Skip to main content
sharethis

ผู้อำนวยการประจำประเทศกัมพูชาขององค์กรต่อต้านการค้ามนุษย์องค์กรใหญ่ในสหรัฐฯ ได้รับข้อเสนอแนะไม่ให้กลับไปยังประเทศกัมพูชา หลังจากที่เขาเคยพูดต่อหน้าสาธารณะว่าเขาต่อต้านการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมต้มตุ๋นออนไลน์ซึ่งกำลังบูมในกัมพูชา

อินเตอร์เนชันแนลจัสติสมิสชั่น (IJM) องค์กรต่อต้านการค้ามนุษย์ที่มีฐานในสหรัฐฯ ประกาศให้ เจคอบ ซิมส์ ผู้อำนวยการประจำประเทศกัมพูชาอย่ากลับไปยังกัมพูชาเพราะ "มีคำเตือนที่น่าเชื่อถือได้เกี่ยวกับภัยคุกคามหลายรูปแบบที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้น" กับเขา

IJM บอกเรื่องนี้กับสื่อเมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ในขณะที่คำเตือนดังกล่าวมีการเตือนมาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว (2565) หลังจากที่ ซิมส์ ได้ปรากฏตัวในสารคดีช่องอัลจาซีราที่ชื่อ "ถูกบังคับให้ทำงานต้มตุ๋น : ทาสไซเบอร์ในกัมพูชา" (Forced to Scam: Cambodia's Cyber Slaves.) โดยที่ซิมส์วิพากษ์กัมพูชาในเรื่องนี้อย่างหนัก และในตัวสารคดีเองยังเน้นย้ำว่าอุตสาหกรรมทาสสแกมเมอร์ในกัมพูชามีสเกลใหญ่ขนาดไหน

องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศหรือ INTERPOL เพิ่งจะเตือนเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาว่าการค้าทาสหลอกลวงต้มตุ๋นในกัมพูชากำลังแพร่ขยายออกมาจนกลายเป็น "วิกฤตการค้ามนุษย์ในระดับโลก"

ซิมส์กล่าวในสัมภาษณ์ของสื่อนิคเคอิเอเซียนรีวิวว่าเขาเดินทางออกจากกัมพูชาเพื่อทำธุระก่อนหน้าที่สารคดีจะออกเผยแพร่ในวันที่ 14 ก.ค. 2565 เขาพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในกัมพูชาเอาไว้ในสารคดีว่า "มีประชาชนในกัมพูชาหลายพันคนที่ถูกบังคับให้ทำงานในสถานประกอบการต้มตุ๋น ... มีรายงานว่ามีคนถูกทุบตีทำร้าย พวกเขาถูกบอกว่าถ้าพวกเขาแจ้งตำรวจ พวกเขาจะถูกทุบตี พวกเขาถูกขู่ว่าจะขายต่อให้กับที่ๆ ดูเหมือนจะเป็นแหล่งค้ามนุษย์เป็นเงินหลายพันดอลลาร์เพื่อที่จะให้พวกเขายอมทำการสแกมเมอร์ต้มตุ๋น"

IJM ประกาศเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะตั้งคนอื่นแทนซิมส์เป็นผู้อำนวยการ IJM ประจำประเทศกัมพูชา ทาง IJM ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าใครเป็นคนข่มขู่คุกคามซิมส์ แต่ก็ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลกัมพูชาจะมีส่วนในการดักจับกุมซิมส์ถ้าหากเขาเดินทางกลับกัมพูชา

อังเดรย์ ซอว์เชงโก รองประธานภูมิภาคของ IJM แถลงว่า ในช่วงเดือน ก.ค. ปี 2565 ทาง IJM กัมพูชาได้รับทราบจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือเตือนว่าอาจจะมีภัยคุกคามต่อคณะทำงานของ IJM โดยเฉพาะกับ เจคอบ ซิมส์ ซึ่งทาง IJM ไม่ไว้วางใจที่จะให้เจคอบกลับไปที่กัมพูชา

ซิมส์บอกว่าความเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัยนั้นมาจากการตัดสินใจของ IJM ในฐานะองค์กร ไม่ใช่มาจากการตัดสินใจของเขาเอง โดยที่ซิมส์ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมมากกว่านี้

ซอว์เชงโกกล่าวอีกว่า IJM มี "ประวัติศาสตร์ความสำเร็จ 20 ปี ในการร่วมมือขจัดการค้ามนุษย์" กับรัฐบาลกัมพูชา โดยมีการทำงานร่วมกับกระทรวงกิจการภายในของกัมพูชาที่กำกับงานตำรวจ และกระทรวงกิจการสังคม ทหารผ่านศึก และการบำบัดฟื้นฟูเยาวชน (MOSVY)

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในภูมิภาคที่รับรู้เรื่องภัยคุกคามต่อซิมส์บอกว่าทางการกัมพูชาไม่ได้ตอบกลับข้อเรียกร้องของ IJM ในการการันตีให้เขากลับประเทศอย่างปลอดภัย ผู้เชี่ยวชาญรายนี้บอกว่า "รัฐบาลที่ทำการคุกคามต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเช่นนี้ ไม่มีความจริงใจเกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์"

ทางด้านทางการกัมพูชาพูดถึงเรื่องนี้ต่างออกไป Touch Channy โฆษกของ MOSVY กล่าวว่า ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกัมพูชากับ IJM นั้น ไม่ได้มีการระบุให้กระทรวงของพวกเขามีหน้าที่ในการคุ้มครองคณะทำงานเอ็นจีโอแต่อย่างใด

Phay Siphan โฆษกรัฐบาลกัมพูชา และ Chou Bun Eng รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการภายใน ปฏิเสธว่าซิมส์ไม่ได้เผชิญกับภัยคุกคามใดๆ จากรัฐบาลหรือจากญาติๆ ของฮุน เซน ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีอำนาจนิยมในกัมพูชามามากกว่า 38 ปี

อย่างไรก็ตามกลุ่มคนที่ต่อต้านการค้ามนุษยฺในกัมพูชาเผชิญกับการปราบปรามจากรัฐบาลกัมพูชามาโดยตลอดในช่วงปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าธุรกิจผิดกฎหมายยังคงเฟื่องฟูต่อไปในกัมพูชา

ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา รายงานเรื่องการค้ามนุษย์ประจำปี 2566 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่ากัมพูชาไม่สามารถป้องกันการค้ามนุษย์ได้ในระดับ "มาตรฐานขั้นต่ำ" และ "ไม่ได้มีความพยายามใดๆ" ที่จะแก้ปัญหานี้

เคยมีกรณีที่คนช่วยเหยื่อค้ามนุษย์แต่กลับถูกจับกุมคุมขังในกัมพูชา คือกรณีของ Chen Baorong นักธุรกิจชาวจีนในกัมพูชาผู้ที่นำทีมช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์กับผู้ช่วยของเขาเผชิญโทษจำคุก 10 เดือน เพราะพวกเขาช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์จากการถูกจับไปบังคับถ่ายเลือดในสถานดำเนินการที่เรียกว่า "Kaibo" ในสีหนุวิลล์ ซึ่งตำรวจกัมพูชาอ้างว่า Chen กุเรื่องขึ้นมาเอง

กรณีบังคับถ่ายเลือดนี้มีการนำเสนอในสื่อวอยซ์ออฟเดโมเครซี (VOD) ภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นสื่อที่ทำการเปิดโปงอุตสาหกรรมสแกมต้มตุ๋นและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลฮุน เซน ที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหานี้ แต่ฮุน เซน ก็สั่งปิด VOD และในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา VOD ยังเคยเผยแพร่บทความเกี่ยวกับฮุน มาเนต ลูกชายของฮุน เซน ซึ่งฮุน เซน โต้แย้งว่าไม่เป็นความจริงด้วย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลกัมพูชาก็ได้รับการชื่นชมในทางบวกอยู่บ้าง จากการที่พวกเขาอ้างว่าได้ทำการปราบปรามอุตหสากรรมสแกมในปี 2565 ผู้ที่ชื่นชมในเรื่องนี้คือองค์กรเฝ้าระวังที่ชื่อ ไฟแนนเชียลแอกชั่นแทส์กฟอร์ซ ได้นำกัมพูชาออกจาก "บัญชีเทา" เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ระบุว่าทางกัมพูชามีความคืบหน้าในเรื่องการปราบปรามการฟอกเงิน

อย่างไรก็ตามยังมีรายงานออกมาเรื่อยๆ ว่าในกัมพูชามีแหล่งปฏิบัติการต้มตุ๋นซึ่งดูเหมือนว่าจะปฏิบัติการกันในสีหนุวิลล์และพื้นที่อื่นๆ จากการที่เจ้าของอาคารในพื่นที่เหล่านั้นมีสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลและสามารถหลบเลี่ยงการถูกปราบปรามได้

รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามเสริมความสัมพันธ์กับ IJM และรัฐบาลกัมพูชา ในประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์ตั้งแต่ราวเดือน ส.ค. 2565 ในฐานะโครงการกัมพูชาต่อต้านการค้ามนุษย์ในบุคคล (CITP) ซึ่งในโครงการนี้ที่มีทั้ง IJM ที่เป็นผู้ดูแลและต้องประสานความร่วมมือกับรัฐบาลกัมพูชา โดยที่ไม่ได้มีการพูดถึงกรณีซิมส์แต่อย่างใด ทางโฆษกจากสถานทูตสหรัฐฯ อธิบายว่าพวกเขาได้เรียกร้องให้ทางการกัมพูชาทำให้แน่ใจว่าภาคประชาสังคมจะปฏิบัติงานได้อย่างอิสระในการส่งเสริมการพัฒนาของกัมพูชา


 

เรียบเรียงจาก

Threats force anti-trafficking NGO director out of Cambodia, Nikkei Asia, 24-06-2023

Trafficking Victim Alleges His Blood Was Harvested in Sihanoukville, VOD, 17-02-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net