Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อารัมภบท

บทความในตอน (1/2) ได้พาผู้อ่านไปสำรวจและมองเห็นอีกหนทางหนึ่งในการให้ความหมาย ‘คนดี’ ที่ภาพยนตร์ Watchmen ชวนเราทุกคนตั้งคำถาม ในบทความนี้ผู้เขียนมีความตั้งใจจะนำเสนอและชวนทำความเข้าใจแนวคิดเชิงจริยศาสตร์แบบต่างๆ ผ่านตัวละครฮีโร่แต่ละตัวในภาพยนตร์ Watchmen ด้วยคาแรคเตอร์ของฮีโร่แต่ละตัวที่โดดเด่น แตกต่าง และเป็นตัวของตัวเอง รวมความไปถึงวิธีคิดและการกระทำของพวกเขาที่ปรากฏในเนื้อหาภาพยนตร์ ทำให้เห็นถึงแนวคิดเชิงจริยศาสตร์แบบต่างๆ ได้ดี เอาเป็นว่า ฮีโร่แต่ละตัวจะเป็น ‘ตัวแทน’ ของแนวคิดเชิงจริยศาสตร์แบบใดบ้าง พวกเขารอผู้อ่านอยู่ ในบรรทัดถัดไป

ทีม Watchmen ในฉบับภาพยนตร์ประกอบไปด้วยตัวละครหลักทั้งหมด 6 ตัว คือ เดอะคอมเมเดี้ยน (The comedian) ดร.แมนฮัตตัน (Doctor Manhattan) ไนต์อาวล์ (Nite Owl) โอซีแมนเดียส (Ozymandias) รอร์แชค (Rorschach) และ ซิลก์สเปคเทอร์ (Silk Specter) ทว่าในบทความนี้จะทำการกล่าวถึงเพียง 4 ฮีโร่ที่เป็นตัวแทนแนวคิดทางจริยศาสตร์ 4 แบบ ได้ดี แต่ก่อนที่จะไปทำความรู้จักแนวคิดจริยศาสตร์ที่ปรากฏในภาพยนตร์ ก่อนอื่นเรามีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจ ‘จริยศาสตร์’ เสียก่อน


จริยศาสตร์คืออะไร?

เมื่อกล่าวถึงคำว่า ‘จริยศาสตร์’ หลายต่อหลายคนคงรู้สึกไม่คุ้นเคย และมีความรู้สึกว่าคำคำนี้ช่างห่างไกลตัวเหลือเกิน อนึ่งอาจจะเกิดจากการที่สังคมไทยมีความสัมพันธ์กับวิชาปรัชญาในรูปแบบที่คล้ายกับว่าจะอยู่ใกล้ แต่ในความเป็นจริงกลับห่างไกลวิชาปรัชญาและกระบวนการทำปรัชญาซึ่งความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากระบบการศึกษาและการให้ความสำคัญอันน้อยนิดกับพื้นที่ของความเห็นต่าง ความหลากหลาย ความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงการตั้งคำถามซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในวิชาปรัชญา (ผู้เขียนขอเก็บประเด็นนี้ไว้ก่อน) การห่างไกลจากวิชาปรัชญา จึงทำให้ห่างไกลจากความเข้าใจ จริยศาสตร์ แล้วเราสามารถเข้าใจจริยศาสตร์ได้อย่างไร?

ในความเป็นจริงแล้ว จริยศาสตร์ เป็นเรื่องง่ายๆ ที่เกิดขึ้นและแทบเป็นเนื้อเดียวกับการมีชีวิต จริยศาสตร์ถือเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน โดยเรียบง่ายที่สุด จริยศาสตร์เป็นเรื่องที่ข้องเกี่ยวกับ ‘การกระทำ’ อันเป็น ‘ขั้นต่อ’ จากการมองมองเห็นและเข้าใจโลก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มนุษย์เข้าใจตนเองและโลกอย่างไร ก็จะเลือกกระทำต่อบางสิ่งบางอย่างตามความเข้าใจที่เขาเข้าใจ เลือกคิด และเลือกเชื่อ เช่นนั้น

จริยศาสตร์ยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับการตัดสินใจกระทำการบางอย่างในชีวิต โดยจริยศาสตร์วางอยู่บนความเป็นไปได้ ความเป็นไปได้ที่ว่านี้ เป็นความเป็นไปได้ของการกระทำ กล่าวคือ การเลือกกระทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แน่นอนว่า การกระทำนั้นอาจขัดแย้งกันกับธรรมชาติหรือความปกติทั่วไป การกระทำนั้นอาจมีที่มาจากมโนสำนึก ความเป็นไปได้ของจริยศาสตร์นั้นช่วยให้เกิดการขบคิด จริยศาสตร์รั้งเหนี่ยวเราจากความเรียบง่ายในการอธิบายสิ่งที่จะเกิดภายหลังที่เรากระทำบางอย่างลงไป และอนุญาตให้เราตัดสินใจว่าการกระทำใดควรหรือไม่ควรจะเกิดขึ้น จริยศาสตร์พาเราทะยานไปกับคำถามที่ว่า การกระทำใดเป็นการกระทำที่ดีที่สุด? เมื่อต้องตัดสินใจในสถานการณ์บางอย่าง บนความเป็นไปได้ทั้งหมด นอกจากนี้แล้วจริยศาสตร์ยังไถ่ถามถึงความรับผิดชอบต่อการกระทำอันเป็นผลมาจากความคิดความเชื่อและการกระทำของเรา[1] การตอบคำถามทางจริยศาสตร์เหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่จะทำความเข้าใจหนทางของชีวิตและจะนำไปสู่คำตอบของคำถามอย่าง ชีวิตที่ดีที่สุดคืออะไร? และความหมายของชีวิตคืออะไร? อีกด้วย

จริยศาสตร์ ไม่ใช่ ศีลธรรม

ผู้คนส่วนมากมักเข้าใจว่า จริยศาสตร์ เป็นสิ่งเดียวกับ ศีลธรรม แต่ในความเป็นจริงแล้ว จริยศาสตร์ ไม่ใช่ ศีลธรรม แต่อาจมีเนื้อหาบางประการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกันอยู่บ้าง จริยศาสตร์ให้ความสำคัญกับการสอบทานเกี่ยวกับเรื่องของคุณค่า หลักการ และจุดมุ่งหมาย ของการกระทำ[2] จริยศาสตร์ให้ความสำคัญกับ คำถาม ‘ควร’ ทำอะไร ซึ่งการตอบคำถามนี้เป็นการสะท้อนการตัดสินใจที่ขึ้นตรงกับกระบวนการคิดหรือกรอบคิดที่ผู้ตอบคำถามยึดในคุณค่า หลักการ และจุดประสงค์ ไม่ใช่การตัดสินใจจากพฤติกรรมที่ไม่ผ่านการไตร่ตรอง ขนบสังคม หรือ ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง คุณค่าที่ว่านี้คือ คุณค่าความดี หลักการที่ว่าคือ หลักการของความถูกต้อง และ จุดประสงค์ คือ จุดประสงค์หมายมุ่งสำคัญต่อการเติมเต็มความหมายของการมีชีวิตอยู่[3]

ในทางตรงกันข้าม ศีลธรรม หมายถึง ระบบของคุณค่า กฎเกณฑ์เชิงปทัสถาน หรือแนวคิดความเชื่อบางอย่างที่มีมาตรบ่งชี้ในการตัดสินความดี ความชั่ว ความถูกต้อง ความผิด อยู่แล้ว โดยการตัดสินขึ้นอยู่กับว่าจะอ้างอิงหรือมีฐานคิดอยู่บนความเชื่อตามวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา หรือ ความเชื่อทางปรัชญาแบบใด[4] ระบบศีลธรรมใดๆ ก็ตาม นับว่าเป็นเครื่องมือนำทางในระดับปัจเจกบุคคล ทำหน้าที่เสมือนคู่มือเดินทางสำหรับบุคคลในการคิด ตัดสินใจ และดำเนินชีวิต ศีลธรรมเป็นสิ่งที่ยอมรับกันในสังคมหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปตามบริบทสังคม มีความเกี่ยวข้องชี้วัดว่าสิ่งใดถูกหรือผิด และขึ้นตรงกับปัจเจกบุคคล ศีลธรรมสามารถกระทำการเป็นตัวการที่ควบคุมคุณค่าและความเชื่อ รวมถึงการกำหนดการตัดสินใจและพฤติกรรมของบุคคลให้เป็นไปตามระบบศีลธรรมที่ปัจเจกบุคคลนั้นเชื่อหรือยึดถือ[5] ในเชิงประวัติศาสตร์ บางครั้งศีลธรรมเกิดขึ้นและเกี่ยวข้องอย่างแนบสนิทกับขนบคติทางศาสนา เป็นระบบศีลธรรมที่มีฐานคิดจากศาสนา ทั้งนี้โดยภาพรวมแล้ว ศีลธรรมเป็นมาตรวัดหรือระบบคิดบางอย่างที่อยู่ในฐานะเครื่องมือสำหรับยึดถือในการตัดสินความถูกผิดของผู้คนในสังคมหนึ่งๆ[6] คนสองคนที่เป็นเพื่อนกันอาจมีความเชื่อในระบบศีลธรรมที่ต่างกัน หรือ สังคมของผู้คนที่มีช่วงวัยแตกต่างกันมากอาจมีระบบศีลธรรมที่ยึดเป็นปทัสถานที่ต่างกัน

ศีลธรรม อาจบอกกับเราว่าทำสิ่งนี้แล้ว ดี หรือ ไม่ดี ถูก หรือ ผิด แต่จริยศาสตร์บอกให้เราตั้งคำถามว่า ความดี คืออะไร การกระทำอะไร คือ ความถูกต้อง และชีวิตที่ดี มีความหมายเป็นชีวิตแบบใด


‘ฮีโร่’ ในฐานะตัวแทนแนวคิดเชิงจริยศาสตร์แบบต่างๆ

รอร์แชค: Kantian Ethics

มาเริ่มต้นกันที่รอร์แชค ตัวละครหลักผู้ขับเคลื่อนเรื่องราวในภาพยนตร์ ชายผู้ปิดบังใบหน้าด้วยหน้ากากสีขาวที่มีหมึกสีดำที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปมาได้ตลอดเวลา รอร์แชคเป็นชื่อที่มีที่มาจากทฤษฎีการทดสอบทางจิตวิทยา Rorschach เป็นการทดสอบโดยให้ผู้ทดสอบดูภาพหมึกและให้อธิบายสิ่งที่พวกเขาเห็น การทดสอบเชื่อว่าจะช่วยบอกถึงบุคลิกภาพและเชื่อว่าจะเปิดเผยจิตไร้สำนึกของผู้ทดสอบ จากแนวคิดที่เขานั้นยึดถือ รอร์แชคนั้นเชื่อว่าโลกใบนี้มีความดีและความชั่วร้ายเท่านั้น การตัดสินทางจริยศาสตร์แบ่งออกเป็นสองขั้ว ไม่ขาวก็ดำ ถ้าเป็นดำก็ไม่ใช่สีขาว ตามความคิดของรอร์แชคจึงไม่มีพื้นที่สีเทาหรือพื้นที่ของความคลุมเครือของการตัดสินเชิงจริยธรรมอยู่เลย ดังที่เขากล่าวในเรื่องว่า “Because there is good and there is evil, and evil must be punished. Even in the face of Armageddon I shall not compromise in this.” (โลกนี้มีสิ่งดีและสิ่งเลวทราม ความชั่วร้ายต้องถูกลงทัณฑ์ แม้ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับวันสิ้นโลก (Armageddon ตามความเชื่อในคริสตศาสนา) ฉันไม่ควรประนีประนอมกับสิ่งนี้) การจัดแบ่งความดีและความเลวออกเป็นสองขั้ว รวมถึงการยืนหยัดต่อความถูกต้อง โดยไม่ประนีประนอมว่าหรือย่อหย่อน รอร์แชคจึงเป็นตัวแทนแนวคิดจริยศาสตร์แบบค้านท์ (Kantian Ethics) อิมเมนูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant, 1724 - 1804) นักปรัชญาชาวเยอรมัน ผู้เห็นว่ากฎเกณฑ์ทางศีลธรรมที่แท้จริงจะต้องสามารถนำไปใช้ได้กับมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในบริบทหรือสถานการณ์ใดก็ตาม ค้านท์เสนอแนวคิดความจำเป็นเด็ดขาด (Categorical Imperatives) เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญการทำตามหน้าที่หรือกฎสากลที่ใช้ได้กับทุกคน ทุกสถานการณ์ โดยไม่คำนึงถึงผลของการกระทำ[7] การให้น้ำหนักเชิงคุณค่าตามแนวคิดนี้เน้นไปที่การทำตามหน้าที่โดยปราศจากอารมณ์ ความรู้สึก และการคำนึงถึงผลของการกระทำมาเป็นเงื่อนไขในการกระทำการใดๆ การกระทำที่มีคุณค่าสำหรับค้านท์จึงเป็นการกระทำที่เกิดมาจากการสำนึกในหน้าที่เท่านั้น และ ความแน่นอนตายตัวของคุณค่าทางจริยธรรมเป็นไปตามกฎเกณฑ์สากลที่สามารถใช้ตัดสินได้ทุกที่ ทุกเวลา

 

โอซีแมนเดียส: Utilitarian Ethics

“A world united in peace… there had to be sacrifice.” (โลกาจะสันติรวมเป็นหนึ่ง … เสียสละจึงต้องเกิด) คำกล่าวแสดงความหวังและความตั้งใจของโอซีแมนเดียส ฮีโร่ผู้ต้องการเห็นมวลมนุษยชาติอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก เขาคือฮีโร่ผู้ผันตัวมาเป็นนักลงทุนด้านอุตสาหกรรมและประธานกรรมการบริหารเครืออุตสาหกรรม ในภาพยนตร์เขาเป็นผู้วางแผนที่จะรวมชาวโลกให้เป็นหนึ่งเดียว เขามีแผนการที่หวังจะป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 โดยการฆ่าผู้คนหลายล้านคน เขาเชื่อว่าการนำมาซึ่งความสงบสุขของมวลมนุษย์มีความจำเป็นต้องมีผู้เสียสละ ล้มตาย หรือเจ็บปวดเสมอ ด้วยความเชื่อเช่นนี้ โอซีแมนเดียสจึงเป็นตัวแทนที่ดีของแนวคิดจริยศาสตร์แบบประโยชน์นิยม หรือ หลักมหสุข (Utilitarian Ethics) แนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับความสุขมวลรวม กล่าวคือ การกระทำใดที่ก่อให้เกิดความสุขในเชิงปริมาณมากที่สุดและความสุขนั้นเกิดแก่ผู้คนจำนวนมากมากที่สุด การกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ดีและถูกต้อง แนวคิดประโยชน์นิยมจะมองเพียงผลของการกระทำเป็นที่ตั้ง ไม่สนใจวิธีการที่นำไปสู่ผลนั้น ขอเพียงให้เกิดสุขมวลรวมมากที่สุดก็นับว่าเป็นการกระทำที่ดี แนวคิดดังกล่าวนี้มีนักปรัชญาคนสำคัญที่มักถูกกล่าวถึงเสมอเมื่อกล่าวถึงประโยชน์นิยม นั่นคือ เจเรมี เบนธัม (Jeremy Bentham, 1784 - 1832) เบนธัมเริ่มต้นจากการมองว่ามนุษย์นั้นเกิดมาเพื่อแสวงหาความสุข และการแสวงหาความสุขที่มนุษย์ต้องการในตนเอง ขณะเดียวกันมันคือการกีดกันตัวเองให้ห่างไกลจากความทุกข์ยาก มนุษย์จึงมีแรงขับเคลื่อนภายในและแสดงออกมาเป็นการกระทำ[8]

จากแนวคิดของโอซีแมนเดียส นำไปสู่คำถามที่ว่า ความสุขแบบมวลรวม จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องแลกมาด้วยชีวิตมนุษย์บางคน เพื่อให้ มนุษย์บางคนมีชีวิตอยู่ได้ การสนใจเพียงแต่คำตอบ หรือ ผล แล้วละเลยวิธีการ เป็นทางออกของปัญหาที่ดีที่สุดจริงหรือ?

 

เดอะคอมเมเดี้ยน: Nihilism

เดอะคอมเมเดี้ยน ถือเป็นตัวแทนของแนวคิดสูญนิยม (Nihilism) (สำหรับวีรกรรมของตัวละครนี้ ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วในตอนที่ 1/2 จึงจะไม่ขอกล่าวซ้ำ) การมีบุคลิกแบบเสเพลย์บอยที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ของตัวละครนี้ ทำให้สอดคล้องโยงใยไปกับการมองโลกแบบสูญนิยม สูญนิยมปฏิเสธคุณค่าของทุกสิ่ง ปฏิเสธการสร้างคุณค่าและการให้คุณค่าของทุกสิ่ง  สูญนิยมเชื่อว่าทุกสิ่งอย่างนั้นล้วนไร้ความหมาย สูญนิยมมีการแตกแขงแนวคิดแยกย่อยออกไปในหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้มีหลักการอันเป็นพื้นฐานสำคัญร่วมกันอยู่ นั่นคือ เชื่อว่าการดำรงอยู่เป็นสิ่งไร้คุณค่า ไม่มีความจริงแท้ และ ทุกสิ่งไม่มีความหมายทั้งสิ้น เมื่อมองโลกเช่นนี้ นักคิดสูญนิยมจึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะยึดถือหลักการหรือคุณค่าใดๆ ไว้ ทั้งเรื่องของความจริง คุณความดี ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น และการมองโลกบนฐานการมองที่เชื่อว่าโลกใบนี้ปราศจากความหมายและคุณค่าที่แท้ การกระทำที่มนุษย์กระทำไปมันจึงไร้ความหมายไปด้วย ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามแต่ทุกสิ่งทั้งการกระทำและผลของการกระทำล้วนไร้ความหมายทั้งสิ้น รวมความไปถึง ความหมายของการมีชีวิตอยู่ก็นับว่าไร้คุณค่าและความหมายเช่นกัน[9] ดังที่ชายหนุ่มผู้ใช้ชีวิตอย่างโลดโผนเดอะคอมเมเดี้ยนได้กระทำลงไป ล้วนส่อถึงการใช้ชีวิตที่ไม่เชื่อว่ามีความดี ความชั่ว ดำรงอยู่ ทุกสิ่งอย่างในชีวิตล้วนเป็นเรื่องตลกขบขัน ทุกอย่างที่เกิดขึ้นคือเรื่องราวของความสนุกสนานเฮฮา เดอะคอมเมเดี้ยน ชายผู้พกพาเข็มกลัดอิโมจิรูปยิ้มสีเหลืองไปกับเขาทุกแห่งหน แม้ในวาระสุดท้ายของชีวิตรอยยิ้มสีเหลืองเปื้อนเลือดคือพยานเพียงหนึ่งเดียวของการจากไปของเขา ก่อนสิ้นลมหายใจเสียงหัวเราะให้กับความตายของเขาดังขึ้นพร้อมๆ กันกับเสียงเพรียกแห่งความเริงร่า ร้องดังว่า 

"Once you realize what a joke everything is, being the Comedian's is the only thing that makes sense." (เมื่อคุณตระหนักรู้ถึงความหรรษาที่เป็นอยู่ในทุกสรรพสิ่ง การเป็นเดอะคอมเมเดี้ยนเป็นสิ่งเดียวที่สมเหตุสมผล) (เดอะคอมเมเดี้ยน สื่อถึงการเป็นตัวตลก นักแสดงตลก)

 

Manhattan: Existentialism

อีกหนึ่งตัวละครที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ด๊อกเตอร์แมนฮัตตัน แน่นอนว่าชื่อของเขามาจากโครงการแมนฮัตตันที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาคือนักฟิสิกส์นิวเคลียร์ที่ถูกจับเข้าไปทดลองกับอนุภาคกัมมัตรังสีจนทำให้เขาเปลี่ยนรูปแบบของการดำรงอยู่จากมนุษย์ไปอยู่ในภาวะคล้ายพระเจ้า ดังที่ภาพยนตร์แสดงให้เห็น แมนฮัตตันเป็นฮีโร่ที่คล้ายว่ามีอยู่เป็นหนึ่งเดียวกับอนุภาคนิวเคลียร์ จะขอกล่าวถึงความเป็นของแมนฮัตตันโดยคร่าว แมนฮัตตันมีความสามารถที่ ‘เข้าใกล้การมีอำนาจ’ ‘เข้าใกล้ความทรงภูมิ’ และ ‘เข้าใกล้การปรากฏทุกหนแห่ง’ (Nigh-Omnipotence, Nigh-Omniscience and Nigh-Omnipresence) ในภาพรวมคือการเข้าใกล้ภาวะพระเจ้า (God-like being) ตามขนบแนวคิดคริสต์ศาสนา หรือ อาจกล่าวได้ว่า แมนฮัตตัน ‘ก้าวพ้น’ ภาวะการเป็นอยู่แบบมนุษย์ หรือ Post-human being การนำเสนอตัวละครแมนฮัตตันนี้ในทางหนึ่งคือ การยกชูวิทยาศาสตร์ว่าวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่มีอำนาจอยู่เหนือความรู้แบบอื่นๆ ทั้งหมด การทดลองทางวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์นิวเคลียร์ในภาพยนตร์สามารถนำไปสู่การถือกำเนิดภาวะบางอย่างที่ประกอบกันขึ้นมาวัตถุ อะตอม ที่เป็นพื้นฐานและเป็น ‘ความจริง’ ตามองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตคือ ปรัชญาธรรมชาติ (Natural Philosophy) และ จักรวาลวิทยา (Cosmology)

แมนฮัตตัน ผู้อยู่ในภาวะเหนือมนุษย์ หรือ ‘สูงไปกว่า’ มนุษย์ นี้ สะท้อนแนวคิดจริยศาสตร์ของการดำรงอยู่ หรือ การพิจารณาความเป็นอยู่ตามแนวคิดอัตถิภาวนิยม ก่อนอื่นหากเราย้อนกลับไปดูตัวละครที่เป็นมนุษย์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เราจะเห็นว่า มนุษย์ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ล้วนแล้วแต่มีชีวิตอยู่เพื่ออะไรบางอย่าง ความหมายของการมีชีวิตของมนุษย์ในภาพยนตร์เรื่องนี้มีการคาดการณ์หรือคาดหวังต่อการดำรงอยู่ของตนเอง ซึ่งต่างจากแมนฮัตตันที่ถือครองความเหนือมนุษย์ รวมถึงการอยู่เหนือความตาย หากเราลองมองมะลุลงไปถึงการมีอยู่ที่ไม่จำกัด หรือ การไม่ตาย คำถามที่เกิดขึ้นในบันไดขั้นต่อมาคือ ชีวิตเราจะมีความหมายหรือไม่ การตายหรือการสิ้นสุดของภาวะการดำรงอยู่ เป็นเสียงเรียกให้เราทำอะไรบางอย่างที่มีความหมายกับชีวิตก่อนตายใช่หรือไม่?

มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger, 1889 - 1976) นักปรัชญาชาวเยอรมัน เคยกล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ (ผมขอกล่าวอย่างย่นย่อ) ไฮเดกเกอร์พิจารณาถึงความตายในแง่ที่ว่า ความตายต่างจากการเกิดตรงที่ การเกิดมาบนโลกเป็นความแน่นอน แต่ความตายเป็นภาวะที่ ยังมาไม่ถึง ความตายสัมพันธ์กับการดำรงอยู่หรือการมีชีวิตอยู่ตรงที่ว่า การตายเป็นจุดจำกัดหรือจุดสิ้นสุดการมีชีวิต สำหรับไฮเดกเกอร์แล้ว การตายคือภาวะของการสิ้นสุด (finite) ความเป็นไปได้ของการดำรงอยู่ ไฮเดกเกอร์จึงเสนอภาวะ Being-toward-death ภาวะที่การดำรงอยู่ของมนุษย์เผชิญกับภาวะที่ตระหนักรู้ถึงความตายในฐานะจุดสิ้นสุดของการดำรงอยู่ ภาวะดังกล่าวจะเกิดเสียงมโนสำนึกภายในที่บอกกับการดำรงอยู่ของตนเองได้ว่า ‘อะไรคือความหมายที่แท้จริงของตัวมันเองที่มนุษย์ต้องทำก่อนเผชิญความตาย’[10] (ขอเน้นย้ำว่านี่เป็นเพียงการกล่าวถึงการอธิบายมนุษย์ในเชิงภววิทยาของไฮเดกเกอร์แบบย่นย่อ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และมิใช่ทั้งหมด หากจะกล่าวถึงอย่างจริงจังถึงโครงสร้างที่ไฮเดกเกอร์เสนอไว้ จำเป็นที่จะต้องอธิบายให้ละเอียดและลงลึกกว่านี้)

เมื่อแมนฮัตตันจะไม่ตาย ผู้อ่านคิดว่า อะไรคือความหมายของการมีชีวิตอยู่ของแมนฮัตตัน? …

ก่อนจากกัน นี่เป็นเพียง ข้อเขียนที่ชักชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถาม และ สนุก ไปกับปรัชญาผ่านภาพยนตร์ ด้วยวาดหวังว่า ปรัชญา จะงามงอก ในประเทศที่ประชาชนโชคไม่ค่อยจะดีนัก …

 

 

อ้างอิง

[1] https://ethics.org.au/about/what-is-ethics/

[2] ibid

[8] ธูปทอง กว้างสวาสดิ์. 2531. การศึกษาเชิงวิจารณ์หลักมหสุขของ จอห์น สจ๊วต มิลล์ / ธูปทอง กว้างสวาสดิ์. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่:เชียงใหม่

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: ชำแหละ Watchmen: ความหมายของ ‘คนดี’ และ ‘ฮีโร่’ ในฐานะตัวแทนแนวคิดเชิงจริยศาสตร์ 1 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net