Skip to main content
sharethis

'พลายศักดิ์สุรินทร์' ถึงสถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง แล้วหลังเดินทางกลับจากศรีลังกา ไม่มีอาการหงุดหงิด เหนื่อยล้า หรืออ่อนเพลียจากการเดินทางเกือบ 10 ชั่วโมง พร้อมให้ทีมแพทย์ตรวจสุขภาพก่อนเข้าพื้นที่กักกันโรค

2 ก.ค. 2566 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อช่วงเย็นว่านายจตุพร บุรษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เดินทางไปยังสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เพื่อติดตามการเคลื่อนย้ายช้างไทย “พลายศักดิ์สุรินทร์” เข้ากระบวนการกักกันโรคก่อน 30 วัน อยู่ในบริเวณเฝ้าระวังโรคช้าง โดยวินาทีแรกได้ค่อยๆถอยหลังออกจากกรงพร้อมก้าวเท้าขวาหลังเหยียบแผ่นดินไทยเป็นครั้งแรก หลังจากประเทศไทยไปนานกว่า 22 ปี ภาพรวมพลายศักดิ์สุรินทร์ส่งเสียงร้องตามปกติเพื่อขออาหาร ไม่มีอาการหงุดหงิด เชื่อง ไม่ตื่นตระหนก และไม่มีอาการเหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลียจากการเดินทางเกือบ 10 ชั่วโมงเลย ถือว่าเป็นช้างที่มีความแข็งแรงอย่างมากในวัย 30 ปี โดยสิ่งที่โดดเด่นเห็นชัดเจนคืองาช้างที่โค้งยาวสวยงาม หรือเรียกว่า "งาอุ้มบาตร" มีความยาวของงา 50 เซนติเมตรเท่ากันทั้ง 2 ข้าง จากนั้นควาญช้างและเจ้าหน้าที่ได้พาเดินเล่นเพื่อผ่อนคลายโดยรอบพื้นที่ที่จัดไว้ให้บริเวณคอกยืนที่ทำขึ้นใหม่ เพื่อเตรียมไว้ใช้รักษาอาการบาดเจ็บของพลายศักดิ์สุรินทร์ หลังจากพ้นเวลากักกันโรคและสังเกตุพฤติกรรมการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้หรือไม่ พร้อมให้ช้างกินอาหารและตรวจสุขภาพ

สำหรับจุดกักกันโรคช้างเจ้าหน้าที่ได้นำป้ายห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาตมาติดตั้ง 2 จุด ตั้งแต่บริเวณปากทางเข้าอาคารสำนักงานและทางเข้าพื้นที่ดูแลช้างระหว่างกักโรค 30 วัน ตามระเบียบการควบคุมโรคระบาดสัตว์ กรมปศุสัตว์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อในช้าง 5 โรค ขณะเดียวกันได้ทำคอกสำหรับรักษาช้าง หลักผูกมัดไว้นอนกลางคืน-กลางวัน และที่อาบน้ำ โดยจะไม่มีโรงเรือนที่มีหลังคาเนื่องจากสภาพพื้นที่ค่อนข้างร่มรื่นมีต้นไม้ขนาดใหญ่ในจุดกักกันโรค ส่วนควาญช้างชาวศรีลังกาจะอยู่กับช้างในระยะเวลาหนึ่งไปก่อน ทั้งนี้ ยังได้ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) รวม 6 ตัวโดยรอบโรงเรือนเพื่อถ่ายทอดภาพและไลฟ์ผ่านทางแฟนเพจ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง ด้านบริเวณโรงพยาบาลช้างภายในสถาบันคชบาลฯ ได้ปรับไถพื้นที่เตรียมโรงเรือนและคอกยืนสำหรับรองรับพลายศักดิ์สุรินทร์เมื่อพ้นระยะกักโรค พื้นที่กว้างประมาณ 8.12 เมตร และมีบ่อน้ำสำหรับให้ลงเล่นน้ำ

ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า ได้มีการเคลื่อนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์จากสวนสัตว์ Dehiwala ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติบันดารานายาเก กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ใช้เวลาเคลื่อนย้ายประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง โดยช้างถูกขนส่งโดยเครื่องบินขนส่งแบบ Ilyushin IL-76 (อิลยูชิน อิล-76) ออกเดินทางเมื่อเวลา  07.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของศรีลังกา

ต่อมาเมื่อเวลา 14.03 น. เครื่องบินแบบ Ilyushin IL-76 ซึ่งนำพลายศักดิ์สุรินทร์ บินเข้าสู่สนามบินเชียงใหม่ ประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ

โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รอต้อนรับ

สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ เครื่องบินขนส่งรัสเซียใช้เวลาทำการบินประมาณ 5 ชั่วโมง ซึ่งต้องใช้เพดานบินและความเร็วต่ำ โดยพลายศักดิ์สุรินทร์จะอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของควาญช้างนายทรชัยสิทธิ์ ศิริ นายศุภชัย บุญเกิด นายไกรสร เครือจันทร์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากสถาบันคชบาลแห่งชาติฯ รวมจำนวน 3 คน และ Mr. Don Upul Jayarathna Denelpitiyage หัวหน้าชุดควาญศรีลังกา จากสวนสัตว์ Dehiwala จำนวน 1 คน ที่ช่วยปฏิบัติหน้าที่ในการร่วมเดินทางดูแลช้างบนเครื่องบินขนส่ง

พลายศักดิ์สุรินทร์ เป็น 1 ในช้าง 3 เชือก ที่รัฐบาลไทยส่งมอบให้รัฐบาลศรีลังกาเมื่อปี 2544 พลายศักดิ์สุรินทร์ ถูกนำไปดูแลโดยวัด Kande Vihara และถูกนำไปใช้ในพิธีเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ในงานแห่พระธาตุประจำปีของศรีลังกา ปัจจุบันมีอายุประมาณ 30 ปี เวลากว่า 22 ปี พลายศักดิ์สุรินทร์ใช้ชีวิตอยู่ในศรีลังกามาโดยตลอด กระทั่งล่าสุดได้เดินทางกลับถึงประเทศไทย ซึ่งการเคลื่อนย้ายช้างครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในการขนย้ายสิ่งมีชีวิต ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยบินมา

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net