Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยศาลยกฟ้องคดี ‘คาร์ม็อบหาดใหญ่’ ชี้กิจกรรมเกิดในที่โล่ง ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่อยู่ในรถ ไม่ถึงขนาดเสี่ยงโรค - ตร.แจ้ง พ.ร.บ.ชุมนุม 8 นักกิจกรรม ใส่ชุดนักโทษขึ้นรถไฟฟ้า ครบ 9 ปี การหายไปของ ‘บิลลี่ พอละจี’ ทั้งหมดยืนยันให้การปฏิเสธ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2566 ศาลแขวงสงขลานัดฟังคำพิพากษาในคดี “คาร์ม็อบหาดใหญ่” ที่ใช้ชื่อกิจกรรมว่า “หาดใหญ่เบอะสด เขรถยิกลุง เหยดแหม่!” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2564 โดยคดีมีนักศึกษาและประชาชนถูกฟ้องในคดีนี้ 11 ราย ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, ส่งเสียงดังอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร และปิดบังแผ่นป้ายทะเบียนรถ

ผู้กล่าวหาในคดีนี้คือ พ.ต.ท.พัทธนันท์ ภักดีดำรงทรัพย์ รองผู้กำกับการสืบสวน สภ.คอหงส์ จำเลยในคดีนี้มีทั้งหมด 11 คน ได้แก่ รฐนนท์ คุ่ยยกสุย, ฝนดาว เจริญวงศ์, ประคุณ ปานเล่ห์, ธนัดดา แก้วสุขศรี, จริงใจ จริงจิตร, ปทุมมา ตั้งพิพัฒน์มงคล, คอลดูน ปาลาเร่, อภิศักดิ์ ทัศนี, ธีรุตม์ สันหวัง, ศุภกร ขุนชิต, อัษฎา งามศรีขำ

คดีนี้มีการสืบพยานไปทั้งหมด 7 นัด เมื่อวันที่ 1-3, 8-9 และ 15-16 กุมภาพันธ์ 2566 ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นมิได้เป็นการชุมนุมในสถานที่แออัด เป็นพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และรถในขบวนก็มีการเคลื่อนตลอด  ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-19 ผู้เข้าร่วมทั้งหมดสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ไม่ได้มีการลงจากรถมารวมตัวกัน มีผู้ขึ้นปราศรัยในรถเครื่องเสียงเพียงบางส่วนเท่านั้น ทั้งผู้จัดก็มีการโพสต์ประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันโรคไว้ทั้งบนเพจเฟซบุ๊กและประกาศในระหว่างเคลื่อนขบวนรถ และตัวขบวนคาร์ม็อบเองก็ไม่ได้กีดขวางการจราจร เป็นการขับรถต่อกันกินพื้นที่ถนนเลนเดียว โดยที่ผู้อื่นยังสามารถใช้ถนนเลนขวาได้ตามปรกติ โดยรถไม่ได้ติดขัดแต่อย่างใด

ส่วนการบีบแตรที่ทำให้เกิดเสียงดังนั้น ก็ไม่ได้มีการบีบตลอดเวลา แต่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ และจำเลยไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม เพียงแต่เดินทางไปร่วมเนื่องจากข้อเรียกร้องตามที่ประกาศในเพจตรงกันกับจำเลย บางคนเพียงขอติดรถ ขอขึ้นรถร่วมปราศรัยหรืออ่านแถลงการณ์เท่านั้น ทั้งจำเลยรายหนึ่งเป็นเพียงคนขับรถรับจ้าง ที่ถูกว่าจ้างให้นำรถบรรทุก 6 ล้อมาเท่านั้น

(อ่านข่าวนี้โดยละเอียดที่เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

ตร.แจ้ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 8 นักกิจกรรม ใส่ชุดนักโทษขึ้นรถไฟฟ้า ครบ 9 ปี การหายไปของ ‘บิลลี่ พอละจี’ ทั้งหมดยืนยันให้การปฏิเสธ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2566 ที่ สน.บางซื่อ นักกิจกรรม 8 ราย เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุม  ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จากกรณีใส่ชุดนักโทษขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อแสดงสัญลักษณ์ครบรอบ 9 ปี กรณีการหายตัวไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย รวมทั้งเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ก่อนหน้านี้ นักกิจกรรมทยอยได้รับหมายเรียกของ สน.บางซื่อ ลงวันที่ 19 เม.ย. 2566 ให้ไปรับทราบข้อหาในวันที่ 27 เม.ย. 2566 โดย จิรภาส กอรัมย์ หรือ “แก๊ป” ได้รับหมายเรียกถึงสองใบ โดยเป็นหมายเรียกคดีเดียวกัน แต่ตำรวจกลับออกมาหมายเรียกครั้งที่ 2 ล่วงหน้า ทั้งที่ยังไม่ถึงวันนัดตามหมายเรียกครั้งแรกแต่อย่างใด โดยหมายเรียกครั้งที่ 2 ลงวันที่ 28 เม.ย. 2566 หมายเรียกครั้งที่ 2 นี้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

นอกจากจิรภาส แล้วยังมีผู้ได้รับหมายเรียกอีก 7 ราย ได้แก่ ธัญศิษฐ์ อิงคยุทธวิทยา, สิทธิชัย ปราศรัย,โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง, วรินทิพย์ วัชรวงษ์ทวี, เงินตา คำแสน, กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน และวีรดา คงธนกุลโรจน์

โดยหลังรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ และจะทำหนังสือให้การเพิ่มเติมภายใน 30 วัน ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ลงลายมือชื่อรับทราบข้อกล่าวหา และมีผู้ต้องหาอีก 3 ราย คือ สิทธิชัย, โสภณ และ วีรดา ที่ปฏิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือ ตำรวจยังนัดหมายส่งสำนวนให้อัยการต่อไปวันที่ 15 พ.ค. 2566

(อ่านข่าวนี้โดยละเอียดที่เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net