Skip to main content
sharethis

สวนดุสิตโพลล์เผยผลสำรวจความนิยมพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้งจาก 1.6 แสนคนเพื่อไทยนำโด่งอันดับหนึ่ง 41.37% อันดับสองก้าวไกล 19.32% ทิ้งห่างภูมิใจไทยอันสามได้ 9.55% นักวิชาการชี้คนตอบรับนโยบายเพื่อไทย ส่วนก้าวไกลมีนักการเมืองที่โดดเด่น  

29 เม.ย.2566 สวนดุสิตโพลของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตเผยแพร่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศต่อกรณี “คนไทยนิยมพรรคการเมืองใด (ก่อนเลือกตั้ง)” จากการเก็บข้อมูลจากประชาชนจำนวน 162,454 คนในระหว่างวันที่ 10-20 เมษายน 2566 

จากผลสำรวจพบว่าพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในช่วงก่อนเลือกตั้ง คือ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 41.37 รองลงมาคือ พรรคก้าวไกล ร้อยละ 19.32 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 9.55 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 8.48 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.49 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 7.30 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 2.41 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 1.74 พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 1.25 และพรรค อื่น ๆ ร้อยละ 1.09

เมื่อพิจารณาจำแนกตามอายุ พบว่า กลุ่มอายุ 18-30 ปี นิยมพรรคก้าวไกลมากที่สุด ร้อยละ 50.20 กลุ่มอายุ 31-50 ปี และกลุ่มอายุ 51 ปีขึ้นไป นิยมพรรคเพื่อไทยมากที่สุด ร้อยละ 44.59 และ ร้อยละ 44.92 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาจำแนกตามภูมิภาค พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมพรรคเพื่อไทยมากที่สุด ร้อยละ 41.99, ร้อยละ 42.11, ร้อยละ 49.24 และร้อยละ 48.92 ตามลำดับ ส่วนภาคใต้นิยมพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด ร้อยละ 24.20

พรพรรณ บัวทอง ระบุว่าจากผลการสำรวจครั้งนี้ ภาพรวมกระแสความนิยมของพรรคเพื่อไทยแม้จะลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลช่วงก่อนยุบสภา แต่ก็ยังคงเป็นที่นิยมในทุกภูมิภาคแม้แต่ในภาคใต้ก็ถือได้ว่าได้รับผลตอบรับที่ไม่แย่นัก ส่วนพรรคก้าวไกลกระแสความนิยมเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคก็ต้องมาติดตามกันต่อว่าจะเปลี่ยนกระแสเป็นคะแนนในวันเลือกตั้งจริงได้เท่าใด ส่วนพรรคอื่น ๆ กระแสความนิยมไม่ต่างจากเดิมมากนัก

ผศ.สรศักดิ์ มั่นศิลป์ รองคณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิตอธิบายว่าจากผลโพลเรื่องคนไทยนิยมพรรคการเมืองใด (ก่อนเลือกตั้ง) อันดับ 1 คือ เพื่อไทย สอดคล้องกับนโยบายประชานิยมต่าง ๆ โดยเฉพาะการให้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ค่อนข้างได้รับการตอบรับอย่างมาก

ผศ.สรศักดิ์ กล่าวถึงพรรคก้าวไกลที่เป็นอันดับ 2 ว่าบุคลิกที่โดดเด่นของหัวหน้าพรรคและผู้สมัครของพรรคในการออกสื่อหาเสียงตามรายการทีวีและสื่อออนไลน์ต่างๆ ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนอันดับ 3 ภูมิใจไทย นโยบายต่างๆ เช่น การพักหนี้ 3 ปี ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในเรื่องการลดค่าครองชีพ

รองคณบดีฯ ระบุว่ารวมไทยสร้างชาติที่ได้อันดับ 4 จุดขายยังคงเป็นเรื่องความซื่อสัตย์และนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนทั่วไป อันดับ 5 พลังประชารัฐ เน้นเรื่องการลดความขัดแย้งและนโยบายสวัสดิการที่ประชาชนเห็นว่าพอจับต้องได้ อันดับ 6 ประชาธิปัตย์ นโยบายเรื่องธนาคารหมู่บ้านแห่งละ 2 ล้าน ถือว่าเป็นจุดขายของพรรค ในส่วนไทยสร้างไทย เสรีรวมไทยและชาติไทยพัฒนายังได้รับความสนใจจากประชาชนในระดับหนึ่งตามลำดับ

ทั้งนี้ตัวอย่างประชากรที่ทางสวนดุสิตโพลล์สำรวจมา 162,454 คนจำแนกเป็น

  • เพศ
    • ชาย จำนวน 74,073 คน ร้อยละ 45.60
    • เพศหญิง จำนวน 88,381 คน ร้อยละ 54.40
  • ช่วงอายุ
    • 18 – 30 ปี จำนวน 31,627 คน ร้อยละ 19.47
    • 31 – 50 ปี จำนวน 72,808 คน ร้อยละ 44.82
    • อายุ 51 ปีขึ้นไป จำนวน 58,019 คน ร้อยละ 35.71
  • ภูมิภาค
    • สำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 13,368 คน ร้อยละ 8.23
    • ภาคกลาง จำนวน 43,023 คน ร้อยละ 26.48
    • ภาคเหนือ จำนวน 27,664 ร้อยละ 17.03
    • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 53,865 ร้อยละ 33.16
    • ภาคใต้ จำนวน 24,534 คน ร้อยละ 15.10

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net