Skip to main content
sharethis

ร่วมรำลึกตัวตนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ผ่านสายตาของ ‘วิทิต’ บุตรชายของครูครอง จันดาวงศ์ อดีตสมาชิกเสรีไทยอีสานสมัยอยู่คุกลาดยาวด้วยกัน ซึ่งประวัติศาสตร์บอกเล่าชิ้นนี้ จะทำให้เห็นจิตร ในฐานะครูผู้สอนแต่งเพลง ศิลปวัฒนธรรม และปรัชญาการเมือง

 

23 ก.พ. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อ 20 ก.พ. 65 เมื่อเวลา 20.14 น. ที่หอประชุมเทศบาลอำเภอดงหลวง จ.มุกดาหาร ได้รับแจ้งจากประยงค์ มูลสาร หรือนักเขียนนามปากกา ‘ยงค์ ยโสธร’ อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีการจัดกิจกรรมหลายอย่าง 

หนึ่งในนั้นคือในช่วงเย็น ทางผู้จัดงานประยงค์ มูลสาร หมออนุวัตร แก้วเชียงหวาง ซึ่งเป็นหมอที่ทำงานในชุมชนดงหลวง และอีกหลายๆ คน มารวมตัวกันทำกิจกรรมมอบรางวัลให้กับอดีตนักสู้บนเทือกเขาภูพาน 2 คน โดยตั้งชื่อว่ารางวัล จิตร ภูมิศักดิ์ ครั้งที่ 1 

ผู้ได้รับรางวัลครั้งนี้ ได้แก่ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ซึ่งหลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะผู้เขียนนิยายเรื่อง 'มนต์รักทรานซิสเตอร์' ซึ่งภายหลังถูกนำดัดแปลงเป็นภาพยนตร์กำกับโดย เป็นเอก รัตนเรือง ฉายครั้งแรกเมื่อปี 2544 และ วิสา คัญทัพ นักกวี ซึ่งทั้ง 2 คนไม่สามารถมารับรางวัลด้วยตัวเองได้ เนื่องจากอยู่ในระหว่างการลี้ภัยในต่างแดน 

(ซ้ายสุด) วิสา คัญทัพ และ (คนที่ 2 จากขวา) วัฒน์ วรรลยางกูร เมื่อ 2556

ทั้งนี้ ในช่วงของการประกาศก่อตั้งรางวัลจิตร ภูมิศักดิ์ ประยงค์ในฐานะผู้จัดงานได้เชิญวิทิต จันดาวงศ์ บุตรชายของครูครอง จันดาวงศ์ ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกเสรีไทยภาคอีสาน มากล่าวถึงจิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะที่ทั้งคู่รู้จักในสมัยติดคุกลาดยาว จ.กรุงเทพฯ ด้วยกัน

พบพานครั้งแรก

‘ปาน’ วิทิต จันดาวงศ์ เล่าให้ฟังว่า เขามีโอกาสได้พบเจอ จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนฝ่ายซ้าย ครั้งแรกเมื่อปลายปี 2505 โดยก่อนหน้านี้ เขาถูกเจ้าหน้าที่จับกุมพร้อมกับบิดาเมื่อ 2504 และถูกนำตัวเข้ามาที่กรุงเทพฯ เมื่อ 16 พ.ค.ในปีเดียวกัน จนกระทั่งเมื่อ 30 พ.ค. 2505 ครูครอง จันดาวงศ์ ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในขณะที่วิทิตยังคงถูกขังในคุกมืด

(คนที่ 2 จากขวา) วิทิต จันดาวงศ์ บุตรชายของครอง จันดาวงศ์

ต่อมา เมื่อปลายปี 2505 ตัวของวิทิต ถูกย้ายไปที่เรือนจำลาดยาว และที่นั่นเองเป็นครั้งแรกที่วิทิต ได้พบกับ จิตร ภูมิศักดิ์ และได้รู้จักตัวตนของจิตร เป็นเวลาราว 1 ปีเศษ ก่อนที่จิตรจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อ 30 ธ.ค. 2506  

“นึกว่าแกเป็นคนอีสาน” วิทิต เล่าถึงความรู้สึกครั้งแรกที่ได้พบกับ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ เนื่องจากจิตร สามารถพูดภาษาลาวและอีสานกับชาวศรีสะเกษได้คล่องแคล่ว  

‘จิตร’ ในฐานะอาจารย์

ในมุมมองของวิทิต เขามองจิตรเป็นครูที่ช่วยประสิทธิ์ประสาทวิชา การแต่งเพลง ศิลปวัฒนธรรม และปรัชญาการเมืองสมัยอยู่เรือนจำลาดยาว

วิทิต เล่าความหลังต่อว่า เขาเริ่มสนิทสนมกับจิตรมากขึ้น เนื่องจากตนเองเป็นผู้ชื่นชอบในการเล่นดนตรีโดยเฉพาะแมนโดลิน ก็จะชอบไปเล่นอยู่ที่ห้องของจิตรทุกเย็น 

“ไปเล่นดนตรีเพลงที่แก (จิตร ภูมิศักดิ์) แต่งที่ลาดยาว เป็นเพลงมาร์ชลาดยาว เพลงเสียงเพรียกจากมาตุภูมิ มาร์ชชาวนา ผมก็รู้จักโน้ตเพลงจากคุณจิตรนี่ละ และก็แกสอนวิธีแต่งเพลงว่า โดยการแต่งเพลง ลักษณะท่อนแรกต้องบรรยายถึงธรรมชาติที่มันสามารถเปรียบเทียบกับเนื้อหาที่เราจะเขียนวรรคที่ 2 ที่ 3” ลูกชายของครอง จันดาวงศ์ ระบุ

นอกจากนี้ สมัยอยู่คุกลาดยาว วิทิต มีโอกาสซึมซับวิชาความรู้ปรัชญาการเมืองด้วย เนื่องจากขณะนั้น วิทิตได้มีโอกาสฟังการโต้เถียงด้วยเหตุผลระหว่างลัทธิแก้และลัทธิมาร์กซ ระหว่างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และปัญญาชนฝ่ายซ้ายอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก พคท. อย่างเช่นจิตร เหล่านี้เป็นตัวบ่มเพาะความรู้ด้านปรัชญาการเมืองของวิทิตเป็นอย่างดี 

อีกประการคือการได้ฟัง จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายเรื่องปรัชญาการเมืองมาร์กซิส และศิลปวัฒนธรรมให้ฟังโดยตรง ซึ่งวิทิต เล่าถึงการอธิบายของจิตรว่าสั้น ง่าย และชัดเจน

“แกเคยพูดถึงเรื่องวิชาศิลปวัฒนธรรม ประกอบด้วย ข้อ 1 ความง่ายในที่นี้ไม่ใช่ความมักง่าย แต่เป็นความเข้าใจง่าย ข้อ 2 ความแจ่มชัด ข้อที่ 3 ศิลปวัฒนธรรมมันไปรับใช้ใคร คนชั้นไหน เพราะงั้น ถ้าเราไปดูเพลงของจิตร ทุกเพลงมันจะไปสะท้อนภาพของคนชั้นล่าง ประเภทใช้แรงงาน กรรมกร ชาวนาเหล่านี้ และก็ไปซึมซับทางด้านดนตรี แกทุ่มเทให้มาก เพราะว่าเป็นศิษย์ก้นกุฏิ เพราะเหลือเราอยู่คนเดียวที่อยู่กับแก คนอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนแก ศาลทยอยปล่อยๆ จนสุดท้ายเหลือผม ผมก็ย้ายที่นอนไปอยู่กับห้องแก ก็เลยได้รู้จักกับจิตรทั้งกลางวันและกลางคืน” วิทิต กล่าว 

อุปนิสัยของจิตร 

ในมุมมองของวิทิต จิตรเป็นคนมีอุปสัยเด่น คือ เป็นคนพูดจาตรงๆ ถ้าความเห็นไม่ตรงกัน ก็กล้าพูอย่างตรงไปตรงมา ส่งผลให้จิตรกลายเป็นคนมีเพื่อนคบหาน้อย แม้แต่เพื่อนที่คุกลาดยาวก็มีไม่เยอะ ซึ่งตรงนี้จิตรเองก็ยอมรับ

แม้นจิตร เป็นคนพูดตรงๆ แต่นิสัยกลับเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับวิทิต ซึ่งเป็นคนที่สามารถเข้าได้กับคนทุกคน คนทุกกลุ่ม ไม่เจ็บแค้นเคืองโกรธเวลาถูกนินทาหรือต่อว่าต่อขาน

“แก (จิตร ภูมิศักดิ์) ชอบนิสัยผมด้วย ไม่ว่าใครจะว่าอะไรยังไง ไม่มีตอบโต้ ผมไปของผม จะด่าผมยังไง เวลาผมไปหา ไม่ปฏิเสธไม่ใส่ใจอะไรที่ผิดเราก็แก้ไข ผมไปได้ทุกกลุ่ม” วิทิต กล่าว 

วิทิต กล่าวต่อว่า ความขัดแย้งในคุก ก็ทำให้มีคนไม่อยากให้เขาไปข้องแวะกับจิตร และสังข์ พัธโนทัย ซึ่งขณะนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นซีไอเอ หรือเป็นสายลับของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เพราะมื่อ 2495 สังข์ เคยทำงานเป็นสายลับให้จอมพล ป. และเป็นคนชี้เป้าให้จับกลุ่มกบฏสันติภาพ ภายหลังเขาก็สารภาพทั้งน้ำตา ซึ่งมีบางคนให้อภัยและไม่ให้อภัย แต่วิทิต เขามองว่าไม่รู้จะโกรธกันทำไม เป็นเพื่อนนอนคุกเดียวกัน ก็เลยยังคงไปหาจิตรเหมือนเดิม ซึ่งก็มีคนนินทาลับหลังตามมาว่า ‘ขายเนื้อขายตัวให้ซีไอเอ’

วิทิต ชวนมองในมุมด้านดีว่าอย่างน้อยความขัดแย้งในคุก ทำให้เขาได้พัฒนาความรู้ด้านปรัชญาการเมือง เพราะคนเขาเถียงกันด้วยทฤษฎี ซึ่งตอนนั้นลัทธิแก้กับลัทธิมาร์กซเถียงกัน เป็นผลให้ต่อมา จิตรก็เลยเขียนหนังสือเล่มหนึ่งด้วยลายมือใส่สมุดปกอ่อน ว่าด้วยลัทธิแก้ ในบางช่วงบางตอนของบทนำ จิตร ระบุด้วยว่า ก่อนจะเข้าใจลัทธิแก้ ต้องเข้าใจลัทธิมาร์กซคืออะไร และเป็นยังไง ตลอดจนชี้แจงด้วยว่าอะไรคือลัทธิแก้ อะไรคือลัทธิมาร์กซ 

“เพราะฉะนั้น ช่วงเวลาที่ด้วยกัน แก (จิตร) ทั้งสอนดนตรีให้ สอนศิลปวัฒนธรรมให้ สอนปรัชญาทางการเมืองให้ ทำให้ผมวิเคราะห์สถานการณ์มาได้จนถึงทุกวันนี้ … สิ่งเหล่านี้ผมปฏิเสธไม่ได้ ผมเป็นคนรับจากจิตร จิตรเป็นคนซึมซับให้ทางภูมิปัญญาอะไรต่างๆ” วิทิต กล่าว พร้อมกล่าวต่อว่า “ผมเคยบอกกับแกว่า อยากจะเก่งให้ได้ซักเสี้ยวหนึ่งของคุณจิตร แกให้คำตอบว่าคุณยังเด็กกว่าผม ขนาดนี้คุณยังแค่นี้ ถ้าอายุเท่าผมคุณจะเก่งกว่าผม เขาให้กำลังใจ” 

คุยกันครั้งสุดท้าย

เวลาล่วงเลยจนกระทั่งก่อนวันที่ 30 ธ.ค. 2506 เป็นวันที่จิตรต้องฟังคำพิพากษาจากศาล ซึ่งวันดังกล่าว จิตรคุยกับวิทิตให้ฟังอย่างมั่นใจว่า ศาลจะสั่งปล่อยตัวเขาอย่างแน่นอน ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ  

“ผมมี ‘เงิน’ ตัวเดียวที่ผมรักมาก มอบให้วิทิตไว้ และวิทิตอย่าลืมว่า อย่าลืมถือเงินตัวนี้ไปพบกับที่ภูพาน” วิทิต ระบุ

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่วิทิต และจิตร ได้คุยกัน เนื่องจากหลังวิทิตได้รับการปล่อยตัวจากลาดยาว ปี 2510 ซึ่งเป็น 1 ปีหลังจากจิตร ภูมิศักดิ์ สิ้นชีวิตลงที่เทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร ในปี 2509

หลังจากวิทิตออกจากคุก เขาเดินทางเข้าป่า พร้อมหอบหิ้วของหลายอย่างไปด้วยโดยเฉพาะเครื่องดนตรีอย่างกีตาร์ ไวโอลิน และแมนโดริน และของที่จิตรทิ้งไว้ให้ แต่เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ปราบหนัก และเกรงจะถูกจับกุม เลยต้องซ่อนของทั้งหมดไว้ในถ้ำแห่งหนึ่ง ส่วนเครื่องดนตรีภายหลังทราบข่าวว่าถูกทหารเหยียบทำลายไปหมดแล้ว เลยไม่มีสมบัติของจิตร เหลือไว้ให้ดูต่างหน้า

ทั้งนี้ นอกจากการประกาศมอบรางวัลดังกล่าวแล้ว ก่อนหน้านี้ในช่วงกลางวันของวันเดียวกัน สนายน้อยดาวเหนือ หนึ่งในผู้เข้าร่วมการต่อสู้ปฏิวัติเพื่อประชาชน และเสียชีวิตในปี 2523 ซึ่งร่างของเขาถูกฝังที่ ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหารนั้น ทางครอบครัวของสหายน้อยทำพิธีนำอัฐิของเขากลับไปที่บ้านอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net