Skip to main content
sharethis

ในออสเตรเลียกำลังจะมีการโหวตลงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีกลไกรับรองสิทธิคนพื้นเมืองในสภาที่เรียกว่า "Voice Referendum" ซึ่งมีการอภิปรายโต้เถียงกันระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านในหลายแง่มุม ซึ่งฝ่ายสนับสนุนมองเป็นความก้าวหน้าที่ประเทศอื่นๆ ก็มีมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ฝ่ายค้านมองว่ามันไม่ได้รวมผู้คนเข้าเป็นส่วนหนึ่งอย่างแท้จริงหรือมองว่ามันไม่ได้ส่งผลจริงในทางปฏิบัติ

ประเทศออสเตรเลียกำลังจะมีการโหวตลงประชามติภายในวันที่ 14 ต.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ เกี่ยวกับเรื่องการมีสิทธิมีเสียงของกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมของออสเตรเลียในรัฐสภา ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย แต่การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จะต้องมีการทำประชามติรับรองจากประชาชนเสียก่อน

แผนการให้สิทธิให้เสียงแก่กลุ่มชนพื้นเมืองในสภานี้เป็นหนึ่งในกระบวนการปรองดองกับชนพื้นเมืองโดยรัฐบาลออสเตรเลียที่ดำเนินการมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว แผนการดังกล่าวนี้มีจุดเริ่มต้นจากการประชุมครั้งประวัติศาสตร์กับกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมจากทั่วประเทศเมื่อปี 2560

ในตอนนั้นมีตัวแทนจากกลุ่มชนพื้นเมืองรวม 250 ราย ประชุมที่โขดหินอุลูรู จนมีการบรรลุข้อตกลงร่วมกันออกมาเป็นแถลงการณ์ 440 ตัวอักษร ที่มีชื่อเรียกว่า "แถลงการณ์อุลูรูจากหัวใจ" ในแถลงการณ์นี้มีวัตถุประสงค์หลักๆ อยู่ 3 ประการ คือ

1. การมีสิทธิมีเสียงในรัฐสภา หรือที่เรียกว่า "เสียงในรัฐสภา"
2. สนธิสัญญา
3. การพูดความจริง

ในแถลงการณ์ดังกล่าวยังมีการอ้างอิงถึงประชามติเมื่อปี 2510 ซึ่งเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการนับรวมกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมของออสเตรเลียและชนพื้นเมืองตามหมู่เกาะช่องแคบทอร์เรสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประชากรออสเตรเลียด้วย และระบุให้อำนาจรัฐบาลกลางในการร่างกฎหมายเพื่อกลุ่มชนพื้นเมืองในรัฐต่างๆ ของออสเตรเลีย

"เสียงในรัฐสภา" เป็นกลไกแบบไหนกันแน่

กลไกการให้สิทธิให้เสียงในรัฐสภาหรือที่เรียกว่า "เสียงในรัฐสภา" นี้จะเป็นการให้ชนพื้นเมืองดั้งเดิมและชนพื้นเมืองหมู่เกาะช่องแคบทอร์เรสมีผู้แทนถาวรและมีการรับรองชนพื้นเมืองเหล่านี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ

หน่วยใหม่ในรัฐสภานี้จะเป็นตัวแทนของประชากรชนพื้นเมืองจากทั่วประเทศออสเตรเลีย เพื่อเป็นผู้ให้ข้อมูลและความคิดเห็นต่อรัฐบาลกลาง ในเรื่องการตัดสินใจ, นโยบาย และกฎหมายต่างๆ ที่กระทบต่อชีวิตของพวกเขา ซึ่งจะเป็นประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสังคม, จิตวิญญาณ และสถานะความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจของชนพื้นเมืองดั้งเดิมกับชนพื้นเมืองหมู่เกาะช่องแคบทอร์เรส

"เสียงในรัฐสภา" จะนับเป็นหน่วยที่คำปรึกษา แต่จะไม่มีอำนาจในการลบล้างมติรัฐสภา หรือที่เรียกว่าอำนาจในการ "วีโต้"

โครงสร้างของ "เสียงในรัฐสภา" จะเป็นอย่างไร

โครงสร้างของกลไก "เสียงในรัฐสภา" สำหรับชนพื้นเมืองจะขึ้นอยู่กับการร่างกฎหมายออกมากำกับหลังจากที่เสียงโหวตประชามติสนับสนุนเป็นฝ่ายชนะแล้วเท่านั้น

ทางรัฐบาลออสเตรเลียตอบข้อซักถามต่อเรื่องนี้โดยอ้างถึงรายงานที่เขียนอย่างละเอียดของศาสตราจารย์ ทอม คัลมา และ มาร์เซีย แลงตัน ถึงแม้ว่าเนื้อหาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แต่รายงานของพวกเขาก็นำเสนอเป็นโครงร่างออกมาได้ดังนี้ คือ

"เสียงในรัฐสภา" จะแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ เสียงในภาคส่วนท้องถิ่นกับภูมิภาค และเสียงในภาคส่วนระดับประเทศ

เสียงในระดับประเทศจะจัดให้มีผู้แทนชนพื้นเมือง 2 ราย ต่อรัฐและอาณาเขต รวมแล้ว 16 ราย  มีผู้แทนจากพื้นที่ชุมชนห่างไกล 5 ราย มี 2 ราย จากช่องแคบทอร์เรส และ 1 ราย จากชาวช่องแคบทอร์เรสที่อาศัยบนออสเตรเลียแผ่นดินใหญ่ โดยระบุให้ต้องมีความสมดุลระหว่างเพศกันจำนวนสมาชิกเหล่านี้ และแต่ละคนจะอยู่ในตำแหน่งได้ 4 ปี รวมถึงดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 สมัย

มีประธานร่วม 2 รายที่มาจากการโหวตโดยสมาชิกกลุ่มชนพื้นเมืองเอง และผู้แทนต่างๆ จากชนพื้นเมืองจะมาจากการโหวตโดยตัวแทนเสียงจากท้องถิ่นกับภูมิภาค

ผู้ที่เป็นตัวแทนเสียงจากท้องถิ่นกับภูมิภาคจะมีอยู่ 35 ราย แต่ละรายจะมาจากการเลือกของแต่ละชุมชนที่พวกเขาเป็นตัวแทน เพื่อเป็นการสะท้อนว่ากลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมและกลุ่มชนพื้นเมืองช่องแคบทอร์เรสต่างก็มีอยู่มากมายหลากหลาย ไม่ใช่กลุ่มๆ เดียวที่จะสามารถนำวิธีการแก้ปัญหาแบบเดียวมาใช้กับทุกชุมชนได้

"เสียงในรัฐสภา" ของกลุ่มชนพื้นเมืองจะทำอะไรบ้าง

กลุ่ม "เสียงในรัฐสภา" เหล่านี้ตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชนพื้นเมืองทั่วประเทศออสเตรเลียมีปากมีเสียงในนโยบายรัฐบาล กลุ่มทำประชามติในเรื่องนี้ระบุว่า "เสียง" จากชนพื้นเมืองเหล่านี้เป็นกลุ่มอิสระผู้ให้คำปรึกษาต่อรัฐสภาและรัฐบาล ได้รับการเลือกมาจากเจตนารมณ์ของชุมชนในท้องถิ่น มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และ "จะเป็นไปในเชิงเสริมพลัง นำโดยชุมชน มีความครอบคลุม มีความเคารพ เข้าใจในวัฒนธรรม และมีสมดุลทางเพศ รวมถึงจะให้มีการเพิ่มเยาวชนเช้าไปด้วย"

อย่างไรก็ตาม "เสียง" จากชนพื้นเมืองสามารถให้คำปรึกษาได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถเป็นผู้ให้บริการภาครัฐ หรือบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดิน หรือเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างองค์กรชนพื้นเมืองต่างๆ ได้

ถ้าหากการทำประชามติในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะมีการระบุถึง "เสียง" ของชนพื้นเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐบาลถัดไปไม่สามารถล้มล้างกลไกนี้ได้ ถ้าหากว่าประชามติล้มเหลวก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่จะมีการพิจารณากันต่อไปว่าจะมีการใช้วิธีการอื่นหรือไม่อย่างไร

โนเอล เพียร์สัน นักรณรงค์เรื่องชนพื้นเมืองบอกว่า "การปฏิเสธ 'เสียงในรัฐสภา' จะสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของการเป็นผู้นำชุมชนชนพื้นเมืองทั้งรุ่น เป็นการบ่งบอกว่ามันจะต้องขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ในการหาทางอื่นๆ เพื่อไปต่อ"

อย่างไรก็ตามทีผู้ที่คัดค้านเช่น เดวิด ลิตเติลพราวด์ จากพรรคชาติออสเตรเลีย กล่าวไว้เมื่อเดือน พ.ย. 2565 ระบุว่าพรรคของเขาต่อต้านระบบ "เสียง" จากชนพื้นเมืองเพราะว่ามันไม่ได้แก้ปัญหาที่ชนพื้นเมืองกำลังเผชิญอยู่อย่างแท้จริง

ในเวลาต่อมาหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านพรรคเสรีนิยมออสเตรเลียคือ ปีเตอร์ ดัตตัน ก็กล่าวคล้อยตามพรรคชาติเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยบอกว่าพรรคของเขาสนับสนุนการระบุยอมรับชนพื้นเมืองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่จะไม่สนับสนุนเรื่องการระบุคณะที่ปรึกษาชนพื้นเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่ามันจะไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังใดๆ ต่อกลุ่มชนพื้นเมืองออสเตรเลีย

ดัตตันเสนอว่ากลุ่มคนที่เป็นตัวแทน "เสียง" เหล่านี้ควรจะรับฟังผู้เฒ่าผู้แก่ที่อาศัยอยู่ในชุมชนของพวกเขามากกว่า และมองว่าระบบแบบ "เสียง" ที่ว่านี้ไม่ได้เป็นการรวมผู้คนเข้าเป็นส่วนหนึ่งอย่างแท้จริง

มีชนพื้นเมืองออสเตรเลียบางส่วนที่ประกาศจะโหวต "โน" เช่นกัน กลุ่มที่ประกาศในเรื่องนี้คือกลุ่ม "แฟร์ออสเตรเลีย" ที่นำโดยรัฐมนตรีเงาชนพื้นเมืองออสเตรเลีย จาซินตา นัมปิจินพา ไพรซ์ ที่ร่วมรณรงค์กับนักการเมืองอีกสองพรรคที่เรียกแนวทางของตัวเองว่า "เล็งเห็นถึงหนทางที่ดีกว่า"

นอกจากนี้ในกลุ่ม ส.ส. และ ส.ว. ที่เป็นชนพื้นเมืองอีก 11 ราย มีอยู่ 8 ราย ที่บอกว่าจะสนับสนุนการจัดตั้งหน่วย "เสียง" ของกลุ่มชนพื้นเมือง แต่มีอยู่ 3 รายที่บอกว่าพวกเขาไม่สนับสนุน หรือไม่ก็บอกว่าต้องการให้มีรายละเอียดมากกว่านี้เกี่ยวกับกลุ่ม "เสียง"

ไพรซ์กล่าวว่า "ผู้คนไม่ควรจะเชื่อตามอย่างมืดบอดต่อใครคนใดก็ตามที่เสนอว่าชนพื้นเมืองทุกคนคิดเหมือนกัน"


เรียบเรียงจาก
What is the Indigenous Voice to Parliament? Here's how it would work and who's for and against it, ABC News, 30-08-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net