Skip to main content
sharethis

คนนครฯ-เอ็นจีโอ แนะรัฐชะลอเขื่อนวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หวั่นกระทบที่ทำมาหากินของประชาชนในพื้นที่ ชี้ความต้องการใช้น้ำจำนวนมาก ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งน้ำประปาให้ประชาชนในเมืองทุ่งสง และเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ระบุนครศรีธรรมราชมีโครงการเขื่อนหลายโครงการ เพื่อสนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง

 

ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) ได้สัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และนักพัฒนาเอกชน ต่อกรณีการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์หรือเฟซบุ๊ก คัดค้านโครงการเขื่อนวังหีบ ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช หลังจากหน่วยงานรัฐได้เดินหน้าโครงการเขื่อนวังหีบ โดยสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 15 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตชด. และทหาร จำนวนหลายสิบคน ได้ขนหลักหมุดคอนกรีตเขตชลประทานเข้ามาในชุมชนวังหีบ เพื่อปักหมุดแนวเขตโครงการและสำรวจผลอาสินของชาวบ้าน และขาวบ้านวังหีบได้คัดค้านและเฝ้าระวังทางเข้าชุมชนตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

เงาศิลป์ คงแก้ว เกษตรกร ต.ช้างกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่เป้าหมายโครงการเขื่อนวังหีบประมาณ 20 กิโลเมตร กล่าวว่าโครงการเขื่อนวังหีบเชื่อมโยงกับนิคมอุตสาหกรรมยางพารา เนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ ในพื้นที่ ต.นาบอน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำจำนวนมาก ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งน้ำประปาให้ประชาชนในเมืองทุ่งสง และเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากที่นี่ไม่ได้ขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้จังหวัดนครศรีธรรมราชมีโครงการเขื่อนหลายโครงการ เพื่อสนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง

“เขื่อนวังหีบเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แต่มันผ่านมา 30 ปีแล้ว คนที่ถวายฎีกาขอก็ได้ตายไปแล้ว เขื่อนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม พระองค์ท่านคงไม่ได้ยินดีปรีดา ควรทบทวนใหม่ พิจารณาตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าใช้ตราประทับโครงการราชดำริมาปิดปากชาวบ้าน ไม่ใช่อ้างพระองค์ท่านเพื่อมากดชาวบ้าน ถามว่ารัฐบาลรักษาการเร่งให้เจ้าหน้าที่ทำงานในเวลานี้มันหมายถึงอะไร หมายความว่าทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดเขื่อนขึ้นมาให้ได้ ไม่แน่ว่ารัฐบาลใหม่อาจพิจารณายุติโครงการก็ได้ เขาพยายามสร้างภาระผูกพัน โดยที่รัฐบาลใหม่ไม่สามารถยกเลิกโครงการ ข่าวออกว่าช่วงนี้ท่านรองนายกฯ กำลังเร่งนโยบายการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ ไม่นานวังหีบก็ถูกรุกโดยเจ้าหน้าที่เป็นร้อยคน พอถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่มาในพื้นที่ว่ามาโดยคำสั่งของใคร เธอบอกว่าส่วนกลาง” เงาศิลป์ กล่าว 

เงาศิลป์ กล่าวอีกว่า ป่าวังหีบสมบูรณ์ สวยงาม เป็นได้ทั้งที่ทำมาหากินของชาวบ้านที่อยู่กันแบบพอเพียง เป็นโรงเรียนธรรมชาติให้เด็กให้คนข้างนอกมาเรียนรู้ มาเที่ยวมาชื่นชม มาพักผ่อน เป็นสวนสนุกของทุกคน มีลำธารยาวนับ 10 กิโลเมตร หรือจะเป็นวัดก็ได้ มันสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับชีวิตคนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยไม่ต้องใช้เงินก่อสร้าง คนที่คัดค้านเขื่อนวังหีบไม่ได้มีแต่ชาวบ้านในพื้นที่ คนในทุ่งสงคนในประเทศจำนวนมากก็ไม่ได้อยากให้สร้างเขื่อน แต่รัฐไม่เปิดพื้นที่ให้คนภายนอกได้ร่วมตัดสินใจ การมีส่วนร่วมเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกระดับ ใช้หัวใจในการทำงาน ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่เหมือนที่ผ่านมา

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า กรมชลประทานพยายามเดินหน้าโครงการเขื่อนวังหีบมาหลายปี ช่วงที่ผ่านมาชาวบ้านวังหีบได้มีการยื่นหนังสือให้ทบทวนโครงการ แต่กรมชลประทานอาจไม่ได้นำข้อเสนอของเขาไปพิจารณา มีคำถามใหญ่ๆ ว่าเขื่อนสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ ทางกรมชลประทานควรทบทวนวิธีคิดในการบริหารจัดการน้ำ ต้องศึกษาบริบทว่าการสร้างเขื่อนวังหีบมีผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน เริ่มต้นใหม่ด้วยการศึกษาหาข้อเท็จจริงอย่างมีส่วนร่วม ถ้ายังดึงดันผลักดันโครงการนี้ต่อจะเกิดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่มากขึ้น นอกจากนี้เมื่อย้อนไปดูโครงการนิคมอุตสาหกรรมในภาคใต้หลายโครงการ มีการจัดหาแหล่งน้ำโดยสร้างเขื่อนเป็นโครงการย่อย แต่อ้างว่าสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง  

“รัฐบาลประยุทธ์ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ฟังเสียงประชาชนน้อย ทำให้มีการเคลื่อนไหวประเด็นปัญหาของชาวบ้านจำนวนมาก เรื่องเขื่อน โรงไฟฟ้า โครงการขนาดใหญ่ รัฐบาลใหม่ไม่ควรเดินซ้ำรอย สิ่งที่ต้องจับตาคือหน่วยงานรัฐจะเอาอย่างไรต่อ ล่าสุดได้ข่าวว่าองคมนตรีได้ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อติดตามโครงการอันเนื่องมาจากราชดำริในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เท่าที่ทราบหลังจากนี้จะมีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่กันใหม่โดยเพิ่มกำลังมากขึ้น เพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จ ควรพูดคุยให้ข้อมูลชาวบ้านมากกว่านี้ มิฉะนั้นความขัดแย้งจะเพิ่มขึ้น หน่วยงานราชการควรสร้างการมีส่วนร่วมโดยใช้งานวิชาการ ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่าพยายามแทรกซึมกลุ่มชาวบ้านเพื่อให้สนับสนุนโครงการ ทำให้เกิดความขัดแย้งความแตกแยกในชุมชนมากขึ้น พี่น้องในพื้นที่ไม่ควรไปอยู่ในเกมที่สร้างความแตกแยก” สมบูรณ์ กล่าว

สมบูรณ์ กล่าวถึงโอกาสในทางการเมือง ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีการตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม หากมีการจัดทำข้อมูลผลกระทบและข้อเสนอกรณีนี้ อาจทำให้รัฐบาลใหม่ได้ทราบปัญหาและทบทวนโครงการ นอกจากนี้อาจพูดถึงภาพรวมเขื่อนในภาคใต้ เขื่อนในประเทศไทย ทบทวนในภาพรวมถึงสูตรสำเร็จที่ว่าเขื่อนจัดการได้ทุกเรื่อง รัฐบาลใหม่ควรใช้วิธีการใหม่ ๆ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ บทพิสูจน์ที่จะยืนยันได้ว่าการเมืองรูปแบบใหม่เป็นทางออกให้สังคมได้อย่างไร พรรคก้าวไกลที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลน่าจะเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูล นำไปกำหนดนโยบายรัฐบาลที่ชัดเจนขึ้น ก่อนจัดตั้งรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเขื่อน-อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช จากหนังสือ “อุบัติเมืองมลพิษที่แผ่นดินใต้ ภาคใต้จะเป็นเมืองผลิตอาหาร หรือฐานมลพิษ” ระบุว่าจังหวัดนครศรีธรรมราชมีโครงการสร้างเขื่อน-อ่างเก็บน้ำ ตามคำสั่ง จ.นครศรีธรรมราช โดยกรมชลประทานเป็นเจ้าของโครงการ จำนวน 9 โครงการ ได้แก่ โครงการเขื่อนวังหีบ (อันเนื่องมาจากพระราชดำริ) โครงการเขื่อนคลองสังข์ (อันเนื่องมาจากพระราชดำริ) โครงการเขื่อนโคกยาง โครงการเขื่อนถ้ำพระ 1 โครงการเขื่อนถ้ำพระ 2 โครงการเขื่อนลาไม โครงการเขื่อนท่าทน โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชแม่น้ำไชยมนตรี (คลองผันน้ำเมืองนคร) สายที่ 1-3

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net