Skip to main content
sharethis

สรุปจุดยืนและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ ‘นโยบายที่ดิน-ป่าไม้ไทย’ จากตัวแทน 7 พรรคการเมือง เห็นพ้องต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีส่วนร่วม

11 เม.ย. 66 ณ ห้องประชุมใหญ่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เฟซบุ๊กสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือรายงานว่า วานนี้ (10 เม.ย.) สหพันธ์ฯ จัดเวทีพบพรรคการเมืองเรื่องนโยบายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อนำเสนอจุดยืนนโยบายต่อพรรคการเมืองจากภาคประชาชน-วิสัยทัศน์นโยบายด้านที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติจากตัวแทนพรรคการเมือง 

สำหรับผู้ร่วมพูดคุยในเวทีภาคประชาชนพบพรรคการเมือง ประกอบด้วยฝั่งตัวแทนจากเครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ได้แก่ สุแก้ว ฟุงฟู ดิเรก กองเงิน ธนา ยะโสภา กัญญรัตน์ ตุ้มปามาอิทธิพล วัฒนาศักดิ์ดำรง จรัสศรี จันทร์อ้าย

ฝั่งตัวแทนพรรคการเมือง ได้แก่

  • มานพ คีรีภูวดล พรรคก้าวไกล
  • คะติมะ หลี่จ๊ะ พรรคสามัญชน
  • จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ พรรคประชาธิปัตย์
  • ณัฐปคัลภ์ ศักดิ์ปิยเมธากุล พรรคชาติไทยพัฒนา
  • มนตรี  บุญจรัส พรรคประชาชาติ
  • พันธวัช ภูผาพันธกานต์ พรรคพลังประชารัฐ
  • ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ พรรคพลังสยาม 

เปิด 6 ข้อเสนอจากสหพันธ์เกษตรภาคเหนือ 

ดิเรก กองเงิน ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ แถลงเปิดข้อเสนอสหพันธ์เกษตรภาคเหนือ โดยกล่าวว่าที่ผ่านมาโครงสร้างการจัดการป่าไม้ที่ดินในประเทศไทยยังคงมีปัญหาและก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ที่ดินกระจุกตัวอยู่ในมือเอกชนและรัฐ รวมถึงประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งนโยบายของพรรคการเมืองที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ จะเป็นนโยบายสาธารณะที่ส่งผลต่อประชาชนเป็นวงกว้าง สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือจึงเสนอข้อเสนอทั้ง 6 ด้าน ดังนี้ 

1.‘รัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน’ เสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เน้นสิทธิเสรีภาพ สิทธิชุมชน โดยกระจายอำนาจในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรสู่ชุมชน กระจายอำนาจให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค การปฏิรูปภาษี ลดความเหลื่อมล้ำ ภาษีคนรวย 1% และผลักดัน “ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า” 

2.‘การจัดการป่า’ ยกเลิกทวงคืนผืนป่าและแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ยกเลิกกฎหมายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และกลไกที่เกี่ยวข้อง ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 และมติอื่นที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการที่ดินโดยชุมชน ยกเลิกพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ยกเลิกการพัฒนา BCG ที่แย่งยึดที่ดินชุมชนสู่การพัฒนาสีเขียว ยกเลิกการผูกขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านป่าไม้ไว้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

3. ‘ที่ดิน’ กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม จำกัดการถือครองที่ดิน ตามข้อเสนอของภาคประชาชน มีมาตรการปกป้องคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและกำหนดการพัฒนาโครงการพัฒนาที่กระทบต่อสิทธิในที่ดินที่ประชาชน ยกระดับประมวลกฎหมายที่ดิน หาแนวทางพิสูจน์สิทธิ เพิกถอนที่ดินของรัฐที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  กระจายสิทธิที่ดินสู่เกษตรกรไร้ที่ดิน

4. ‘โครงการพัฒนาของรัฐ-เอกชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม’  ต้องผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน  โครงการพัฒนาของรัฐส่งผลกระทบต่อชุมชน ต้องจัดสรรที่ดินทดแทนจากการแย่งยึดที่ดินชุมชน และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม ประชาชนทุกคนต้องได้รับการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องกับความต้องการชุมชนและท้องถิ่นในที่ดินทุกประเภท

5. ‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’ นิรโทษกรรมคดีป่าไม้ที่ดิน 46,000 คดี และผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. ว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรอันเนื่องมาจากการได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ตั้งกลไกในกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนมีส่วนร่วม  ใช้ระบบไต่สวนและลูกขุนในการพิจารณาคดีแทนระบบกล่าวหา ส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมของประชาชน

6.‘รัฐสวัสดิการ’ สร้างสังคมที่เป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เงินอุดหนุนเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้พิการ ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ทุกคนบนผืนแผ่นดิน ต้องเข้าถึงสวัสดิการการศึกษา สาธารณสุข งานและรายได้ ประกันสังคม ที่ดิน ที่อยู่อาศัย การปฏิรูประบบภาษี เช่น ปฏิรูปภาษีที่ดินส่วนเกิน 10 ไร่ ปฏิรูปภาษีมรดกที่มีการปรับอัตราภาษีขั้นต่ำและเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้น ให้เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ปรับลดงบประมาณกลาโหม 70% ปรับลดระบบบำนาญข้าราชการ ปรับลดการรักษาพยาบาลข้าราชการ ปฏิรูปบัตรคนจนและโครงการประชารัฐ และทุกคนต้องสามารถยื่นภาษีเพื่อรับสิทธิสวัสดิการแม้รายได้ไม่ถึงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

7 พรรคเห็นพ้องแก้รัฐธรรมนูญโดยประชาชน

ตัวแทนพรรคการเมืองทั้ง 7 พรรค เห็นพ้องควรมีการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญโดยมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งรายละเอียดของวิสัยทัศน์แต่ละพรรคแตกต่างกันดังนี้

พรรคก้าวไกล

  • มีความแน่วแน่ชัดเจนว่า ภายใน 100 วันแรกที่เข้าไปเป็นรัฐบาล จะมีการรณรงค์ทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะถามความเห็นและความต้องการประชาชนว่า รัฐธรรมนูญที่มาจากอำนาจของ คสช. ต้องการจะแก้ไขหรือไม่ ถ้ามติผ่านว่าต้องการแก้ไข จะดำเนินการเข้าสู่กระบวนการ สสร. ที่มีตัวแทนจากชประชาชนทุกภาคส่วน
  • เห็นว่าหมวดสิทธิชุมชนที่เคยบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2540 ต้องนำกลับมารื้อฟื้นใหม่ รวมถึงเรื่องกระจายอำนาจ ที่ดิน ทรัพยากร ป่าไม้  แต่ถ้าหากหลังการเลือกตั้ง ทางพรรคไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาล จะพยายามใช้ช่องทางทุกช่องทางที่มีในรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

มานพ คีรีภูวดล พรรคก้าวไกล

พรรคชาติไทยพัฒนา

  • เห็นว่ารัฐธรรมนูญมันไม่ได้มีอำนาจมากไปกว่าประชาชน รัฐธรรมนูญมีการร่างขึ้นมาได้ก็ต้องสามารถแก้ไขได้ หมวดใดที่กระทบสิทธิประชาชน ไม่สามารถทำมาหากิน ทางรัฐบาลก็ต้องแก้ไข เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติออกมาเพื่อคุ้มครองประชาชน ไม่ใช่บัญญัติขึ้นมาแล้วเพื่อสร้างเงื่อนไขให้ประชาชน ดังนั้น ประชาชนมีสิทธิอยู่อาศัยที่ได้ทุกที่ และการออกกฎหมายอุทยานฯ มาจำกัดสิทธิประชาชนเป็นสิ่งที่ไม่สมควร

ณัฐปคัลภ์ ศักดิ์ปิยเมธากุล พรรคชาติไทยพัฒนา

พรรคประชาชาติ

  • หากได้เข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐบาล ทางพรรคจะนำชุดนโยบายที่เกี่ยวกับการสร้างประชาธิปไตย คืนสิทธิ คืนศักดิ์ศรีให้กับประชาชน รวมถึงเรื่องรัฐสวัสดิการ และพรรคจะสร้างความสุข สร้างความมั่นคงให้ประชาชน หากประชาชนมีที่ดินทำกิน มีรายได้เพียงพอ ทางพรรคยินดีช่วยให้ประชาชนดีขึ้น

มนตรี บุญจรัส พรรคประชาชาติ

พรรคสามัญชน

  • เห็นว่าสิ่งแรกที่พรรคจะแก้ไขคือเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประชาชนไม่มีตัวตนและไร้ความเป็นคน จะแก้ไขเรื่องนี้เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน เพราะพรรคมองเห็นว่าประชาชนทุกคนคือคน พรรคจะยกเลิกประเด็นปัญหาในยุค คสช. ทั้งหมด ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยใช้ สสร. หรือเรื่องสิทธิชุมชนที่เคยมีในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ตอนนี้แทบไม่มี ทำให้คนที่อยู่ในเขตป่าได้รับผลกระทบเยอะมาก พรรคจะแก้ไขเรื่องนี้เหมือนกัน และจะทำอย่างไรก็ได้ให้สิทธิชุมชนกลับมาในรัฐธรรมนูญ

คะติมะ หลี่จ๊ะ พรรคสามัญชน

พรรคพลังประชารัฐ

  • เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นฉันทามติของคนทั้งประเทศว่าจะต้องแก้ไข จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำ เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และกฎหมายลูกที่ออกมา ปี 2560 ทางพรรคเข้าใจได้ว่าออกมาใน ‘ช่วงรัฐหวาดระแวง’ รัฐธรรมนูญจึงใช้เพื่อควบคุม สั่งการ โดยการกระจุกอำนาจที่ส่วนกลาง แต่วันนี้ประเทศกำลังเดินเข้าสู่ประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ข้างล่างก็จะแก้ตามด้วย ดังนั้น การที่จะแก้รัฐธรรมนูญแบบไหน อย่างไร ต้องถามหาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้รัฐธรรมนูญ

พรรคประชาธิปัตย์

  • เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ อย่างกรณี ส.ว. ที่เกิดจากการแต่งตั้งก็แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของการปกครองระบอบประชาธิปไตย และทางพรรคเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งแก้ในบทบาทของสภาหรือในส่วนของภาคประชาชน และยึดมั่นในหนึ่งนโยบายคือ นอกจากสร้างงาน สร้างคน ต้องสร้างชาติ ทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยของประเทศเข้มแข็ง

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ พรรคประชาธิปัตย์

พรรคพลังสยาม

  • เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญหลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดที่ 3 เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนที่ 12 ซึ่งเกี่ยวกับสิทธิที่อยู่ ที่ทำกิน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีหลายมาตราที่ควรมีส่วนร่วมด้วยกัน โดยเฉพาะสิ่งที่ประชาชนมาเสนอและร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 


ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ พรรคพลังสยาม

สรุปวิสัยทัศน์ 7 พรรค ‘นโยบายที่ดินป่าไม้ไทย’

พรรคก้าวไกล

  • กล่าวว่าทางพรรคเตรียมร่างกฎหมายเข้าสู่สภา 40 ฉบับ ซึ่งมี 7 ฉบับ เป็นเรื่องที่ดินและป่าไม้ และเห็นว่าต้องยกเลิก พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ทันที โดยกำหนดนิยามคำว่าป่าใหม่ให้สอดคล้องกับสากลโลก ต้องไม่ทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชน ทางพรรคได้เตรียมแก้ไข พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ และจำเป็นต้องพูดถึงกรรมสิทธิ์ของประชาชนที่อยู่ก่อนกฎหมาย ต้องคืนที่ดิน 10 ล้านไร่ให้ประชาชน กระจายอำนาจให้ประชาชนโดยตรง ส่วน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ทางพรรคได้ยกร่างแล้ว และเห็นว่าจำเป็นต้องแยกชุมชนที่ทับซ้อน เพิกถอนออกมา

พรรคชาติไทยพัฒนา

  • เห็นว่า พ.ร.บ.ป่าสงวน พ.ร.บ.อุทยานฯ พื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่แปลงเดียวที่ถูกกฎหมายประกาศทับ 3 ฉบับ ซึ่งในประเทศอื่นๆ ไม่เป็นเช่นนี้เหมือนประเทศไทย และเป็นปัญหาที่ไม่มีผู้แก้ไข ทางพรรคต้องการจะแก้ไขเรื่องป่าสงวน มาตราใดที่กระทบกับประชาชนจะต้องไปแก้ไขให้หมด ไม่ใช่การที่ประชาชนทำมาหากินปกติ กลับถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปจับกุม และระบุว่าบุกรุกป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานฯ ดังนั้นต้องเพิกถอน พ.ร.บ.ป่าไม้ ป่าสงวน เพิกถอนออกไปจากประชาชน ไม่ใช่จับกุมชาวบ้านมาดำเนินคดี

พรรคประชาชาติ

  • เห็นว่า การแก้กฎหมาย ควรย้อนไปตั้งแต่กฎหมายปี 2475 ที่ให้สิทธิที่ดินเกษตรกร 50 ไร่ ที่อุตสาหกรรม 10 ไร่ ที่อยู่อาศัยอีกไม่เกิน 5 ไร่ และรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้ง
  • รวมถึงยกเลิกกฎหมายป่าไม้หลายฉบับ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาถูกพื้นที่ทับซ้อนหรือถูกกลั่นแกล้ง

พรรคสามัญชน

  • เห็นว่า ควรยกเลิก คทช. และสนับสนุนโฉนดชุมชน สนับสนุนกระจายที่ดิน ทางพรรคต้องการให้ประชาชนทุกคนมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของตัวเอง ที่ชุมชนจะเป็นเขตป่าไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ส่วน คทช. เปรียบเสมือนกรงขังคุกที่กักกันชั่วกัปชั่วกัลป์ ส่วนกฎหมายป่าไม้ที่ดินส่วนที่ดีทางพรรคจะคงไว้ ส่วนที่ไม่ดีจะปรับปรุง และนิรโทษกรรมคดีกฎหมายป่าไม้ 40,000 กว่าคดีทั้งหมด

พรรคพลังประชารัฐ

  • เห็นว่าปัญหาเกิดมาจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับล่าสุด มีการจับกุม คุมขัง ดำเนินคดีมากมาย ทางพรรคจะแก้กฎหมาย แต่ก่อนถึงเรื่องนั้น ทางพรรคจะรับรองสิทธิของชุมชนให้ได้ก่อน และจะดำเนินการเร่งออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทุกประเภท ตลอด 8 ปีที่ผ่านมารัฐล้มเหลวในการจัดการทรัพยากร เพราะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน พรรคพลังประชารัฐจึงต้องการเปิดพื้นที่ใหม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม

พรรคประชาธิปัตย์

  • กล่าวว่าทางพรรคเคยผลักดันป่าชุมชน โฉนดชุมชน ซึ่งทำสำเร็จมาแล้ว และพรรคเคยสามารถประกันรายได้เกษตรกรได้สำเร็จ ทั้งภาคการส่งออกผลไม้ต่างประเทศทดแทนรายได้จากสถานการณ์โควิด ทำได้อันดับต้นของโลก สะท้อนว่าทางพรรคตั้งใจผลักดันนโยบายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน โดยมี 2 นโยบายใหญ่ คือ ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลงใน 4 ปี และ ออกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ผู้ทำกินในที่ดินของรัฐ

พรรคพลังสยาม

  • เห็นว่าชาวบ้านโดน พ.ร.บ.อุทยานฯ และ พ.ร.บ.ป่าไม้ มากที่สุด จึงมีหลายมาตราต้องแก้ไข เพราะไม่สอดคล้องกับวิถีประชาชนและละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ทางพรรคจะไปฉายข้อจำกัดเหล่านี้ให้กลุ่มที่มีอำนาจในสภาเพื่อร่วมกันพิจารณาแก้ไขต่อไป ส่วนข้อเสนออื่น ๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาของรัฐ-เอกชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และรัฐสวัสดิการ แต่ละพรรคจะรับไปพิจารณาต่อไป

 https://www.facebook.com/northernpeasantfederation/posts/pfbid0mkWYV7XRfCRprjw1imCfQQAzXmPpgBA1eYqh2fga3YuTAbr2aMXDd9pKhLN1zHJdl

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net