Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภายหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ชี้แจ้งให้กลุ่มผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อของประชาชนเพื่อขอให้มีการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เกี่ยวกับการเข้าชื่อของประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ว่า “การลงชื่อผ่านเว็บไซต์และพิมพ์ออกมาเป็นแบบฟอร์มนำส่ง กกต. ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก กกต. ไม่อยู่ภายใต้การกำกับ พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มาตรา 4 เพราะเป็นองค์กรอิสระ แตกต่างจากการเข้าชื่อเสนอกฎหมายอื่น ๆ ที่สามารถใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ได้” นั้น ข้อชี้แจงดังกล่าวของ กกต. รวมถึงปรากฎการณ์ที่ตามมา นั่นคือการที่ประชาชนสามารถใช้เวลาเพียง 3 วัน (หากนับแต่วันที่ 22 สิงหาคม จนถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2566) รวบรวมรายชื่อพร้อมลายมือชื่อของผู้ที่มีความสนใจในการร่วมเสนอให้มีการออกเสียงประชามติได้เกินกว่า 200,000 รายชื่อภายแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องของระบบการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการเข้าชื่อ ทั้งการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และการเข้าชื่อขอให้มีการออกเสียงประชามติ รวมทั้งยังก่อให้เกิดข้อพึงระวังต่อผู้มีอำนาจรัฐในลักษณะที่มีนัยยะสำคัญ 

สำหรับความบกพร่องของระบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าชื่อเสนอให้มีการออกเสียงประชามติและการเข้าชื่อเสนอกฎหมายนั้น เกิดขึ้นบนพื้นฐานความลักลั่นของประบวนการทั้งสอง ความลักลั่นดังกล่าว จะต้องเกิดจากการยอมรับก่อนว่า จากข้อชี้แจงของ กกต. ที่ปฏิเสธการเข้าชื่อของประชาชนในทางอิเล็กทรอนิกส์บนพื้นฐานของความในมาตรา 4 ของ พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งได้ยกเว้นการใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวต่อองค์กรอิสระ (กกต.) ไว้ในวรรคแรกของมาตราดังกล่าว ประกอบกับประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2565 เองก็ไม่ได้ระบุถึงการเข้าชื่อผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้ ข้อชี้แจงของ กกต. จึงมีลักษณะเป็นข้อชี้แจงที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม หากนำเอาข้อชี้แจงดังกล่าวไปพิจารณาคู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการเข้าชื่อในลักษณะอื่น ซึ่งได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยเฉพาะการเข้าชื่อตามมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญ อันได้แก่การเข้าชื่อเสนอกฎหมายแล้ว จะพบว่ากระบวนการเข้าชื่อในประเทศไทยมีความลักลั่นกันเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความลักลั่นในการทำให้กระบวนการเข้าชื่อ “ทันสมัย” กล่าวคือ การเข้าชื่อเสนอกฎหมายนั้นสามารถทำโดยอาศัยกระบวนการเข้าชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ตามความในมาตรา 8 ของ พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564 ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว ก็ประกาศใช้ “ก่อน” ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2565 คำถามที่ตามมาคือ เหตุใดประกาศดังกล่าว จึงไม่ระบุให้มีการเข้าชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้ ทั้ง ๆ ที่พระราชบัญญัติในเรื่องที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งได้บังคับใช้ก่อนหน้า ยอมรับให้มีการเข้าชื่อในลักษณะดังกล่าวไว้แล้ว นอกจากนี้ หากพิจารณาความในวรรคที่ 2 ของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ จะพบว่าโดยเนื้อแท้แล้ว สามารถกำหนดให้ กกต. ตกอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ เพียงแค่ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งก็ไม่ได้มีการดำเนินการแต่ประการใด ความไม่สอดคล้องกันในระบบกฎหมายเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในวิธีการเข้าชื่อ รวมถึงข้อชี้แจงของ กกต. ซึ่งแม้จะถูกต้องตามหลักกฎหมาย แต่ก็ควรจะถูกตั้งคำถามได้ว่า สุดท้ายแล้วประเทศไทยและผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง มองระบวนการเข้าชื่อของประชาชนในลักษณะใด มองเป็นกระบวนการที่ควรถูกส่งเสริมให้ทันสมัย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองได้โดยง่าย หรือมองเป็นกระบวนการที่ “ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงไปทางเทคโนโลยี” และยังยึดติดกับกระดาษและปากกา ทั้ง ๆ ที่สามารถทำให้กระบวนการดังกล่าว “ง่ายขึ้น” สำหรับประชาชน ซึ่งคุณลักษณะของความ “ง่าย” ดังกล่าว ควรเป็นสิ่งที่ได้รับการเชิดชูในรัฐทีประสงค์จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกว้างขวาง

ในสวนของ “ข้อพึงระวังของผู้มีอำนาจ” ซึ่งเกิดขึ้นจากปรากฎการณ์ที่ประชาชนสามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อขอให้มีการออกเสียงประชามติได้เกินกว่า 200,000 รายชื่อ ภายในระยะเวลาเพียง 3 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการสื่อสารถึงข้อชี้แจงของ กกต. ออกมาสู่สาธารณะนั้น ผู้เขียนอยากจะขอกล่าวในฐานะของผู้ที่ศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการเข้าชื่อในลักษณะต่าง ๆ มาบ้างว่า ผู้มีอำนาจควรพึงระมัดระวังการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำประชามติตามข้อเสนอของประชาชนกว่า 200,000 รายชื่อด้วยความระมัดระวังยิ่ง เนื่องจาก การรวบรวมรายชื่อ “ในทางความเป็นจริง” (ลายมือชื่อที่ต้องลงในกระดาษ) ซึ่งต้องยอมรับว่าสามารถทำได้ยากกว่าการลงชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ “ให้ได้ในจำนวนที่มาก” (กว่า 200,000 รายชื่อ) “ภายในระยะเวลาอันสั้น” (3 วัน) แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อท่าทีของ กกต. และความต้องการของประชาชนที่จะให้มีการออกเสียงประชามติขึ้น 

การแสดงออกของประชาชนจำนวนมากในเวลาอันสั้น เพื่อเสนอความต้องการทางการเมืองของตนต่อผู้มีอำนาจในรัฐบาล จึงควรถูกพิจารณาอย่างเป็นจริงเป็นจรัง รัฐควรดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อรับฟังความต้องการของประชาชน จริงอยู่ว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติตามข้อเสนอของประชาชน ทั้ง พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 และประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2565 จะไม่ได้กำหนดให้การเข้าชื่อของประชาชนจะมีผลผูกพันธ์ให้คณะรัฐมนตรีจะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามที่ประชาชนเสนอ แต่การไม่พิจารณาความต้องการของประชาชนกว่า 200,000 คนให้ถี่ถ้วน หรือการไม่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดผลทางการเมืองไม่มากก็น้อย โดยเฉพาอย่างยิ่ง ผลลัพธ์อันอาจจะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งในห้วงเวลาเกือบ 4 ปี ต่อจากนี้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net