Skip to main content
sharethis

รองประธานศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะแห่งสำนักงานที่ปรึกษาประจำคณะมนตรีจีน (State Council) เขียนบทวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ชี้ ไม่ว่าจะจบอย่างไรรัสเซียก็แย่ กระแสโลกจะหันสู่สหรัฐฯ และตะวันตก "ม่านเหล็ก" แบบสงครามเย็นจะกลับมา พร้อมแนะรัฐบาลจีนต้องเลือกข้าง-เลิกถือหาง 'ปูติน' เพื่อภาพลักษณ์และผลประโยชน์ของชาติในระยะยาว รวมถึงช่วยเสริมเกราะกำบังเรื่องไต้หวันให้จีน

17 มี.ค. 2565 หูเหว่ย (Hu Wei) รองประธานศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะแห่งสำนักงานที่ปรึกษาประจำคณะมนตรีจีน (State Council) และประธานสมาคมวิจัยนโยบายสาธารณะแห่งนครเซี่ยงไฮ้ เขียนบทความเรื่องความวิเคราะห์เรื่องผลลัพธ์ที่อาจเป็นไปได้ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และทางเลือกของจีนในสงครามนี้ เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2565 บนเว็บไซต์ U.S.-China Perception Monitor ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ออนไลน์ภายใต้การดูแลของศูนย์คาร์เตอร์ (Carter Center) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ก่อตั้งโดยจิมมีและโรสซาลีน คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีและสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1970

หูเหว่ยระบุในบทความว่าสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเป็นข้อพิพาทด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามนี้ส่งผลกระทบใหญ่หลวงมากกว่าเหตุการณ์ก่อการร้าย 911 เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 ที่นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่สำคัญนี้ จีนจำเป็นต้องวิเคราะห์และประเมินอย่างแม่นยำถึงทิศทาของสงครามและผลกระทบต่อภูมิทัศน์ระดับนานาชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ ในขณะเดียวกัน จีนจำเป็นต้องตอบโต้อย่างยืดหยุ่นและสร้างทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศ เพื่อที่จะสามารถบรรลุสภาพแวดล้อมภายนอกได้อย่างค่อนข้างน่าพึงพอใจ

‘ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร’ ของรัสเซียที่กระทำต่อยูเครนนั้นสร้างข้อถกเถียงที่ยิ่งใหญ่ในจีน มีทั้งผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้าน แบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง บทความนี้ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ผู้เขียนเขียนขึ้นเพื่อวิเคราะห์บนพื้นฐานของความเป็นจริง เพื่อทำนายความเป็นไปได้ของผลกระทบจากสงคราม ควบคู่ไปกับตัวเลือกการกระทำโต้กลับที่สอดคล้องกัน เพื่อการตัดสินและการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงให้แก่กลุ่มคนผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในจีน

ทำนายอนาคตสงครามรัสเซีย-ยูเครน

1. วลาดิเมียร์ ปูติน อาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวังไว้ได้ ซึ่งจะทำให้รัสเซียตกอยู่ในจุดที่บีบคั้น จุดประสงค์ของปูตินในการโจมตีคือการแก้ไขปัญหาของยูเครนให้เสร็จสิ้น รวมถึงเบี่ยงเบนความสนใจจากวิกฤติภายในรัสเซียด้วยการโจมตีทางทหารเพื่อเอาชนะยูเครนให้ได้อย่างรวดเร็ว เปลี่ยนแปลงตัวผู้นำ และจัดตั้งรัฐบาลที่เข้าข้างรัสเซีย อย่างไรก็ตาม การโจมตีทางทหารของรัสเซียเพื่อหวังผลชนะอย่างรวดเร็วนั้นล้มเหลว รัสเซียไม่สามารถประคองสงครามที่ยืดเยื้อและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งมีราคาสูงได้ ส่วนการเปิดสงครามนิวเคลียร์นั้นจะทำให้รัสเซียตกอยู่ในสถานะฝ่ายตรงข้ามของทั้งโลกไปโดยปริยายและไม่สามารถเอาชนะได้ในศึกนี้ สถานการณ์เช่นนี้เพิ่มดีกรีความไม่พอใจให้กับทั้งคนในและคนนอกประเทศ หากกองทัพรัสเซียสามารถบุกยึดกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน และจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดได้ ก็ไมได้แปลว่านี่จะเป็นชัยชนะครั้งสุดท้าย ในจุดนี้ ตัวเลือกที่ดีที่สุดของปูตินคือการจบสงครามอย่างเหมาะสมผ่านวิธีการเจรจาสันติภาพ ซึ่งยูเครนจำเป็นต้องเข้าร่วมเพื่อสร้างฉันทามติให้เป็นจริง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ในสนามรบก็เป็นสิ่งที่ยากจะได้มาจากการเจรจาบนโต๊ะ แต่ไม่ว่าจะในกรณีใด ปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ประกอบด้วยความผิดพลาดที่ไม่สามารถย้อนกลับได้

2. ความขัดแย้งอาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และการเข้ามามีส่วนร่วมในสงครามของชาติตะวันตกในท้ายที่สุดนั้นเป็นสิ่งที่อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่การเพิ่มดีกรีความรุนแรงของสงครามอาจมีต้นทุนที่สูง แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าปูตินจะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ตามบุคลิกและอำนาจที่เขามี สงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจเพิ่มดีกรีความรุนแรงเกินขอบเขตและภูมิภาคของยูเครน และอาจจะรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น สหรัฐฯ และยุโรปไม่สามารถนิ่งเฉยต่อความขัดแย้งนี้ได้อีก ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกหรือสงครามนิวเคลียร์ ผลที่ออกมาอาจจะเป็นหายนะของมวลมนุษยชาติและเป็นการประจันหน้ากันระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย การเผชิญหน้ากันในขั้นสุดท้ายนี้อาจจะยิ่งแย่สำหรับปูติน เพราะอำนาจทางการทหารของรัสเซียเทียบไม่ได้กับกำลังทหารทั้งหมดของนาโต้

3. ถ้าหากว่ารัสเซียจัดการยึดยูเครนได้ในเกมเดิมพันอันสิ้นหวัง ความวุ่นวายทางการเมืองก็ไม่ได้จบลง หลังจากนั้น รัสเซียอาจจะต้องรับภาระหนักและอาจจะรู้สึกหนักอึ้งเกินจะรับไหว ภายใต้สภาพแวดล้อมเช่นนั้น ไม่ว่าโวโลดิมีร์ เซเลนสกีจะเป็นหรือตาย ยูเครนมีแนวโน้มที่จะจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเพื่อเผชิญหน้ากับรัสเซียได้ในระยะยาว รัสเซียจะตกเป็นเป้าของการคว่ำบาตรโดยชาติตะวันตกและจะต้องเจอกบฎทั่วดินแดนยูเครน การต่อสู้จะยืดยาวออกไป เศรษฐกิจภายในประเทศจะไม่มีเสถียรภาพและจะล้มลงในท้ายที่สุด ช่วงเวลานี้จะกินเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น

4. สถานการณ์การเมืองในรัสเซียอาจเปลี่ยนหรือแหลกสลายคามือของชาติตะวันตก หลังจากที่การโจมตีของปูตินพังไม่เป็นท่า ความหวังแห่งชัยชนะของรัสเซียก็ยิ่งเปราะบางและมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกก็จะแตะถึงระดับที่ไม่มีใครมีใครคาดคิดมาก่อน ความไม่สงบเรียบร้อยทางการเมืองในรัสเซียอาจเกิดขึ้นอย่างไม่มีทางเลี่ยงได้ เพราะชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนได้รับผลกระทบหนักและกลุ่มต่อต้านสงครามกับกลุ่มต่อต้านปูตินจะรวมพลังกันเป็นหนึ่งเดียว เนื่องด้วยเศรษฐกิจของรัสเซียเองก็อยู่ในจุดเสี่ยงที่จะพังทลาย อาจเป็นงานยากสำหรับปูตินที่ต้องประคองสถานการณ์ที่อันตรายเช่นนี้โดยไม่ให้เกิดความสูญเสียในสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ไม่ว่าปูตินจะถูกขับออกจากอำนาจได้เพราะพลังการต่อสู้ของประชาชน การรัฐประหาร หรือเหตุผลอื่นใด รัสเซียก็ไม่น่าจะเผชิญหน้ากับชาติตะวันตกได้ รัสเซียจะต้องยอมจำนนต่อชาติตะวันตก หรือแม้กระทั่งถูกขับออกจากการเป็นสมาชิก และสถานะของรัสเซียในฐานะชาติมหาอำนาจจะต้องถึงจุดจบ

วิเคราะห์ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนในภูมิทัศน์ระดับนานาชาติ

1. สหรัฐฯ จะได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำชาติตะวันตกที่แท้จริง และความสัมพันธ์ของชาติตะวันตกจะเป็นหนึ่งเดียวกันมากยิ่งขึ้น ณ เวลานี้ ความเห็นมหาชนเชื่อว่าสงครามในยูเครนส่งสัญญาณว่าอำนาจของสหรัฐฯ พังทลายลงอย่างสมบูรณ์ แต่สงครามได้เพิ่มอำนาจให้ฝรั่งเศสและเยอรมนีแทน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้ต้องการปลีกตัวออกห่างจากสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ ต้องการดึงกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงของนาโต้กลับมาและทำลายความฝันของยุโรปที่ต้องการมีนโยบายทางการทูตแบบอิสระและป้องกันตัวเอง เยอรมนีจะเพิ่มงบจำนวนมหาศาลให้ด้านการทหาร ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน และประเทศอื่นๆ จะละทิ้งความเป็นกลางทางการเมือง เนื่องด้วยโครงการท่อส่งก๊าซนอร์ดสตอร์ม 2 ถูกระงับไว้โดยไม่มีกำหนด ยุโรปจะต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้สหรัฐฯ และยุโรปจะมีชุมชนแห่งอนาคตร่วมกันและใกล้ชิดกันมากขึ้น และความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในโลกตะวันจะย้อนกลับคืนมา

2. “ม่านเหล็ก” แบบยุคสงครามเย็นจะพังทลายอีกครั้ง ไม่ใช่แค่ในพื้นที่ทะเลบอลติกถึงทะเลดำ แต่รวมถึงการเผชิญหน้าครั้งสุดท้ายระหว่างค่ายที่ถูกยึดครองโดยชาติตะวันตกและค่ายฝั่งตรงข้าม ชาติตะวันตกจะขีดเส้นระหว่างรัฐประชาธิปไตยและรัฐอำนาจนิยม ซึ่งจะนิยามด้วยสภาพของรัสเซียที่กำลังติดแหงกอยู่ระหว่างระชาธิปไตยและเผด็จการ ม่านเหล็กใหม่จะไม่ได้กั้นระหว่าง 2 ค่ายความคิดอย่างสังคมนิยมหรือทุนนิยม และจะไม่จำกัดขอบเขตแบบในสงครามเย็น แต่มันจะเป็นการสู้กันจนตัวตายระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนและต่อต้านประชาธิปไตยแบบตะวันตก ความสามัคคีของชาติตะวันตกภายใต้ม่านเหล็กจะส่งผลแบบกาลักน้ำให้กับประเทศอื่นๆ เช่น ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ จะแข็งแกร่ง และประเทศอื่นๆ อย่างญี่ปุ่นจะยิ่งแนบชิดกับสหรัฐฯ มากกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้เกิดแนวหน้าประชาธิปไตยที่เป็นหนึ่งเดียวกันในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

3. อำนาจของชาติตะวันตกจะทรงพลังขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นาโต้จะขยายตัวต่อไปอีก และอิทธิพลของสหรัฐฯ ในประเทศที่ไม่ใช่ชาติตะวันตกจะเพิ่มมากขึ้น หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนสิ้นสุดลง ไม่ว่ารัสเซียจะบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไร แต่รัสเซียจะทำให้อำนาจในการต่อต้านตะวันตกนั้นอ่อนแอลงอย่างใหญ่หลวง ภาพที่เห็นช่วงหลัง ค.ศ.1991 นั่นคือการแตกหักอย่างรุนแรงระหว่างโซเวียตและยุโรปตะวันออกอาจฉายซ้ำให้เห็นอีกครั้ง ทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับการอวสานของอุดมการณ์ (the end of ideology) อาจย้อนกลับมาให้เห็น การฟื้นคืนของคลื่นลูกที่สามแห่งกระบวนการประชาธิปไตยอาจเสียแรงผลักดัน และประเทศโลกที่สามจะหันเข้าหาตะวันตกมากขึ้น ชาติตะวันตกจะครอง “อำนาจนำ” ทั้งด้านการทหาร คุณค่า และสถาบันต่างๆ อีกทั้งอำนาจแข็ง (hard power) และอำนาจอ่อน (soft power) ของชาติตะวันตกจะแตะจุดพีคครั้งใหม่

4. จีนจะโดดเดี่ยวมากกว่าเดิมภายใต้กรอบสังคมที่สร้างขึ้นตามฉากทัศน์และเหตุผลที่ได้กล่าวไปข้างต้น หากจีนไม่ใช้นโยบายเชิงรุกเพื่อโต้ตอบ จีนอาจต้องเผชิญหน้ากับการกีดกันที่มากขึ้นจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตก เมื่อปูตินล้ม สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องสู้กับคู่แข่งสองฝั่งอีกต่อไป แต่จะสามารถล็อกจีนให้อยู่หมัดได้ด้วยการสกัดกั้นเชิงยุทธศาสตร์ ยุโรปจะตัดขาดจากจีน ญี่ปุ่นจะเป็นกองหน้าต่อต้านจีน เกาหลีใต้จะตกไปอยู่กับสหรัฐฯ ไต้หวันจะเป็นทีมประสานช่วยต่อต้านจีน และทั้งโลกจะต้องเลือกข้างภายใต้จิตวิทยาการอยู่รวมกลุ่ม (herd mentality) และถ้าเป็นเช่นนั้น จีนไม่เพียงแค่จะถูกล้อมทางทหารด้วยสหรัฐฯ นาโต้ QUAD และ AUKUS แต่คุณค่าและระบบแบบตะวันตกจะเข้ามาท้าทายจีนด้วยเช่นกัน

ทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ของจีน

1. จีนไม่สามารถผูกมัดตัวเองเข้ากับปูตินและจำเป็นต้องตัดข้อผูกมัดนั้นออกให้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้ามองว่าการยกระดับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกจะช่วยเบนความสนใจของสหรัฐฯ ออกจากจีน จีนควรจะยินดีและยิ่งต้องสนับสนุนปูติน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ารัสเซียจะต้องไม่แพ้ หากปูตินไม่สามารถรักษาชัยชนะที่มีจีนช่วยหนุนหลังเอาไว้ได้ ภาพที่เห็นในช่วงเวลานั้นก็คงดูสิ้นหวังไม่ใช่น้อย หากเป็นเช่นนั้นจริง จีนไม่จำเป็นต้องช่วยหนุนรัสเซียต่อก็ได้ เพราะกฎของการเมืองระหว่างประเทศกล่าวไว้ว่า “ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูที่ถาวร” แต่ “ผลแต่โยชน์ของเรานั้นยืนยงคงกระพัน” ภายใต้บรรยากาศโลกในปัจจุบัน จีนทำได้เพียงก้าวไปข้างหน้าด้วยการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองให้ดีที่สุด เลือกทางที่เลวร้ายน้อยที่สุด และสลัดทิ้งภาระของรัสเซียออกไปให้เร็วที่สุด ในเวลานี้ ยังพอประเมินได้ว่ามีระยะหลบให้จีนสักประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนที่จีนจะเสียอำนาจต่อรอง และจีนต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด

2. จีนควรเลี่ยงการเหยียบเรือสองแคม เลิกทำตัวเป็นกลาง และเลือกตำแหน่งแห่งที่ในกระแสหลักของโลก ในตอนนี้ จีนพยายามไม่ทำให้ฝ่ายใดขุ่นข้องหมองใจ และเดินทางสายกลางทั้งคำพูดและทางเลือกในระดับนานาชาติ ซึ่งรวมถึงการงดออกเสียงในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) อย่างไรก็ตาม จุดยืนนี้ของจีนไม่ใช่สิ่งที่รัสเซียต้องการ ทั้งยังทำให้ยูเครน รวมถึงผู้สนับสนุนและผู้ที่เห็นใจยูเครนรู้สึกโกรธเคืองอีกด้วย ซึ่งจุดยืนแบบนี้ทำให้จีนกลายเป็นผู้ที่ยืนคนละฝั่งกับคนส่วนใหญ่บนโลก ในบางกรณี การแสดงออกชัดเจนว่าเป็นกลางก็เป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผล แต่มันใช้ไม่ได้กับสงครามนี้ ซึ่งจีนไม่ได้ประโยชน์ร่วมใดๆ จีนสามารถเลี่ยงการถูกโดดเดี่ยวในอนาคตได้ด้วยการยืนเคียงข้างประเทศส่วนใหญ่บนโลก เพื่อยืนยันหลักการที่จีนบอกว่าเคารพในอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของชาตินั้นๆ จุดยืนนี้จะช่วยให้ประเด็นไต้หวันมีน้ำหนักมากขึ้นในมุมจีน

3. จีนควรบรรลุความก้าวหน้าเชิงยุทธศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและไม่ควรถูกโดดเดี่ยวโดยชาติตะวันตก การตัดขาดจากปูตินและเลิกเป็นกลางจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้จีนในเวทีระดับนานาชาติ รวมถึงช่วยคลายสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ถึงจะยากและต้องใช้สติปัญญาอันเป็นเลิศ แต่นี่คือทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่ออนาคต ภาพการต่อสู้เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ในยุโรปถูกสั่นคลอนด้วยสงครามในยูเครน ภาพนั้นจะทำให้การเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ จากยุโรปหันเข้าสู่อินโด-แปซิฟิกล่าช้าออกไปอย่างมีนัยสำคัญ และนั่นเป็นเรื่องดีอย่างหาที่สุดมิได้ ตอนนี้มีเสียงดังกึกก้องในสหรัฐฯ แล้วว่ายุโรปสำคัญ แต่จีนนั้นสำคัญยิ่งกว่า และจุดประสงค์ของสหรัฐฯ คือการยับยั้งไม่ให้จีนกลายเป็นอำนาจหลักเหนือภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ สิ่งสำคัญที่สุดของจีนคือการปรับเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์ให้เหมาะสม เพื่อเปลี่ยนทัศนคติที่ไม่เป็นมิตรของสหรัฐฯ ป้องกันตัวเองจากการถูกโดดเดี่ยว และส่วนที่สำคัญที่สุดคือป้องกันไม่ให้สหรัฐฯ กับชาติตะวันตกรุมคว่ำบาตรจีน

4. จีนควรป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกและสงครามนิวเคลียร์ และควรมีส่วนร่วมในสันติภาพโลกในแบบที่ไม่มีใครสามารถแทนที่ได้ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนอาจจะยืดเยื้อจนเกินควบคุมเพราะปูตินสั่งอย่างชัดเจนให้กองกำลังต่อต้านทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียต้องมีความพร้อมเข้าสู่สถานะปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร การกระทำเช่นนั้นต้องหาเสียงสนับสนุนเพื่อเหตุแห่งความชอบธรรมให้ได้มากที่สุดและต้องมีเสียงต่อต้านน้อยที่สุด ถ้ารัสเซียทำให้เกิดสงครามโลกหรือแม้กระทั่งสงครามนิวเคลียร์ จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความวุ่นวายไปทั่วโลก ยกตัวอย่างบทบาทของจีนในฐานะมหาอำนาจผู้มีความรับผิดชอบ จีนไม่เพียงแค่ต้องเลิกยืนข้างปูติน แต่จีนต้องกระทำการอันเป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันการผจญภัยสุดเหวี่ยงของปูตินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จีนเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีความสามารถ (ในการยับยั้งปูติน) นี้ และต้องแสดงบทบาทเต็มในความได้เปรียบที่มีเพียงหนึ่งเดียวนี้ การที่ปูตินไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากจีนจะช่วยทำให้สงครามยุติเร็วขึ้น หรืออย่างน้อยก็ทำให้ปูตินไม่กล้ายกระดับสงคราม ผลที่ได้คือจีนจะชนะและได้รับเสียงชื่นชมในวงกว้างจากนานาประเทศอย่างแน่นอนที่สามารถรักษาสันติภาพโลกเอาไว้ได้ ซึ่งจะช่วยให้จีนไม่โดดเดี่ยวและเปิดโอกาสให้จีนได้พัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอีกด้วย

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net