Skip to main content
sharethis

29 ธ.ค. 2564 สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่าปี 2564 เป็นปีที่กระแสการรัฐประหารกลับมาอีกครั้งในทวีปแอฟริกา โดยเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศชาด, มาลี, กินี และซูดาน เทียบกับปี 2563 ที่มีกรณีการรัฐประหารเกิดขึ้นเพียงกรณีเดียวเท่านั้น ด้านนักวิเคราะห์มองว่าปัจจัยภายใน เช่น การทุจริต และการบริหารงานของรัฐบาลสร้างปัญหา เช่นเดียวกับปัจจัยภายนอกที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโลกตะวัน รวมถึงจีน และรัสเซีย จนเกิดสภาพคล้ายยุคสงครามเย็น

พันเอกมามาดี ดุมบูยา (Mamady Doumbouya) ใช้ธงชาติกินีคลุมตัวและมีทหารคอยห้อมล้อมในช่วงที่เขาออกโทรทัศน์ช่องรัฐบาลซึ่งเป็นเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเขาก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2564 ดุมบูยาใช้โวหารอ้างว่ากินีเป็นประเทศที่สวยงาม บอกว่าเขาไม่ได้มาเพื่อที่จะ "ข่มขืน" ประเทศตัวเอง แต่จะมาเพื่อ "ทำรัก" กับประเทศตัวเอง

พันเอกมามาดี ดุมบูยา ประธานาธิบดีกินี ผู้มาจากการรัฐประหาร มักปรากฎตัวต่อหน้าสื่อด้วยการใช้ธงชาติคลุมตัว และมีทหารอารักรายล้อม ซึ่งเป็นภาพลักษณะเดียวกับตอนที่เขาประกาศทำรัฐประหารผ่านโทรทัศน์ (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

การใช้โวหารเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากที่หน่วยกองกำลังพิเศษของดุมบูยาบุกทำเนียบประธานาธิบดีเพื่อยึดอำนาจและจับกุมตัวอัลฟา กงเด (Alpha Condé) ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย ถือเป็นการทำลายความหวังที่ว่ากงเดจะมาเป็นความหวังใหม่สำหรับกินีที่ทำให้ประเทศผ่านพ้นจากการปกครองแบบอำนาจนิยม

หลังจากกรณีการรัฐประหารในกินีเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2564 ก็มีเหตุการณ์รัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้งในประเทศซูดาน ในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา กองทัพซูดานยึดอำนาจและจับกุมรัฐบาลพลเรือนซึ่งนำโดยโอมาร์ อัล-บาเชียร์ ประธานาธิบดีซูดาน (Omar al-Bashir) โดย 1 เดือนก่อนการทำรัฐประหาร อับดุลลา ฮัมดุก (Abdalla Hamdok) นายกรัฐมนตรีซูดานประกาศว่าพวกเขายับยั้งการทำรัฐประหารได้ และกล่าวหาว่าฝ่ายที่พยายามก่อรัฐประหาร คือกลุ่มผู้ภักดีต่ออดีตประธานาธิบดีอัล-บาเชียร์

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน พ.ค. 2564 ที่ประเทศมาลีก็เกิดเหตุรัฐประหารขึ้น ซึ่งถือเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 2 ในรอบ 10 เดือน และเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนหน้ากรณีนี้ ที่ประเทศชาดก็เกิดการรัฐประหารเช่นเดียวกัน โดยกองทัพชาดซึ่งนำโดยนายพลมหามัต อีดรีส เดบี (Mahamat Idriss Deby) ได้ก่อการยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญ พร้อมสั่งยุบสภาทันที หลังจากที่อีดริส เดบี อิตโน บิดาของเขาซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ในขณะนั้นเสียชีวิตในสนามรบ โดยบิดาของนายพลเดบี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ พ.ศ.2533

ในช่วงกลางยุคคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา กองทัพในทวีปแอฟริกามักก่อการรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง หลังจากที่ประเทศเหล่านั้นได้รับเอกราชจากประเทศเจ้าอาณานิคม งานวิจัยชิ้นหนึ่งโดยเคลย์ตัน ไทน์ (Clayton Thyne) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเคนทักกี และโจนาธาน โพเวลล์ (Jonathan Powell) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลฟลอริดาในสหรัฐอเมริกา ระบุว่าช่วงระหว่าง พ.ศ.2503-2543 มีการก่อรัฐประหารและการพยายามก่อรัฐประหารเกิดขึ้นเฉลี่ยปีละ 4 ครั้งทั่วโลก อย่างไรก็ตาม หลังเกิดการเรียกร้องให้ปฏิรูปประชาธิปไตยและเกิดการแพร่กระจายของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมมากขึ้นในศตวรรษใหม่ พบว่าการรัฐประหารลดลงเหลือปีละ 2 ครั้งโดยเฉลี่ย จนกระทั่งถึงปี 2562

อย่างไรก็ตามในปี 2564 ที่การรัฐประหารในประเทศต่างๆ ดูเหมือนจะกลับมาจนทำให้อันโตนิอู กุแตเรช (Antonio Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) บอกว่าเป็นปรากฏการณ์ปีนี้นับเป็น "การระบาดของรัฐประหาร"

นักวิเคราะห์มองว่ากระแสการเมืองที่มีลักษณะถูกครอบงำจากการทหารมากขึ้นเป็นเพราะปัจจัยทั้งทางภายนอกและภายใน ปัจจัยภายนอกคือการเพิ่มจำนวนของกลุ่มผู้กระทำการระดับข้ามชาติในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นกลุ่มที่เน้นเรื่องผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ปัจจัยภายในคือความไม่พอใจของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นต่อรัฐบาลในเรื่องการทุจริต การขาดความมั่นคง และการบริหารจัดการที่ไม่ดี

เรื่องนี้ทำให้นักวิเคราะห์อย่างโพเวลล์ และไรอัน คัมมิงส์ (Ryan Cummings) ผู้อำนวยการบริษัทให้คำปรึกษา ซิกนัล ริสก์ (Signal Risk) เห็นพ่อต้องกันว่าการทำให้กองทัพสร้างภาพและอ้างตนเป็น "ผู้กอบกู้" ขึ้นมาได้ เพราะอาศัยความไม่พอใจของประชาชนเป็นข้ออ้างความชอบธรรม เพื่อยึดอำนาจอย่างผิดหลักการรัฐธรรมนูญ ดังที่เกิดขึ้นในกรณีการโค่นล้มผู้นำอดีตประธานาธิบดีกงเดของกินี เพราะกงเดพยายามแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองมีวาระการดำรงตำแหน่งยาวนานขึ้นและพยายามแก้ไขกระบวนการเลือกตั้ง

ส่วนกรณีของประเทศมาลีนั้น การรัฐประหาร 2 ครั้งซ้อนเกิดขึ้นจากการที่มีผู้คนทั่วประเทศประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี อิบราฮิม บูบาการ์ คีตา (Ibrahim Boubacar Keita) โดยกองทัพกล่าวหาว่ารัฐบาลของประธนาธิบดีคีตาทุจริต เล่นพรรคเล่นพวก และไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตความมั่นคงของประเทศที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ได้

กองทัพมาลีและซูดานต่างก็ใช้ยุทธวิธียึดอำนาจแบบเดียวกัน พันเอกอัสซิมี โกอิตา (Assimi Goita) หัวหน้าคณะรัฐประหารของประเทศมาลี เห็นชอบให้จัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนผ่านในรูปแบบรัฐบาลผสมระหว่างกองทัพและพลเรือน หลังจากก่อรัฐประหารในเดือน ส.ค. 2563 และให้สัญญาว่าจะถ่ายโอนอำนาจให้กับพลเรือนเมื่อสิ้นสุดการเปลี่ยนผ่าน

แต่ในเดือน พ.ค. 2564 นายพลโกอิตากลับสั่งจำคุกและถอดถอนประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีฝ่ายพลเรือนออกจากตำแหน่งในสภาถ่ายโอนอำนาจ ก่อนหน้านี้ เขามีคำสั่งโยกย้ายคณะรัฐมนตรี โดยแต่งตั้งสมาชิกจากกองทัพมาแทนที่นักการเมืองพลเรือน ขณะเดียวกันสัญญาของกองทัพที่อ้างว่าจะจัดการเลือกตั้งภายในเดือน ก.พ. ที่จะถึงนี้ก็ดูเหมือนจะไม่มีโอกาสเป็นจริง

ส่วนที่ซูดานนั้น นายพลอับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูรฮาน (Abdel Fattah al-Burhan) ก่อรัฐประหารในวันที่ 25 ต.ค. 2564 และคุมขังนายกรัฐมนตรีฮัมดุก ต่อมา มีการประท้วงต่อต้านการรัฐประหารในครั้งนี้และชาติตะวันตกได้ร่วมกันประณาม ทำให้กองทัพซูดานพวกเขาต้องนำตัวฮัมดุกกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง โดยที่กองทัพซูดานยังคงเป็นผู้เล่นหลักในการเมืองที่เปราะบางของประเทศ

องค์กรในภูมิภาคอย่าง สหภาพแอฟริกา (AU) และประชาคมเศรษฐกิจของรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) ได้ร่วมกดดันประเทศที่มีการรัฐประหาร ยกเว้นประเทศชาด เพื่อบีบให้ผู้นำกองทัพเจรจากับผู้นำฝ่ายพลเรือน แต่วิธีการกดดันของ AU และ ECOWAS ก็ส่งผลได้จำกัด

ศาสตราจารย์คัมมิงส์บอกว่สถาบันการเมืองในทวีปแอฟริกาและโลกตะวันตกโต้ตอบการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ได้ "ค่อนข้างไร้เขี้ยวเล็บ" พวกเขามักเน้นเรื่องการเจรจาหารือแต่ไม่มีมาตรการลงโทษใดๆ ต่อการล่วงล้ำระบบการปกครองประเทศ เรื่องนี้ทำให้การตรึงความเข้มแข็งในระบอบประชาธิปไตยในทวีปแอฟริกาเกิดเป็นรูปธรรมได้ยาก และเปิดทางให้กองทัพฉวยโอกาสต่อการขาดประชาธิปไตย

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์โพเวลล์เองก็มองว่าการขาดการประณามร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมจากนานาชาติและการที่มีตัวกระทำจากชาติอื่น เช่น จีน หรือรัสเซีย ที่พร้อมจะร่วมมือกับรัฐบาลทหาร ทำให้เกิดการส่งเสริมกองทัพในแอฟริกาก่อการรัฐประหารได้ง่ายขึ้น เพราะพวกเขารู้ว่าจะไม่ต้องเผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงหรือเผชิญกับการถูกโดดเดี่ยวทางภูมิภาคหรือในระดับโลก

สำหรับประเทศจีน ทวีปแอฟริกาถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ จีนมีนโยบายแบบไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศในทวีปแอฟริกา ตราบใดที่ประเทศเหล่านี้ยังคงดำรงไว้ซึ่งพันธะด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระยะยาวกับจีน ซึ่งผู้นำประเทศในทวีปแอฟริกาจำนวนมากมองว่าเป็นเรื่องดี และหลงไปกับเรื่องราวความสำเร็จทางเศรษฐกิจในเวทีโลกของจีน จนทำให้ประเทศในทวีปแอฟริกาเหล่านี้เริ่มเชื่อว่าพวกเขาควรจะออกจากแนวทางแบบธรรมาภิบาลและการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบของโลกตะวันตก

ขณะเดียวกัน รัสเซียได้แผ่ขยายอำนาจอิทธิพลทางการเมืองและทางการทหารไปทั่วทวีปแอฟริกาด้วยการส่งเสริมผู้นำที่มาจากการยึดอำนาจโดยผิดกฎหมายอย่างพันเอกโกอิตาในประเทศมาลี และนายพลอัล-บูรฮานในประเทศซูดาน รวมถึงมีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารสร้างข้อมูลลวงเพื่อเผยแพร่ภาพลักษณ์เชิงบวกของรัฐบาลรัสเซียไปพร้อมๆ กับการฉวยโอกาสสร้างอิทธิพลในช่วงที่มีความไม่พอใจฝรั่งเศสมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มประเทศแอฟริกาที่พูดภาษาฝรั่งเศส

นอกจากนี้ กลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลรัสเซีย อย่างแวกเนอร์กรุ๊ป ก็ส่งทหารรับจ้างเข้าไปในประเทศที่มีความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็น สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, มาลี และลิเบีย แม้ว่ารัฐบาลรัสเซียจะปฏิเสธว่าพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัทเอกชนด้านความมั่นคงรายนี้ก็ตาม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์โพเวลล์บอกว่ารัสเซียและจีนให้ความสำคัญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาก่อน โดยไม่ได้สนใจเรื่องประชาธิปไตย การที่รัสเซียและจีนเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สภาพการณ์คล้ายกับยุคสงครามเย็น กล่าวคือ ในยุคสมัยนั้น แม้ว่ากลุ่มนักวางแผนก่อรัฐประหารในแอฟริกาจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกอีกต่อไปแต่นั่นก็ไม่ได้ส่งผลสะเทือนอะไรต่อพวกเขา เพราะพวกเขาสามารถพึ่งพาการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตได้อย่างรวดเร็ว

แต่อิทธิพลที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีแค่จากรัสเซียหรือจีน ในการรัฐประหารอียิปต์เมื่อปี 2556 กลุ่มประเทศตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้เรียกร้องให้มีการรัฐประหารในอียิปต์ แต่ก็ยอมรับรัฐบาลทหารของอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี (Abdel Fattah el-Sisi) ซึ่งรัฐบาลทหารของเขาได้รับความชื่นชมจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจีน ด้วยเช่นกัน

อีกกรณีหนึ่งคือการรัฐประหารที่ประเทศซิมบับเวในปี 2560 ที่ทำให้การปกครองอันยาวนาน 40 ปี ของโรเบิร์ต มูกาบี (Robert Mugabe) สิ้นสุดลง เขาถูกกองทัพบีบบังคับให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรปต่างยินดีที่มูกาบีออกจากตำแหน่ง แต่ก็ละเลยว่าเขาถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งด้วยอำนาจปลายกระบอกปืน

ขณะเดียกัน ฝรั่งเศสที่มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศแอฟริกาก็เน้นเรื่องการทหารและความมั่นคงอย่างมาก ทำให้พวกเขาใช้ยุทธศาสตร์แบบสนับสนุนผู้นำอำนาจนิยมเน้นตัวบุคคลหรือกลุ่มคนที่เรียกว่า "สตรองแมน" ในแบบดั้งเดิ

เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบัน สนับสนุนการรัฐประหารในประเทศชาดและเคยเรียกประธานาธิบดีอีดริส เดบี ที่เคยครองอำนาจอย่างกดขี่มาเป็นเวลา 30 ปีว่าเป็น "เพื่อนที่ภักดีและกล้าหาญ"

อีดายัต ฮัสซาน (Idayat Hassan) ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อประชาธิปไตยและการพัฒนาที่มีสำนักงานในกรุงอาบูจา เมืองหลวงของไนจีเรีย กล่าวว่า ถึงแม้จะมีบางส่วนที่แสดงความยินดีที่ผู้นำอื้อฉาวของพวกเขาออกจากตำแหน่งไป แต่การรัฐประหารก็ไม่ใช่ข่าวดี ฮัสซานบอกว่าการที่ฝ่ายประชาธิปไตยในทวีปแอฟริกาไม่สามารถทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อสาธารณะและให้ความมั่นคงต่อผู้คนได้ ทำให้ประชาชนหันไปฝากความหวังไว้กับการรัฐประหาร ถึงแม้ว่าผู้นำการรัฐประหารจะไม่ได้ทำให้ประชาชนเหล่านั้นสมหวังก็ตาม

ศาสตราจารย์คัมมิงส์เองก็กล่าวว่ามีกลุ่มผู้สนับสนุนคณะรัฐประหารในทวีปแอฟริกาบางส่วนที่หวังว่ากองทัพจะใช้อำนาจที่ตัวเองมีเพื่อวางรากฐานและยกเครื่องประชาธิปไตยในประเทศอำนาจนิยม แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้เกิดอะไรแบบที่พวกเขาหวัง

เรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net