Skip to main content
sharethis

กลุ่มพลเมืองโต้กลับประกาศพัก "ยืนหยุดขัง" 100 วัน แต่จะกลับอีกมาถ้ามีรัฐบาลใหม่แล้วสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองไม่คืบหน้า วงเสวนาชี้การยืนหยุดขังเป็นส่วนหนึ่งของการประจานกระบวนการยุติธรรมไทย

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมวันสุดท้ายของ "ยืนหยุดขัง" ท่ามกลางสายฝน

5 ก.ค.2566 ที่หน้าศาลฎีกา กลุ่มนักกิจกรรมที่ร่วมกันทำกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” เรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองรวมตัวกันจัด “365 วัน ยืนหยุดขัง” หลังจากทำกิจกรรมต่อเนื่องทุกวันมาครบ 1 ปี โดยในงานมีการเสวนาเล่าประสบการณ์ของผู้เข้าร่วม เล่นดนตรี และวงกินลาบส้มตำ โดยกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายก่อนหยุดพักเป็นเวลา 100 วัน

กิจกรรมยืนหยุดขังรอบนี้เป็นรอบที่สามที่มีการยืนต่อเนื่องมาเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยมีการทำกิจกรรมลักษณะนี้มาก่อนแล้วในช่วงที่มีผู้ต้องขังทางการเมืองจากการออกมาชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกในพื้นที่ออนไลน์

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กล่าวถึงตอนที่ตัวองโดนคดีว่าพอรู้ว่าโดนคดีก็ใจเสียเหมือนกันแม้ว่าจะเตรียมใจรับแล้ว ก็ยังเศร้าและเครียดเมื่อรู้ว่าจะไม่ได้ประกัน และเธอรู้สึกว่าละเมิดสิทธิตั้งแต่ตอนตรวจร่างกายเข้าเรือนจำ เพราะต้องเปลือยให้ผู้คุมตรวจทั้งที่มีเครื่องตรวจแบบในสนามบินอยู่แล้ว เหมือนเป็นการตอกย้ำตั้งแต่ตอนอยู่หน้าคุกว่ากำลังจะเจอสิ่งเลวร้ายมากกว่านี้ และยังมีปัญหาว่าไม่มีน้ำสะอาดไว้ดื่มและใช้ด้วย

เธอบอกว่าตอนที่อยู่ในเรือนจำก็รู้สึกว่าการได้รู้ว่ายังมีคนข้างนอกสู้อยู่ก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะถ้าข้างนอกไม่สู้แล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำสิ่งที่ทำอยู่ต่อไปทำไม ซึ่งก็ได้ทนายความที่เข้าไปเยี่ยมช่วยเล่าและเอาภาพของคนที่ยังออกมาทำกิจกรรมยืนหยุดขังไปให้ดู ซึ่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตามก็ยังมีค่าเสมอและยังส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้มีอำนาจเสมอ จึงอยากขอขอบคุณทุกคนที่ออกมาทำกิจกรรมกันในที่นี้

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ กล่าวว่า เขาเองโดนคดีมาหลายครั้งแต่ครั้งหลังๆ ก็รู้สึกเซงแล้วแต่ครั้งแรกก็แปลกใจว่าทำไมทำแค่นี้ก็โดนจับแล้วก็ยังไม่เข้าใจว่าประเทศนี้กระบวนการยุติธรรมไทยเป็นแบบนี้ เพราะก็ตั้งคำถามมาตลอดเพราะเรียนนิติศาสตร์มาทั้งที่คดีการเมืองไม่ควรเป็นคดีตั้งแต่แรก

จตุภัทร์บอกว่าสิ่งที่พลเมืองโต้กลับทำเป็นเรื่องดีที่ยืนระยะมาได้ตลอดเป็นขบวนการตามธรรมชาติที่เข้ามาเสริมขบวนการเคลื่อนไหวกันตลอดเมื่อมีใครถูกจับถูกดำเนินคดีไปและในช่วงกระแสสูงก็ทำให้ฝ่ายเผด็จการไม่สามารถขังนักกิจกรรมได้จึงมีความสำคัญอย่างมากและก็เป็นพลังให้พวกเขาออกมาสู้ต่อไปเพราะราคาที่ต้องจ่ายไปเพื่อให้ต่อสู้ไปถึงเป้าหมายตามที่เราฝันกันเอาไว้ก็ต้องจ่ายไปมาก

“ถึงจะไม่ได้เข้าไปอยู่เคียงกันในห้องขัง แต่อยู่ข้างนอกก็มีคนที่ยืนหยัดอยู่ตรงนี้ แล้วก็ชื่นชมตรงที่ว่ามายืนกันที่นี่ หรือพลเมืองโต้กลับมายืนมาตลอดเพราะเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองเข้าใจสถานการณ์ทางสังคม การเลือกยืนตรงนี้(ศาลฎีกา) มันบงชี้ว่าอำนาจจริงๆ มันคืออะไร ก็อยู่ข้างหลังเรานี่ไง มันทำให้เห็นว่าการต่อสู้มันต้องอดทนนะ ฝนตกเราก็ยังนั่งกันอยู่ คนเยอะคนน้อยที่นี่เขาไม่ย่อท้อเลย มันเป็นสัจธรรมของการต่อสู้จริงๆ แล้วก็ยืนหยัดมาโดยตลอด ไม่ว่าคนข้างใน(เรือนจำ) จะเป็นใครมีชื่อไม่มีชื่อเสียงก็ยืนหยัดอยู่ที่นี่ตลอด” จตุภัทร์กล่าวด้วยความชื่นชมต่อการทำกิจกรรมยืนหยุดขัง

ธัชพงศ์ แกดำ อดีตผู้ต้องขังทางการเมือง กล่าวว่าตอนที่ตัวเองไม่ได้ประกันก็เตรียมใจมาแล้ว แต่วันที่เข้าไปก็มีการฉุดกระชากไปด้วย คฝ.ลากไปจากใต้ถุนศาลด้วยความรุนแรงทำให้รู้สึกเจ็บใจและรู้สึกว่าไม่มีความเป็นธรรม แม้ว่าจะรู้อยู่แล้วว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมันไม่เป็นธรรมอยู่แล้ว แต่วันนั้นก็รู้สึกเจ็บแค้นมาก

ธัชพงศ์เห็นว่าคดีการเมืองไม่ควรเป็นคดีตั้งแต่แรกแล้วทำให้ครอบครัวต้องมีปัญหา แล้ววันที่เขาต้องเข้าเรือนจำไปก็เป็นวันที่เขาติดโควิดลงปอดแล้วกระบวนการรักษาโรคในเรือนจำเป็นปัญหาที่ไม่ว่านักโทษคนไหนควรจะต้องมาเจอ ถ้าโรคไม่ลงปอดหรือใกล้ตายจริงๆ ก็ไม่ได้ถูกส่งไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์

“การรักษาพยาบาลนักโทษในเรือนจำคุณทำกับเขาเหมือนคนที่คุณพร้อมจะให้เขาตายได้ทุกเมื่อ” บอยยังบอกอีกว่าในช่วงเวลานั้นทางราชทัณฑ์เองก็ยังทำเหมือนกับว่ามีเรื่องที่กำลังปกปิดอยู่อีกหลายเรื่องด้วย เช่นมีคนตายแล้วข่าวไม่ออก ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ เขาคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครควรจะต้องมาโดนกระทำแบบนี้ไม่ว่าจะคดีร้ายแรงแค่ไหนแม้ว่าจะไปฆ่าคนตายมาเมื่อพวกเขาเข้าเรือนจำก็ควรได้รับสิทธิการรักษาเหมือนคนทั่วไป

ธัชพงศ์กล่าวว่ากิจกรรมยืนหยุดขังเป็นเหมือนลมหายใจของคนที่อยู่ในเรือนจำ เวลาที่พวกเขาติดคุกสิ่งที่กังวลที่สุดคือคนที่อยู่ข้างนอกจะเสียขวัญและกำลังใจจนหยุดสู้ ทำให้ทุกครั้งที่ได้ยินคนข้างนอกยังสู้อยู่ ยืนหยุดขังไม่ใช่การกดดันแต่เป็นการจัดกิจกรรมที่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่มีคุณค่าคนในเรือนจำมากเพราะกิจกรรมนี้นำเสนอผู้ต้องขังทุกคนไม่ว่าจะเป็นแกนนำหรือไม่

“อันนี้เป็นหัวใจสำคัญและมีคุณค่า มันทำให้ทุกครั้งที่เราได้ยินว่ามียืนหยุดขัง จริงอยู่เราอาจไม่ต้องการให้ทุกคนมาเสียน้ำตาหรือเสียเวลาเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเรา แต่ส่วนลึกในจิตใจของเราทุกครั้งที่ได้ยินว่าวันนี้มียืนหยุดขังนะ เรามีกำลังใจมากเรามีความหวังมาก แม้ว่าขบวนข้างนอกอาจไม่ได้ม็อบทุกวันซึ่งเราก็ไม่อยากให้มีทุกวันหรอกเพราะเรารู้ว่าต้นทุนที่ต้องจ่ายมีเยอะ แต่ยืนหยุดขังกลับเป็นพลังให้กับเราในเรือนจำมากและที่สำคัญที่สุดพ่อและแม่ของเรามายืนอยู่ตรงนี้ด้วยยืนหยุดขังเปรียบเสมือนครอบครัวของเราทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยวแม้ว่าเราอาจจะไม่ใช่แกนนำหรือคนในสังคมไม่รู้ว่าเราคือใคร แต่ยืนหยุดขังคิดถึงเราเสมอและครอบครัวเราก็เข้าถึงเราเพราะยืนหยุดขัง” ธัชพงศ์กล่าวและยังแสดงความดีใจที่ได้รู้ว่าครอบครัวก็มาร่วมต่อสู้ด้วย

(ซ้ายไปขวา) ปุ๊ย, มัทนา อัจจิมา, นภัสสร บุญรีย์, ธัชพงศ์ แกดำ, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

นภัสสร บุญรีย์ หรือนก ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมยืนหยุดขังบอกว่า ถึงตัวเองจะไม่ได้โดนคดีเองแต่ก็สงสารกับคนที่โดนที่มาทำกิจกรรมก็ทำได้แค่นี้ก็รู้สึกว่าไม่พลังส่งเสียงก็ไม่ดังมีคนไม่เข้าใจและหาว่าบ้า แต่ก็ทำได้แค่นี้เพื่อคนที่ต้องสูญเสียอิสรภาพอยู่ในเรือนจำ ก็อยากทำต่อแต่ทำมาแล้วปีหนึ่งก็ยังมีคนในเรือนจำอยู่ก็ถือว่าภารกิจยังไม่สำเร็จถ้ายังไม่ได้ออกมาทุกคน

นภัสสรกล่าวว่าอยากให้มีคนที่ร่วมต่อสู้กันมาช่วยกันออกมาทำกิจกรรมยืนหยุดขังกันมากกว่านี้ เพราะบางวันคนก็มาน้อยอาจจะเพราะติดไปทำกิจกรรมที่อื่นเพราะก็มีแต่คนรุ่นป้าๆ ที่ออกมายืนกันทุกวันแต่ไม่มีวัยรุ่นออกมากันซึ่งอาจจะเป็นคนที่พวกเด็กๆ เขารู้จักหรืออาจทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ออกมายืนด้วย

“อยากให้ศาลสถิตยุติธรรมมองเห็นเราหน่อยว่าเราทำอะไรอยู่ตรงนี้ แดดร้อนฝนตกเราก็ยืนอยู่ตรงนี้เวลาเขาขับรถออกมาก็อยากให้เขาเห็นให้เขารู้ แวะถามเราหน่อยเถอะว่าจะยืนอีกนานแค่ไหน แล้วก็อยากถามเขาว่าเมื่อไหร่จะปล่อยพวกเรา” นภัสสรกล่าวถึงคนที่ถูกขังโดยที่ยังไม่ถูกศาลตัดสินก็อยากให้ปล่อยคนเหล่านี้ออกมา แต่ถ้ามีมายืนอีกก็จะมาอีก

มัทนา อัจจิมา หรือ รูน เล่าความรู้สึกว่ารู้สึกโกรธ ไม่พอใจ และเศร้าที่เพื่อนที่ออกมาต้านเผด็จการโดนขนาดนี้ แต่จากการออกมาทำกิจกรรมแบบนี้ก็รู้สึกโดดเดี่ยวมากเพราะว่าที่บ้านก็มีการเมืองต่างกัน การออกมาทำกิจกรรมแบบนี้ของเธอทางบ้านก็ไม่รู้ แม้กระทั่งเรื่องคดีที่บ้านก็ไม่รู้ ก็เป็นเรื่องที่เธอรู้สึกอึดอัดที่ไม่กล้าบอกกับคนในครอบครัวเพราะตั้งแต่ตอนไปร่วมกิจกรรมคนเสื้อแดงคนที่บ้านพอรู้ก็ไม่คุยด้วยอยู่นาน

มัทนาบอกว่าเธอไม่รู้ว่าการออกมาทำกิจกรรมแบบนี้จะทำให้ชนะหรือเปล่าเธอตอบไม่ได้ แต่การยืนหยุดขังก็ยังเป็นภารกิจและหน้าที่ของเธอที่จะต้องมาเพราะทนไม่ได้ที่มีเยาวชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยต่อสู้กับเผด็จการต้องไปอยู่ในเรือนจำ

“การมายืนหยุดขังนี้เหมือนกับเรามาทวงสิทธิเสรีภาพการแสดงออก และทุกคนมีสิทธิได้รับการประกันตัวเพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แล้วการยืนหยุดขังนี้ถือว่าเป็นการเยียวยาจิตใจพี่ด้วย เป็นสิ่งเล็กๆ ที่พี่ทำให้คนข้างในได้เพราะว่าอย่างน้อยเราได้ทำอะไรบ้าง แม้ว่าจะเป็นการยืน 1 ชั่วโมง 12 นาทีก็เถอะตากฝนตากแดดบ้างก็ไม่เป็นไร” มัทนากล่าวและยืนยันว่าถ้ามีคนต้องไปเข้าเรือนจำอีกและพลเมืองโต้กลับจัดให้มายืนก็จะมายืนอีก

ปุ๊ย หนึ่งในผู้ที่มาร่วมยืนหยุดขังสม่ำเสมอกล่าวว่าสำหรับเธอ ก็รู้สึกคล้ายๆ กันกับคนที่มาร่วมแต่พอพลเมืองโต้กลับเสนอวิธีนี้ก็เป็นส่งที่เราต้องมาและจะต้องช่วยกันคิดว่าคือกระแสหนึ่งของการต่อสู้แบบสันติและจะมีพลังถ้าเรียกร้องร่วมกัน แต่ก็ยังรู้สึกโอเคที่คนในครอบครัวตัวเองสนับสนุนการทำกิจกรรม แต่ก็เคยโดนคดีเองด้วยตอนกลุ่มทะลุฟ้าทำกิจกรรมที่ไปนอนบนสะพานชมัยมรุเชษฐ์แล้วก็ถูกจับกุมไป

“ตอนนั้นรู้สึกอยากลองว่าการต่อสู้ด้วยสันติวิธีอย่างการนอนเฉยๆ จะโดนจับมั้ย แล้วมันก็โดน(หัวเราะ) ก็เลยคิดว่ากระบวนการยุติธรรมบ้านเรานี่มันบิดเบี้ยวจริงๆ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกสูญเสียอะไรขนาดนั้นแค่เสียดายตังค์ค่าประกันที่ตอนนั้นเงินยังหายากแล้วต้องมาประกันสองหมื่น” ปุ๊ยกล่าว

ปุ๊ยบอกว่าส่วนที่มายืนหยุดขังกันเธอก็รู้สึกว่าเพื่อนๆ ที่มาร่วมทำกิจกรรมก็เสียสละเยอะเพราะไม่ได้มีรายได้อะไรมากมายนัก แต่หลายคนก็พยายามมานั่งรถเมล์กันมาเพื่อประหยัดค่าเดินทางแต่ก็ยังมากันและอยากให้ทุกคนที่มาร่วมยืนหยุดขังนี้ไม่ได้ทำไปแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร

“การมายืนหยุดขังไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการปล่อยนักโทษการเมืองเท่านั้น มันยังมีผลพลอยได้อื่นๆ ในการจัดกิจกรรมเหล่านี้ ป้าๆ หลายคนที่มาได้มีสังคมได้มีการพูดคุยช่วยเหลือกันแลกเปลี่ยนกันก็เป็นปัจจัยที่ดีในการยืนหยุดขังกัน มีเรื่องทุกสุขก็มาเล่าสู่กันฟัง แต่ในเงื่อนไขชัยชนะมันคงตอบยากเพราะไม่ได้อยู่ที่เรามันอยู่ที่ชนชั้นปกครองเพียงแต่มันเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่เราทำได้” ปุ๊ยกล่าว

ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) กล่าวถึงเรื่องที่ตัวเองโดนคดีก็ไม่ได้ผิดหวังเพราะไม่หวังอะไรกับกระบวนกายุติธรรมอยู่แล้วแต่ก็โกรธแค้นและชิงชัง รู้สึกถึงความอยุติธรรมที่ประชาชนได้รับ แต่ในด้านหนึ่งก็ทำให้รู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมกับประชาชนอื่นๆ อย่างจริงจังก็คือตอนโดนคดี ทำให้ได้เห็นความอยุติธรรมและความไร้เดียงสาของระบบยุติธรรมไทย รวมถึงความบิดเบี้ยวบิดเบือน ก็เหมือนได้เข้าไปเก็บข้อมูล

เขาถึงปัญหาของเรือนจำว่าประเด็นปัญหาของประเทศนี้ไม่ได้ขีดเส้นให้ชัดเจนว่าการลงโทษคืออะไรและความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังอยู่ตรงไหนเมื่อต้องเข้าเรือนจำเป็นเรื่องที่ต้องปฏิรูปและปล่อยให้เกิดต่อไปไม่ได้อีกแล้วและคนที่ติดคุกคือคนจนเป็นปัญหาโครงสร้างทางสังคมที่บิดเบี้ยว คนที่ทำวิจัยเรื่องกระบวนการยุติธรรมหรือความเป็นธรรมทางสังคมที่ได้ตำแหน่งและได้เงินไปแต่งานวิชาการที่ออกมาได้สร้างอะไรให้สังคมบ้าง คนที่ให้ข้อมูลการวิจัยกลับไม่ได้ประโยชน์จากงานวิจัยเหล่านี้เลย และเขาเห็นว่าคดีทางการเมืองไม่ควรเป็นคดีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย

“มันจึงกลับไปจุดตั้งต้นว่าประเทศนี้มันเป็นประชาธิปไตยแบบไหน เราสร้างรัฐเผด็จการในนามของประชาธิปไตยหรือเปล่า หรือในช่วงเวลาใดก็ตามที่ผู้มีอำนาจมีแนวโน้มเป็นเผด็จการหรือใช้อำนาจแบบเผด็จการเขากำลังใช้กฎหมายในการที่จะเป็นเครื่องมือในการปกครองประชาชนหรือเปล่า”

ยุกติกล่าวว่าแม้ประเด็นข้างต้นอาจจะมีคนโต้แย้งว่าก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แต่ก็ยังต้องดูว่าเป็น Rule of Law หรือ Rule by Law ไม่ใช่การใช้กฎหมายมาเพื่อกดขี่ข่มเหงประชาชน แต่เป็นการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชน และเมื่อมาพูดถึงผู้ต้องขังทางการเมืองว่าไม่สมควรจะต้องมาโดนคดีเพราะพวกเขาโดนคดีจากการมีความเห็นไม่ตรงกันกับผู้มีอำนาจไม่ใช่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงอะไร ในแง่นี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องถูกทบทวนทั้งเรื่องกฎหมายอย่างมาตรา 112 ที่กำลังมีการพูดถึงเรื่องการแก้ไขกันอยู่ตอนนี้

ยุกติเล่าว่าในตอนที่ไทยเป็นรัฐเผด็จการมากกว่านี้ไม่มีทั้งการเลือกตั้งไม่มีทั้งรัฐธรรมนูญก็ยังมีคุกที่ไว้ขังผู้ต้องขังทางการเมืองต่างหาก ธงชัย วินิจจะกูลเคยเล่าให้เขาฟังว่า จิตร ภูมิศักดิ์ยังเคยเขียนหนังสือในคุกได้เพราะยังได้รับอนุญาตให้ออกไปค้นคว้าในห้องสมุดได้

“คนละเรื่องกันเลยกับการติดคุกของผู้ต้องขังทางการเมืองในขณะนี้ ถูกลดทอนให้กลายเป็นผู้ต้องหา เหมือนกับเวลาบอกว่าใส่ชุดนักเรียนมันจะเสมอเหมือนกัน แต่มันไม่ใช่ ความรุนแรงมันคนละเรื่องกัน แล้วเป้าหมายของการแสดงออกทางการเมืองก็คือความปราถนาดีกับประเทศ ปราถนาดีกับประชาชนทั่วไป เราก็รักชาติ เราก็รักประชาชนเหมือนกัน อย่าผูกขาดความรักเหล่านี้ ถ้าเขารักไม่เหมือนคุณก็ต้องทำร้ายเขา คุณจะต้องกดขี่ ทำลายความเป็นมนุษย์ของเขา”

ยุกติเล่าว่าตอนที่ปนัสยาถูกขังอยู่เขากับบุญเลิศเคยพยายามส่งหนังสือไปให้แต่พวกกลับถูกทำเหมือนกับว่ากำลังร่วมกันก่ออาชญากรรมเป็นตัวอย่างของความเลอะเทอะเปรอะเปื้อนของระบอบตอนนี้

“ถ้าเราปล่อยให้นักการเมือง(พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นนักการเมือง) เข้ามาอยู่ในอำนาจแล้วใช้กฎหมายกดขี่ข่มเหงประชาชนในการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนแบบนี้ แล้วผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดนับตั้งแต่ตำรวจ มาจนถึงอัยการ ผู้พิพากษา คนเหล่านี้ทำไมไม่มีวิจารณญาณกับสังคมบ้าง คุณเกิดมาก่อนพวกเขาอีก โตๆ กันแล้ว ลูกหลานก็รุ่นๆ ของเยาวชนที่ต่อสู้กันมา ทำไมไม่คิดบ้างสังคมตอนนี้มันเป็นอะไร คุณถูกรัฐบาลเผด็จการมันใช้กฎหมายในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนแบบไหน”ยุกติกล่าว

ยุกติเล่าว่าการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีต้นทุนมีเรื่องที่ต้องเสียไปแน่นอน ที่ผ่านมามีทั้งเรื่องที่เขาเคยได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานวิชาการของรัฐแห่งหนึ่งแต่คนในหน่วยงานดังกล่าวก็คัดค้าน ไปจนถึงเรื่องที่ของเขาเคยถูกข่มขู่ด้วยการงัดรถแล้วก็เปิดช่องเก็บของไว้เพื่อให้รู้ว่ามีการบุกรุกเข้ามาในรถและคีย์การ์ดที่ปกติจะทิ้งไว้ในรถก็หายไปและยังมีรอยกรีดข้างในด้วย แต่ตัวเขาเองก็ไม่ได้รู้สึกกลัวเพราะเรื่องนี้แต่ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องสู้

นอกจากนั้นเขายังเห็นว่าด้วยบทบาทนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ของตัวเองที่ออกมาพูดเรื่องความไม่เปป็นธรรมทางสังคมต่างๆ แล้วถ้าพูดแล้วไม่ออกมาสู้เพื่อสิ่งที่ตัวเองพูดก็อย่าพูดถึงเลยจะดีกว่า แล้วยังเป็นคดีของลูกศิษย์ตัวเองอีกก็รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ด้วยที่ต้องไปช่วยประกันตัวพวกเขาเหล่านี้

ยุกติมองว่าการทำกิจกรรมยืนหยุดขังถือเป็นการประจานกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวและทำให้เห็นว่าคนที่นั่งอยู่บนยอดปิรามิดของประเทศนี้ใช้อำนาจอย่างบิดเบี้ยวฉ้อฉลอย่างไร และยังเป็นการเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจมาแก้ไขความบิดเบี้ยวนี้ด้วย และเมื่อมีรัฐบาลแล้วก็เป็นเรื่องที่ต้องเอาพูดด้วยอย่างเรื่องการนิรโทษกรรมและจะขีดเส้นอย่างไรเพื่อให้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้มากที่สุดและต้องดึงให้ฐานความผิดเหล่านี้แยกออกมาจากอาชญากรรมทั่วไปให้ได้

ยุกติยังกล่าวอีกว่าการยืนหยุดขังยังทำให้ผู้ที่ออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองมีตัวตน คนที่มาร่วมแม้จะมาเมื่อสะดวกก็ชวนเพื่อนๆ มาแต่ก็ได้แสดงตัวตนและความคิดของเราออกมาซึ่งจะต้องมีพื้นที่แบบนี้และรัฐก็จะต้องจัดให้มี ตำรวจจะต้องมาดูแลความปลอดภัยด้วยแต่ไม่ใช่เรื่องการอนุญาต

บุญเลิศ วิเศษปรีชา(เสื้อดำ) ยุกติ มุกดาวิจิตร (เสื้อขาว)

บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าสำหรับตัวเขาเองก็ติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษามานานแล้วตัวเขาเองก็อยากกลับมาช่วยตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนอยู่ที่วิสคอนซินแล้วแล้วพอได้มาเป็นอาจารย์แล้วก็ได้มาเห็นนักศึกษาที่ใกล้ตัวมาโดนคดีก็ทำให้รู้สึกแย่กับเรื่องที่เกิดขึ้น อย่างเช่นตอนที่รู้ผลว่าศาลถอนประกันปนัสยา

“ยกคำพูดเก่าๆ หัวซ้ายเก่าหน่อยอย่างของเช(เกวารา) คือ ถ้าคุณเห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าแล้วคุณตัวสั่นเทา เราคือเพื่อนกัน” บุญเลิศเล่าความรู้สึกแรกๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อเห็นข่าวนักศึกษาถูกจับแล้วไม่ได้ประกันตัว

บุญเลิศเล่าว่าตัวเขาเองเคยถูกเอาไปแขวนประจานในโลกออนไลน์ร่วมกับอาจารย์คนอื่นๆ ที่มาช่วยประกันตัวนักศึกษาที่ทำกิจกรรม ซึ่งตัวเขาเองก็ทำใจไว้อยู่แล้ว แต่ก็มีกรณีของอาจารย์คนอื่นๆ ก็ถูกแขวนด้วยว่าเป็นพวกล้มเจ้าทั้งที่แค่ยืนยันเรื่องการประกันตัวของลูกศิษย์ ซึ่งสำหรับเขาเองหรือยุกติที่มีที่มีทางแล้วก็อาจจะไม่เป็นไร แต่คนอื่นๆ ที่ยังมีแผนไปเรียนต่อก็ต้องเริ่มระวังตัวว่าจะทำอะไรแหลมเกินไปหรือไม่

บุญเลิศกล่าวย้อนเรื่องที่พลเมืองโต้กลับออกมาตั้งแต่หลังการรัฐประหารแรกๆ ซึ่งออกมาทำกิจกรรมกันในช่วงที่ห้ามชุมนุมก็เป็นกิจกรรมที่สันติมากอย่างการเดินไปขึ้นศาลแต่ก็ยังเดินไม่ได้ กิจกรรมของกลุ่มเป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ร่วมได้ก็ทำให้มีคนร่วมได้และยั่งยืน การยืนแบบนี้ที่ไม่หวือหวาแม้จะไม่เห็นผลทันทีทันใดก็ตามแต่ก็ทำให้คนร่วมได้มาก

บุญเลิศกล่าวต่อว่ากิจกรรมยืนหยุดขังยังเป็นเหมือนแพลตฟอร์มที่ใครๆ ก็ชวนกันมาได้ด้วย เมื่อมีคนที่รู้สึกไม่สบายใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยากมาแสดงออกหรือแสดงความโกรธก็ชวนกันมาได้ การทำแพลตฟอร์มนี้จึงมีความสำคัญ หรือใครมาร่วมแล้วจะทำเพิ่มอย่างการอ่านหยุดขังก็ได้ ดังนั้นการคงเส้นคงวากับวิธีที่สันติจึงทำให้กิจกรรมยืนระยะอยู่ได้ และเขาบอกว่าการยืนยันเรื่องหลักการที่ถูกเอาไว้ก็จะไม่ทำให้ต้องมาเสียใจเมื่อเวลาผ่านไปเหมือนกับการยืนทำกลางพายุแล้วเริ่มจุดเทียนแม้มันจะยากแต่หลังพายุผ่านไปเทียนก็จะติด แต่คนแรกๆ ที่จุดเทียนก็คือคนที่มาทำกิจกรรมกันที่นี่ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกิจกรรมนี้

บุญเลิศกล่าวทิ้งท้ายว่าเขาเชื่อว่ายังมีผู้พิพากษาคนที่เป็นอิสระและขอแค่ว่ายังตัดสินไปตามตัวบทกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายเพราะถ้าเป็นไปตามตัวบทก็คือว่าการให้ประกันตัวเป็นสิทธิตามกฎหมายเว้นแต่มีเรื่องที่ผิดไปจากปกติ ไม่ใช่ว่าด้วยเรื่องที่ไม่เป็นไปตามตัวบทอย่างเช่นคดีนี้กระทบกระเทือนจิตใจ เขาก็หวังว่าการมีคนมายืนแบบนี้ก็จะมีผู้พิพากษาที่รู้สึกได้ว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไร

หยุดยืน 100 วันและจะกลับมาทวงสัญญาสิทธิประกันตัวถ้าไม่คืบ

หลังการเสวนาพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ จากกลุ่มพลเมืองโต้กลับได้อ่านแถลงการณ์ถึงการทำกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” วันสุดท้ายนี้ว่าจากการทำกิจกรรมยืนหยุดขังร่วม 3 รอบนับตั้งแต่รอบแรกที่เริ่มขึ้นเมื่อ 22 มี.ค.2564 จนถึงรอบที่สามนี้หากรวมแต่ละช่วงของกิจกรรมแล้วรวมแล้วถึง 629 วัน แต่ ณวันนี้ยังมีผู้ต้องขังทางการเมืองอีกอย่างน้อย 17 รายแบ่งเป็นคนที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี 7 ราย และสิ้นสุดแล้ว 10 ราย โดยที่ผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวทั้ง 7 รายเกินครึ่งเป็นผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหามาตรา 112

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ

แถลงการณ์ระบุว่าการยืนหยุดขังที่เริ่มแรกเป็นการเรียกร้องสิทธิประกันตัว จนเปลี่ยนเป็นการมายืนให้กำลังใจผู้ต้องขังและสุดท้ายยังกลายเป็นการประจานกระบวนการยุติธรรมไทยว่าไร้หลักนิติธรรมโดยสิ้นเชิง ซึ่งการยืนนิ่งๆ ได้เป็นการยืนหยัดต่อสู้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมโดยไม่ต้องพูดมันออกมา และยังได้สร้างความตระหนักรู้กับสังคมว่าสิทธิประกันตัวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่จะต้องได้รับสิทธิออกมาในการหาหลักฐานแก้ต่างให้ตัวเองในการต่อสู้คดีได้ ซึ่งหลายรายต้องรับสารภาพไปเพื่อให้อย่างน้อยได้รู้ชะตากรรมตัวเองว่าต้องอยู่ในเรือนจำไปอีกกี่วัน

“การยืนหยุดขังรอบที่ 3 จนถึงวันนี้เราไม่ปฏิเสธว่าพลเมืองโต้กลับอ่อนล้าและอ่อนแรงลงมาไปมาก กระบวนการยุติธรรมเพิกเฉยต่อหลักนิติธรรมเพราะฝ่ายตุลาการไม่มีอะไรยึดโยงกับประชาชน ตุลาการส่วนดีก็มีน้อยจนน่าใจหาย” แถลงการณ์ระบุ

อย่างไรก็ตามแถลงการณ์ระบุด้วยว่าเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่แล้วพรรคการเมืองมีการใส่นโยบายการนิรโทษกรรมคดีการเมืองเอาไว้ การถอยออกมาเพื่อเฝ้าติดตาม ให้กำลังใจและเร่งรัดให้เกิดกระบวนากรให้สิทธิประกันตัวผู้ต้องขังจะทำให้เกิดบรรยากาศทางการเมืองที่ดีกว่า

“ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับจึงจะหยุดกิจกรรมไว้ชั่วคราวเป็นเวลา 100 วัน นับจากได้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและจะกลับมาทวงถามสัญญาหากไม่เกิดความคืบหน้าของการให้สิทธิการประกันตัวซึ่งผู้แทนราษฎรสามารถทำผ่านกลไกของสภาฯ ได้ทันที ก่อนที่จะมีการเสนอกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองในภายภาคหน้า” แถลงการณ์ระบุและย้ำว่าไม่ใช่การยุติสิ้นเชิงแต่จะกลับมาเมื่อกระบวนการยุติธรรมยังไม่ยึดหลักนิติธรรมเช่นที่เคยสัญญาไว้ทุกครั้ง

แถลงการณ์ฉบับเต็ม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net