Skip to main content
sharethis

ตำรวจเรียก "ฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด" เพื่อแจ้งจะอนุญาตให้จัดชุมนุมสะท้อนผลกระทบจากเหมืองโปแตชที่หน้าบริษัทวันที่ 23 นี้หรือไม่ แต่ชาวบ้านยืนยันกฎหมายกำหนดแค่ให้แจ้งจัดไม่จำเป็นต้องให้อนุญาต วันเดียวกันนี้ยังมีเวทีสะท้อนปัญหาน้ำในพื้นที่เค็มจนทำเกษตรไม่ได้

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดที่ร่วมลงพื้นที่กับคณะทำงานจากหลายหน่วยงานตรวจสอบพื้นที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองโปแตชของบริษัทไทยคาลิ 21 ธ.ค.2565

21 ธ.ค.2565 แฟนเพจเหมืองแร่โปแตชแอ่งโคราช รายงานว่า วันนี้ทาง สภ.ด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมาเรียกสมาชิกกลุ่ม ‘ฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด’ เข้าพบเพื่อแจ้งว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม "เปิดความจริง โปแตชด่านขุนทด ธุรกิจความเค็มบนคราบน้ำตาประชาชน” ที่หน้าเหมืองแร่โปแตชของบริษัทไทยคาลิ จำกัด วันที่ 23 ธ.ค.2565

การเรียกสมาชิกของฅนรักษ์บ้านเกิดพบครั้งนี้เนื่องจากทางกลุ่มได้ดำเนินการทำหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อ สภ.ด่านขุนทดไปก่อนหน้านี้ และในเวลาต่อมาตำรวจจาก สภ.ด่านขุนทดโทรศัพทืติดต่อกลับมาที่กลุ่มโดยระบุว่าให้ทางกลุ่มเข้าพบกับผู้กำกับของ สภ.ด่านขุนทดภายใน 14.00 น. เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและจะแจ้งว่าจะอนุญาตให้จัดชุมนุมหรือไม่

ทั้งนี้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดมีการแจ้งว่าจะไม่ไปพบผู้กำกับของ สภ.ด่านขุนทดและย้ำว่าตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 กำหนดไว้ว่าหากมีข้อคิดเห็นใดๆ ให้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งกลับมาที่ผู้แจ้งจัดชุมนุม และเป็นการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกเท่านั้นไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตให้ชุมนุมจากตำรวจแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขั้นตอนที่ถูกระบุอยู่ใน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 ในมาตรา 10 มีเพียงการกำหนดให้ผู้จัดชุมนุมสาธารณะต้องแจ้งจัดการชุมนุมก่อนการชุมนุมภายใน 24 ชั่วโมง โดยไม่ได้มีการระบุถึงการต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และในมาตรา 11 กำหนดว่าหากเจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งเห็นว่าการชุมนุมอาจขัดกับมาตรา 7 หรือ 8 ซึ่งเป็นเรื่องสถานที่ให้มีการแจ้งเป็นคำสั่งแก้ไขการชุมนุมภายในเวลาที่กำหนดและหากผู้แจ้งจัดชุมนุมไม่ดำเนินการแก้ไขจึงให้เจ้าหน้าที่มีคำสั่งห้ามชุมนุม อย่างไรก็ตามทั้งมาตรา 7 และ 8 ไม่ได้ระบุถึงพื้นที่รอบบริเวณของบริษัทเอกชนเอาไว้ในกฎหมาย

ที่ผ่านมากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดมีความเคลื่อนไหวในการเรียกร้องการตรวจสอบการทำเหมืองของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด มาหลายครั้งแล้วโดยมีเหตุผลว่าคนในชุมชนใกล้เคียงกับเหมืองได้รับผลกระทบในหลายอย่างทั้ง บ้านเรือนถูกกัดกร่อน ไม่สามารถทำกินในที่ดินของตนเองได้เนื่องจากมีน้ำเค็มผุดในที่ดิน และเมื่อฝนขาดช่วง จะมีผลึกสีขาวขึ้นปกคลุมพื้นที่ทำกิน

นอกจากนั้นทางกลุ่มยังมีข้อเรียกร้องต่ออำเภอด่านขุนทดและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบและกำกับดูแลการทำเหมืองด้วย โดยให้มีการตรวจสอบสามประเด็นคือ

ประเด็นแรก ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการของบริษัทเพราะยังมีการสร้างส่วนต่อขยายแม้ว่าข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังระบุว่าการเปลี่ยนแปลงของโครงการยังไม่ได้รับความเห็นชอบ

ประเด็นที่สองหน่วยงานรัฐต้องเข้าตรวจสอบปัญหาน้ำท่วมอุโมงค์ร่วมกับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเพื่อความโปร่งใส

ประเด็นสุดท้ายคือตรวจสอบว่ามีการลักลอบขายเกลือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจากการทำเหมืองหรือไม่เพราะต้องมีการขออนุญาตตามกระบวนการทางกฎหมาย อีกทั้งการนำเกลือไปขายจะส่งผลกระทบต่อการถมกลับด้วย

ชาวบ้านสะท้อนปัญหาน้ำเค็มกว่าทะเลจนทำเกษตรไม่ได้

วันเดียวกันนี้ที่ศาลาวัดหนองไทร อ.ด่านขุดทด จ.นครราชสีมา กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดได้ประชุมกับคณะทำงานจัดทำแผนที่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และคณะทำงานลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการทำเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 5 นครราชสีมา สถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา ตัวแทนจากอำเภอด่านขุนทด รศ.ดร.ณภัทร น้อยน้ำใส มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ดร.ฉัตร พยุงวิวัฒนกูล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และเจ้าหน้าที่กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น

แผ่นเกลือบนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเริ่มการประชุมสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดได้สะท้อนความรู้สึกที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองในพื้นที่ให้กับที่ประชุมได้รับทราบโดยบางส่วนระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในชุมชนเป็นการทำลายความเป็นชุมชนลงหมดสิ้น บางบ้านไม่สามารถทำกินในพื้นที่ทำกินเดิมได้ บางบ้านได้รับผลกระทบเกลือกัดกร่อนบ้านจนแทบจะไม่สามารถอยู่อาศัยได้ บางครอบครัวเคยปลูกพืชผลในปริมาณที่สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ แต่ปัจจุบันปลูกข้าวได้เพียง 2 ถุงปุ๋ย

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดได้นำเจ้าหน้าที่ลงไปดูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง อาทิ พื้นที่ของชาวบ้านที่อยู่ติดกับเหมืองกลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยน้ำเสียและแผ่นคราบเกลือที่ไม่สามารถประกอบการเกษตรได้ นอกจากนี้ยังมีบ้านของชาวบ้านอีกหลายหลังที่พื้นดินมีความชื้นจากน้ำตลอดเวลา และมีน้ำผุดขึ้นในสุขา รวมถึงความเค็มของเกลือที่ผุดมากับน้ำกัดกร่อนบ้านจนทำให้เกิดการผุพังของฝาบ้าน

นอกจากนี้ยังมีที่นาของชาวบ้านและบ่อปลาของชาวบ้านอีกหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากความเค็มที่เกิดขึ้นในน้ำจนทำให้ปลาที่เลี้ยงไว้ตายยกสระ และผลผลิตทางการเกษตรที่ปลูกไว้ไม่ได้ตามเดิม บางบ้านจากที่เคยปลูกข้าวได้ทีละ 9 ตัน แต่ความเค็มที่มาจากน้ำทำให้ที่นาปลูกข้าวได้เพียงแค่ 2 ถุงปุ๋ยเท่านั้น

ขณะที่บัญชา ขุนสูงเนิน ผู้อำนวยการส่วนตรวจและบังคับใช้กฎหมาย สำนักงานควบคุมสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา ได้นำเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบน้ำในพื้นที่โดยได้ตักตัวอย่างน้ำในบ่อของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทำการตรวจ พบว่าบางสระมีค่าความเค็มของน้ำมากถึง 60 ppt ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของความเค็มของน้ำทะเล และบางสระค่าความเค็มพุ่งขึ้นสูงมากจนเครื่องไม่สามารถตรวจสอบความเค็มได้

ภายหลังจากลงพื้นที่เสร็จสิ้น ดร.ฉัตร พยุงวิวัฒนกูลระบุว่า จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้เราเห็นแนวทางเบื้องต้นที่จะดำเนินการได้ก่อน โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ที่เคยทำการเกษตรก่อนที่จะมีเหมืองนั้นถูกเปลี่ยนแปลงไปหลังมีเหมือง และได้รับผลกระทบจากการมีเหมืองในประเด็นนี้เราสามารถใช้ข้อมูลจากดาวเทียมมาสนับสนุนได้ ซึ่งเราจะทำการรายงานต่อทางจังหวัดต่อไปว่าวันนี้เราได้ข้อมูลอะไรบ้าง

ขณะที่อาทิตย์ ชามขุนทด ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า แผนการทำงานของเราในระยะสั้นเราจะทำการค้นหาผลกระทบจากการทำเหมือง และเมื่อเราได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนรอบด้านแล้วเราก็จะนำข้อมูลจากวิธีการแรกมาทำเรื่องของการชดเชยเยียวยา ส่วนแผนการทำงานระยะยาวเป็นเรื่องของการฟื้นฟูต้องมีการพัฒนาพื้นที่และปลูกพืชที่สามารถปลูกได้ ซึ่งข้อมูลที่เราได้ในวันนี้เราจะนำไปรวบรวมและสรุปต่อไปยังคณะทำงานระดับจังหวัดชุดใหญ่และกำหนดพื้นที่ในการลงตรวจสอบอีกครั้งต่อไป

ด้านจุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มฯ กล่าวว่า การมาลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่วันนี้ดูจะมองเห็นทิศทางที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงร่วมกันมากขึ้น ก่อนหน้านี้ในคณะทำงานชุดนี้ได้มีการกำหนดสัดส่วนของบริษัทฯเข้ามาเป็นคณะกรรมการด้วย แต่เมื่อชาวบ้านท้วงติงไป ได้มีการตัดสัดส่วนของบริษัทฯออก ดังนั้นการมาของเจ้าหน้าที่ในวันนี้จึงเห็นแนวโน้มในการทำงานร่วมกันได้ อย่างไรก็ตามเรามีความกังวลในเรื่องหลักฐานที่บริษัทฯอาจมีการนำออกไปจนอาจส่งผลกระทบต่อการตรวจสอบหรือไม่อย่างไร

"สิ่งที่เราต้องการคือการยืนยันกับจังหวัดว่าเหมืองแร่โปแตชได้สร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างไร ทั้งนี้ตามหลักแล้วหากมีผลกระทบในพื้นที่ขยายเป็นวงกว้างในลักษณะนี้จะต้องมีการสันนิษฐานไว้ก่อนว่ามาจากเหมือง และเจ้าหน้าที่จะต้องสั่งให้เหมืองหยุดกิจการจนกว่าจะมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้กระจ่างชัด และสุดท้ายแล้วแม้การพิสูจน์จะไม่สามารถเอาผิดเหมืองได้ จังหวัดก็จะต้องเป็นหน่วยงานที่ต้องชดใช้เยียวยาให้กับชาวบ้าน จะปล่อยให้ชาวบ้านเกิดความสูญเสียโดยไม่ได้รับการเยียวยาไม่ได้ "เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มฯ กล่าว

คณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังประชุมเสร็จสิ้นนักปกป้องสิทธิฯกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ได้ร่วมกันเดินแจกแผ่นพับประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนในพื้นที่บริเวณตลาดนัดของชุมชน ให้เข้าร่วมการรวมตัวส่งเสียงตีแผ่ปัญหาของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตชไทย คาลิ จำกัด "เปิดความจริง โปแตชด่านขุนทด" ธุรกิจความเค็มบนคราบน้ำตาประชาชน ในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 65 เวลา 08.00 น.เป็นต้นไป หน้าเหมืองโปแตชไทยคาลิ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net