Skip to main content
sharethis

ถาม 5 ส.ว. จะโหวตให้นายกเสียงข้างมากใช่หรือไม่ พบท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ ส่วนใหญ่โยนไปให้ ส.ส. รวมเสียงเกิน 375 

12 พ.ค. 66 เมื่อวานนี้ (11 พ.ค.) ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘สมาชิกวุฒิสภาในฐานะหุ้นส่วนประชาธิปไตย’โดยมี ส.ว.แต่งตั้ง 5 คนร่วมพูดคุย ประกอบด้วย สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ คํานูณ สิทธิสมาน กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ เฉลิมชัย เฟื่องคอน และมณเฑียร บุญตัน

ในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.ที่จะถึงนี้คนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็จะได้เข้าคูหากันแล้ว โดยคาดว่าจะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า

สำหรับคำถามที่ว่า “ส.ว. จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากในสภาหรือไม่” ประชาไทสรุปจุดยืนของ 5 ส.ว. ไว้ด้านล่างนี้

สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์

สถิตย์ ตอบว่า การที่ ส.ส. รวมให้ได้ 376 เสียงขึ้นไปมีความเป็นไปได้มากกว่ามาโฟกัสว่า ส.ว. จะโหวตอย่างไร ทั้งนี้เพื่อเป็นการพิสูจน์ความมุ่งมั่นด้วยว่า นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นได้รับการยอมรับจากประชาชนจริงๆ    

สำหรับคำถามที่ว่าสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ถือว่าเป็นเจตจำนงที่มาจากประชาชนหรือไม่ ด้านหนึ่งก็บอกว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว รัฐธรรมนูญได้กำหนดที่มาของวุฒิสมาชิกเช่นนี้ ก็กล่าวได้ว่ามีที่มาทางอ้อมจากประชาชน แต่อีกด้านหนึ่งก็บอกว่าไม่ได้เป็นระบบเลือกตั้งโดยแท้ เพราะฉะนั้นไม่ได้ถือว่าวุฒิสมาชิกนั้นมีที่มาจากประชาชนก็อาจทำให้ขาดสาระข้อหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ก็คือผู้ที่เป็นตัวแทนในทางนิติบัญญัติหรือการควบคุมการบริหาร จะตีความอย่างไรก็แล้วแต่มุมมองและความคิด

คํานูณ สิทธิสมาน

ส.ว. ไม่ควรมีอำนาจโหวตนายก

“อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ถามความเห็นผมนะครับ ไม่ควรมีอำนาจนี้ให้กับ ส.ว. ผมเองเป็นหนึ่งในหลายคนที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ให้ตัดอำนาจนี้ของ ส.ว. มาตั้งแต่ปี 2564 ถ้าจำไม่ผิด และมีเสนอร่างเข้ามา 2-3 ร่าง ผมก็เห็นด้วยทุกครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ

สำหรับคำถามที่ว่า ท่านจะโหวตให้กับเสียงข้างมากในสภาหรือไม่ คำนูณตอบว่า

“โดยทั่วไปควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะแม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดไว้ แต่ว่านายกฯ และคณะรัฐมนตรีที่มีเสียงข้างน้อยบริหารประเทศต่อไปไม่ได้ ต้องมีเสียงข้างมากในสภาเท่านั้น และพวกเราก็ไม่อยากเห็นว่าตอนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเอาเป็นเสียงข้างน้อยก่อน แต่ตอนจัดตั้งรัฐบาลกลายเป็นเสียงข้างมาก ผมไม่อยากเห็นเช่นนั้น”

“แต่ว่าเวลาสังคมพูดถึงประเด็นปิดสวิทช์ ส.ว. ผมอยากจะบอกว่าเรื่องนี้ ส.ส. สามารถปิดสวิทช์ ส.ว. ได้ โดยวิธี ถ้า ส.ส.ทั้งสภาที่มีอยู่ 500 คน สามารถรวมกันให้ได้ 376 คน ท่านจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี พวกผม 5 คนจะโหวตหรือไม่โหวตอย่างไรก็ไม่มีความหมาย”

งดออกเสียงถือเป็นการลงคะแนน

คำนูณมองว่า การเลือกนายกฯ เป็นเสียงข้างมากเด็ดขาด ต่อให้ตนใช้สิทธิงดออกเสียงก็ถือเป็นการลงคะแนนแล้ว จะทำให้ได้ไม่ถึง 376 ซึ่งเรื่องนี้ก็คิดหนัก เพราะการงดออกเสียงหมายถึงไม่เห็นด้วยกับแคนดิเดตนายกฯ ที่ได้เสียงข้างมาก ในกรณีนี้คงต้องไปดูหน้างานอีกทีนึง เพราะตราบใดที่ยังไม่รู้ตัวเลขเสียงโหวตจริง ก็จะไม่รู้แคนดิเดตนายกฯ คนนั้นจะเป็นใคร เพราะหนึ่งบางพรรคเสนอมา 3 คน และสอง พรรคการเมืองที่เข้ามาประกอบด้วยพรรคใดบ้าง นโยบายของพรรคนั้นก็สำคัญ พันธมิตรพรรคการเมืองที่รวมกลุ่มกันที่จะสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ คนในคนหนึ่ง

“วันเลือกนายกรัฐมนตรีคือวันที่ ส.ว. ต้องใช้สิทธิอย่างดีที่สุด เราอยากเห็นประเทศเดินหน้าเหมือนที่ทุกท่านอยากเห็น แต่เราก็อยากเห็นประเทศเดินหน้าไปโดยไม่ก้าวเข้าสู่ความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตอีกครั้งหนึ่ง หรือเกิดวิกฤตที่ยิ่งกว่าในอดีต”

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ

“ถ้าหากว่าเสียงของพี่น้องประชาชนได้เลือกฝ่ายนั้นแล้ว จัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ส.ว.ไม่ทวนกระแสหรอกครับ บอกได้เลยว่า ส.ว.ก็คือหุ้นส่วนประชาธิปไตย หนึ่งเสียงเหมือนกับพี่น้องประชาชนเช่นกัน” 

“ดังนั้นท่านไม่ต้องห่วงหรอกครับว่า ส.ว.จะไปหลับหูหลับตาโหวตให้กับฝ่ายที่เป็นเสียงข้างน้อยโดยเฉพาะ เสียงข้างน้อยมากๆ ย้ำว่าถ้าเสียงข้างน้อยมากๆ” 

สำหรับคำถามที่ว่า ส.ว.มีไว้ทำไม กิตติศักดิ์ตอบว่า นอกจากพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย ตั้งหน่วยงานอิสระ ส.ว.ก็มีพื้นที่ให้ดูแล ทำงานแบบปิดทองหลังพระ ไม่ได้มาบอกสื่อมวลชน ประชาชน วันอาทิตย์นี้จะมีการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ของเราก็จะเกิดขึ้น เราในฐานะที่เป็นวุฒิสมาชิก โดยเฉพาะอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดแล้ว รู้สึกมีความหนักใจ หนักใจถึงหนักใจมาก เพราะว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เราเห็นแล้วว่าเป็นการ ใช้เงินซื้อเสียงกันมากที่สุด ตนคิดว่ามากที่สุดก็ได้เท่าที่เราไปลงพื้นที่มา

เฉลิมชัย เฟื่องคอน

เฉลิมชัย บอกว่า มาตรา 272 ที่ให้ ส.ว. ที่จะโหวตใครเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว เพราะส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ทำไมมีสิทธิเลือกนายกฯ ได้ล่ะ  ซึ่งมาตรานี้เคยถูกยื่นแก้มาแล้วประมาณ 2-3 ครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ 

“ผมคนหนึ่งจะพิจารณาเลือกนายกฯ โดยจะเอาพรรคการเมืองที่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ คือ 251 เสียงขึ้นไปเป็นหลัก  ส่วนคุณจะได้หาเสียงให้ได้ 376 อย่างไร ก็เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่ต้องทำให้ได้”

มณเฑียร บุญตัน

มณเฑียรบอกว่า การที่ตนโหวตตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ มาตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับล่าสุด เป็นเพราะว่าไม่เห็นประโยชน์อะไรอีกแล้ว ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ไปเมื่อปีที่แล้วว่าโหวตนายกฯ รอบนี้ตนจะงดออกเสียง เพราะคิดว่าไม่ใช่ธุระกงการอะไรของตนที่จะไปเลือกนายกฯ   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net