Skip to main content
sharethis

6 ก.ย.2565 ที่รัฐสภา มีการประชุมเพื่อพิจารณา พิจารณาร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ในวาระหนึ่ง ร่างแก้รัฐธรรมนูญจำนวน 3 ฉบับ เสนอโดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย และอีก 1 ฉบับเสนอโดยภาคประชาชนกว่า 6 หมื่นรายชื่อ ที่ร่วมกันเข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิก ม.272 ที่ให้อำนาจส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถมาเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส.ได้ 

คํานูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กล่าวว่าส่วนตัวเขาเห็นด้วยและจะลงมติเห็นชอบ เพราะเหตุผลที่เกี่ยวกับที่มาของอำนาจที่ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ได้นั้นมาจากคำตอบของประชาชนต่อคำถามพ่วงในการออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ 7 ส.ค.2559 ที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปประเทศ แล้วที่ผ่านมาก็มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศขึ้นมาหลายด้านและมีแผนการปฏิรูประเทศออกมาและยังมีฉบับปรับปรุงออกมาด้วย การปฏิรูปประเทศก็จะมีกระบวนการที่ให้ ส.ว.ที่ตั้งขึ้นมาชุดแรกนี้มีอำนาจพิเศษมากกว่า ส.ว.ทุกชุดที่ผ่านมาในอดีตและที่จะมีขึ้นใหม่หลังจากนี้ คืออำนาจที่มาตามมาตรา 270 271 และมาตรา 272

คำนูณอธิบายว่ามาตรา 270 ได้ให้ ส.ว.มีหน้าที่เร่งรัดติดตามและเสนอแนะต่อการปฏิรูปประเทศโดยกำหนดให้ ครม.เข้ามารายงานต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน และกระบวนการร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่ได้มาแล้ว 13 ฉบับแต่ยังมีที่ค้างพิจารณาอยู่ 3 ฉบับ ส่วนมาตรา 271 ที่ยังไม่เคยมีการใช้

“มาตรา 272 ผมเข้าใจว่าก็เป็นเพราะต้องการมอบภารกิจให้ ส.ว.ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะกิจ เฉพาะกาลแล้วให้เขาติดตามให้เขาเสนอแนะให้เขาเร่งรัด ให้เขาเป็นเสมือนองครักษ์การปฏิรูปประะเทศทำไมไม่ให้เขาร่วมเลือกผู้นำที่จะมาปฏิรูปด้วยซึ่งสอดคล้องกับคำถามพ่วง”

คำนูณกล่าวต่อว่า เขาและ ส.ว.คืนอื่นๆ ก็ซื่อสัตย์ต่อการทำหน้าที่นี้แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วก็มีญัตตินี้เข้ามา เขาก็เห็นว่าเมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้วการปฏิรูปประเทศมีความคืบหน้าก็ไม่มากเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับผลเสียที่สมาชิกในสภาวิจารณ์กันมาจะมีเหตุผลในการคงมาตรา 272 นี้ไว้หรือไม่ ซึ่งในเวลานั้นก็มี ส.ว. 56 คนซึ่งรวมตัวเขาด้วยได้ลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขตัดมาตรา 272 ออกแต่ก็ยังมีเสียงไม่เพียงพอ ในตอนนั้นไม่ใช่แค่มีเสียง ส.ว.ไม่ถึง 1 ใน 3 เท่านั้น แต่ในภาพรวมทั้งหมดก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดที่มีอยู่ ประเด็นนี้จึงขึ้นอยู่กับ ส.ส. ด้วยเช่นกัน

จากนั้นคำนูณได้กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ออกมาว่าแผนการปฏิรูปประเทศจะสิ้นสุดลงแล้วในปี 2565  ไม่มีแผนปฏิรูปประเทศชุดต่อไปและจะไม่มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่งตั้งขึ้นมาใหม่หลังจากชุดเดิมที่หมดวาระมาตั้งแต่ 14 ส.ค.2565 แล้ว นอกจากนั้นการรายงานผลในรอบ ส.ค.-ต.ค.2565 จะเป็นฉบับสุดท้ายและรายงานในรอบปี 2565 จะเป็นฉบับสุดท้ายที่สรุปภาพรวมของการปฏิรูปประเทศตลอด 5 ปีที่ผ่านมาและจะเสร็จในเดือนเมษายน 2566 อีกทั้งผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติออกมาอีกว่าให้ยกเลิกกฎระเบียบกลไก มติ ครม. ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศและพิจารณายกเลิก พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศด้วย แม้ตัวเขาเองจะไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาตินี้ แต่เขาก็ตั้งถามต่อการคงอยู่ของอำนาจ ส.ว.ตามมาตรา 272 ด้วยเช่นกัน

“แต่เมื่อรับทราบมติของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติซึ่งเหลือแค่เพียงขั้นตอนเดียวคือเป็นมติ ครม.เพื่อสั่งการต่อไป แล้วต้องเข้ามาสู่การประชุมพิจารณายกเลิกอำนาจ ส.ว.ตามมาตรา 272 จะให้ผมมีความเห็นเป็นอื่นไปได้อย่างไร ในเมื่อจะเชื่อมโยงไปยังคำถามพ่วงที่ให้อำนาจพวกผม 250 คนตากหน้าเข้าไปร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีก็เพราะให้เหตุผลว่าให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่อง แต่มาบัดนี้การปฏิรูปประเทศเสมือนจะรูดม่านปิดการแสดงลงแล้วจะเหลือเหตุผลให้มาตรการพิเศษให้ ส.ว.เข้าไปร่วมเลือกคืออะไรบ้าง”

คำนูณกล่าวว่าเหตุผลที่ใช้ขออนุญาตประชาชนเพื่อให้ ส.ว.ชุดแรกเข้าร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในตอนนี้ไม่มีเหตุผลที่จะดำรงอยู่แล้ว แม้ว่าการปฏิรูปประเทศจะไม่ได้สิ้นสุดลงไปด้วยก็ตามแต่ก็เป็นภารกิจตามปกติที่ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดเข้ามาก็ต้องทำไปตามปกติและงานประจำของสภาพัฒน์ ส่วนสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ที่กำหนดระยะเวลาไว้ 5ปีก็จะสิ้นสุดในปี 2566

“ในเมื่อฐานแห่งคำถามประชามติที่ขออนุญาตพี่น้องประชาชนเพียงเฉพาะกิจเฉพาะกาลเพียงชั่วคราวเท่า 5 ปี ของอายุวุฒิสภาชุดกระผมนี้มันกำลังจะหมดไปก่อนกำหนดอายุวุฒิสภาชุดแรก 5 ปีนี้ เหลืออยู่อีกปีเศษๆ กระผมจึงเห็นว่า ผมเห็นชอบที่จะให้มีการแก้ไขมาตรา 272 ตามร่างที่ท่านสมชัย ศรีสุทธิยากรแล้วก็พี่น้องประชาชนเสนอมา”

#ประชุมสภา #ยกเลิกมาตรา272 #ตัดอำนาจสว #แก้รัฐธรรมนูญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net