Skip to main content
sharethis

โรงแรมสวิสโฮเต็ลฯ โพสต์เฟซบุ๊ก ประกาศเด้งพนักงานฐานผิดกฎบริษัท คาดปมเทน้ำราดหัวนักมวยสาว จนกลายเป็นเหตุทะเลาะวิวาท

 

กรณีสืบเนื่องจาก เมื่อ 8 ก.พ. 65 เวลา 16.00 น. แพรพลอย แซ่เอี้ย ผู้ประกอบอาชีพนักมวย พร้อมพี่ชาย และครูมวย เดินทางเข้าแจ้งความที่ สน.ห้วยขวาง หลังเมื่อเช้ามืดวันเดียวกัน เธอถูกชายไม่รู้จักเทน้ำราดหัว เนื่องจากเธอปฏิเสธชนแก้ว จนเกิดมีปากเสียงและทะเลาะวิวาทตามคลิปวิดีโอสั้นที่เธอเผยแพร่บนเฟซบุ๊ก ‘Pareploy Saeaia’

ภายหลังตำรวจแจ้งข้อหาทั้ง 2 คน โดยชายคู่กรณีข้อหาทำสิ่งสกปรกเปรอะเปื้อนและทะเลาะวิวาท และฝ่ายหญิงถูกแจ้งข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นและทะเลาะวิวาท และปรับคนละ 1,000 บาท

9 ก.พ. 65 สื่อหลายสำนักรายงานวันนี้ (9 ก.พ.) โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดา โพสต์เฟซบุ๊ก 'Swissôtel Bangkok Ratchada' ประกาศเมื่อ 8 ก.พ. 65 เวลา 22.43 น. ให้พนักงานชาย คาดเป็นคู่กรณี ‘แพรพลอย’ นักมวยสาว พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานตามกฎของบริษัท

โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดา

ขอเรียนชี้แจงกรณีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพนักงาน 

คณะผู้บริหารได้ทราบถึงเหตุการณ์และพิจารณายุติการว่าจ้าง ตามนโยบายและมาตรฐานของโรงแรมฯ ในการลงโทษขั้นสูงสุด ทั้งนี้ ทางโรงแรมฯ ไม่สนับสนุนการกระทำความผิด รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งในและนอกเวลาปฏิบัติงานของพนักงานทุกคน 

ทางโรงแรมฯ ขอให้ลูกค้าทุกท่านมั่นใจ ในมาตรฐานการให้บริการ และนโยบายความปลอดภัยสูงสุดของโรงแรมฯ

คณะผู้บริหารโรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดา

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบไม่พบข้อมูลรายงานข่าวจากสื่อว่า คู่กรณีของแพรพลอยทำงานที่ใด จนกระทั่งมีประกาศของสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดา ดังกล่าว 

สำหรับการเลิกจ้างนั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน ซึ่งอ้างจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ระบุไว้ดังนี้ 
  
1. ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้ 

1.1 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน 

1.2 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน

1.3 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน 

1.4 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน 

1.5 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน 

2. ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิตการจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่อง จักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง นายจ้างต้องปฏิบัติดังนี้ 

2.1 แจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้าง ให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงาน ทราบล่วงหน้าไม่ น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง 

2.2 ถ้าไม่แจ้งแก่ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาหกสิบวัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างเท่ากับค่า จ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่า จ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้ ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายค่าสินจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายด้วยนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติดังต่อไปนี้ 

1. ลูกจ้าง ทำงานติดต่อกันครบหกปีขึ้นไป นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย พิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติซึ่งลูกจ้างนั้นมีสิทธิได้รับอยู่แล้ว ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทำงานครบหนึ่งปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสิบห้าวันสุดท้ายต่อการทำงาน ครบหนึ่งปีสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย 

2. ค่าชดเชยพิเศษนี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อย หกสิบวัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงานสามร้อยหกสิบวันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย แต่รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยหกสิบวัน 

3. เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ เศษของระยะเวลาทำงานที่มากกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้นับเป็นการทำงานครบหนึ่งปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net