Skip to main content
sharethis

ท่าที ส.ว. หลัง 'พิธา' เจอพิจารณา ม.151 ยังหลากหลาย 'สมชาย' ชี้ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่า ITV ไม่ใช่สื่อแล้ว เพื่อตัดจบทุกปัญหา 'พรทิพย์' ย้ำตั้งใจจะไม่โหวตอะไรทั้งสิ้น 'เสรี' ชี้สะดุดขาตัวเองเพราะเก็บหุ้นไว้ - อ.นิติศาสตร์ ม.รังสิต ชี้ 'พิธา' ผ่านสบาย - 'จตุพร' เทียบคดี ม.151 กรณี 'สิระ-พิธา' ชี้ อาจชวดนายก-รัฐประหารซ้ำ

11 มิ.ย. 2566 จากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ตีตก 3 คำร้องกรณีถือหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล แต่รับพิจารณา มาตรา 151 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งนั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ ช่อง 7 ได้รวบรวมท่าทีของ ส.ว. ต่อกรณีนี้ โดยนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. มีการโพสต์เฟซบุ๊ก "ปริศนาธรรมการเมืองเรื่องหุ้น ITV" ข้อที่ 5 นิตินิยายนิติกรรมอำพรางเรื่องหุ้น ITV จะไปต่ออย่างไร โดยสรุปใจความได้ว่า การดำเนินการตรวจสอบได้นั้น กกต. ต้องรับรองความเป็น สส. ของนายพิธาแล้ว หลังรับรอง กกต.ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาเอง ในฐานะที่ความปรากฏแก่ กกต. ตามมาตรา 82 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คุณพิธา ขาดคุณสมบัติ สส. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และขอให้ศาลสั่งให้คุณพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกับกรณีของคุณธนาธร และวาระ 8 ปี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะที่ กกต. ต้องร้องต่อตำรวจ เพื่อให้สรุปสำนวนส่งอัยการว่าเข้าข่ายคดีอาญาหรือไม่ ข้อหารู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ คดีนี้มีบทลงโทษจำคุก 1-10 ปี โทษปรับ 20,000-200,000 บาท และตัดสิทธิการเมือง 20 ปี แต่อัยการจะรับลูกหรือไม่ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานว่าหนักแน่นแค่ไหน เพราะก่อนหน้าอัยการสูงสุดเคยมีคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้อง นายธนาธร มาแล้ว

เมื่อถามว่ามีการก้าวขึ้นเป็นนายกฯ ของคุณพิธา ไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายด่านให้ต้องผ่าน จะมีผลกับการโหวตของ สว. หรือไม่ นายสมชาย บอกว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินกว่าที่จะพูดเรื่องนี้ ต้องดูในวันที่ยกมือโหวตว่าสุดท้ายวันนั้นยังมีชื่อคุณพิธาอยู่อีกหรือไม่ หรือมีแต่มีคู่แข่งเข้ามาเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะฉะนั้นวันนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบอะไรได้ สิ่งที่บอกได้คือคุณพิธา ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่า ITV ไม่ใช่สื่อแล้วอีกต่อไป เพื่อตัดจบทุกปัญหา

ด้านแพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ให้ความเห็นกับทีมข่าวว่า เรื่องหุ้นสื่อของคุณพิธานั้น ไม่สามารถตอบแทน สว. คนอื่นได้ว่าจะเปลี่ยนใจหรือมีผลต่อการโหวตหรือไม่โหวตให้ แต่ตนเองไม่ได้ให้ความสำคัญ และไม่ได้นำมาเป็นประเด็นประกอบการตัดสินใจ แม้ กกต. จะรับไว้พิจารณาเองก็ตาม แต่สิ่งที่ให้ความสำคัญคือนโยบายของพรรค โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน

คุณหญิงหมอพรทิพย์ บอกว่า ตนตั้งใจจะไม่โหวตอะไรทั้งสิ้น เพราะบทบาทของ สว. ทั่วโลก ไม่ได้มีหน้าที่เข้ามาโหวต ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน ที่ผ่านมาเคยโหวตให้ เพราะมองว่าจะเข้ามาปฏิรูป เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น แต่สุดท้ายยังอยู่ที่เดิม และไม่ได้ต่างจากนักการเมืองทั่วไป

สุดท้ายเรื่องนี้ต้องรอดูการต่อสู้ของคุณพิธา และทีมกฎหมายว่าจะแสดงให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นได้หรือไม่ ว่า ITV ไม่ใช่สื่ออีกต่อไป และไม่ได้ดำเนินกิจการแล้ว

ส่วน โพสต์ทูเดย์ รายงานเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ว่านายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิกร (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา (กมธ. พัฒนาการเมืองฯ) เปิดเผยถึงกรณีนี้ว่า กมธ. พัฒนาการเมืองฯ จะมีการประชุมในวันอังคารที่ 20 มิ.ย.เนื่องจากงดการประชุมในวันอังคารที่ 13 มิ.ย. เพราะ กมธ.หลายคนติดภารกิจ โดยจะนำคำสั่งของกกต.มาพิจารณาศึกษาดูอีกรอบ และต้องบอกให้ กกต.พูดให้ชัด ๆ เพราะตอนนี้ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ได้แค่มุมเดียวมุมหนึ่งคือเรื่องที่เป็นความผิดในปัจจุบัน แบบที่ตรวจสอบได้ 

ทั้งนี้ สว. เสรี กล่าวว่า กมธ. พัฒนาการเมืองฯ พยายามเข้าใจว่ากกต. จะเอาเรื่องในอำนาจหน้าที่ที่เขาควรตรวจสอบได้ตอนนี้ คือมาตรา 151 การ กระทำนี้ไม่ได้ผิดกฎหมายเรื่องเดียว แต่ผิดกับกฎหมายหลายเรื่อง เพียงอาจจะไม่ถึงเวลา แต่กกต.ต้องพูดให้ชัด ว่าหลังจากนี้ถ้าไปพบว่ามีการกระทำความผิด มีขั้นตอนอะไรที่จะต้องทำเพื่อให้ประชาชนไม่สับสน แล้วตีความกันไปเอง

“ตอนนี้ก็ตีความกันไป ฝ่ายนี้ก็ตีความเข้าข้างตัวเอง อีกฝ่ายก็ตีความไปอีกทาง ดังนั้น ความที่ไม่ชัดเจนตรงนี้ กกต. ก็ควรที่จะพูดให้ชัด ถ้าไม่พบความผิดก็ยกไป แต่ถ้าพบการกระทำความผิดจะมีอะไรเกิดขึ้นมาอีก จะต้องไต่สวนเพิ่มเติม และถ้าขาดคุณสมบัติจริง ถ้ารับรองไปแล้ว ขั้นตอนจะเกิดอะไรขึ้นอีก กกต.ก็พูดได้” นายเสรี กล่าว

ต่อประเด็นที่ พรรคก้าวไกลออกมาระบุว่า การที่กกต.มีมติพิจารณามาตรา 151 เป็นการเตะตัดขานายพิธา เพราะมาตรา 151 มีโทษร้ายแรงนั้น สว. เสรีให้มุมมองว่า โทษนี้เป็นโทษของการกระทำอยู่แล้ว มีร้ายแรงไม่ร้ายแรง หรือจะมีโทษแค่ไหนก็ต้องดูที่กฎหมาย และไม่ได้เป็นการตัดขา เขาเรียกว่าสะดุดขาตัวเอง เพราะคุณทำเองทั้งนั้น แล้วจะไปว่าใครเขาตัดขา 

“ไม่มีใครเขามาเตะตัดหาหรอก เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องสะดุดขาตัวเองทั้งนั้น ทำเองเออเอง สะดุดเอง ล้มเอง แล้วโทษคนอื่นเขา” นายเสรี กล่าว

เมื่อถามว่า มองว่านายพิธารู้อยู่แล้วใช่หรือไม่ เพราะไอทีวียังไม่ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ นาเสรีกล่าวว่า ต้องรู้อยู่แล้วถึงแม้ตัวเองจะคิดอย่างไรก็ตาม ก็ต้องระแวดระวัง ถ้าเขาถือหุ้นไอทีวีอยู่ก็ยังโอนเปลี่ยนมือไป ไม่ได้ถือไว้ แสดงว่าทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่ทำไมนายพิธาดันเก็บไว้ 

นายเสรี กล่าวต่อว่า หนังเรื่องนี้มันอีกยาว เพราะตอนนี้ตนไปเจอคำพิพากษาของศาลฎีกาที่เคยตัดสินเรื่องเหล่านี้มาก่อน ที่ตัดสินว่าเมื่อเจ้ามรดกเสียชีวิต ให้กรรมสิทธิ์ในหุ้น ในทรัพย์มรดกตกเป็นของทายาทโดยอัตโนมัติทันทีตามกฎหมาย ไม่ใช่แค่เป็นผู้จัดการมรดกอย่างเดียว ดังนั้น การที่นายพิธาบอกว่าเป็นผู้จัดการมรดกจึงไม่ใช่ ทั้งนี้ตนจะนำฎีกาดังกล่าวมามอบให้สื่อมวลชนดูด้วย

อ.นิติศาสตร์ ม.รังสิต ชี้ 'พิธา' ผ่านสบาย

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์บทความ เรื่อง “หาก กกต.พิจารณาการถือหุ้นสื่อมวลชนของพิธาตามมาตรา ๑๕๑ จะมีผลอย่างไร” ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Komsarn Pokong มีรายละเอียดดังนี้

เรามาพิจารณาต่อกันในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ไม่รับคำร้องเพราะเป็นคำร้องที่ยื่นเกินระยะเวลาที่จะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จึงเห็นควรพิจารณาสั่งไม่รับคำร้องไว้ตามระเบียบ แต่เนื่องจากกรณีคำร้องดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริง และพฤติการณ์และมีหลักฐานพอสมควร และมีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไปว่านายพิธาเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามแต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา ๔๒(๓) และมาตรา ๑๕๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ จึงเห็นควรพิจารณาสั่งให้ดำเนินการไต่สวนเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏ โดยคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน ซึ่งต่อมาในวันเดียวกันนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กสาธารณะ ว่า “กกต.ไม่รับคำร้องของ ๓ นักร้อง แต่รับไว้เอง ในฐานะความปรากฏ เพื่อดำเนินคดี ตามมาตรา ๑๕๑ ของ พ.ร.ป. ส.ส. ๑. ไม่รับคำร้องของผู้ร้อง แต่รับความปรากฏแปลว่า กกต.รับเป็นเจ้าภาพเอง ๒.ดำเนินคดีอาญา ม.๑๕๑ คือหาก กกต.พบว่า พิธา สมัครโดยขาดคุณสมบัติ กกต. แจ้งความดำเนินคดีผ่าน ตำรวจ อัยการ ไปศาลอาญาได้เลย ไม่ต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ โทษจำคุก ๑-๑๐ ปี ปรับ ๒๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐บาท ตัดสิทธิทางการเมือง ๒๐ ปี ๓.การร้องคดีถือหุ้นสื่อยังร้องได้หลังมีการรับรอง ส.ส. แล้ว ตามมาตรา ๘๒ ของรัฐธรรมนูญ หรือ กกต.ร้องเองในฐานะความปรากฎ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิกถอน การเป็น ส.ส. และตัดการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้อีกรอบ ๔.สรุป หนักกว่าเดิม”

การสรุปว่าหนักกว่าเดิม ผู้เขียนไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ว่าจะหนักกว่าเดิม หรือไม่ แต่ถ้าพิจารณาในข้อกฎหมายก็จะพบว่า ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดบทบาทขององค์กรที่มีอำนาจในการวินิจฉัยเกี่ยวพรรคการเมืองและการได้มาซึ่งสมาชิกรัฐสภา(การเลือกตั้งสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการเลือกสำหรับสมาชิกวุฒิสภา) ดังนี้

๑. คณะกรรมการการเลือกตั้ง บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นมีบทบาทเป็นผู้บริหารจัดการการได้มา การพิจารณากำหนดกฎเกณฑ์ที่จำเป็นและการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นในทุกระดับ ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น โดยในเรื่องของการวินิจฉัยในเรื่องการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกหรือเลือกตั้งนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจพิจารณาชี้ขาดได้เองและเป็นที่สุดด้วยเมื่อผ่านพ้นการเลือกหรือการเลือกตั้งไปแล้วแต่ก่อนประกาศรับรองผลการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๕ และ คณะกรรมการการเลือกตั้งก็เคยใช้อำนาจนี้และวินิจฉัยรวมเรื่องการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกหรือเลือกตั้งว่าเป็นเรื่องที่เป็นการกระทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ ๖๒/๒๕๖๒ กรณีกรณีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดระยอง กรณีของนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ ๖๕๗๕/๒๕๖๒ รับรองหลักการดังกล่าวไว้

๒. ศาลยุติธรรม บทบาทของศาลปกครองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือเลือกในระดับต่างๆ ทั้งในระดับชาติ และท้องถิ่น สามารถแยกได้ดังนี้

๒.๑ ศาลฎีกา ในรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองขึ้นทำหน้าที่พิจารณาเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาที่เกี่ยวนักการเมืองในคดีที่เกี่ยวข้องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (มาตรา ๑๙๕) และมีศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งขึ้นทำหน้าที่เกี่ยวกับพิจารณาวินิจฉัยคำร้องของคณะกรรคณะกรรมการการเลือกตั้งในคดีเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการทำให้การเลือกหรือการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เพื่อพิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกหรือเลือกตั้งเป็นเวลาที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่เป็นกรณีก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งและหลังประกาศผลการเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยในเรื่องการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกหรือเลือกตั้งนั้นศาลฎีกามีอำนาจเด็ดขาดพิจารณาได้เฉพาะในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง (มักเรียกกันว่า การรับรองผล) (มาตรา ๒๒๖) ส่วนการพิจารณาการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกหรือเลือกตั้งภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งและผู้นั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาแล้วเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

๒.๒ ศาลอุทธรณ์ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ศาลอุทธรณ์ทำหน้าที่เช่นเดียวกับศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำวินิจฉัยคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ให้ถอนชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๕๖ และการพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งในคดีเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการทำให้การเลือกหรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เพื่อพิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกหรือเลือกตั้งเป็นเวลาที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการเลือกจั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น แต่เป็นกรณีก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งและหลังประกาศผลการเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยในเรื่องการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นนั้น ศาลอุทธรณ์มีอำนาจเด็ดขาดพิจารณาได้เฉพาะในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (มักเรียกกันว่า การรับรองผล) (มาตรา ๒๒๖) ส่วนการพิจารณาการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกหรือเลือกตั้งภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งและผู้นั้นเป็นสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาแล้วก็ยังเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์อยู่หาก คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอเรื่องการกระทำอันเป็นการทำให้การเลือกหรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม(รวมการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้าม)ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๑๐๗-มาตรา ๑๐๙

๒.๓ ศาลชั้นต้น แต่เดิมศาลชั้นต้นเคยมีบทบาทในฐานะศาลที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยกรณีการไม่มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๑ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ ส่วนการคัดค้านการเลือกตั้ง(ภายหลังเรียกการดำเนินการกรณีการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม)ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นแต่หลังจากมีรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ เรื่องนี้เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตามคดีอาญาอื่นๆ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องเริ่มพิจารณาโดยศาลชั้นต้น

๓. ศาลปกครอง ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ศาลปกครองมีบทบาทในการเลือกหรือเลือกตั้ง เว้นแต่การกระทำบางอย่างที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่อยู่ในเขตอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ หรือเป็นกรณีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๐ (กรณีการกระทำด้านธุรกรรมทางการเงิน ผลิตหรือเตรียมการผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่อาจใช้ในการจัดการเลือกตั้งโดยไม่มีอํานาจ ใช้เงินหรือทรัพย์สิน หรืออิทธิพลคุกคามเพื่อให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง หรือดําเนินการอื่นตามที่ คณะกรรมการกําหนดอันจะเป็นผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบ ด้วยกฎหมาย)ซึ่งเป็นอำนาจของศาลปกครองสูงสุดในการวินิจฉัยเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งมาตรา ๓๓

๔. ศาลรัฐธรรมนูญ โดยทั่วไปศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทในการรักษาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย การกระทำระดับสูงขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ และการพิจารณาวินิจฉัยในอำนาจหน้าทีระหว่างองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ศาลรัฐธรรมนูญของไทยจึงมีฐานะเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเฉพาะเรื่องไม่ใช้ศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป โดยในเรื่องของการขาดคุณสมบัติการมีลักษณะต้องของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาภายหลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งและผู้นั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐมนตรีแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒

ด้วยฐานะขององค์กรและศาลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกและการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบในประเด็นอำนาจหน้าที่และบทบาทตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในกรณีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งบอกว่ามีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไปว่านายพิธา เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามแต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา ๔๒(๓) และมาตรา ๑๕๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ และจะดำเนินการไต่สวนเพื่อดำเนินคดี

การดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๕๑ ต้องพิจารณาองค์ประกอบของการกระทำความผิดอาญามาตรานี้ ซึ่งบัญญัติดังนี้

“มาตรา ๑๕๑ ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย”

องค์ประกอบภายนอก

ผู้กระทำ คือ ผู้ใดซึ่งไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
๒) การกระทำ คือสมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ
๓) ผล เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมือง

องค์ประกอบภายใน

เจตนา (รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง)

เมื่อได้แยกองค์ประกอบทางอาญาดังกล่าวประกอบข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา ๘๒ จึงทำให้มีปัญหาว่า ศาลฎีกาจะวินิจฉัยได้อย่างไร เมื่อการวินิจฉัยองค์ประกอบส่วนผู้กระทำนั้น เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาเตะเผือกร้อนออกไม่รับคำร้องทั้ง ๓ คำร้อง ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ไม่สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๕ และมาตรา ๒๒๖ ได้ แต่จะดำเนินคดีอาญาตามปกติ คือต้องฟ้องผ่านตำรวจ พนักงานอัยการ และศาล(ศาลชั้นต้นด้วยไม่ใช่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง) จะใช้เวลานานเท่าไหร่ในการดำเนินคดีจนเสร้จสิ้นถึงศาลฎีกา นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมยังมีข้อจำกัดในเขตอำนาจ เพราะอำนาจในการวินิจฉัยการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของนายพิธา ซึ่งในตอนนั้น น่าจะได้รับการรับรองเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลชั้นต้นจะดำเนินคดีอย่างไร เพราะไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยในเรื่องที่เป็นสาระสำคัญแห่งคดีคือ การขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งศาลชั้นต้นอาจพิจารณาได้หลายทางซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีอาญาของ กกต.ทั้งสิ้น

หากศาลชั้นต้นพิจารณาว่า ไม่มีอำนาจรับเรื่องหรือยกฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาเพราะไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายพิธา ก็จะพ้นจากการดำเนินคดี ซึ่งพนักงานอัยการอาจอุทธรณ์หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร แต่หากศาลชั้นต้นรับไว้พิจารณา ก็จะเป็นข้อต่อสู้ของนายพิธา(เกิดแน่ๆ)ได้ในทุกชั้นศาล ว่าศาลยุติธรรมไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาก่อนในคดีอาญามาตรา ๑๕๑ นี้ ซึ่งหากคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ดำเนินการตามมาตรา ๘๒ คดีนี้น่าจะสิ้นสุดลงอย่างง่ายดายสบายนายพิธาที่ต้องวิตกกังวลมาเป็นเวลาพอสมควร

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ใช้อำนาจของตน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๓๒ นั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจโต้แย้งว่าไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา ๑๓๒ วรรคหนึ่ง (๒) ได้เพราะไม่อาจสั่งให้กระทบต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อรายอื่นของพรรคนั้นได้นั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งคงต้องไปพิจารณาว่า มาตรา ๑๓๒ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖ นั้นมีเนื้อหาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๕-๒๒๖ หรือไม่ ซึ่งหากไม่สอดคล้องหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็ต้องกลับไปพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา ๒๒๕-๒๒๖ เป็นหลักด้วย และมาตรฐานการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ ๖๒/๒๕๖๒ กรณีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดระยอง กรณีของนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ ๖๕๗๕/๒๕๖๒ รับรองหลักการดังกล่าวไว้ว่า การกระทำซึ่งทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมนั้นรวมถึงการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกหรือสมัครรับเลือกตั้งด้วย(ก่อนปี ๒๕๕๑ กรณีนี้เป็นเรื่องการคัดค้านการเลือกตั้ง)

การวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งแบบนี้ ก็คงต้องแสดงความยินดีกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และบรรดาผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลด้วยที่น่าจะรอดจากปัญหาเรื่องนี้ไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เพราะภายในพรรคน่าจะมีทนายความที่มีฝีมือเพียงพอที่จะแก้ปัญหานี้ได้นอกเสียจากว่าเมื่อเปิดสภาแล้วไปที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่ากว่าหนึ่งในสิบร้องขอประธานสภาผู้แทนราษฎรค่อยมากังวลในเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง

สรุปก็คือ เรื่องนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล น่าจะผ่านคดีมาตรา ๑๕๑ ไปได้สบายๆ ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ต้องกลับไปนั่งคิดหนักขึ้นว่า จะพ้นการฟ้องร้องของผู้ร้องทั้งหลาย ที่น่าจะร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๔๙ หรือไม่ และมีประเด็นฝากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ช่วยพิจารณาเรื่องการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งซึ่งมีผู้ร้องเรียนไปนานละว่า มีลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาวิชาชีพตามกฎหมายแห่งหนึ่งด้วย หากจะวินิจฉัยแบบนี้ ก็วินิจฉัยเรื่องดังกล่าวแบบเดียวกันด้วยจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

“สดศรี” ชี้จะรอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับชะตากรรม เหตุรู้แก่ใจ “ไอทีวี” ยังไม่จดเลิกกิจการ

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ว่านางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ กกต.มีมติรับพิจารณา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตามมาตรา 151 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากมีลักษณะต้องห้าม แต่ยังฝ่าฝืน ว่า กกต.จะดำเนินการตั้งเรื่องอะไรก็ได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย และอยู่ในกรอบการกระทำของนายพิธาด้วย ซึ่งตามมาตรา 151 ของกฎหมายเลือกตั้ง มีความชัดเจนระดับหนึ่งคือ มาตรา 151 ระบุว่าในกรณีที่ผู้ใดรู้ว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อ เรื่องนี้ปรากฏว่า นายพิธา ก็ยอมรับว่ามีหุ้นของไอทีวี แต่ได้มาโดยมรดก และยอมรับว่ายังไม่ได้สละมรดก

“แสดงว่าคุณพิธารู้แล้วว่ามีหุ้น ซึ่งมาตรา 151 ระบุเลยว่ารู้อยู่แล้วในที่นี้หมายถึง รู้อยู่แก่ใจว่าตัวเองมีหุ้นสื่อจริง และการมีหุ้นสื่อคุณพิธาก็ต้องรู้ไม่มีใครไม่รู้กฎหมาย จะปฏิเสธว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ ท่านก็รู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ จะไปพูดถึงว่าไอทีวีเลิกกิจการแล้วมันไม่ใช่ เพราะการเลิกกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจะต้องมีการจดทะเบียนเลิกการประกอบกิจการนั้นๆ ที่ให้ไว้กับสำนักงานทะเบียนของกระทรวงพาณิชย์ ดังนั้นไม่ว่าจะตั้งบริษัทและเลิกกิจการก็ต้องจดทะเบียนทั้งนั้นเพื่อให้ประชาชนได้ทราบ แต่ข้อเท็จจริงไม่มีระบุว่าไอทีวีได้จดทะเบียนเลิกการประกอบกิจการโทรทัศน์หรือไม่ และไอทีวียังมีการประชุมผู้ถือหุ้นอีก ลักษณะนี้แสดงว่า ยังมีกิจการสื่อมวลชน คือทีวีอยู่ แม้ความเป็นจริงไม่มี แต่การที่ไม่ได้จดทะเบียนเลิกการประกอบกิจการโทรทัศน์ ก็เป็นการผูกมัดไอทีวีว่าบริษัทแห่งนี้ยังทำกิจการอยู่เหมือนเดิม แม้ข้อเท็จจริงจะไม่มีแล้วก็ตาม การที่ไม่มีกิจการนี้จะต้องไปจดทะเบียนเลิก และแจ้งต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ว่าไม่มีการทำสื่อแล้ว แต่ข้อเท็จจริงก็ยังไม่มีการกล่าวถึง”นางสดศรี กล่าว

นางสดศรี กล่าวต่อว่า เรื่องนี้นายพิธารู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 98(3) ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นอกจากนั้นนายพิธา ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ยังทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองคือพรรคก้าวไกลเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่ออีก ซึ่งกฎหมายระบุว่าเฉพาะบัญชีรายชื่อ ผู้ที่จะเสนอคือกรรมการบริหารพรรค(กก.บห.)เท่านั้น ส่วนผู้สมัครแบบแบ่งเขต เป็นหน้าที่ของกรรมการในพรรคซึ่งแบ่งออกเป็นสองชุด คือชุดที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ เลือกคนเข้ามาแล้วส่งให้กับกรรมการชุดที่จะอนุมัติว่าควรจะส่งคนนั้นลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ และหากผู้สมัครที่ส่งไปนั้นขาดคุณสมบัติ กรรมการที่คัดมาต้องรับผิดชอบ ส่วนหัวหน้าพรรคมีหน้าที่เพียงเซ็นชื่อเท่านั้น ทำหน้าที่คล้ายๆนายไปรษณีย์ เพื่อส่งรายชื่อไปที่ กกต.เพราะฉะนั้นมาตรา 151 จึงระบุเฉพาะเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

นางสดศรี กล่าวด้วยว่า มาตรานี้เข้าหมดทุกอย่าง โทษแรงมาก มีบทลงโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และ ปรับตั้งแต่ 2หมื่นบาท-2แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 20 ปี สำคัญที่สุดคือโทษจำคุก และโทษปรับ กฎหมายไม่ได้ระบุให้ศาลรอการลงโทษได้ ศาลจะใช้ดุลพินิจให้รอการลงโทษไม่ได้ เพราะการรอการลงโทษของศาลต้องมีระบุไว้ในกฎหมายนั้นๆ เช่นไปลักทรัพย์เล็กๆน้อยๆ กฎหมายบอกทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งศาลก็จะใช้ดุลพินิจว่าเล็กๆน้อยๆ ก็ให้รอลงโทษไป 1-2ปี ก็แล้วแต่ศาล แต่มาตรา 151 เห็นได้ชัดว่าไม่ได้เขียนให้รอการลงโทษ ถ้าผิดก็ต้องจำคุกเลยและต้องถูกปรับด้วย เพราะกฎหมายใช้คำว่าและ ซึ่งการตีความกฎหมายต้องตีความอย่างเคร่งครัด

เมื่อถามว่า มองว่านายพิธาพลาดในเรื่องนี้หรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า มีกรณีตัวอย่างมาแล้ว คือหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แต่เขาไม่ได้ใช้มาตรา 151 แต่ใช้เรื่องอื่น ซึ่งไม่แรงเท่า และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ใช้มาตรา 151 ซึ่งเป็นมาตราที่ไม่ต้องพิสูจน์อะไรกันมาก กรณีถือหุ้นตามาตรา 98(3) ของรัฐธรรมนูญ ต้องใช้เวลานาน แต่มาตรา 151 ไม่ต้องใช้เวลานาน

ต่อข้อถามว่า ที่พูดมาเหมือนนายพิธาผิดแน่ นางสดศรี กล่าวว่า ตนพูดในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้พูดไปก้าวก่ายงานของกกต.หรือละเมิดอำนาจศาลเลย ไม่กล้าที่จะไปพาดพิงดุลพินิจของศาลและกกต. และศาลทุกศาลมีอำนาจเพิ่มเติมกฎหมายได้ ในมาตรา 151 ตนไม่สามารถยืนยันว่าศาลจะขยายความอะไร แต่ถ้าศาลขยายความผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะมองไปไกลได้ แต่เราต้องเคารพดุลพินิจของศาล และอย่าลืมว่าศาลทุกศาลถูกฟ้องได้ กกต.ก็ถูกฟ้องได้ว่ากระทำความผิดต่อหน้าที่ ซึ่งจะเห็นว่ากกต.ก็ติดคุกกันมาแล้ว

เมื่อถามว่า มองว่าเส้นทางของนายพิธาที่มีอุปสรรคมากจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ อดีตกกต. กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า นายพิธาเป็นคนหนุ่มที่เก่งคนหนึ่ง มีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกฯด้วยซ้ำไป อนาคตของท่านถ้าไม่ลงการเมืองก็อาจจะไปไกลกว่านี้ก็ได้ แต่ลงการเมืองในปีนี้ซึ่งเป็นการเมืองที่แข่งขันสูงมาก เป็นการแข่งขันที่เอาเป็นเอาตายกัน ดูว่าเป็นโอกาสขอนายพิธาหรือไม่ ก็ถือว่านายพิธาได้แสดงความสามารถจนพรรคก้าวไกลได้คะแนนถึง 14 ล้านเสียง

“ถือว่าคุณพิธาเป็นคนเก่งคนหนึ่งของประเทศไทย แต่ชะตาชีวิตของแต่ละคนจะขึ้นอยูกับชะตากรรม ซึ่งเราไม่สามารถจะลิขิตอะไรได้ เบื้องบนเท่านั้นที่จะเป็นผู้ลิขิต เบื้องบนในที่นี่คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้า แล้วแต่ความเชื่อถือของแต่ละศาลนา จะเป็นคนขีดชีวิตมนุษย์ว่าให้เดินทางไหน”นางสดศรี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สิ่งที่นายพิธาเผชิญอยู่ถือว่าเป็นชะตากรรมหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า ทุกคนมีกรรมของตัวเองทั้งนั้น และเมื่อถามว่า การที่กกต.มีมติอย่างนี้ มองว่าเป็นการชี้นำ ส.ว.ในการไม่โหวตนายพิธา เป็นนายกฯหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า อย่าไปพาดพิงถึงส.ว. เพราะในชั้นนี้เป็นชั้นของการเลือกตั้ง ส่วนการโหวตของส.ว.เป็นการโหวตจากผู้ใดเสนอตัวเป็นนายกฯ ซึ่งต้องแยกออกจากกัน สมมติศาลวินิจฉัยว่านายพิธาผิดมาตรา 151 นายพิธาก็ไม่สามารถเสนอตัวเป็นว่าที่นายกฯได้เลย เพราะขาดคุณสมบัติ และถ้าบุคคลใดถูกศาลพิพากษาจำคุก ถึงจะรอการลงโทษ ก็ขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรีหรือนายกฯ

'จตุพร' เทียบคดี ม.151 กรณี 'สิระ-พิธา' ชี้ อาจชวดนายก-รัฐประหารซ้ำ

PPTV รายงานว่านายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เผยว่า กรณีนายกรณีนายสิระ คือ ทุกศาลจะตัดสินก่อนว่ามีความผิดจริงหรือไม่อย่างไร และค่อยส่งไปศาลอาญาแต่ในกรณีนายพิธา เหมือนว่าจะโดนคดีอาญาก่อน ค่อยส่งไปศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตรงนี้ นายจตุพร คิดว่าคงเป็นขั้นตอนเฉพาะในแต่ละกรณี เป็นเรื่องของเทคนิคทางกฎหมาย อย่างของนายสิระ ตัดสินมาเลยว่าขาดคุณสมบัติ แต่ของนายพิธา ยังไม่ได้ตัดสิน ก็อาจจะต้องยุติหน้าที่ไป ก่อนเพื่อรอศาลวินิจฉัย 

นายจตุพร มองว่านายพิธา อาจได้โอกาสมากกว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลตัดสิทธิ์ทางการเมืองไป กกต.อาจรับรองนายพิธาเป็นส.ส.ไปก่อน แล้วไปสอยเอาที่หลัง คือ อาจจะไปถึงวันที่ได้เลือกประธานสภา แต่ยังไง นายพิธาไม่น่าจะอยู่ไปถึงวันเลือกนายกฯ ก็อาจจะถูกหยุดปฎิบัติหน้าที่ไปก่อน หรือลงโทษทางอาญาไปเลย เพราะจริงกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสิน ก็ต้องใช้เวลา

นายจตุพร ยังระบุว่า ยากมากที่นายพิธาจะได้เป็นนายก เพราะลำพังต้องรวมเสียงให้ได้ 376 ก็ยากอยู่แล้ว ยังมาโดน กกต.ฟ้องเองอีก เลยแทบจะไม่มีโอกาสเป็นนายกเลย ดีไม่ดี ยังไม่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐประหารอีกครั้งด้วย

นายจตุพร ยังระบุว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี อาจจะลาออกก็ได้ เพราะผิดในเรื่องเลื่อนพ.ร.ก.อุ้มหาย บวกกับเจอแรงกดดันจากการลงถนนของประชาชน หากศาลวินิจฉัยว่านายพิธาผิดเรื่อง ม.151

แต่ถ้าไม่รัฐประหาร ก็จะได้พลเอกประยุทธ์รักษาการนี่แหละ อีกสัก 1 ปี หรือไม่ก็อาจได้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายก เพราะยังไงถ้านายพิธาโดนตัดสินผิด ส.ว.ก็ต้องเลือกฝั่ง 188 เสียง ตรงข้ามนายพิธา แน่นอนอยู่แล้ว และถ้าพรรคเพื่อไทย ย้ายมาจับมือกับอีกขั้วนึง ตรงข้ามพรรคร่วมรัฐบาลของนายพิธา เพื่อไทยก็ไม่ได้ที่นั่งนายกหรอก แต่เป็นพลเอกประวิตรที่จะได้ไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net