Skip to main content
sharethis

ไทเรล ฮาร์เบอร์คอร์น นักวิชาการจากม.วิสคอนซิน บรรยายงานศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมยุค คสช.โดยเข้าไปศึกษาคำพิพากษาของศาลในคดีที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของ คสช. พร้อมตั้งคำถามว่าเราจะบันทึกและจดจำประวัติศาสตร์การละเมิดสิทธิจากรัฐบาลทหารนี้อย่างไร? และตัวบทกฎหมายในคำพิพากษาของศาลยังสามารถตีความใหม่เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้หรือไม่?
 

เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2566 สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เชิญ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐฯ มาบรรยายในหัวข้อ "Dictatorship on Trial: History and Justice after the National Council for Peace and Order" งานศึกษาถึงความหมายของกฎหมายในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ปกครองประเทศไทยอยู่และช่วงหลัง คสช.เป็นอย่างไรและเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรโดยเป็นการบรรยายผ่านโปรแกรม Zoom

ไทเรลกล่าวว่ายังได้ศึกษาถึงผลกระทบของความอยุติธรรมจากการใช้กฎหมายในยุคที่ คสช.เป็นรัฐบาลและเมื่อ คสช.ลงจากอำนาจก็ยังมีอิทธิพลที่ส่งต่อมาเหลืออยู่เยอะมาก ทั้งการที่นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ถูกเปลี่ยนตัวไปและยังมีรัฐธรรมนูญ กฎหมายอีกหลายฉบับที่ถูกร่างขึ้นมาและนำมาใช้อยู่

“มีคำถามว่าถ้าจะเขียนประวัติศาสตร์ของคนยุคนั้นที่เป็นนักเคลื่อนไหว และนักวิชาการควรจะเขียนอะไรอย่างไร เราควรจะเขียนประวัติศาสตร์ให้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้หรือของการบันทึกยุคสมัยได้ไหม?” ไทเรลกล่าวถึงสิ่งที่เธอมีคำถามมาตลอด 20 ปี ของการทำงานวิชาการว่าจะทำอย่างไรให้มีความหมายต่อสังคมหรือต่อประชาชนที่กำลังต่อสู้อยู่

ไทเรลแบ่งการบรรยายของตัวเองออกเป็นสามช่วง โดยช่วงแรกเป็นการหาคำตอบต่อคำถามข้างต้นว่าควรจะต้องบันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงยุค คสช.อย่างไร ช่วงที่สองคือผลการวิจัยจากหนังสือของตัวเองที่เพิ่งเขียนเสร็จว่าเป้าหมายของงานและรูปแบบของงานวิจัยเป็นอย่างไร ช่วงที่สามก็จะพูดถึงรายละเอียดของสองบทในหนังสือ

ไทเรลกล่าวถึงประเด็นเรื่องการเขียนประวัติศาสตร์ใน คสช.โดยยกถึงเรื่องที่ทองใบ ทองเปาด์ เคยเขียนไว้เมื่อพ.ศ. 2517 ว่า “เรามีศาลยุติธรรม แต่ศาลจะให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนได้อย่างไร ถ้าทรราชไม่มาศาล และยังมีอำนาจควบคุมคุมขังคนอยู่โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจพิจารณาพิพากษา” ก็ตรงกับสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างมาก

เธอคิดว่าสิ่งที่นักวิชาการหรือปัญญาชนจะทำได้มีอยู่ 2 อย่างคือการช่วยทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในยุค คสช.เคยมีอะไรเกิดขึ้นและ คสช. เจ้าหน้าที่รัฐในเวลานั้นละเมิดสทิธิมนุษยชนอย่างไรบ้าง เพราะสองสิ่งนี้ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากแล้วเพราะประชาชนที่ทำงานเคลื่อนไหวก็รู้ว่างานเก็บข้อมูลนั้นทำได้ยาก แล้วเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้วคนก็หันไปทำเรื่องอื่นแล้วก็ทำให้การละเมิดสิทธิเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ

เรื่องการทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถูกลืม สิ่งที่นักวิชาการจะทำได้คือเอาข้อมูลที่นักเคลื่อนไหวแล้วก็นักข่าวได้เก็บในช่วงที่มีการละเมิดมาใช้เขียนงานวิชาการไปเรื่อยๆ เพื่อทำให้เหตุการณ์ไม่ถูกลืม ซึ่งเรื่องการละเมิดสิทธิเหล่านี้ก็มีองค์กรที่ทำบันทึกเอาไว้อย่างศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไอลอว์ และประชาไท ทำให้ประชาชนเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้แม้ว่าจะไม่สามารถเข้าถึงเอกสารของรัฐไม่ได้ก็ไม่เป็นไรเพราะอย่างน้อยก็ยังมีข้อมูลจากฝั่งประชาชนอยู่

สิ่งที่นักวิชาการจะทำได้อีกอย่างคือ ช่วยสร้างอนาคตที่เป็นธรรม ไทเรลอธิบายถึงเรื่องนี้ว่าจากงานเขียนชื่อบอร์เดอร์แลนด์ของกลอเรีย แอนซัลดัว ที่เคยอ่านสมัยเรียนปริญญาตรีกลอเรียได้เขียนเอาไว้ว่าถ้าพวกเราไม่จินตนาการถึงอนาคตที่ไม่เหมือนเดิมก็จะไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริง ดังนั้นที่นักวิชาการจะทำได้ก็คือการจินตนาการถึงโลกนี้

ไทเรลกล่าวว่าด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงได้เลือกที่จะเขียนถึงยุค คสช.ด้วยการเขียนถึงคำฟ้อง คสช.และรวบรวมการละเมิดสิทธิต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ คสช.ปกครองอยู่ จากการได้เห็นเอกสารข้อมูลต่างๆ ที่ใช้ต่อสู้คดีของคนที่ฟ้อง คสช. ในช่วงเวลานั้น

อีกสิ่งที่เห็นว่าสำคัญยิ่งกว่าการจะเขียนประวัติศาสตร์ช่วงนั้นอย่างไรคือ แม้ คสช.จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิของประชาชนและสร้างความอยุติธรรมแทนการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น แต่ยังมีทนายความที่ต่อสู้อย่างไม่เคยหยุดหย่อนเพื่อทำให้ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่เป็นจริง

ไทเรลอธิบายเรื่องนี้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขอประกันตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าแม้วศาลจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวตลอดมาตั้งแต่ยุค คสช.จนถึงปัจจุบัน และคดีการเมืองอื่นๆ ทนายความก็ยังเขียนคำร้องเหมือนศาลยังมีความเป็นธรรมอยู่ ซึ่งการได้เห็นเหตุการณ์เหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เธอรู้สึกเศร้าแต่ก็รู้สึกนับถือที่ได้เห็นความตั้งใจของทนายความที่พยายามจะทำให้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องความยุติธรรม

เธอเล่าว่าเรื่องนี้ทำให้นึกถึงงานของนักวิชาการด้านกฎหมายในคนาดาที่ศึกษาการใช้กฎหมายของศาลแคนาดาที่แม้ว่าในทางกฎหมายจะมีการคุ้มครองสิทธิทางเพศของผู้หญิงไว้แต่ศาลกลับไม่ใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองปกป้องสิทธิของผู้หญิง ซึ่งนักวิชาการเหล่านี้ก็คิดว่าจะทำอะไรได้บ้าง ก็คือการเขียนวิจารณ์คำพิพากษาก็เป็นทางหนึ่งที่นักวิชาการเหล่านี้ทำ

ไทเรลเล่าต่อไปว่า อีกหนทางหนึ่งที่นักวิชการกฎหมายเหล่านี้ทำคือนำคดีที่ศาลเคยตัดสินไม่ค่อยดีเท่าไหร่ต่อสิทธิสตรีมาเขียนใหม่ และเขาตัดสินใจว่าจะเลือกมา 6 คดีเพื่อเขียนคำพิพากษาใหม่ในนามของศาลสตรีแคนาดาซึ่งเป็นการจำลองศาลขึ้นมา โดยใช้กฎหมายและพยานหลักฐานที่ศาลแคนาดาใช้ในการพิจารณาไปแล้วมาตีความและบรรยายถึงเนื้อหาคดีใหม่ เธอเล่าว่าการทำแบบนี้ของนักวิชาการกฎหมายได้ทำให้เห็นปัญหาในคำพิพากษาของศาลแคนาดาที่ยังไม่เห็นในตอนเขียนคำวิจารณ์อีกด้วย

“ในคำพิพากษาเดิม(ของศาลแคนาดา) มันมีสิ่งที่แปลกประหลาดมากเกิดขึ้นก็คือผู้หญิงที่ร้องเรียนสิทธิฯ หรือเป็นโจทก์ในคดีต่างๆ หายไปจากคำพิพากษา ก็คือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับคนที่กำลังเรียกร้องสิทธิ์หายไปไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่องโดยผู้พิพากษา” ไทเรลเล่าถึงข้อสังเกตที่นักวิชาการกฎหมายแคนาดาเหล่านั้นบันทึกเอาไว้ และหากมองว่าคำพิพากษาก็ถือเป็นงานเขียนชนิดหนึ่งที่มีผู้พิพากษาเป็นนักเขียน ทั้งตัวตนของผู้หญิงที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเหล่านี้และบริบทชีวิตของพวกเธอก็ไม่ถูกเขียนถึงในคำพิพากษาของผู้พิพากษาในศาลแคนาดาเลย

ศาลสตรีแคนาดาจึงได้นำเรื่องราวของผู้หญิงที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเขียนกลับเข้าไปในคำพิพากษา และมีผลคำพิพากษาที่แตกต่างไปจากเดิมภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาของศาลแคนาดาเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีทางเลือกอีกมากมายที่เป็นไปได้เกิดขึ้นภายใต้กฎหมายที่ศาลแคนาดาเอามาใช้ และทำให้เห็นว่าเมื่อพิจารณาคำพิพากษาของศาลแคนาดากับกับศาลสตรีฯ ได้ทำให้เห็นช่องวางในการตีความกฎหมายที่ทำให้เกิดความอยุติธรรมเกิดขึ้น

ไทเรลกล่าวว่ากระบวนการทำคำพิพากษาเปรียบเทียบแบบเดียวกับศาลสตรีแคนาดานี้ได้เกิดขึ้นในแวดวงวิชาการนักกฎหมายทั่วโลกทั้งในอังกฤษ สหรัฐฯ ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สก็อตแลนด์ อินเดีย ที่มีโครงการลักษณะนี้และยังไปถึงแวดวงคนทำงานเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน เพื่อตั้งคำถามต่อคำพิพากษาที่มีอยู่เดิมเป็นทางเลือกทางเดียวหรือไม่ แต่ผลของทุกโครงการก็พบว่าคำพิพากษายังมีทางเลือกอื่นๆ อยู่อีกด้วยแม้จะใช้กฎหมายและหลักฐานชุดเดียวกันในการพิจารณาของศาลที่มีคำพิพากษาเดิมออกมา ซึ่งเธอมองว่ากระบวนการลักณะนี้เป็นการทำงานวิจัยที่น่าสนใจ

เธอได้ยกงานเขียนเรื่อง Justice for Some : Law and the Question of Palestine ของ Noura Erakat ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กฎหมายที่ดินในปาเลสไตน์และศึกษาปฏิบัติการของอิสราเอลในการขโมยที่ดินจากชาวปาเลสไตน์ตั้งแต่เมื่อ 70 ปีที่แล้ว โดยเข้าไปดูว่ากฎหมายกลายเป็นเครื่องมือในการขโมยที่ดินได้อย่างไร โดย Noura ชี้ว่ากฎหมายไม่มีความแน่นอนตายตัวและไม่สามารถกำหนดผลลัพธ์ได้ กฎหมายเพียงแต่สัญญาว่าจะมีความเป็นไปในการแข่งขันเพื่อผลลัพธ์หนึ่งๆ เท่านั้น

ไทเรลชวนกลับมาดูที่คำถามว่าไทยเป็นแบบนี้หรือไม่ กฎหมายไทยเป็นสิ่งที่มีหลายความหมายหรือไม่ การเขียนคำพิพากษาใหม่เป็นไปได้ในบริบทแบบไทยหรือไม่ เพราะอาจจะสังเกตเห็นว่าโครงการเขียนคำพิพากษาใหม่ก็เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและนิติธรรมแล้ว แม้ว่าจะไม่มีที่ไหนเลยที่จะมีประชาธิปไตยและนิติธรรมสมบูรณ์และยังมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ของไทยต้องยอมรับว่ามีปัญหาอยู่พอสมควร

นอกจากนั้นไทเรลยังได้ยกคำอธิบายของธงชัย วินิจจะกุลถึงระบบกฎหมายในไทยสองระบบที่ทำให้ประเทศไทยเกิดความยุติธรรมได้ยาก คือ “นิติรัฐอภิสิทธิ์” และ “ราชนิติธรรม”

ระบบแรกธงชัยเรียกระบบนี้ “นิติรัฐอภิสิทธิ์” ว่าเป็นระบบที่ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐในการใช้อำนาจละเมิดทรัพย์สินของเอกชนและสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเธอสรุปว่าเป็นระบบกฎหมายที่ให้กับอภิสิทธิ์แก่รัฐตลอดไม่มีประชาชนในระบบเลย

ส่วนหลักราชนิติธรรม คือหลักที่ให้กษัตริย์อยู่สูงสุดในระบบกฎหมายและความยุติธรรม

“แค่สองคำนี้ก็คงเริ่มเห็นว่าประชาชนจะอยู่ที่ไหนในกฎหมาย แม้ว่าคนจะไม่ได้อ่านหรือฟังอาจารย์ แต่คนที่เคยไปอยู่ในห้องพิจารณาคดีที่เมืองไทยก็คงเข้าใจเรื่องนี้ แค่ต้องคิดว่าในห้องพิจารณาคดีประชาชนนั่งบนเก้าอี้แบบไหน ผู้พิพากษานั่งอยู่บนเก้าอี้แบบไหน แล้วก็มีรูปภาพของใครที่อยู่ในห้อง ในคำพิพากษาข้างบนมีสัญลักษณ์ครุฑ แล้วก็คำพิพากษาที่ออกในนามของกษัตริย์” ไทเรลกล่าวว่าหากจะทำโครงการเขียนคำพิพากษาใหม่เรื่องที่กล่าวไปนั้นก็เป็นเรื่องที่เอามาคิดถึงโครงสร้างของกฎหมายและความยุติธรรมในไทย

เธอได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้เข้าไปร่วมฟังกระบวนการพิจารณาคดีช่วงที่อยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่หลังปี 2549 ว่าศาลมักถามเพื่อให้แสดงตัวมาจากไหนก็ได้แค่บอกว่ามาจากมหาวิทยาลัยก็อาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรเหมือนกับเวลามีเจ้าหน้าที่สถานทูตไปนั่งฟัง แต่หากมีประชาชนหรือมีคนต่างชาติไปร่วมฟังการพิจารณาอย่างน้อยอาจทำให้ผู้พิพากษาได้เห็นว่ามีคนคอยติดตามดูการทำงานอยู่ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อความยุติธรรม

ไทเรลเล่าว่าที่ผ่านมาในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมาเคยมีคนที่ทำประเด็นกฎหมายและคำพิพากษาไปบ้างแล้ว อย่างเช่นกลุ่ม “คณะนิติราษฎร์” ที่เกิดขึ้นมาหลังการรัฐประหาร 2549 โดยมีข้อเสนอให้ลบล้างการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร มีการร่างกฎหมายใหม่ๆ และการวิจารณ์คำพิพากษา คณะนิติราษฎร์ก็คงทำไปด้วยจิตวิญญาณยุติธรรมที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมหรือระบบกฎหมายของไทย

นอกจากนั้นในช่วงที่ประชาชนออกมาชุมนุมทางการเมืองเมื่อมีนาคมปี 2564ยังมีกลุ่มประชาชนที่ทำป้ายเขียนคำว่า ศาลประชาชนเอาไปวางไว้หน้าศาลอาญา รัชดาฯ ที่วิจารณ์การจับกุมนักเคลื่อนไหวทีทำกิจกรรมโดยสงบเพื่อตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์และการใช้อำนาจในประเทศไทย

ไทเรลเล่าว่าเมื่อปีที่ผ่านมายังมีกลุ่มที่ออกมาเขียนคำพิพากษาใหม่ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในเรื่องสมรสเท่าเทียมที่ดูถูกคนรักเพศเดียวกันอย่างมากทำให้มีคนไม่พอใจอย่างมาก แล้วการตีความของศาลรัฐธรรมนูญก็แปลกประหลาดมาก ทำให้ปีที่แล้วกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกและยังมีคนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทำโครงการชวนคนที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญร่วมกันเขียนคำวินิจฉัยขึ้นมาใหม่

เธอเล่าต่อว่าคนที่มาร่วมโครงการนอกจากคนจากศูนย์ทนายความที่เป็นนักกฎหมายแล้ว แม้คนอื่นที่มาร่วมเขียนคำวินิจฉัยใหม่นี้ก็เป็นคนที่ไม่รู้กฎหมายและไม่ได้อยู่ในแวดวงนักกฎหมายแต่พวกเขาก็สามารถเขียนคำวินิจฉัยได้ แล้วทุกคนที่มาร่วมก็รู้สึกสนุกกับกิจกรรม และคนที่มาร่วมก็เห็นว่าภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกันที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เพื่อไม่สนับสนุนการสมรสเท่าเทียม ก็ใช้เพื่อสนับสนุนสมรสเท่าเทียมกันได้ด้วยเช่นกัน

ไทเรลกล่าวว่าเรื่องนี้ทำให้เธอตัดสินใจว่าถ้าจะเขียนคำพิพากษาคดีในยุค คสช.ใหม่จะนำคดีที่ข้อมูลทั้งหมดมีเผยแพร่สาธารณะไปแล้วด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของผู้ที่จะถูกเขียนถึงและเพื่อให้คนที่จะมาวิจารณ์หรือเขียนตอบโต้งานของเธอได้เข้าถึงข้อมูลเดียวกันได้

นอกจากนั้นเมื่อได้เห็นคำพิพากษาทุกฉบับคดีในยุค คสช. ทั้งคดีไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คดีชุมนุมประท้วง คดีปิดปาก ข้อสังเกตหลักในคำพิพากษาเหล่านี้คือการบอกว่าการรัฐประหารนั้นเป็นเรื่องชอบธรรมหรือถูกกฎหมายหรือไม่ แต่ประชาชนกลับถูกลบออกไปจากคำพิพากษาทั้งจิตสำนึกและมุมมองของพวกเขาที่มีต่อการรัฐประหาร

ไทเรลจึงตั้งชื่องานศึกษานี้ว่า “ศาลเพื่อประชาชน” (Court for The People) เพื่อให้คำพิพากษาที่เขียนขึ้นใหม่นี้สะท้อนถึงการที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและก็เพื่อให้ชัดว่าตัวเองเขียนในฐานะที่ไม่ใช่คนไทยด้วย ส่วนคดีที่เลือกมาเขียนใหม่นี้มีอยู่ 5 คดี เป็นคดีประชาชนฟ้องรัฐบาลทหาร 2 คดี และมี 3 คดีที่ประชาชนถูก คสช.ฟ้อง ได้แก่

  1. คดีของกลุ่มพลเมืองโต้กลับฟ้อง คสช.ฐานเป็นกบฏ (มาตรา 113,114)

  2. อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ คดีชูป้ายต้านรัฐประหาร

  3. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกเข้ารายงานตัว

  4. ปิยรัฐ จงเทพ คดีฉีกบัตรประชามติ

  5. พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ สมาชิกของกลุ่มพลเมืองโต้กลับฟ้องรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเพื่อเพิกถอนคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราว มทบ.11

ไทเรลกล่าวถึงคดีของกลุ่มพลเมืองโต้กลับฟ้อง คสช.เป็นกบฏว่า มีเรื่องที่ต้องชมนักกฎหมายของรัฐไทยเพราะตั้งแต่ปี 2475 ก็มีการเขียนนิรโทษกรรมคนทำรัฐประหารมาโดยตลอดโดยช่วงแรกๆ มีการออกเป็นพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนมาถึงการรัฐประหารในปี 2549 และการรัฐประหารของ คสช.ที่เขียนให้นิรโทษกรรมคนทำรัฐประหารเอาไว้ในรัฐธรรมนูญและพวกเขาก็เขียนดีมากก็เป็นเรื่องที่ต้องชม เพราะรัฐประหารมา 13 ครั้งพวกเขาก็มีพัฒนาการการนิรโทษกรรมให้ตัวเอง และเรื่องนี้ทำให้กลายเป็นอุปสรรคในการฟ้อง คสช.อย่างมาก

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ(สวมแว่นดำ) และเพื่อนสมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับหลังจากเสร็จการพิจารณาคดีที่ศาลทหารกรุงเทพ

นอกจากนั้นในงานศึกษาของสมชาย ปรีชาศิลปกุลที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ทำให้พบสิ่งที่แปลกประหลาดมากคือตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 ศาลฎีกามีคำพิพากษาออกมาสี่ฉบับที่พูดถึงเรื่องความชอบธรรมของการรัฐประหารแม้ว่าทั้ง 4 คดีนี้จะไม่ได้เกิดจากความพยายามต่อต้านการัฐประหาร โดยศาลฎีกามีแนวทางในการพิพากษาคือแม้การทำรัฐประหารจะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายแต่ถ้าหากคณะรัฐประหารยึดอำนาจปกครองประเทศแล้วหลังจากนั้นก็ถือว่าถูกกฎหมาย ซึ่งแนวคำตัดสินน่าสนใจตรงที่เป็นวิธีคิดแบบเดียวกับของนักกฎหมายเยอรมันที่เขียนไว้เมื่อร้อยปีก่อนคือ ฮาน เคลเซน และงานของเขากลายเป็นงานที่มักถูกศาลในหลายประเทศที่มีการรัฐประหารอ้างถึง

ไทเรลได้กล่าวถึงงานศึกษาของศศิภา พฤกษฎาจันทร์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เคยเขียนถึงคำพิพากษาของศาลฎีกาของไทยเรื่องนี้เช่นกันว่ามีแนวคิดเหมือนกับฮาน เคลเซน แต่ศศิภามองว่าศาลไม่ได้ถึงกับเคยอ่านงานของนักกฎหมายชาวเยอรมันคนนี้แต่เป็นการพิจารณาที่ตรงกับแนวกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ซึ่งตรงกับที่ธงชัยมองว่ามีเรื่องนี้อยู่แล้วในระบบรัฐอภิสิทธิ์ของกฎหมายของไทยแต่แรกอยู่แล้ว

ไทเรลเล่าต่อมาว่าครั้งแรกที่มีการต่อต้านในทางกฎหมายคือกรณีหลังจากถนอม กิตติขจร ในปี 2515มี ส.ส.3 คนไปฟ้องถนอมและทรราชย์อีก 2 คน แต่ศาลอาญาไม่รับคดีและภายหลังถนอมยังใช้มาตรา 17 ตัดสินจำคุก ส.ส.ทั้ง 3 คน 10 ปีด้วยและถนอมยังได้แสดงความรู้สึกโกรธต่อการกระทำของ ส.ส.ทั้ง 3 คนขณะอ่านคำสั่งด้วยว่าเป็นถึง ส.ส.แล้วควรจะต้องรู้กฎหมายว่าถ้ามีคนทำรัฐประหารได้สำเร็จแล้วถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ยังดีที่สุดท้ายแล้วหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 พวกเขาได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ

ต่อมาอีกคนที่มีการฟ้องคณะรัฐประหารคือ ฉลาด วรฉัตร ที่ฟ้องทั้งคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 และการรัฐประหารของ คสช.ปี 2557 แต่ศาลอาญาก็ไม่รับฟ้องทั้งสองครั้ง แต่คดีเดียวที่มีการฟ้องแล้วไปจนถึงมีคำพิพากษาของศาลฎีกาออกมาคือคดีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับฟ้อง คสช.

คดีนี้มีคนอีก 15 คนที่ร่วมฟ้องกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ โดยแต่ละคนก็เขียนบรรยายถึงความเดือดร้อนที่เกิดจากการรัฐประหารของ คสช. ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับผลกระทบไปด้วยจึงขอให้ศาลรับคดีและพิพากษาว่า คสช.กระทำความผิดฐานกบฏตามมาตรา 113 และ 114 แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรกณ์ก็ไม่รับฟ้องจนมีการยื่นฎีกา แต่กระบวนการนี้เป็นเพียงการให้ศาลพิจารณาว่าจะรับฟ้องเป็นคดีหรือไม่เท่านั้นยังไม่ได้เป็นการพิจารณาในเนื้อหาคดีว่า คสช.เป็นกบฏหรือไม่ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าคดีมีมูลก็จะส่งกลับไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดี แต่สุดท้ายแล้วศาลฎีกาก็ไม่ให้รับฟ้องเป็นคดีเพราะว่ามีการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารเอาไว้แล้วในรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คสช.

ไทเรลกล่าวว่าก็ยังเขียนคำพิพากษาของศาลฎีกาใหม่ได้เพราะมีจุดสังเกตว่าศาลไม่พูดถึงผู้ฟ้องทั้ง 15 คนเลยและไม่เอยถึงความเสียหายที่ประชาชนได้รับเลยก็เลยเริ่มต้นการเขียนด้วยความเสียหายของประชาชนที่ฟ้องทั้ง 15 คน และผลกระทบที่ประชาชนไทยได้รับและการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารในรัฐธรรมนูญนั้นก็ขัดกับมาตราอื่นในรัฐธรรมนูญจึงต้องส่งสำนวนคดีกลับไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณา

“คดีนี้เกี่ยวกับว่าอำนาจสูงสุดในประเทศเป็นของใคร และจริงๆ แล้วในรัฐธรรมนูญของ คสช.เองก็เขียนไว้ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ถ้าอย่างนั้นก็เป็นไปได้ว่าศาลจะตีความว่ารัฐประหารเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แม้ว่าจะเคยมีการเขียนให้รัฐมีอภิสิทธิ์เยอะในอดีต”

คดีที่สองที่ไทเรลกลาวถึงในการบรรยายคือคดีที่พันธ์ศักดิ์ฟ้องกระทรวงยุติธรรมต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราว มทบ.11 ซึ่งเป็นเรือนจำในค่ายทหารแล้วฟ้องรัฐมนตรีจากการมีคำสั่งให้ขังพลเรือนในเรือนจำแห่งนี้ และยังเป็นเรือนจำที่มีผู้เสียชีวิต 2 คนตั้งแต่เริ่มต้นที่มีการใช้เรือนจำแห่งนี้และยังเกิดการซ้อมทรมานเกิดขึ้นตามมา และการตั้งเรือนจำในค่ายทหารก็มีปัญหามากทั้งสภาพห้องขังที่ไม่ปลอดภัยและผู้ต้องขังก็ไม่มีโอกาสได้เจอคนภายนอกมากนัก ทนายความก็ปรึกษาคดีกับผู้ต้องขังอย่างเป็นส่วนตัวไม่ได้ ย่อมมีโอกาสเกิดปัญหาอยู่แล้ว

อีกทั้งคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราว มทบ.11 เขียนครอบคลุมมาถึงคดีของคนที่ถูกฟ้องในข้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐแต่ไม่ได้ระบุชัดว่าใครจะถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำทหารนี้บ้าง ซึ่งการจะหยุดการใช้เรือนจำแห่งนี้ได้ก็คือการฟ้องศาลปกครองเพราะเป็นศาลที่พิจารณาคดีกรณีมีเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ทำหน้าที่

สุริยันต์ สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง ถูกนำตัวมาขออนุญาตศาลทหารฝากขังเมื่อวันที่ 21 ต.ค.2558 ก่อนถูกนำตัวเข้าไปขังที่เรือนจำชั่วคราว มทบ.11 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ไทเรลเล่าว่าพันธ์ศักดิ์ที่ทำกิจกรรมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับมีคดีอยู่ในศาลทหาร 2 คดีจากการถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.จากการทำกิจกรรมอย่างสันติ เขาได้เขียนคำฟ้องว่าในคำสั่งตั้งเรือนจำไม่ได้ระบุชัดว่าจะใช้คุมขังใครบ้างและไม่ปลอดภัยอีกด้วยจากกรณีมีผู้เสียชีวิตและซ้อมทรมาน จึงขอให้ศาลยกเลิกการใช้เรือนจำแห่งนี้ ซึ่งศาลปกครองได้ให้ทางกระทรวงยุติธรรมได้ชี้แจง

ไทเรลเล่าต่อว่ากระทรวงยุติธรรมก็ตอบกลับมาโดยสรุปได้เพียงว่าไม่มีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้น ปลอดภัยดีผู้ต้องก็มีความสุข ทำให้มีการทำหนังสือตอบกันไปมาอีกสองรอบที่แต่ละฝ่ายก็ยืนยันข้อต่อสู้ของตัวเอง

แต่สุดท้ายแล้ว ศาลปกครองก็พิพากษาว่าไม่ต้องปิด แต่เรื่องที่ทำให้เธอรู้สึกเศร้าก็คือปัญหาในคำพิพากษาของศาลไม่ได้ปฏิเสธว่ามีการซ้อมทรมานและมีการเสียชีวิตในเรือนจำแห่งนี้ แต่ศาลมองว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากคำสั่งตั้งเรือนจำซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่ต้องยกเลิกคำสั่งนี้

“ที่รู้สึกเศร้าก็เพราะนักกฎหมายของรัฐเก่งจริงๆ ก็คือจริงๆ แล้วสิ่งที่เขาเขียนถ้าจะถามว่าผิดมั้ย คิดในเชิงก็คงไม่แม้ว่าเราไม่เห็นด้วยป็นอย่างยิ่ง”

ไทเรลกล่าวว่าจึงได้ลองเขียนคำพิพากษาใหม่โดยเขียนถึงการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น และจะต้องยกเลิกคำสั่งตั้งเรือนจำแล้วปิดเรือนจำในค่ายทหารแห่งนี้

“ตอนที่เราเริ่มต้นเขียนการเขียนคำพิพากษาก็เพราะบริบททางประวัติศาสตร์แล้วก็สังคมการเมืองของการใช้กฎหมายในประเทศไทย เราคิดว่าการฝันถึงความยุติธรรมภายใต้ระบบนี้คงเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เจอก็คือเป็นสิ่งที่เป็นไปได้กฎหมายเองก็เหมือนอย่างที่ Noura Erakat พูดคือกฎหมายเป็นสิ่งที่มีหลายความหมายคือสิ่งที่ผู้พิพากษาทำก็คือเอากฎหมายนั้นแล้วก็ไปตีความเพื่อที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตคน แล้วก็คิดว่าการที่จะหาทางทำให้กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือในการผลักให้เกิดความยุติธรรมก็ต้องต่อสู้ในทุกที่เลย ไม่ว่าบนท้องถนนหรือในห้องพิจารณาคดี แล้วก็คิดว่าต้องทำบนหน้าหนังสือในงานวิชาการเหมือนกันเพื่อยืนยันว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้น แต่เราได้ฝันถึงแบบอื่นแล้วก็ต้องร่วมกันทำให้ทางเลือกแบบอื่นเกิดขึ้นได้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net