Skip to main content
sharethis

สาวม้งรุ่นใหม่ แชร์ประสบการณ์ผ่าน TikTok หลังถูกครอบครัวฝ่ายสามีใช้งานอย่างหนัก โดยไม่ได้ค่าตอบแทน และเสียอิสรภาพในการใช้ชีวิต ขณะที่ นักกฎหมายมองว่า สาวม้งบางคนเข้าข่ายการเป็นแรงงานบังคับ ภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

“เราแทบไม่มีเวลาว่างเลย ทำไร่ทุกวัน... คลิปที่เราทำก็เลยมีแต่เข้าไร่เข้าสวนทุกวัน เพราะว่ามันก็อยู่แต่ไร่ ไม่ได้มีเวลาไปทำอะไรเลย เพราะว่างานดอกหอมก็จะมีงานให้ทำทุกวัน เด็ดดอกหอมแล้วก็ต้องถอนหญ้า แล้วก็ต้องใส่ปุ๋ยอีก คือมันทำแบบนี้วนไปทั้งปี... ไม่มีเวลาพักเลย” ผักขม สาวม้งวัย 20 ปี โพสต์ลง TikTok

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายสิบคลิปที่ ผักขม สาวม้งวัย 20 ปี โพสต์ลง TikTok นับแต่ช่วงเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อบอกเล่าให้คนทั่วไปรับรู้ว่า สาวม้งต้องทำงานอะไรบ้างในแต่ละวัน จนทำให้บัญชีของเธอมีผู้ติดตามมากถึง 470,000 บัญชี และนอกจากผักขม ก็ยังมีสาวม้งอีกจำนวนมาก ออกมาบอกเล่าถึงภาระที่เธอต้องแบกรับ ภายหลังแต่งงานและย้ายไปอยู่กับครอบครัวของสามี ผ่าน #ลูกสะใภ้ม้ง #สะใภ้ม้ง และ #สาวม้ง

จากการติดตาม TikTok และสัมภาษณ์สาวม้ง 8 คน ที่ส่วนมากอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย พบว่า สาวม้งที่มีอายุตั้งแต่อายุ 15-16 ปีหลายคน ถูกครอบครัวบังคับให้แต่งงานตามวัฒนธรรมของชาวม้ง จากนั้นก็ย้ายไปอยู่กับครอบครัวของสามี และถูกใช้ให้ทำงานหนักมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นงานรีสอร์ท งานค้าขาย งานสวน และงานบ้าน โดยในระยะเวลา 1-3 ปี พวกเธอได้รับเงินตลอดชีวิตการเป็นสะใภ้ม้งระหว่าง 500-30,000 บาท ก่อนที่จะตัดสินใจหย่าร้างจากสามี

ขณะที่ นักกฎหมายบางคนมองว่า อาจเข้าข่ายการใช้แรงงานบังคับตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551

“น่าคิดเหมือนกันนะว่า เป็นการค้าทาสรูปแบบใหม่หรือเปล่า เพราะสะใภ้ม้งไม่มีอำนาจในการต่อรอง… ไม่ได้รับค่าจ้าง ทำงานหนักตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่ได้มีการดูแลเรื่องสวัสดิการ เพราะถูกมองว่าเป็นงานของคนในครอบครัว ซึ่งตามกฎหมายก็ไม่ตีความว่าเป็นกำลังแรงงาน” สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ ผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมสิทธิแรงงาน มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งคำถามต่อปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ทาสยุคใหม่ (modern slavery) เป็นคำที่ครอบคลุมทั้งการค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ แรงงานเด็ก แรงงานทาสยุคเก่า ค้าประเวณี และการบังคับให้แต่งงาน

ทำงานหนัก ไม่ได้ค่าตอบแทน

คลิปบอกเล่าชีวิตประจำวันของหญิงชาวม้ง ดูได้ที่ @adipa19

ผักขม เล่าถึงงานที่ต้องทำในแต่ละวันว่า เธอต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี 4-5 เพื่อมาทำงานบ้าน ทำอาหารเช้า และประมาณ 6 โมงกว่าๆ ก็ต้องออกไปสวนดอกหอม เพื่อใส่ปุ๋ย เด็ดดอกหอม ถอนต้นหญ้า และแบกหญ้าไปทิ้ง เธอจะอยู่ทำสวนจนถึงเย็นจึงจะได้กลับบ้านเพื่อมาทำกับข้าวและงานบ้านต่อ เสร็จเมื่อไหร่จึงจะได้นอน เป็นเช่นนี้ทุกวันไม่มีวันหยุด ถ้าพอมีเวลาเหลือจากการทำงาน เธอก็จะช่วยพ่อแม่ปลูกผักผลไม้ต่างๆ ไว้กินในครัวเรือน รวมถึงการตัดฟืน และปักชุดม้งสำหรับสวมใส่

คลิปบอกเล่าชีวิตประจำวันของหญิงชาวม้ง ดูได้ที่ @adipa19 

“พอผู้ชายพาเราไปเป็นภรรยาจริงๆ เราจะไม่มีอิสระ เหมือนทาสเลย สะใภ้ม้งจะวนเวียนกับการทำไร่ ทำสวน และการทำงานบ้าน ทุกอย่างเลย ไม่ว่าเราจะไปไหน เราจะต้องได้รับการอนุญาตจากแม่สามี” ผักขม กล่าวทางโทรศัพท์จากจังหวัดตาก

จากการสัมภาษณ์สาวม้งอย่างน้อย 3 คน พบว่า การที่ต้องทำงานหนัก เป็นเพราะชาวม้งเชื่อว่า ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ร่างกายและจิตใจของเธอก็จะถูกย้ายมาอยู่กับครอบครัวของสามี และผีที่คุ้มครองฝ่ายหญิงจะเป็นผีของบ้านฝ่ายชาย ทำให้การหย่าร้างและกลับมาอยู่กับพ่อแม่ของตัวเองเป็นเรื่องยาก เพราะคนม้งในบางพื้นที่เชื่อว่า แม่หม้ายนำหายนะมาสู่ครอบครัว ดังนั้น สาวม้งในฐานะลูกสะใภ้จึงต้องขยันและทำตามสิ่งที่ครอบครัวสามี โดยไม่มีอิสระในการใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง และไม่ได้ค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลแต่อย่างใด

ตะวัน (นามสมมติ) สาวม้งวัย 20 ปี เล่าด้วยความอึดอัดใจว่า ตอนที่เธอย้ายไปอยู่กับสามีที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ครอบครัวของสามีทำธุรกิจรีสอร์ท และทำสวนลุ้ย (ผักกาดขาว) เธอต้องช่วยสามีและครอบครัวของเขาทำงานอย่างเต็มตัว แต่รายได้ ฝ่ายสามีกลับเป็นคนจัดการทั้งหมด

“ตอนนั้นเหมือนเป็นทาส เป็นขี้ข้าชัดๆ... รอบข้างเขาก็จ้างกันเดือนละหมื่น ทำความสะอาดเฉยๆ ไม่ต้องมาทำอาหารกลางคืน... ทำงานประมาณ 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ก็ได้กลับบ้านไปพักได้แล้ว” ตะวัน กล่าว

จำกัดเสรีภาพ

สาวม้งหลายคนที่ให้สัมภาษณ์ กล่าวว่า พวกเธอต้องช่วยครอบครัวสามีทำงาน และถ้าต้องการใช้เงินหรือออกไปข้างนอก ก็ต้องขออนุญาตก่อน ทำให้พวกเธอไม่มีเวลาเดินทางไปหาครอบครัวของตัวเอง และไม่มีอิสระในการใช้ชีวิตส่วนตัว

แวว (นามสมมติ) สาวม้งวัย 26 ปี เล่าว่า พ่อแม่ของสามีไม่ให้เธอออกไปพบปะเพื่อนในงานสังสรรค์ต่างๆ ไม่ให้ใส่กระโปรง และเมื่อเธอมีความเห็นหรือความทุกข์ ก็ไม่มีใครในบ้านเปิดใจรับฟัง เพราะมองว่าไม่สำคัญ อีกทั้ง แม่สามีก็มักตำหนิว่าเธอขี้เกียจ ทำให้เธอรู้สึกขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิต 

“มันรู้สึกไร้ค่ามาก บางทีเราก็ร้องไห้อยากกลับบ้านไปหาแม่ เราไม่เคยทำกับข้าวให้แม่กินเลย แล้วทำไมแม่ยังชมว่าเป็นคนดี เก่ง ขยัน แต่ตอนนี้มาอยู่กับเขา เราทำอะไรก็ไม่ถูกใจ” แวว กล่าวทั้งน้ำตา

ความรุนแรงในครอบครัว และแรงงานบังคับ

นักกฎหมาย 3 คนที่ให้สัมภาษณ์ กล่าวว่า การที่หญิงม้งถูกครอบครัวของสามีใช้งานหนัก หากพิจารณาตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ก็มีโอกาสสูงที่จะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐาน “บังคับใช้แรงงานหรือบริการ” ตามมาตรา 6/1 ซึ่งมีโทษขั้นต่ำจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท และมีโทษสูงสุดคือ ประหารชีวิต หากทำให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย แต่การจะตัดสินว่ามีความผิดโดยครบองค์ประกอบหรือไม่ ต้องอาศัยการสอบสวนในกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เมื่อพิจารณาตามตัวชี้วัดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยแรงงานบังคับ ปภพ เสียมหาญ นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่า กรณีข้างต้น มีโอกาสเข้าข่ายการใช้แรงงานบังคับ เพราะพยายามทำให้ผู้หญิงอยู่ใต้อาณัติครอบครัวฝ่ายชาย ผ่านการบังคับใช้แรงงานและจำกัดเสรีภาพด้วยแยกออกจากสังคม ให้ทำงานหนักกว่าที่ควรเป็น และไม่จ่ายค่าตอบแทน

“เป็นปัญหาที่ทับซ้อนกัน... มิติการบังคับใช้กฎหมายกับมิติจารีตประเพณี... หากเรานำกฎหมายมาบังคับใช้โดยตรง ชาวม้งจำนวนมากจะถูกดำเนินคดี ที่มีโทษอาญาร้ายแรง… การสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนม้ง ในเรื่องสิทธิมนุษยชน อาจเกิดความยั่งยืนมากกว่า” ปภพ ให้ความเห็นเพิ่มเติม

แม้ว่ากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะให้ความเห็นว่า กรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายการจ้างงาน แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสาวม้งกับสามีและครอบครัวของสามี จึงไม่ได้เป็นการละเมิดกฎหมายแรงงานหรือค้ามนุษย์ แต่ ปภพ กล่าวว่า แรงงานบังคับ ไม่จำเป็นต้องเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด

ด้านราภรณ์ พงศ์พนิตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ให้ความเห็นว่า การที่ผู้หญิงม้งถูกสามีและครอบครัวของสามีใช้งานหนัก เข้าข่ายการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ผู้กระทำความผิดจะถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550

ราภรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการพิจารณาว่า เข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือไม่ จะต้องสอบสวนในรายละเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะเจตนาของผู้กระทำ และที่ผ่านมา กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ มักเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องในครอบครัว

พ้นพันธนาการ

แวว เล่าประสบการณ์ขณะเป็นสะใภ้ม้งในช่วงปี 2564 ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่า ก่อนที่เธอจะแต่งงานกับสามี ครอบครัวของเขาเปิดร้านขายของชำ มีลูกจ้าง 3 คน ให้ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ได้ค่าจ้าง 250 บาทต่อคน แต่เมื่อเธอย้ายมาอยู่ด้วย ครอบครัวของเขากลับให้เธอมาทำงานทั้งหมดแทน ทั้งเปิด-ปิดร้าน ทำความสะอาดร้าน ยกลังและจัดเรียงสินค้า เฝ้าร้านและขายของ ทุกวัน วันละ 14 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าตอบแทนและวันหยุด ขณะที่พ่อแม่ของสามีอยู่เฉยๆ และพี่สะใภ้ทำเพียงสั่งของเข้าร้านเท่านั้น แต่มีสิทธิ์ในรายรับทั้งหมดของร้าน

“เราท้อง เขาก็ไม่สงสาร ยังใช้ให้เรายกของหนัก... เรายกจนท้องแข็งเลยนะ ท้องเจ็บเลย แล้วก็ไปนอนแปปเดียว เขาก็เรียกเรากลับไปทำงานอีก” แวว กล่าว

สาวม้งจำนวนหนึ่ง ยังคงต้องทำงานหนักในครอบครัวของสามี ด้วยเหตุผลต่างกันไป ขณะที่ ตะวัน ได้พาลูกน้อยวัย 2 ขวบ ออกมาเมื่อต้นปี 2565 และปัจจุบัน เธอทำงานรับจ้างเป็นคนสวน อยู่สวนสตอเบอร์รี่แห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี เพื่อหารายได้เลี้ยงตนเองและลูก  

เช่นเดียวกับ แวว ที่ตัดสินใจยุติความสัมพันธ์กับสามีเมื่อปี 2562 เพราะต้องการมีชีวิตเป็นของตัวเอง

“เราพลาดมาครั้งหนึ่ง ครั้งใหญ่ในชีวิต เราจะไม่พลาดอีก เราเคยแต่งงานแล้ว แต่กลับไม่มีค่า แต่วันนี้เราเห็นค่าตัวเอง เรามีสิทธิ์เลือก ฟังใจตัวเองให้ดีที่สุด และก้าวเดินต่อไป” แวว กล่าวเป็นกำลังใจให้สาวม้งคนอื่น

หมายเหตุ : งานเขียนชิ้นนี้จัดทำขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาทักษะด้านสื่อที่จัดโดยมูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ เนื้อหาทั้งหมดเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net