Skip to main content
sharethis

 

  • ศิริกัญญา ชี้ แม้ความเห็นกฤษฎีกาจะคลุมเครือ แต่ยังตีความได้ว่าอำนาจพิจารณาอนุญาตควบรวมทรู-ดีแทคอยู่ในมือ กสทช. เต็มร้อย พบพิรุธที่ปรึกษาอิสระ ทำรายงานศึกษามิชอบด้วยกฎหมาย ขาดความเป็นกลาง เชื่อมโยง บริษัททรู ดีลนี้ด่านสุดท้ายเหลือแค่ กสทช. กล้าฟันว่า “ไม่อนุญาต” ให้ควบรวมค่ายมือถือ
  • กสทช. ระบุรอความเห็นจากกฤษฎีการอบสุดท้ายก่อนลงมติพิจารณา 

 

21 ก.ย.2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า กรณีที่มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ เกี่ยวกับการตีความอำนาจ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการอนุญาติหรือไม่อนุญาติควบรวมทรู-ดีแทค ซึ่งหลายสำนักข่าวได้ให้ข่าวไปในทิศทางว่า กสทช. คกก.กฤษฎีกาปลดล็อกให้การควบรวมทรู-ดีแทคทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตนั้น ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นไปในทิศทางตรงข้ามว่าความเห็นของกฤษฎีกาครั้งนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าอำนาจในการอนุญาตควบรวมกิจการนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ กสทช. อย่างเต็มที่

“เอกสารความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาครั้งนี้ ตีความแบบที่ต้องตีความอีก และเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ทำให้คนอ่านสับสนและต้องมานั่งตีความกันหลายชั้นว่าตกลง กสทช. มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้เกิดการควบรวมหรือไม่ ทั้งๆ ที่คำถามของกสทช.นั้นตรงไปตรงมา”

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุต่อว่า ถึงจะกล่าวได้คลุมเครือ แต่เอกสารฉบับนี้มีสาระสำคัญที่ต้องพิจารณา 2 เรื่อง

หนึ่ง คือคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกอย่างชัดเจนว่าเรื่องส่วนใหญ่ที่ กสทช. ถามไปนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลยพินิจตามกฎหมาย กสทช. คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่อาจให้ความเห็นในส่วนอำนาจหน้าที่ กสทช. อันเป็นองค์กรอิสระได้
.
สอง คณะกรรมการกฤษฎีกายังเขียนอย่างชัดเจนว่าเพื่อกำกับดูแลมิให้การรวมธุรกิจมีผลเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันจึงให้อำนาจ กสทช. กำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะตามประกาศ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้อ้างถึง ข้อ 8 ของประกาศปี 2549 และข้อ 9 ของประกาศปี 2561 ส่วนหนึ่งของการให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า “...เพราะในกรณีที่เข้าข่ายตามข้อ 8 ของประกาศฉบับปี 2549 กสทช.ก็มีอำนาจอนุญาตตามข้อ 8 นั้นได้อยู่แล้ว”

เนื้อความในข้อ 8 ตามประกาศปี 2549  พูดถึงการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยการเข้าซื้อหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบ ของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ ไม่ว่าจะกระทำโดยทางตรงหรือทางอ้อมผ่านตัวแทนจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.

ดังนั้นความเห็นทางกฎหมายนี้จึงยิ่งตอกย้ำว่า กสทช. ไม่อาจปัดความรับผิดชอบในการพิจารณาหยุดยั้งการผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคมครั้งนี้ได้ เพราะเข้าข้อ 8 เต็มๆ ว่าเป็นการถือหุ้นทางอ้อม ของบริษัทแม่ในบริษัทลูกอย่างทรู และดีแทค

ความแปลกประหลาดของข่าวที่มีการส่งให้นักข่าว และเผยแพร่กันอยู่ตอนนี้ คือมีการอ้างถึงรองเลขาธิการ กสทช. ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ทั้งๆ ที่ข่าวนี้ไม่ได้ถูกส่งจากสำนักงานกสทช. และไม่ได้มีมติจากบอร์ดให้เผยแพร่ ถ้าจำกันได้เคยมีกรณีที่สั่งลบอินโฟกราฟิกโดยอ้างว่าไม่ได้มีมติบอร์ดกสทช.ให้เผยแพร่  จึงเป็นที่น่าสงสัยไอ้โม่งคนไหนที่ส่งข่าวนี้ให้นักข่าวกันแน่

นอกจากนี้ ยังมีอีกข้อสังเกตของความไม่ชอบมาพากลของ “ที่ปรึกษาอิสระ” ที่ว่าจ้างโดยทรู และดีแทค เพื่อให้เป็นไปตามประกาศ กสทช.  เข้ามาจัดทำรายงานศึกษาคือ บล.ฟินันซ่า ซึ่งจากรายงานข่าวในหน้าสื่อ มีการเปิดโปงถึงความสัมพันธ์โยงใยกับบริษัททรู

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บล.ฟินันซ่า คือ บล.ที่ปรึกษาลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (บล.เอฟเอสเอส) มี บล.ฟินันเซีย ไซรัส ถือหุ้นอยู่ถึง 89.99% ซึ่งมี ชวัล เจียรวนนท์ ถือหุ้นอยู่ 1.63% และมีชัชวาล เจียนวนนท์ ประธานกรรมการบริหารทรู ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอยู่ด้วย จึงทำให้ บล.ฟินันซ่า ขาดคุณสมบัติในเรื่องความเป็นอิสระมาตั้งแต่ต้น และอาจส่งผลให้การยื่นขอควบรวมของทรู-ดีแทค เป็นโมฆะหรือไม่

“ถ้าพิจารณากันด้วยเหตุผล ไม่มีเหตุผลใดเลยที่ กสทช. จะยอมรับให้การควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศเหลือเพียง 2 เจ้าใหญ่เกิดขึ้นได้ เรื่องนี้จึงเหลือแค่ด่านสุดท้ายคือให้ กสทช. มีความกล้าหาญทำตามหน้าที่ของตนเอง ปกป้องผลประโยชน์ประชาชนโดยอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่เกรงใจกลุ่มทุน” ศิริกัญญา กล่าวทิ้งท้าย

กสทช. ระบุรอความเห็นจากกฤษฎีการอบสุดท้ายก่อนลงมติพิจารณา 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงาน การออกมาชี้แจงถึงความคืบหน้าในการพิจารณาประเด็นนี้ของ กสทช. โดย พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ระบุ บอร์ด กสทช.มีมติเสียงส่วนใหญ่ให้รอผลการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า จะมีแนวทางการพิจารณาเรื่องควบรวมธุรกิจดังกล่าวว่าการควบรวมอยู่ในอำนาจของ กสทช.หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะตีความเเล้วเสร็จเมื่อใด ทั้งนี้ กสทช.เป็นองค์คณะที่ค่อนข้างมีความหลากหลายและอาจจะมีแนวคิดที่ไม่เหมือนกันทุกคน จึงต้องรอการตีความจากคณะกรรมการกฤษฏีกาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม กสทช. จะต้องฟังความคิดเห็นของประชาชนประกอบด้วย โดยหน้าที่ของ กสทช.ตามกฏหมายคือการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งการจัดสรรคลื่นความถี่ กำกับดูแลการประกอบกิจการ และ การคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นคำตอบการทำหน้าที่ของ กสทช.แล้ว

ไตรรัตน์ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. ระบุ ในการประชุมบอร์ดกสทช. 21 ก.ย.นี้  อาจจะยังไม่มีวาระการควบรวมธุรกิจเข้าสู่การพิจารณาก็ได้ เพราะชัดเจนแล้วว่า บอร์ดกสทช.ต้องการรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบมา เนื่องจากเพิ่งมีการชี้แจงข้อมูลต่อกฤษฎีกาไปเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2565 และทางคณะกรรมการกฤษฎีกาคงต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าทางคณะกรรมการกฤษฎีกา จะมีคำวินิจฉัยตอบกลับมาเมื่อใด อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ก็สามารถจัดประชุมบอร์ด กสทช. วาระพิเศษได้ หากบอร์ดพร้อมจะพิจารณาเรื่องนี้และยืนยันว่าที่ผ่านมาทางกสทช. เร่งรีบในการพิจารณาเรื่องการควบรวมธุรกิจนี้อยู่แล้ว

ขณะที่วานนี้ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า เอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการด้านกฎหมาย เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักงาน กสทช. เรื่อง การขาดคุณสมบัติและความไม่สมบูรณ์ของความเห็นของที่ปรึกษาอิสระ (บริษัท หลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด) ในกรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทค ถึง กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net