Skip to main content
sharethis

สปสช.เผยความร่วมมือกับ สธ.เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสิทธิบัตรทองในการยืนยันตัวตนก่อนรับบริการสุขภาพผ่านแอปฯ “หมอพร้อม” นอกเหนือจากการสแกน QR code ผ่านไลน์ สปสช. และการยืนยันตัวตนโดยใช้บัตรประชาชน - แจงปมงบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคในระบบบัตรทอง ชี้ไม่ได้เพิ่มงบจาก 400 ล้านเป็น 2 หมื่นล้าน แถมสภาผ่านงบมานี้เอง เอกสารเขียนชัดเจนว่าสำหรับคน 66 ล้านคน  

26 พ.ย. 2565 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สปสช. ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการเชื่อมระบบยืนยันตัวตนก่อนเข้ารับบริการตามสิทธิบัตรทอง เข้ากับแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ของ สธ. เพื่อเป็นทางเลือกให้หน่วยบริการและประชาชนสามารถใช้วิธีการยืนยันตัวตนได้หลากหลายมากขึ้น 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ในขั้นตอนการใช้สิทธิบัตรทองในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลและบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนั้น ผู้มีสิทธิจะต้องทำการยืนยันตัวตนก่อนเพื่อป้องกันการสวมสิทธิโดยผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้สิทธิตัวจริงเสียโอกาสในการรับบริการ ขณะที่หน่วยบริการก็จะได้ประโยชน์ในด้านการเพิ่มความรวดเร็วการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการ และลดภาระการตรวจสอบหลังการจ่ายด้วย ซึ่ง สปสช. ได้พัฒนาระบบ New Authen ให้มีทางเลือกในการยืนยันตัวตนได้หลายวิธี เช่น การใช้ไลน์ สปสช. สแกน QR code ที่หน่วยบริการจัดเตรียมไว้ให้ หรือหากไม่สะดวกในการใช้โทรศัพท์ก็สามารถใช้บัตรประชาชนเสียบเข้าเครื่อง Card Reader ก็ได้ 

“ล่าสุด สปสช. ร่วมมือกับ สธ. ในการเชื่อมต่อระบบ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับหน่วยบริการและประชาชนในการยืนยันตัวตนผ่านแอปฯ หมอพร้อม ซึ่งจะทำให้มีความหลากหลายในการยืนยันตัวตนมากขึ้น ขึ้นอยู่กับความสะดวกของประชาชน” ทพ.อรรถพร กล่าว 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในการเชื่อมต่อระบบของ สปสช. เข้ากับแอปฯ หมอพร้อมนั้น ขณะนี้ได้มีการเชื่อมต่อ API Authen เรียบร้อยแล้ว และแอปฯหมอพร้อมก็เชื่อมโยงกับหน่วยบริการผ่าน MOPH Claim ส่วน สปสช.ได้ดำเนินการสร้าง API สำหรับตรวจสอบหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ให้หมอพร้อมตรวจสอบ และอยู่ในขั้นตอนทดสอบรับและตอบกลับข้อมูล 

แจงปมงบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคในระบบบัตรทอง 

นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนผู้แทนองค์กรเอกชน เปิดเผยว่า ตนได้เข้าร่วมชี้แจงข้อมูลแก่คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา หลังจากที่ นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตเรื่องงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ในระบบบัตรทองว่าการเสนอของบประมาณ PP เพิ่มขึ้นจาก 400 กว่าล้านบาทในปี 2564 เป็น 2 หมื่นกว่าล้านในปี 2566 ว่ามีอะไรซุกซ่อนในรายละเอียดหรือไม่ อีกทั้งการตั้งงบประมาณ PP ยังครอบคลุมรวมไปถึงประชากรสิทธิอื่นๆนอกจากสิทธิบัตรทอง เป็นการขัดต่อมาตรา 9 , 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 และมีความพยายามกดดันให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามในประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรณีบริการด้านเสริมสุขภาพและป้องกันให้แก่ประชาชนไทยทุกคน ทั้งที่อาจเป็นการลงนามในประกาศที่ขัดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งนายนิมิตร์ กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผ่านการพิจารณาจากสภาแล้ว ยิ่ง นพ.เอกภพ เป็น ส.ส. และเป็นกรรมธิการด้วย ก็ควรต้องทำการบ้านเพราะสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ผ่านงบนี้มาเอง  

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องงบประมาณ PP ที่เพิ่มจาก 400 เป็น 2 หมื่นล้านนั้น ตัวเลข 400 กว่าบาท เป็นตัวเลขต่อประชากร ซึ่งเมื่อคูณด้วยจำนวนประชากร 66 ล้านคน ก็เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ไม่ใช่หลักหมื่นล้านตามที่เข้าใจ ส่วนตัวเลข 20,000 ล้านบาท ที่เป็นวงเงินรวมนั้น ตัวเลขที่รวมงบกองทุน Long Term Care งบประมาณจัดบริการเกี่ยวกับ HIV และงบอื่นๆไว้แล้ว   

ส่วนประเด็นที่ให้สิทธิ PP ครอบคลุมถึงสิทธิอื่นนอกเหนือจากสิทธิบัตรทองนั้น คงเป็นความเข้าใจกฎหมายที่ต่างกัน โดยการดำเนินงานก็บอกชัดเจนว่าจำเป็นต้องดูแลการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับคนทุกคน แต่เมื่อดูสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมและข้าราชการ สิทธิประโยชน์หลักคือการรักษา ส่วนเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคข้าราชการไม่เคยตั้งงบประมาณให้เบิกจ่ายเรื่องนี้เลย ขณะที่ระบบประกันสังคมเพิ่งมาเพิ่มเรื่องนี้ในระยะหลังแต่ก็ยังไม่ครอบคลุมเท่าบัตรทอง และในการดำเนินการก็มีการแยกแยะกันว่ารายการไหนที่ประกันสังคมจัดบริการแล้ว บัตรทองก็ไม่ต้องจัด จะได้ไม่เกิดความซ้ำซ้อน  

“พอถือหลักนี้ ตามมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2565 ระบุว่าคนทุกคนมีสิทธิได้รับการดูแลสุขภาพจากระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะฉะนั้นเมื่อประกันสังคมกับข้าราชการได้สิทธิการรักษาพยาบาลไปแล้วก็มาใช้บัตรทองไม่ได้ แต่ถ้ารายการไหนไม่มีเหมือนที่ระบบหลักประกันสุขภาพจ่ายให้ เขาก็มาใช้ตรงนี้ พอถือหลักการนี้ก็เลยตั้งงบประมาณสำหรับคนทุกคน โดยให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการ”นายนิมิตร์ กล่าว  

นายนิมิตร์ กล่าวต่อไปอีกว่า ประเด็นสำคัญคือตอนที่จัดทำงบประมาณในส่วนของ PP ก็ระบุชัดเจนว่าเป็นงบประมาณสำหรับ 66 ล้านคน และตอนที่เสนอของบประมาณก็ขอสำหรับ 66 ล้านคน ระบุในเอกสารชัดเจน แต่เมื่อคณะที่ปรึกษาของนายอนุทินเข้าใจว่าทำไม่ได้ และนายอนุทินในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ยอมลงนามในประกาศและต้องการทำหนังสือสอบถามคณะรัฐมนตรีให้มอบหมายให้ สปสช. ดำเนินการก่อน ดังนั้นในขณะนี้ก็คงต้องรอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายอย่างชัดเจนมา สปสช. ดำเนินการ เมื่อคณะรัฐมนตรีมอบหมายแล้ว สปสช. ก็จะสามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 18 (14)  

อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนการสอบถามและขอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ สปสช.ดำเนินการนั้น ไม่มีใครทราบว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใด ผลกระทบที่จะตามมาจากการที่นายอนุทินไม่ยอมลงนามประกาศฉบับนี้คือเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จัดทำแผนงบประมาณไว้ จะไม่สามารถโอนไปให้หน่วยบริการได้ ดังนั้นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพทุกประเภททุกสังกัดจะได้รับผลกระทบก่อน เพราะสถานพยาบาลต้องเปิดบริการทุกวัน เมื่อมีผู้ป่วยมารับบริการก็ต้องให้บริการ ต้องรักษาไปก่อน แต่เมื่อให้บริการไปแล้วก็ไม่สามารถเบิกเงินได้  

“คนที่เดือดร้อนอันดับแรกคือหน่วยบริการ หากหน่วยไหนพอมีเงินเหลือก็อาจกระทบไม่มาก เรื่องยาก็อาจมียาเหลือในสต๊อก หรือมีเงินบำรุงเหลือพอจัดซื้อยาได้ แต่หน่วยบริการในสังกัดอื่นที่ไม่ได้มีเงินเยอะจะเริ่มมีปัญหา การรอคำตอบจากคณะรัฐมนตรีใช้เวลานานแค่ไหนไม่มีใครตอบได้ กระทรวงสาธารณสุขคงต้องดูว่าตัวเองจะเอาอย่างไร เพราะถ้ายังไม่ลงนาม ความเดือนร้อนก็ไปตกอยู่กับหน่วยบริการ”นายนิมิตร์ กล่าว  

นายนิมิตร์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกแนวทางหนึ่งที่มีการเสนอขึ้นมา คือปรับปรุงประกาศให้สิทธิในการรับบริการ PP แยกเฉพาะคน 48 ล้านคนในสิทธิบัตรทอง ส่วนผู้มีประกันสังคมและข้าราชการยังไม่ต้องใช้สิทธินี้ ซึ่งแนวทางนี้บอร์ด สปสช. ไม่เห็นด้วย เพราะจะเกิดความเหลื่อมล้ำ คน 2 กลุ่มนี้รวมกันกว่า 10 ล้านคนก็จะไม่สามารถรับบริการได้ อาจต้องรอความชัดเจนหรือจ่ายเงินเอง เช่น ลูกของข้าราชการที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนก็ต้องจ่ายเงินเอง รวมทั้งการส่งเสริมป้องกันโรคอื่นๆ เช่น การป้องกัน HIV วัคซีนตับอักเสบซี การคัดกรองมะเร็ง คัดกรองเบาหวาน-ความดัน ก็ต้องรอไปก่อนหรือไม่ก็จ่ายเงินเองยังไม่รวมเรื่องเงินส่งเสริมสุขภาพอื่นๆ เช่น Long Term Care งบประมาณกองทุน กปท. ซึ่งถ้าไม่ลงนาม เงินก็โอนเข้ากองทุนไม่ได้ แต่ถ้าแก้ไขให้ได้สิทธิเฉพาะสิทธิบัตรทอง โครงการแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่ที่เป็นนโยบายของนายอนุทินก็จะแจกได้แค่สิทธิบัตรทองเท่านั้น  

“ถ้าเลือกแนวทางนี้มันจะเกิดความเหลื่อมล้ำ ถ้าประสงค์จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำวุ่นวายแบบนั้นก็เอา ซึ่งนายอนุทินก็ต้องพิจารณาตัดสินใจว่าจะเลือกทางไหน ส่วนบอร์ด สปสช. ทั้งหมดมีความเห็นร่วมกันแล้วว่าควรลงนามให้ประกาศมีผลบังคับใช้โดยเร็ว”นายนิมิตร์ กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net