Skip to main content
sharethis

มูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ จัดงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ “แม่ อุดมการณ์ และการเคลื่อนไหว” ที่สะท้อนผ่านหนังสือแปลของจิตร ภูมิศักดิ์ เรื่อง ‘แม่’ พร้อมเชิญ ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และ รศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ มาร่วมวิเคราะห์เหตุการณ์ในหนังสือที่มีฉากหลังเป็นการปฏิวัติรัสเซีย นอกจากนี้ ยังมีสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ และพริ้ม บุญภัทรรักษา รวมถึงลูกของจินตนา เนียมประดิษฐ์ ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิฯ มาถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ของ ‘แม่’ กับการเคลื่อนไหวในสังคมไทย

15 ธ.ค. 2564 วานนี้ (14 ธ.ค. 2564) มูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ จัดงานเสวนาออนไลน์ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ “แม่ อุดมการณ์ และการเคลื่อนไหว” เพื่อรำลึกถึงจินตนา เนียมประดิษฐ์ ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิฯ เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของเธอ และทำความรู้จักกับหนังสือแปลของจิตร ภูมิศักดิ์ เรื่อง ‘แม่’ โดยมีอารยานี และใหญ่ เนียมประดิษฐ์ บุตรของจินตา พร้อมด้วย ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนา นอกจากนี้ ยังมีสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และพริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนเรื่องราวการต่อสู้ในฐานะ ‘แม่’ ของนักเคลื่อนไหวในปัจจุบัน

จินตนา เนียมประดิษฐ์ ในฐานะ ‘แม่’ ผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อความก้าวหน้า

การเสวนาแบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลัก โดยในช่วงแรกเป็นการพูดถึงจินตนา เนียมประดิษฐ์ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์เทวเวศม์ ในช่วงต้น พ.ศ.2500 ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือของนักเขียนฝ่ายซ้ายทั้งไทยและต่างชาติหลายฉบับ รวมถึงหนังสือเรื่อง ‘ศิลปะเพื่อชีวิต’ โดยจิตร ภูมิศักดิ์

อารยานี บุตรสาวของจินตนาเล่าวว่ามารดาของตนเติบโตมาในครอบครัวที่บ้านแตกสาแหรกขาด เธอเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะทางการเงินไม่ดีนัก และต้องขยันทำงานรับจ้างเพื่อนำมาจุนเจือครอบครัว ด้วยพื้นเพชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนมาตั้งแต่เด็กที่หล่อหลอมให้มารดาของเธอตั้งคำถามต่อความอยุติธรรมในชีวิตและสังคม เมื่อได้แต่งงานกับชาญ เนียมประดิษฐ์ บิดาของเธอ ทั้งคู่จึงตัดสินใจเปิดธุรกิจสำนักพิมพ์ และมีอุดมการณ์ว่าจะตีพิมพ์หนังสือดีๆ ที่จรรโลงและช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งการก่อตั้งสำนักพิมพ์นี้ก็ทำให้มารดาของเธอได้พบกับจิตร ภูมิศักดิ์ และเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์กันมานับแต่นั้น

อารยานีเล่าต่อไปว่ามารดาของเธอเข้าออกคุกอยู่ 5 ครั้งเพราะถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ สุดท้าย เมื่อเกิดการทำรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักพิมพ์เทวเวศม์ถูกปิด มารดาของเธอจึงมาเปิดร้านเครื่องเขียน และมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือนักศึกษาในยุค 14 ตุลา 2516 จนถึงการเคลื่อนไหวในยุค 6 ตุลา 2519 โดยจินตนาเป็นผู้สนับสนุนทางความคิดและคอยส่งเสบียงให้แก่นักศึกษาที่ต้องหนีวิกฤตการณ์ทางการเมืองเข้าป่าไปกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

“แม่บอกว่าพวกนี้เขาเป็นคนดีทั้งนั้น เขาเป็นเด็กดีทั้งนั้น คนที่มีความรู้ทั้งนั้นเลย เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นปัญญาชนทั้งนั้นเลย เป็นคนที่ทำงานอย่างสุจริต และเข้าร่วมกระบวนการต่อสู้เพื่อสังคม เพียงแต่ว่าเขามีความคิดเห็นไม่ตรงกับรัฐบาลแค่นั้นเอง” อารยานีกล่าว

อารยานีบอกว่ามารดาของเธอทำอย่างนั้นมาทั้งชีวิต จนกระทั่งกระทั่งไม่มีกระบวนการนักศึกษาแล้ว มารดาของเธอก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด จนสุดท้าย มารดาของเธอตัดสินใจตั้งมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ ขึ้นมา เพราะเห็นว่างานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ ถูกนำกลับมาฉายซ้ำในทุกๆ การเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้าย โดยเฉพาะในยุค 6 ตุลา 2519 ดังนั้น การตั้งมูลนิธิฯ ขึ้นมาก็เพื่อเป็นการสืบสานไม่ให้เจตนารมณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์นั้นเลือนหายไป

นอกจากภาพจำของหญิงแกร่งผู้ร่วมต่อสู้ทางความคิดเคียงบ่าเคียงไหล่จิตร ภูมิศักดิ์แล้ว จินตนายังมีอีกหนึ่งบทบาทที่ถูกจดจำ นั่นคือ บทบาทของความเป็น ‘แม่’ ของบุตรทั้ง 5 คน อารยานี ซึ่งเป็นบุตรคนที่ 4 เล่าว่ามารดาของเธอเป็นคนเคร่งครัดกับุตรอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องการประหยัด ซึ่งบางครั้งเธอและพี่น้องคนอื่นก็แอบคิดว่าทำไมมารดาของตนถึงไม่ยอมซื้อของเล่นให้ แต่แม่กลับมีเงินไปช่วยเหลือคนอื่นได้ จนเกิดเป็นความรู้สึกน้อยใจนิดๆ แต่สุดท้าย เธอและพี่น้องทั้งสี่ก็เข้าใจว่าเหตุใดมารดาของพวกเขาจึงทำเช่นนั้น เพราะจินตนาอธิบายเหตุผลและปลูกฝังเรื่องคุณธรรมให้แก่บุตรทั้งห้ามาโดยตลอด

“ก็หนีไม่พ้นคำว่าคิดดี ทำดี พูดดี แล้วก็ ‘3 อ.’ อดออม อดทน อดกลั้น นี่คือสิ่งที่แม่สอนพวกเรามาโดยตลอด และช่วงสุดท้ายของชีวิตของแม่ แม่บอกว่า ‘จำไว้นะว่าแม่ใช้ชีวิตมาอย่างไร จำไว้ให้ดี’ ชีวิตของแม่เหมือนกับเรือที่แล่นอยู่บนท้องทะเลที่มันไม่มีเสากระโดงเรือ เสากระโดงเรือก็จะหัก มองไม่เห็นชายฝั่ง นั่นแหละคือสิ่งที่เราจะต้องต่อสู้ สิ่งที่เราจะต้องไปให้ได้ อย่าสิ้นหวัง และต้องสู้จนถึงที่สุด” อารยานีแบ่งปันคำสอนของจินตนา พร้อมย้ำว่าถึงแม้ชีวิตจะลำบากแค่ไหน แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นคนที่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น เราสามารถเป็นคนดีได้

ขณะเดียวกัน ใหญ่ บุตรชายคนโตของจินตนากล่าวว่าอีกหนึ่งคำสอนที่มารดาของเขาเน้นย้ำอยู่เสมอคือเรื่องความซื่อสัตย์และยุติธรรม

“แกก็สอนให้ซื้อสัตย์อดออม ของเราเราก็แบ่งเขาได้ แต่ของเขา เราอย่าไปเอา นี่คือข้อสำคัญ” ใหญ่กล่าว

นอกจากนี้ อารยานียังได้แนะนำหนังสือชื่อ ‘สู้สู่หลักชัย’ เป็นหนังสือชีวประวัติที่ร้อยเรียงเส้นทางชีวิตและการต่อสู้ของจินตนา ผู้เป็นมารดาของเธอ หนังสือเล่มนี้เขียนโดยภาณุมาศ ภูมิถาวร และได้รับการอนุญาตจากครอบครัวแล้ว

‘แม่ (Mother)’ นิยายแปลเล่มเก่าที่เนื้อหาไม่เคยเก่า โดยจิตร ภูมิศักดิ์

ช่วงที่ 2 ของการเสวนาเป็นการพูดถึงเนื้อหาในหนังสือเรื่อง ‘แม่’ ที่จิตร ภูมิศักดิ์ แปลจากนิยายเรื่อง ‘Mother’ แต่งโดยแม็กซิก กอร์กี (Maxim Gorky) นักเขียนในยุคปฏิวัติรัสเซีย ผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายและชนชั้นกรรมาชีพ นิยายเล่มดังกล่าวเวอร์ชันต้นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษใน พ.ศ.2449 หลังจากนั้นในปีถัดมาจึงได้ตีพิมพ์เป็นภาษารัสเซีย โดยช่วงเวลาที่นิยายเล่มนี้เผยแพร่ รัสเซียยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเป็นเวลา 11 ปีก่อนการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ

นิยายเรื่อง ‘แม่’ ถูกนำมาแปลไทยครั้งแรกโดยกุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกาศรีบูรพา แต่แปลได้บางส่วนก็ต้องล้มเลิกไป เพราะเกิดการรัฐประหารโดยจอมพลฤษดิ์ และจิตร ภูมิศักดิ์ ได้หยิบนิยายเล่มนี้ขึ้นมาแปลอีกครั้งจนเสร็จสิ้น ซึ่งเขาแปลขณะอยู่ในคุก แต่นิยายดังกล่าวก็กลายเป็นหนังสือต้องห้ามในช่วงการเคลื่อนไหวเดือนตุลา จนกระทั่งได้ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการอีกครั้งใน พ.ศ.2521

นิยายเรื่องนี้เล่าถึงเรื่องราวการต่อสู้และการลุกฮือของชนชั้นกรรมาชีพในรัสเซียช่วง พ.ศ.2445 ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของพรรคบอลเชวิก ผ่านสายตาของ Nilovna ผู้เป็น ‘แม่’ ของแรงงานชายคนหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวละครหลักในนิยายเรื่องนี้ นิยายเรื่องนี้อธิบายภาพการกดขี่ทางชนชั้นที่ทำให้แรงงานชายคนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อสู้ และถูกกระทำอย่างอยุติธรรมจากรัฐ จนผู้เป็น ‘แม่’ ที่หวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงในตอนแรก ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องการเปลี่ยน เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับบุตรชาย ท่ามกลางฉากหลังที่เป็นภาพการต่อสู้เสียงร้องของชนชั้นกรรมาชีพในรัสเซีย

ภาพการเสวนาใน 2 หัวข้อแรก
 

ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นิยายแปลเรื่อง ‘แม่’ ซึ่งต้นฉบับเขียนไว้เมื่อร้อยกว่าปีก่อนนั้นตรงกับชีวิตของจินตนาที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและต่อต้านความไม่เป็นธรรมทางชนชั้นและระบบทุนนิยมที่กดขี่ชนชั้นกรรมาชีพ ธเนศกล่าวต่อไปว่าหนังสือเล่มนี้สะท้อนภาพการปฏิวัติรัสเซียในช่วงเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองแบบเก่าไปสู่ระบอบการปกครองแบบใหม่ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ นิยายเรื่อง ‘แม่’ ยังสามารถอธิบายเหตุผลได้อย่างชัดเจนว่าทำไมชนชั้นกรรมาชีพที่ขายแรงเลี้ยงชีพและไม่ได้รับการศึกษาจึงลุกขึ้นมาก่อการปฏิวัติ ล้มกลุ่มชนชั้นนำที่มีอำนาจและการศึกษาสูงกว่าได้อย่างราบคาบ ซึ่งการปฏิวัติรัสเซียถือเป็นการปฏัวัติครั้งแรกที่ชนชั้นกรรมาชีพสามารถเอาชนะชนชั้นนำได้ และนำมาซึ่งการสั่นสะเทือนการเมืองทั่วโลก

“ถ้าอ่าน [หนังสือเล่มนี้] โดยเฉพาะในบทที่พูดเรื่องการให้การศึกษาก็จะพบว่ามีความคล้ายกับสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยทำ ในช่วง พ.ศ.2500 ซึ่งตอนนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ไทยยังไม่ได้จับอาวุธ ยังต่อสู้ในเมือง ไปปลุกระดม ไปพูดเรื่องความยุติธรรมมากหน่อย” ธเนศกล่าว

ธเนศกล่าวถึงตอนหนึ่งในหนังสือที่พูดถึงฉากที่ Pavel บุตรชายของ Nilovna ถูกจับไปขึ้นศาล และถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรเพียงเพราะลุกขึ้นมาต่อต้านความอยุติธรรมจากรัฐ ทั้งๆ ที่การเรียกร้องของชนชั้นกรรมาชีพไม่ใช่อาชญากร ไม่ใช่การทำร้ายประชาชน แต่เป็นการเรียกร้องให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นเท่านั้น

“จริงๆ กลุ่มพวกนี้มันไม่ใช่กลุ่มอาญากร แล้วทำไมรัฐบาลถึงกลัว [หนังสือ]ก็อธิบายให้เห็นว่าพวกรัฐบาลมีกำลัง แต่ไม่มีความสามารถในการปกครอง ต้องใช้กำลังมาปราม ให้คนยอมรับ แล้วเขาก็เปรียบเทียบว่ารัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงศาล จริงๆ แล้วเป็นทาส [หนังสือ]บอกว่าพวกเราทั้งหมดเป็นทาส แต่พวกผู้ปกครองเป็นทาสทั้งทางจิตวิญญาณและทางร่างกาย ในขณะที่พวกรรมกรเป็นทาสแค่ทางร่างกายเท่านั้นเอง แต่ทางจิตใจนั้นเขาปลดปล่อยแล้ว เขาต้องการเสรีภาพ ต้องการความยุติธรรม ในขณะที่ผู้ปกครองยังไม่มี ดังนั้น ความคิดของผู้ปกครองมันจะล้าสมัยตลอดเวลา” ธเนศกล่าว พร้อมระบุว่าการบรรยายในหนังสือช่วยทำให้เห็นภาพชัดว่าทำไมฝ่ายขวาจึง ‘คิดอะไรไม่ออก’ และไม่ยอมรับความก้าวหน้า

“ผมว่าที่จิตร ภูมิศักดิ์แปล บทนี้คือแปลชีวิตของแกตอนนั้น” ธเนศกล่าว พร้อมระบุว่าเป็นตอนแนะนำที่ควรอ่าน โดยเฉพาะสุนทรพจน์ที่ Pavel แถลงต่อศาลถึงสาเหตุของการลุกฮือขึ้นมาต่อสู้

รศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมมากในโลกตะวันตกเพราะปลุกจิตสำนึกการปฏิวัติ เพราะในช่วงที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เป็นช่วงที่ขบวนการสังคมนิยมในรัสเซียเพลี่ยงพล้ำตามเนื้อเรื่อง โดยกอร์กี ซึ่งเป็นทั้งนักเขียนและนักเคลื่อนไหวต้องการสร้างวรรณกรรมที่เป็นประวัติศาสตร์ เป็นเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมืองและศีลธรรม รวมถึงเป็นการสร้างพลังให้กับการเคลื่อนไหวของผู้ถูกดขี่ ทำให้ชนชั้นกรรมาชีพต้องหันมาอ่านและหาคำตอบได้ว่าทำไมถึงต้องต่อสู้ ต่อมา เมื่อการปฏิวัติรัสเซียสำเร็จ พรรคบอลเชวิกก็ยกย่องให้นิยายเรื่อง ‘แม่’ ของกอร์กีเป็นหนังสือที่มากด้วยคุณูปการ

“ถ้าเป็นในรัสเซีย พูดง่ายๆ [หนังสือเล่มนี้]เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้” ประจักษ์กล่าว

ประจักษ์กล่าวต่อไปว่าหนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลมากในสังคมไทยช่วง พ.ศ.2490 ซึ่งความคิดแนวสังคมนิยมและมาร์กซิสต์กำลังเติบโต แต่ว่าจะเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายก็ใช้เวลาสักระยะหลังจากนั้นเพราะถูกแบนจากทางการ

ประจักษ์กล่าว่าจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ฉบับแปลไทยคือการใช้สำนวนภาษาที่เรียบง่าย อาจเป็นเพราะนิยายเรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวของชนชั้นกรรมาชีพ จึงไม่จำเป็นต้องใช้คำศัพท์ที่ยิ่งใหญ่ และในความเรียบง่ายนั้นกลับเต็มไปด้วยความสละสลวยของภาษา นอกจากนี้ ผลงานชิ้นนี้ยังมีความเป็นมนุษยนิยม ตัวละครมีมิติสีเทาๆ ไม่ใช่ขาวสุดและดำสุด ซึ่งทำให้ผู้อ่านรู้สึกใกล้ชิดและสัมผัสได้ถึงความเป็นมนุษย์ของตัวละคร

ประจักษ์ยกตัวอย่างฉากที่ชอบในหนังสือ 3 ฉากมาเล่าให้ฟัง ได้แก่ ฉากที่ผู้เขียนบรรยายถึงตำรวจและทหารในรัฐเผด็จการอำนาจนิยม ซึ่งพวกเขาก็เป็นกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ แต่กลับมีสายตามืดบอด และตกเป็นเครื่องมือของผู้อำนาจ แล้วมากดขี่ประชาชนด้วยกันเอง รวมถึงฉากบทสนทนาระหว่าง ‘แม่’ และบุตรชายที่อธิบายเหตุผลของการปฏิวัติและการต่อสู้ได้อย่างดีเยี่ยม ตลอดจนฉากการปราศรัยของ ‘แม่’ ที่สะท้อนให้เห็นว่าความรักของแม่ที่ต้องการเรียกร้องความยุติธรรมให้บุตรชายนั้นมีพลังมากเสียจน ‘แม่’ สามารถเอาชนะความกลัวการต่อสู้ และลุกขึ้นมาเป็นผู้ต่อสู้เสียเอง

“จริงๆ หนังสือเล่มนี้ควรจะเชยไปแล้ว เพราะมันเขียนตั้งแต่ปี ค.ศ.1905 แล้วมันเป็นวรรณกรรมที่ผูกโยงกับสถานการณ์การเมืองในรัสเซีย เพื่อสนับสนุนการต่อสู้ทางการเมืองโค่นล้มระบอบพระเจ้าซาร์ตอนนั้น เมื่อภารกิจเสร็จสิ้นไปแล้วมันก็ควรจะเชย โดยเฉพาะในยุคที่การปฏิวัติสังคมนิยมในหลายประเทศมันล้มเหลว แต่ผมคิดว่าสิ่งที่มันน่าสนใจก็คือถ้าอ่านเมื่อ 10-20 ปีที่แล้วมันก็อาจจะเชยในสังคมไทย แต่พอมาอ่านในบริบทปัจจุบัน พ.ศ.นี้ มันกลับไม่เชย มันกลับมีบทสนทนาบางอย่างที่อ่านแล้วมันอาจจะ เอ๊ะ ทำไมมันช่างเหมือนบริบทสังคมไทยเหลือเกิน ผมคิดว่ามันสะท้อนหรือเปล่าว่าสังคมไทยมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปไหน กระทั่งถอยหลังไปไกลมากหลายทศวรรษเลย ถอยหลังไปไกลกว่า 6 ตุลา หรือ 14 ตุลา ไปอยู่ยุคไหนก็ไม่รู้แล้วตอนนี้” ประจักษ์กล่าว พร้อมระบุว่าหากคนรุ่นใหม่มาอ่านหนังสือเล่มนี้ก็น่าจะเห็นบทสนทนาบางอย่างที่เชื่อมโยงได้กับบริบททางสังคมและการเมืองไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลไกลรัฐทั้งหลายที่รับใช้พระเจ้าซาร์

เสียงสะท้อนจาก ‘แม่’ ของนักเคลื่อนไหวผู้ไม่เคยท้อ

ช่วงสุดท้ายของการเสวนา เป็นการสะท้อนความรู้สึกของ ‘แม่’ ของนักเคลื่อนไหวชาวไทยที่ต้องต่อสู้เคียงข้างไปกับบุตรและเยาวชนเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ที่ตอนนี้กำลังเผชิญกับความอยุติธรรมอย่างไม่จบสิ้น

สุรีย์รัตน์ มารดาของพริษฐ์ หรือเพนกวิน กล่าวว่า ตนกำลังอ่านหนังสือเรื่อง ‘แม่’ อยู่ โดยพริษฐ์ส่งหนังสือเล่มนี้มาให้จากในเรือนจำผ่านทนายความ พร้อมเขียนข้อความฝากถึง ‘แม่’ ซึ่งระบุว่า “คู่มือการเป็นแม่ของนักปฏิวัติ ฝากให้แม่บังเกิดเกล้าไว้อ่านต่างหน้า อ่านเสร็จแล้วช่วยปันให้แม่ของคนอื่นๆ อ่านด้วย ด้วยรัก พริษฐ์ ชิวารักษ์”

สุรีย์รัตน์บอกว่าตอนที่ตนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อลูกหรือการกระทำต่างๆ ที่สนับสนุนลูกนั้นทำไปตามสัญชาติญาณและความรู้สึกของความเป็นแม่ แต่พอได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็สะท้อนภาพว่าสุดท้ายแล้วทุกอย่างมันเกิดจากเหตุผลเดียวคือ ‘แม่ทุกคนรักลูก’ จึงทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยลูก ไม่ว่าแม่คนนั้นจะมีชีวิตอยู่เมื่อร้อยปีที่แล้วหรือมีชีวิตอยู่ในวันนี้

“เราได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้ว นักต่อสู้ทุกคนก็มีอุดมการณ์ มีความคิดของเขา แต่สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ไม่เป็นภาระแก่เขา แม่คิดว่าคือการที่คนที่อยู่ข้างหลังคอยสนับสนุนและให้กำลังใจ” สุรีย์รัตน์กล่าว

“กับคนอื่น แม่ไม่สามารถบอกแทนได้ แต่กับเพนกวิน แม่กับครอบครัวเรารู้อยู่เสมอว่าเราทำทุกอย่างเพื่อเลี้ยงใจเพนกวิน ตอนนี้เพนกวินอยู่ในนั้น เราคิดว่าเพนกวินเป็นคนเข้มแข็ง ทุกคนเห็นว่าเพนกวินเป็นคนหนักแน่นแต่ว่ามันก็มีบ้าง เพราะสิ่งที่เขาทำกับเรา อย่างตอนที่เพนกวินถูกจับครั้งนี้ เขาจะถูกแยกขังตลอด ไปอยู่แดนที่ไม่มีผู้ต้องขังคนอื่นให้คุยด้วย ไม่มีผู้ต้องขังร่วมอุดมการณ์เดียวกัน เหมือนอยู่คนเดียว เพนกวินคุยกับต้นไม้ พลูด่าง เขาไม่ได้ขังเพนกวินในคุกมืด แต่เขาขังเพนกวินอยู่คนเดียว นึกออกไหมคะ คนเราที่ไม่มีใครคุยด้วย” สุรีย์รัตน์กล่าว

สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์
 

สุรีย์รัตย์บอกว่าพริษฐ์พยายามทำทุกอย่าง เช่น ออกมาศาลเผื่อว่ากลับไปแล้วจะได้เข้าไปกักตัวและอยู่กับเพื่อนนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ แต่ผลสุดท้ายก็ไม่เป็นเช่นนั้น พริษฐ์ต้องอยู่ในห้องขังเดี่ยวเหมือนเดิม หรือหากทุกคนคิดว่าบุตรของตนอยู่ในเรือนจำแล้วจะไม่มีใครรังแก แต่ตนขอยืนยันว่าไม่จริง เพราะได้รับแจ้งจากพริษฐ์ว่าเขาถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งตนก็พยายามหาทางช่วยและแก้ปัญหา

“การที่เด็กอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพนกวินหรือใคร เขาไม่ได้อยู่อย่างสบาย ไม่ใช่ว่าเป็นเพนกวินแล้วคนไม่แตะ คือเขาตีเพนกวินไม่ได้ เขาซ้อมไม่ได้ เพราะมันเห็นหลักฐาน แต่เขาทำร้ายจิตใจ ทำไปเรื่อยๆ คุณจะทนได้หรือไม่ได้ เขาเรียกว่ามันเป็นสงครามจิตวิทยา” สุรีย์รัตย์กล่าว พร้อมระบุว่าสิ่งเดียวที่ช่วยรักษาพริษฐ์ไม่ให้เครียดหรือกังวลมากไปนั้น คือ ‘การเลี้ยงใจ’ ไม่เอาปัญหาไปเพิ่มภาระ ทำอย่างไรก็ได้ให้เขามีความสุข อยากทำอะไรก็ยอมทุกอย่าง ยอมแม้กระทั่งไม่ได้เจอบุตรเพราะไม่ได้ถูกเลือกให้เป็นผู้ไว้วางใจเวลาเข้าเยี่ยมพร้อมทนายความ

สุรีย์รัตน์บอกว่าพริษฐ์พูดกับตนว่า ‘มี้ครับ ไม่ว่ามี้จะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ มี้ก็ต้องเป็นแม่ เป็นแม่ที่ดูแลทุกคน เพื่อนๆ ที่ติดคุกและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ทุกคนเขาคือพี่น้องของกวิ้น มี้จะต้องช่วยเขาหมด’ และฝากฝังให้ตนดูแลเพื่อนๆ นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในขบวนการ ซึ่งตนก็เต็มใจทำ อะไรที่สามารถทำได้ก็จะทำให้หมด

สุรีย์รัตน์บอกว่าตนไม่ใช่นักเคลื่อนไหวหรือนักกิจกรรม แต่เป็นเพียง ‘แม่’ ผู้สนับสนุนสนุนการเคลื่อนไหวของนักเคลื่อนไหวเท่านั้น กลุ่มราษมัมก็เป็นชื่อที่เด็กๆ ตั้งให้ เพราะตั้งแต่ช่วงที่นักเคลื่อนไหวถูกคุมขังและไม่ได้รับการประกันตัว บรรดาแม่ของเด็กเหล่านั้นต้องออกมาทำทุกวิถีทางเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ลูก จนสุดท้ายก็ได้มารู้จักกัน และกลายเป็นเครือข่ายแม่นักเคลื่อนไหวในที่สุด

สุรีย์รัตน์เล่าถึงวิธีการเลี้ยงลูกของตนที่เปิดกว้าง ตนและลูกสามารถคุยกันได้ทุกเรื่อง และหากตนทำผิด ลูกก็สามารถตักเตือนได้ ซึ่งพื้นฐานการเลี้ยงดูเหล่านี้ต้องเริ่มต้นจากการรับฟังซึ่งกันและกัน จะเห็นด้วยหรือไม่เป็นอีกประเด็น เพราะการรับฟังจะช่วยลดแรงปะทะและสร้างความเข้าใจ สานสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตนจึงขอฝากไปฟังพ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนให้รับฟังลูก อย่าด่วนตัดสินหรือตัดขาดเพียงเพราะลูกมีความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากพ่อแม่

“อยากให้พ่อแม่ทุกคนจับมืออยู่กับลูก ก็คือลูกเราจะไม่พลีชีพน่ะ นึกออกไหม (หัวเราะ) เพราะลูกยังเห็นว่าตัวเองมีความสำคัญ ยังมีค่า กลับไปบ้านยังมีคนที่รัก เพราะฉะนั้นเขาจะไม่ทำอะไรที่ไม่ไตร่ตรองให้ดี แล้วก็[นำไปสู่]ความสัมพันธ์ที่ยืนยาว ซึ่งไม่ได้อยู่แค่แม่-ลูก แต่ต่อไปถึงเมื่อลูกเขามีลูก มันเป็นความสัมพันธ์ที่มองไม่เห็นในชั่วพริบตา แต่แม่รู้สึกว่ามันจะมีผลต่อๆ กันไป ซึ่งมันจะส่งผลต่อประเทศและสังคม” สุรีย์รัตน์กล่าว

“ยังขอย้ำในจุดยืน ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือเห็นต่าง อยากให้อยู่เคียงข้างลูก ฟังลูก เมื่อคุณฟัง เด็กก็รับฟังคุณ รับฟังไปรับฟังมา ไม่แน่นะ คุณอาจจะเปลี่ยนใจลูกคุณก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องเข้าใจนะว่าโลกมันเปลี่ยน สังคมมันเปลี่ยน ชีวิตมันเปลี่ยน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือความสัมพันธ์แม่ลูก ยังไงแม่ก็รักลูก” สุรีย์รัตน์กล่าว

“เวลาเราเตือนอะไรเขา เมื่อเรารับฟังเขาก่อน เราฟังเหตุผล เราเข้าใจเขา เขาก็เปิดใจและรับฟังเหตุผลเรา แล้วเขาก็ยังรู้สึกว่าเขายังมีคนที่รอเขาอยู่ รักเขาอยู่ ไม่ใช่แค่เรื่องการต่อสู้อย่างเดียว คุณลองทำดูนะ ถ้าคุณมีลูกเล็กๆ อยู่ แล้วถ้าลูกอยู่ประมาณสัก ม.ต้น คุณเลี้ยงดีๆ คุณปล่อยมือได้เลยนะ” สุรีย์รัตน์กล่าว พร้อมบอกว่าวิธีการเลี้ยงลูกแบบรับฟังเหตุผล ลดอัตตาของตนเอง เป็นการลงทุนระยะยาวที่ส่งผลต่ออนาคตของเยาวชนและสังคม

ด้าน พริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน กล่าวว่าการทำความเข้าใจลูกนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ในยามที่ลูกเจ็บปวด ขออย่าผลักไสลูก แต่จงมอบอ้อมกอดที่อบอุ่นและความรักให้แก่ลูก ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของลูก ตนอยากให้เปิดใจและหันหน้าคุยกัน เพราะการคุยกันในครอบครัวเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด

“ตรงไหนที่เราเข้าใจ ก็คิดว่าควรให้กำลังใจเขา ส่วนตรงไหนที่ไม่เข้าใจกัน เราก็ลองรับฟังดู แต่ถ้าเรายังทำใจไม่ได้ก็ไม่อยากจะให้เกลียดลูก เพราะความเห็นต่าง แม่คิดว่าถ้าคุณไม่พอใจที่เขาคิดแบบนี้ คุณไม่เกลียดเขาได้ไหม” พริ้มกล่าว

พริ้มกล่าวต่อไปว่าการเคลื่อนไหวของเยาวชนเพื่อเรียกร้องให้สังคมดีขึ้น ให้สังคมมีความเท่าเทียม เป็นสิ่งที่เยาวชนรับรู้ได้เอง เพราะปัญหาการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่อยู่แล้ว ประกอบกับสภาพการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลชุดนี้ยิ่งทำให้เห็นชัดว่าความเดือดร้อนถูกส่งผ่านจากพ่อแม่ไปสู่เด็กด้วย

พริ้ม บุญภัทรรักษา
 

“ผู้บริหารเพียงแค่ไม่ชอบที่เด็กมีจิตสำนึกที่ออกมาแสดงพลังเพื่อต่อต้านในสิ่งที่เขาไม่เห็นด้วย ผู้ใหญ่ที่ใจร้าย ที่มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู มองเด็กๆ นักกิจกรรมเป็นศัตรู และไม่ยอมพูดคุย เขาไม่ได้ใช้ปืนเหมือนเมื่อก่อน แต่ใช้กฎหมายแทนปืน สิ่งที่หนูทำมันไม่ผิดหรอกลูก แต่เพียงผู้ใหญ่เขาไม่ชอบ” พริ้มกล่าว

พริ้มกล่าวว่าตนจะอยู่เคียงข้างการต่อสู้เรียกร้องของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ขอให้อดทนอดกลั้น ตนขอเป็นกำลังใจให้ และรอวันที่ชัยชนะมาถึง ตนในฐานะแม่ของ ‘ไผ่ ดาวดิน’ เคารพการตัดสินใจของเด็กๆ ทุกคน พร้อมฝากไปถึงผู้ใหญ่ทุกคนว่าควรให้โอกาสเด็กๆ ที่เขามีจิตสำนึกสาธาณะที่ต้องการให้สังคมดีขึ้น

“คุณควรให้โอกาสพูดคุย แก้ไข ตอนนี้สังคมมันวิวัฒนาการไปแล้ว สังคม การเมือง การปกครอง และวัฒนธรรม เราควรจะมองมุมใหม่ๆ บ้าง” พริ้มกล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่สุรีย์รัตน์ทิ้งท้ายว่าตนอยากฝากให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ใฝ่หาความรู้ ไม่ใช่เฉพาะความรู้ในโรงเรียน แต่เป็นความรู้รอบตัวอะไรก็ได้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิต ทั้งในด้านการทำงานเลี้ยงชีพ และการทำงานอื่นๆ รวมถึงการต่อสู้ทางความคิด

“แม่บอกเพนกวินเสมอว่าถ้าเราจะสู้ ต้องสู้ตรงนี้ (ชี้หัว) เห็นไหมว่าเขา (รัฐ) กลัว เพราะถ้าเราสู้ตรงนี้ (ชี้หัว) เขาสู้กับเราไม่ได้ ตอนนี้โลกมันเปิดแล้ว ลูกอ่านมาก ลูกรู้มาก แล้วมันก็จะเพิ่มศักยภาพในตัวลูก” สุรีย์รัตน์กล่าว พร้อมย้ำกับเยาวชนและเด็กทุกคนว่าจะทำอะไรก็ขอให้รักษาตนเอง คิดถึงคนที่คุณรัก และคิดถึงอุดมการณ์ของคุณ หากต้องสูญเสียก็ขอให้สูญเสียเพียงอิสรภาพ อย่าถึงขั้นสูญเสียชีวิต เพราะตนเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูกเสมอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net