Skip to main content
sharethis

'สมชัย' หวังสภาฯ ลงมติแก้รัฐธรรมนูญ ม.272 ปิดสวิตช์ ส.ว. โหวตนายกฯ ระบุต้องมี ส.ว.อย่างน้อย 84 เสียง ย้ำหากแก้สำเร็จ ทำให้ระบบการเมืองไทยคืนสู่ภาวะปกติ ด้าน ปธ.วิปรัฐบาล รับเป็นไปได้ยาก ขณะที่ ปธ.วิปฝ่าย ชี้ยากที่เขาตัดอำนาจตัวเอง แต่เขาอาจจะคิดได้

5 ก.ย.2565 กรณีรัฐสภาในวันที่ 6-7 ก.ย. นี้จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเรื่อง ข้อเสนอการตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 นั้น สมชัย ศรีสุทธิยากร คณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ โพสต์เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'สมชัย ศรีสุทธิยากร' ว่า การลงมติครั้งนี้มีความหมายเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเมืองไทยไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้

1) ส.ว. มีความเป็นกลางทางการเมือง ตามมาตรา 113 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ฝักใฝ่ หรือยอมอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด

2) การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่อยู่ภายใต้การพิจารณาว่า ส.ว. จะลงมติให้ใคร หรือ ควรจับมือกับพรรคการเมืองใดที่ ส.ว. มีแนวโน้มสนับสนุน

3)เป็นการนำประเทศไปสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแบบสากล และ เป็นการเสริมสร้างเกียรติภูมิของวุฒิสภา

"จับตาดูอย่างใกล้ชิดครับ พรรคไหนจะตัดสินใจลงมติอย่างไร ส.ว. คนไหน จะลงมติอย่างไร ด้วยเหตุผลใด" สมชัย ระบุ

ต้องมี ส.ว.อย่างน้อย 84 เสียง ย้ำหากแก้สำเร็จ ทำให้ระบบการเมืองไทยคืนสู่ภาวะปกติ

อีกทั้ง สมชัย ประเมินว่า เสียง ส.ส. และ ส.ว. ประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี สำหรับการประชุมรัฐสภาที่จะถึงนี้

1. สิ่งที่ต้องการ คือ คะแนนเสียงรวมเกินครึ่งของรัฐสภา คือ ประมาณ 365 เสียง โดยในจำนวนดังกล่าว ต้องมี ส.ว.อย่างน้อย 84 เสียง

2. สิ่งที่คาดว่าจะได้จาก ฝั่ง ส.ส. คือ น่าจะความเห็นไปในทางเดียวกันทั้ง 100% ว่าสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว เพราะหากพรรคใดบอกว่า อยากให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี คงเป็นประเด็นจุดอ่อนในการหาเสียง ดังนั้น คะแนนฝั่ง ส.ส. น่าจะได้จาก ส.ส. เกือบทั้งหมดที่มาประชุม ประมาณ 300-400 เสียง

3. สิ่งที่คาดว่าจะได้จากฝั่ง ส.ว. คือ น่าจะได้เสียงสนับสนุนไม่เกิน 40 เสียง จาก ส.ว.ที่มาประชุมประมาณ 150 คนจาก 250 คน โดยส่วนใหญ่ที่เหลือจะเลือกใช้วิธีงดออกเสียง มากกว่า ลงมติไม่รับ

4. หากแก้ไขสำเร็จ ถือว่าเป็นสิ่งดีต่อระบบการเมืองไทย ที่คืนสู่ภาวะปกติ เข้าสู่การแข่งขันทางการเมืองที่เป็นธรรม ลดความขัดแย้งในสังคม แต่หากไม่สำเร็จ ถือเป็นเชื้อต่อความสำเร็จของฝ่ายประชาธิปไตยในอนาคต ชนะคือชนะ และ แพ้คือชนะ เช่นกัน

ปธ.วิปรัฐบาล รับเป็นไปได้ยาก

ขณะที่ปฏิกิริยาของฝ่ายรัฐบาล สำนักข่าวไทยรายงานว่า นิโรธ สุนทรเลขา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล  กล่าวก่อนการประชุมวิปรัฐบาล ว่า วันนี้(5 ก.ย.) ที่ประชุมจะพิจารณากฎหมายที่ส.ส.ยื่นเสนอเข้ามายังสภาฯ เพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราที่เกี่ยวข้องกับการไม่ให้ ส.ว. มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งเรื่องนี้ดูแล้วไม่น่าจะมีปัญหา

ส่วนเนื้อหาการปรับเปลี่ยนอำนาจของส.ว. ดูแล้วน่าจะผ่านไปได้ยากหรือไม่ ประธานวิปรัฐบาล  กล่าวว่า ต้องดูเนื้อหาสาระอีกครั้ง แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยจะไปแก้ไขในหลักการ  ซึ่งเห็นว่าคงทำได้ยากเหมือนกัน ยืนยันว่าไม่มีการส่งสัญญาณว่าจะไม่ให้การแก้ไข เรื่องนี้ผ่านไปได้ 

ส่วนดูแล้วจะไม่ได้คะแนนเสียงจาก ส.ว. เพราะเป็นการแก้ไขอำนาจของ ส.ว. หรือไม่ นิโรธ กล่าวว่า คาดว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ ส.ว. บางท่านก็ต้องพิจารณา

ปธ.วิปฝ่าย ชี้ยากที่เขาตัดอำนาจตัวเอง แต่เขาอาจจะคิดได้

ขณะที่ สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมฝ่ายค้าน เปิดเผยก่อนประชุมวิปฝ่ายค้านว่า ที่ประชุมจะหารือเรื่องระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 6-7 ก.ย. ซึ่งจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดยหลายฝ่าย ว่าเนื้อหาสาระและทิศทางจะเป็นอย่างไร การจัดสรรเวลาและผู้อภิปราย รวมถึงประเด็นที่ควรจะต้องอภิปรายกัน ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มีทั้งหมด 5 ฉบับ ได้แก่ ร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 เสนอโดย สมชัยกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 64,151 คน ร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 120 เสนอโดย วิรัช พันธุมะผล ส.ส. ภูมิใจไทย กับคณะ ส่วนที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย มีทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ เป็นผู้เสนอ 2. ร่างฯ เพิ่มมาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 29 เพิ่มมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48 ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ เป็นผู้เสนอ 3. ร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งเกี่ยวข้องกับที่มาของนายกรัฐมนตรีจากการเลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ตลอดจนการตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งสอดคล้องกับร่างฯ ที่เสนอโดยนายสมชัย และคณะ

สุทิน กล่าวต่อว่า ในวาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 5 ฉบับนั้น จะเป็นการรวมพิจารณาและอภิปรายพร้อมกันทั้ง 5 ฉบับ และจะลงมติแยกกันทีละฉบับ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประชุมถึงเวลา 24.00 น. ของทั้งวันที่ 6 ก.ย. และ 7 ก.ย.

สุทิน กล่าวถึงแนวโน้มการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เคยเสนอกันมาหลายเที่ยวแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่สำเร็จ ซึ่งเราเชื่อว่า กาลเวลาที่ผ่านมา สมาชิกรัฐสภาโดยเฉพาะส่วนที่เห็นต่างนั้นจะได้ฟังเสียงประชาชนมากขึ้น และจะเห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ เราก็มีความหวังมากกว่าเดิม แม้จะล้มเหลวมา แต่เชื่อว่าเสียงประชาชนคงจะมีความหมายมากขึ้น

เมื่อถามว่า ส.ว.จะเห็นชอบกับการตัดอำนาจ ส.ว. ได้หรือไม่ สุทิน กล่าวว่า พูดตามหลักแล้วก็ยาก ที่จะให้เขาตัดอำนาจตัวเอง แต่เขาอาจจะคิดได้ว่าจวนจะหมดวาระไปแล้ว อีกประการคือมี ส.ว.ไม่น้อยที่เห็นควรว่า ตัดอำนาจข้อนี้ออก จากเหตุปัจจัยทั้งสถานการณ์และบริบท จึงจะมีความหวังมากขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net