Skip to main content
sharethis

27 ส.ค. 2564 แอมเนสตี้ส่งจดหมายถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์  ขอให้ตรวจสอบการเข้าถึงสิทธิด้านสาธารณสุขของผู้ต้องขังภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้านเครือข่ายพสกนิกรปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ค้านส่งตัวแกนนำราษฎรรักษานอกเรือนจำ ชี้สร้างบรรทัดฐานไม่ดี

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นนแล ประเทศไทย รายงานว่า ปิยนุช โคตรรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นนแล ประเทศไทย ระบุว่า จากการติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำ และได้พูดคุยกับผู้ต้องหาคดีการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ทางแอมเนสตี้มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโรคโควิด– 19 ในสถานคุมขังรวมถึงเรือนจำทั่วประเทศ

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นนแล ประเทศไทย ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. 2564 มีผู้ต้องหาจากการแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 12 ราย ต่อมา ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวอย่างน้อย 4 ราย ได้แก่ ปนัดดา ศิริมาศกุล, สิรชัย นาถึง, แซม สาแมท, และธนพัฒน์ กาเป็ง ซึ่ง 3 ราย ติดเชื้อโควิดจากเรือนจำ ในขณะที่ผู้ต้องหาอีก 8 ราย ยังอยู่ระหว่างการคุมขังใน 3 เรือนจำ คือ เรือนจำชั่วคราวรังสิต ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง และทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ชาติชาย แกดำ, พรหมศร วีระธรรมจารี, ณัฐชนน ไพโรจน์, อานนท์ นำภา, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, และเวหา แสนชนชนะศึก

“เราได้รับรายงานจากทนายความที่เข้าเยี่ยมผู้ต้องหาว่า ผู้ต้องหาที่ยังถูกคุมขังอย่างน้อย 5 รายติดโควิด-19 โดยรวมมีผู้ต้องหาคดีการเมืองที่ได้รับเชื้อโควิดอย่างน้อย 8 ราย จาก 12 ราย เนื่องจากด้วยข้อจำกัดด้านสถานที่ในการคุมขังที่มีความแออัด ผู้ต้องขังจึงไม่สามารถรักษาระยะห่างทางกายภาพ  โดยมาตรการที่เป็นทางเลือกอื่นในการบังคับใช้เเทนการคุมขังยังไม่ถูกบังคับใช้ อีกทั้งการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่ล่าช้าและมีข้อจำกัด รวมถึงสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคลุมเครือและอาจเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือนักโทษทางการเมือง ทำให้ผู้ต้องขังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ ซึ่งขัดต่อข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners)

“ดังนั้น ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจึงเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบและดำเนินการอย่างเร่งด่วน ดังต่อไปนี้

1. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องจัดหาอุปกรณ์และสิ่งของเครื่องใช้ในการดูแลสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน (อาทิ สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน และน้ำยาสระผม) ให้ผู้ต้องขังอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

2. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องจัดหาอุปกรณ์ เช่น หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอลล์สำหรับฆ่าเชื้อ และสบู่ล้างมือ ให้กับผู้ต้องหาทุกคนเพื่อให้สามารถป้องกันตนเองจากการติดเชื้อและอาจช่วยให้ลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลงได้

3. จัดหาอาหารและโภชนาการให้เพียงพอและเหมาะสม โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เชื้อสามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและรุนแรง การมีโภชนาการที่เพียงพอให้กับผู้ต้องขังยังมีส่วนช่วยในการเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายในสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวได้

4. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จำเป็นต้องลดความแออัด เพื่อให้สามารถทำการเว้นระยะห่าทางกายภาพ ซึ่งช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้

5. ผู้ต้องขังต้องสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณะสุขที่ได้มาตรฐานสากล เข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วนเมื่อพบว่าได้รับเชื้อโควิด-19 รวมถึงการเข้าถึงวัคซีนที่เป็นธรรม โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19” ปิยนุชระบุ

ด้านเดอะรีพอร์ตเตอร์รายงานว่า เวลา 09.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม วัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม รับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน กลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ ชุดปฏิบัติการศรีสุริโยทัย และอาชีวะปกป้องสถาบัน

หนังสือร้องเรียนระบุว่า ตามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ออกหนังสือขอความอนุเคราะห์รับตัว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และนายสิริชัย นาถึง นักศึกษามหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ออกไปรักษาอาการติดเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พร้อมกับแม่ของนายพริษฐ์ ที่เดินทางเข้ายื่นเรื่องขอให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวไปรักษาที่อื่น จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมว่าอาจสร้างบรรทัดฐานที่ผิดและจะเกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ต้องขังรายอื่น

ตัวแทนผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนระบุว่า พวกเรานั้นไม่เห็นด้วย เพราะบุคคลเหล่านี้กระทำผิดซ้ำซากในคดีเดิม โดยมีพฤติกรรมปลุกปั่นให้สังคมเกิดความแตกแยก รวมทั้งยังสวมบทบาทแกนนำม็อบออกประท้วงแบบเดิมๆ แต่พุ่งประเด็นไปที่เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วยและหลายครั้งจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในรูปแบบต่างๆ จนเป็นที่มาของการถูกดำเนินคดีไปแล้ว จนล่าสุดก็ยังกระทำในรูปแบบเดิมโดยไม่คำนึงถึงการประกันตัว จึงทำให้ศาลเพิกถอนการประกันตัวและถูกจับกุมอีกครั้ง ดังนั้นเราจึงเห็นควรให้ท่านทบทวนการพิจารณาและไม่ให้ความอนุเคราะห์ดังกล่าว เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีต่อสังคมต่อไป

วัลลภ เผยภายหลังรับหนังสือว่า หลังจากที่ได้อ่านหนังสือร้องเรียนแล้วทางกระทรวงยุติธรรมไม่ได้มีข้อขัดข้องใดๆ ในข้อร้องเรียนกรณีการส่งตัวนักโทษไปรักษาตัวยังสถานที่อื่น เนื่องจากเมื่อศาลมีคำสั่งให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาแม้จะอยู่ระหว่างพิจารณาคดีก็ตาม ทางกรมราชทัณฑ์มีหน้าที่ต้องควบคุมผู้ต้องขังทุกคนตามมาตรการอย่างเข้มงวด และเมื่อผู้ต้องขังมีอาการป่วยทั่วไปหรือติดเชื้อโควิดก็ต้องมีการดูแลรักษาทุกคนอย่างเต็มที่ด้วยความเท่าเทียม เสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ ตนอยากย้ำว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ และการรักษาตามมาตรฐานสาธารณสุข ส่วนที่มีการเผยแพร่ข่าวว่าผู้ต้องขังบางคนมีสภาพที่ยากลำบาก การกิน การอยู่ รวมทั้งการรักษาไม่ได้มาตรฐานนั้น ทางกรมราชทัณฑ์ได้เคยยืนยันมาโดยตลอดแล้วว่าไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น จึงขอฝากถึงพี่น้องประชาชนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารผ่านทาง Facebook และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ อย่าหลงเชื่อข้อมูลที่บิดเบือนหรือข้อมูลที่เป็นเท็จ และขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงยุติธรรมหรือกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากการชี้แจงข้อมูลในทุกประเด็นของกรมราชทัณฑ์เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง พร้อมให้ตรวจสอบได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net