” โดยให้มีบทบัญญัติในการตรากฎหมาย กฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ ว่าด้วยการศึกษาเอกชน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย การจัดการศึกษาสำหรับคนพิเศษ และอื่นที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนและครอบคุลมทุกรูปแบบทุกระบบและทุกระดับการศึกษาของชาติ”เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย.

จะเห็นได้ว่าข้อเสนอนี้มีความกว้างขวางไปมากกว่าปัญหาในโรงเรียน เนื่องจากมีการกล่าวถึงการอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาอยู่ในนั้น อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เขียนเมื่อเทียบกันแล้วเห็นว่า ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นั้นมีปัญหาดังต่อไปนี้

1) ระบบเขตพื้นที่การศึกษาหายไป (เคยอยู่ในมาตรา 37 มาก่อนในฉบับแก้ไข 2545) และพบว่าให้ความสำคัญกับโครงสร้างอย่าง “สภาการศึกษาจังหวัด” ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนนั่งหัวโต๊ะ (มาตรา 51 ฉบับร่าง 2564) นั่นหมายถึงว่า มิติการกระจายอำนาจเดิมที่ฝากไว้กับเขตพื้นที่การศึกษาระดับประถมและมัธยม มาขึ้นอยู่กับข้าราชการส่วนภูมิภาคอย่างผู้ว่าฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้้ง (ทั้งที่ตำแหน่งนี้น่าจะถูกยุบด้วยซ้ำในอนาคต) สภาการศึกษาจังหวัดที่จะมี ควรจะต้องยึดโยงกับตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งอย่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในอนาคตผู้เขียนเห็นว่า แนวโน้มการกระจายอำนาจทางการศึกษามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่โรงเรียนจำนวนมากอาจจะต้องไปสังกัด อบจ. หรือเทศบาล แบบที่ต่างประเทศได้บริหารจัดการ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับส่วนกลางอย่างกระทรวงศึกษาธิการ

2) การเขียนรายละเอียดจุกจิกเกี่ยวกับเนื้อการเรียนการสอนมากเกินไป ปรากฏอยู่ในมาตรา 8 ของฉบับร่างปี 2564 ที่แบ่งช่วงวัยเป็น 7 ช่วง ตั้งแต่เด็กไปจนถึงอุดมศึกษาทั้งที่ฉบับเก่าปี 2542 ในมาตรา 23 ลงความรู้ 5 ด้านกว้างๆ ไม่แยกชั้นต่างๆ ในการทำงานจริง การบรรจุเรื่องพวกนี้ลงใน พ.ร.บ. จะทำให้ความยืดหยุ่นต่ำ และผลักให้กลายเป็นการเรียนการสอนที่แข็งทื่อตายตัว เพราะการแก้ไขกฎหมายระดับพระราชบัญญัตินั้นไม่ง่ายดังที่คิด ตัวอย่างที่การลงรายละเอียดในการจัดการเรียนการสอนในแต่ละชั้นปีเป็นดังนี้

วัยที่ 4 (6-12 ปี-ประถม) "จิตอาสา ภาคภูมิใจในความเป็นไทย ซึมซับในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"

วัยที่ 5 (12-15 ปี ม.ต้น) "ยึดมั่นในจริยธรรม เชื่อมั่นและเข้าใจการธำรงความเป็นไทย" "รู้และเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจนสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้"

วัยที่ 7 อุดมศึกษา "ต้องฝึกฝนให้รู้จักแสวงหาความสุขสงบทางจิตใจ เป็นพลเมืองที่เข้มแข็งเคารพกฎกติกาอย่างเคร่งครัด เป็นปฏิปักษ์ต่อการทุจริตหรือการประพฤติมิชอบมีความกล้าหาญที่จะแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาของบ้านเมืองและสังคม...แก้ไขอุปสรรคหรือสถานการณ์ที่เลวร้ายได้"

ทั้งที่เนื้อหาเหล่านี้ควรไปอยู่ในกฎกระทรวง หรือกฎหมายระดับรองลงมา

สำหรับผู้เขียนแล้ว กฎหมายฉบับนี้ส่งผลต่อองคาพยพทางการศึกษาอย่างกว้างขวางในทุกระดับ แต่การออกมาเคลื่อนไหวเฉพาะกลุ่มครูนั้น ไม่เพียงพอทั้งในแง่พลังและประเด็น การตีหัวเข้าบ้านของรัฐบาลเพื่อดันกฎหมายนี้ออกมา ควรที่จะถูกเบรกไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

หลังจากชะลอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปแล้ว หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการที่ควรเป็นเจ้าภาพคือ การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวางถึงความใฝ่ฝัน จินตนาการ และปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย ก่อนจะนำไปสู่การเขียนตัวบท แล้วค่อยนำมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นระบบ หรือกล่าวได้ว่าทำให้กระบวนการร่างเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางไปด้วย ใครใคร่นำเสนอฟินแลนด์โมเดล เสนอ ใครใคร่เสนอแนวคิดโมเดลอื่นๆ ก็เสนอ

แต่กลายเป็นว่า ทุกวันนี้เรากลับต้องมาสู้กับร่างกฎหมายที่เราไม่ได้มีส่วนร่วมมาตั้งแต่แรก

ถ้าจะถามผู้เขียนว่า ต้องการนำเสนออะไรไหม มีอยู่ 2 ประเด็นที่น่าถกเถียงว่าควรจะอยู่ในกฎหมายหรือไม่

1) พ.ร.บ.การศึกษาควรให้อำนาจกับนักเรียน-นักศึกษา อย่างน้อยก็ต้องระดับมัธยมขึ้นไปในการมีช่องทางในการร้องเรียนครู-อาจารย์ผู้สอน ผู้บริหาร หรือควรมีการออกแบบระบบและกลไกที่สามารถถ่วงดุลการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมต่อนักเรียน นักศึกษา การคาดหวังให้ครูอาจารย์มีคุณธรรมจริยธรรมนั้นทำได้ แต่ก็ไม่สามารถจะรับประกัน ดังข่าวทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นมาในช่วงสิบปีหลัง หากไม่มีกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างเป็นธรรม การลุแก่อำนาจก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอในทุกสถาบันการศึกษาด้วย

2) ควรเปิดช่องให้ครูและอาจารย์มีโอกาสรวมกลุ่มและจัดตั้งสหภาพแรงงานครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียน อันเป็นการรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิ์และปกป้องคุ้มครองกันโดยไม่เลือกว่าเป็นข้าราชการ ครูอัตราจ้าง ลูกจ้างต่างๆ ไม่งั้นแล้ว ครูในที่นี้จึงเป็นเพียงแค่ ข้าราชการครูที่ปกป้องสิทธิ์กันเฉพาะกลุ่มตัวเอง แล้วอาจจะใช้อำนาจนั้นกดขี่และเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานอื่นๆ ในโรงเรียนด้วย เช่นเดียวกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ควรสร้างพื้นที่การต่อรองอำนาจร่วมกับพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน กระบวนการเช่นนี้นอกจากจะเป็นการรักษาสิทธิ์ร่วมกันแล้ว ยังเป็นกระบวนการสร้างประชาธิปไตยจากที่ทำงานที่นอกจากจะเป็นการเสริมพลังของเหล่าสมาชิกแล้ว การร่วมมือกันเช่นนี้ยังจะช่วยรักษาผลประโยชน์ในองค์กรได้ด้วย

อย่าปล่อยให้ครูสู้อยู่เพียงลำพัง! โลกของการศึกษาเป็นเรื่องของ และลูกหลานของเรา!

 

อ้างอิง

[1] ไทยรัฐ. “ครูค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษา”. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2564 จาก https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2015469 (20 มกราคม 2564)

[2] ไทยรัฐ. “ครูค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษา”. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2564 จาก https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2015469 (20 มกราคม 2564)

[3] มติชน. “ครูศรีสะเกษประกาศต้าน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ไม่เอาครูใหญ่และใบรับรองความเป็นครู (ชมคลิป)”. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2564 จาก https://www.matichon.co.th/region/news_1404719 (14 มีนาคม 2564)

[4] ผู้จัดการออนไลน์. ““ครู” ฮือต้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ ชี้ลดวิทยฐานะครูกระทบคุณภาพการศึกษา”. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2564 จาก https://mgronline.com/local/detail/9640000046949 (16 พฤษภาคม 2564)

[5] เชียงใหม่นิวส์. “ค.อ.ท.ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเรื่อง ข้อเสนอประกอบการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ”. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2564 จาก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1657774/ (8 พฤษภาคม 2564)

 

ที่มาภาพ: มติชน ‘องค์กรครูอีสาน’ รวมตัวใส่ชุดดำต้านพรบ.การศึกษาใหม่  www.matichon.co.th/region/news_1396319

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net