Skip to main content
sharethis

สส.พรรคก้าวไกล แนะรัฐบาลปรับมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ให้สอดคล้องความต้องการสมาคมผู้ประกอบการถ่ายทำฯ เพื่อสร้างศักยภาพแข่งขันกับต่างประเทศ ชี้สร้างรายได้เข้าประเทศหลักหมื่นล้านบาท 


แฟ้มภาพสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

3 ก.ย. 2566 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่านายอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงอุตสาหกรรมถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ว่าสามารถสร้างรายได้มากถึงหลักหมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันมีการแข่งขันสูงขึ้นในหลายประเทศ กลุ่มผู้ผลิตภาพยนตร์จึงมีทางเลือกด้านสถานที่ถ่ายทำมากขึ้นตาม ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศไทย ด้านสมาคมผู้ประกอบการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยจึงได้มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 ให้ดำเนินมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าว ประกอบด้วยมาตรการจูงใจ ได้แก่ ปรับอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) จากเดิมร้อยละ 15-20 เป็นร้อยละ 20-30 เป็นระยะเวลา 2 ปี ปรับเงื่อนไขการคืนเงินสำหรับกองถ่ายที่มีค่าใช้จ่ายในประเทศมากกว่า 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท ปรับเพดานคืนเงินสูงสุดจากเดิม 75 ล้านบาท เป็น 150 ล้านบาท และตั้งกรอบวงเงินงบประมาณในช่วงปี 67 – 68 เป็น 900 ล้านบาทต่อปี 

จากการติดตามความคืบหน้า พบว่ากรมการท่องเที่ยวได้มีประกาศเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการขอสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2566 โดยกำหนดให้ปรับเงื่อนไขการคืนเงินสำหรับกองถ่ายที่มีค่าใช้จ่ายในประเทศมากกว่า 50 ล้านบาท และปรับเพดานคืนเงินสูงสุดเป็น 150 ล้านบาท มองว่าการประกาศของกรมการท่องเที่ยวเป็นการประกาศที่ยึดตามอัตราขั้นต่ำ ไม่เป็นไปตามข้อเสนอของสมาคมฯ ส่วนมาตรการลดอุปสรรคต่อการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ มีข้อเสนอใน 2 ประเด็น ได้แก่ ขอให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองปรับหลักเกณฑ์การตรวจคนเข้าเมือง โดยให้มีระยะเวลาครอบคลุมมากขึ้นสำหรับกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ และให้กระทรวงมหาดไทยกำหนดเกณฑ์และค่าธรรมเนียมการใช้พื้นที่ให้มีอัตรามาตรฐาน มีหลักฐานชำระเงินที่ชัดเจน ทั้งนี้จากการติดตามความคืบหน้าของทั้ง 2 ประเด็น พบว่ายังไม่มีความคืบหน้าและความชัดเจน ดังนั้นจึงขอให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวให้แล้วเสร็จและเป็นรูปธรรมด้วย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net