Skip to main content
sharethis

ย้อนคำถาม รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับสันติภาพชายแดนใต้แล้วหรือ ย้อนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ 3 ยุค BRN พร้อม แต่รัฐบาลเพื่อไทยจะสานต่อหรือไม่ จับตา “ทวี สอดส่อง” จัดทัพพูดคุยสันติภาพใต้ ผอ.วิทยาลัยประชาชนชู 7 ข้อเสนอเพื่อเดินหน้าต่อในรอบใหม่ ขอความมุ่งมั่นจากผู้นำรัฐบาลไทย ขอให้ส่งคณะพูดคุยที่มีอำนาจเต็ม ไม่เอาแล้ว “ส่งคณะมาคุยโดยที่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง” พร้อมเรียกร้องรัฐสภามีกลไกสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ


แวอิสมาแอล์ แนแซ ผู้อำนวยการวิทยาลัยประชาชน (People’s College)

“สันติภาพชายแดนใต้” จะไปยังไงต่อ ในเมื่อรัฐบาลยังไม่ได้แสดงความมุ่งมั่น ตั้งใจและแนวทางที่ชัดเจนออกมา 

สันติภาพชายแดนใต้ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกอภิปรายอย่างกว้างขวางและเผ็ดร้อน ในที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เมื่อวันที่ 11 - 12 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

ไม่ให้ความสำคัญกับสันติภาพชายแดนใต้แล้วหรือ

เอกสารคำแถลงนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย ก็ไม่ได้ระบุนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้โดยตรง แต่ระบุไว้กว้าง ๆ ว่า “จะสนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน ประชาชนกับประชาชนที่มีความแตกต่างทางความคิด ศาสนา และอุดมการณ์ ให้สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขภายใต้หลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง เพื่อให้สันติภาพเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศต่อไป เท่านั้น” จนถูกตั้งคำถาว่า รัฐบาลชุดใหม่ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้แล้วหรือ

โดยนายรอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้อภิปรายว่า เป็นความพยายามจะลดทอนความสำคัญของความขัดแย้งในชายแดนใต้หรือไม่ หรือตั้งใจและจงใจหลีกทางให้การกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาอยู่ในมือของกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคงต่อไป

“คำแถลงของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้จึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากคำประกาศยอมจำนนของรัฐบาลพลเรือนต่อกองทัพและเครือข่ายอำนาจของพลังอนุรักษ์นิยมไทยที่หวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลง หวาดหวั่นต่อการสร้างสันติภาพที่ตนไม่คุ้นเคย ทำทุกอย่างเพื่อคงสถานะเดิมเช่นนี้ต่อไป” 

รอมฎอน ยังได้ตั้งคำถาม 7 ข้อ ขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยตอบ หนึ่งในนั้นคือ ข้อ 6.รัฐบาลจะเดินหน้าการเจรจาสันติภาพต่อไปหรือไม่อย่างไร หรือรัฐบาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเจรจาอีกต่อไปแล้ว

ไม่ได้แถลงไม่ได้แปลว่าไม่ทำ

ขณะที่ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติซึ่งอยู่ฝ่ายรัฐบาล อภิปรายว่า แม้ไม่ปรากฏในคำแถลงนโยบาย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถทำได้ โดยตนเองหวังและเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ ที่มีรัฐมนตรีที่มีความเข้าใจ คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะทำให้เหตุการณ์ในสามจังหวัดเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งกระบวนการสันติภาพต้องเดินคู่ไปกับการพัฒนา

“ผมเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ จะนำบทเรียนเรื่องการพูดคุยสันติภาพมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น นำบทเรียนหลายอย่าง มาทำให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปควบคู่กับการพัฒนา” นายกมลศักดิ์ กล่าว

ส่วน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ได้อภิปรายชี้แจงว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ตนได้สอบถามในที่ประชุมว่า ในคำแถลงนโยบายทั้ง 14 หน้า ทำไมไม่มีเรื่องสันติภาพ/สันติสุขของภาคใต้ ได้รับคำตอบว่ามีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้นำมาเขียนเพราะความเป็นหลักนิติธรรมสูงสุด

ย้อนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ 3 ยุค

กระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการ BRN เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ในสมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมี พล.อ.ภราดร พัฒนาถาบุตร เป็นหัวหน้าคณะ และมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ร่วมอยู่ในคณะพูดคุยชุดนี้ด้วย

กระบวนการพูดคุยครั้งนั้น ถือเป็นกระบวนการพูดคุยยุคที่ 1 ซึ่งจบลงในปลายปีเดียวกันเนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองในกรุงเทพ กระทั่งนายกฯ ยิ่งลักถูกรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากนั้นกระบวนการพูดคุยจึงเข้าสู่ยุคที่ 2 เป็นการพูดคุยระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายไทยกับกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของสมาชิกขบวนการเอกราชปาตานีกลุ่มต่างๆ และรัฐบาลขณะนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น การพูดคุยสันติสุข

อย่างไรก็ตาม ต่อมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มตระหนักได้ว่าจำเป็นต้องกลับไปพูดคุยกับขบวนการ BRN อีกครั้ง กระทั่งเกิดเป็นกระบวนการพูดคุยสันติภาพยุคที่ 3 ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ภายใต้ “ความริเริ่มเบอร์ลิน (Berlin Initiative, 16 พฤศจิกายน 2562) และหลักการทั่วไปกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Principles of the Peace Dialogue Process, 31 มีนาคม 2565)”

ปัจจุบัน พล.อ.ภราดร ก็อยู่ในพรรคเพื่อไทยด้วย แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า เขาจะกลับมามีบทบาทในกระบวนการพูดคุยสันติภาพในขณะนี้ด้วยหรือไม่ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะให้เขามีบทบาทอะไรบ้างหรือไม่

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติซึ่งมีฐานเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คาดว่าจะได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้รับผิดชอบดูแลการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับคณะผู้แทนขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional หรือ BRN)

จับตา “ทวี สอดส่อง” จัดทัพพูดคุยสันติภาพ

ทว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า พ.ต.อ.ทวี จะสานต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างไร จะใช้กลไกเดิมหรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ โดยเฉพาะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยคนปัจจุบัน

โดยการพูดคุยครั้งล่าสุด กับคณะผู้แทนขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional หรือ BRN) เป็นการพบปะหารือและพูดคุยแบบเต็มคณะครั้งที่ 6 ของคณะพูดคุยชุดนี้ที่มีขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 21 -22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โดยฝ่าย BRN มีอุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน เป็นหัวหน้าคณะ และมี พล.อ.ตันศรี ดาโตะซรี ซุลกีฟลี ไซนัล อะบิดิน อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก

ครั้งนั้น ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะร่วมกันจัดทำ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) ตามเจตนารมณ์ของหลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (General Principles of the Peace Dialogue Process) 

โดย JCPP จะมีเนื้อหาสำคัญ 2 ส่วนที่จะนำไปสู่สันติภาพ คือ 

1. การลดความรุนแรงในพื้นที่และการยุติความเป็นปรปักษ์ต่อกัน ซึ่งจะต้องกำหนดรูปแบบของการลดความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการติดตามผล และ 

2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งมี 5 ประเด็นได้แก่ 1)รูปแบบปกครอง 2)การยอมรับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมประชาคมปาตานี 3) สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และกฎหมาย 4) เศรษฐกิจและการพัฒนา และ 5) การศึกษา นอกจากนี้ ยังมีหัวข้ออื่นๆ ที่จะต้องจัดทำร่วมกันอีกเพื่อสนับสนุนกระบวนการเจรจาสันติภาพ เช่น การรับประกันความปลอดภัยให้ตัวแทน BRN ที่จะเข้ามารับฟังประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น

BRN พร้อม รัฐบาลเพื่อไทยจะเอายังไง

เดิมที ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบในการกำหนดกรอบเวลาดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับ JCPP เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในปี 2566 และ 2567 โดยมอบหมายให้คณะทำงานทางเทคนิคของแต่ละฝ่าย นัดหารือกันอย่างไม่เป็นทางการเพื่อร่วมกันจัดทำรายละเอียดของ JCPP ให้เสร็จสิ้นในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2566 และนำเสนอต่อโต๊ะพูดคุยแบบเต็มคณะในเดือนมิถุนายน 2566 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ แต่จนถึงวันนี้การพูดคุยอย่างเป็นทางการก็ยังไม่เกิดขึ้น

โดยฝ่าย BRN ได้ยุติบทบาทคณะพูดคุยชุดอุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาแล้ว เพื่อรอความชัดเจนจากรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งว่าจะเดินหน้าต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างไร ซึ่งรัฐบาลใหม่ก็เพิ่งได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 11 – 12 กันยายน ที่ผ่านมาเอง แต่ก็ได้เตรียมความพร้อมในการเดินหน้ากระบวนการพูดคุยไว้แล้ว หากรัฐบาลไทยจะเดินหน้าต่อ

ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้ คือ รัฐบาลจะเดินหน้าการเจรจาสันติภาพต่อไปหรือไม่อย่างไร อย่างที่รอมฎอน ปันจอร์ ได้ตั้งคำถามไว้ในที่ประชุมรัฐสภา และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะขยับต่อเรื่องนี้อย่างไร อะไรที่รัฐบาลต้องทำ

ขอความมุ่งมั่นจากผู้นำรัฐบาลไทย

นายแวอิสมาแอล์ แนแซ ผู้อำนวยการวิทยาลัยประชาชน (People’s College) ในฐานะภาคประชาสังคมที่ติดตามกระบวนการสันติภาพมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้ขับเคลื่อนงานสันติภาพในภาคประชาชนมายาวนาน ได้ฝากคำถามถึงรัฐบาลชุดใหม่ ดังนี้

1. รัฐบาลไทย (Royal Thai Government: RTG) ต้องแสดงความมุ่งมั่น (Commitment) มากพอเพื่อให้ขบวนการต่อสู้เพื่อปาตานีและสังคมปาตานีรู้สึกเชื่อมั่นและมีส่วนร่วมกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ คือทำให้รู้สึกว่ากระบวนการสันติภาพนี้สำคัญ มองเห็นทางออกและมีความหวังต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ 

“มิฉะนั้นแล้ว จะยิ่งตอกย้ำให้สังคม นานาชาติ ตลอดจนขบวนการต่อสู้รับรู้ว่า รัฐไทยไม่ได้มีเจตนารมณ์อย่างแข็งขันที่จะแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่” 

ในทางกลับกัน หากจะหวังให้ขบวนการต่อสู้เพื่อปาตานีแสดงตัวว่า มี commitment ที่สูงพอๆ กับฝ่ายรัฐหรือยิ่งกว่ารัฐนั้น ก็ขอให้เข้าใจว่า ฝ่ายขบวนการมีวิธีการแสดงออกและการเข้าถึงสังคมที่จำกัด

ขอคณะพูดคุยฝ่ายไทยที่มีอำนาจเต็ม

2. รัฐบาลใหม่จะต้องแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติภาพที่ได้รับอาณัติเต็ม มีอำนาจตัดสินใจได้ หากไม่เป็นเช่นนั้น คณะพูดคุยฝ่ายไทยก็ไม่ต่างอะไรจากชุดหน่วยข่าวกรองที่ไปหาข่าวแล้วกลับมารายงานนายของตัวเอง แล้วก็รอการพูดคุยรอบต่อไป ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้เองที่จำกัดความก้าวหน้าของการพูดคุยครั้งที่ผ่าน ๆ มา

3. รัฐบาลไทยต้องแสดงความมุ่งมั่นให้สังคมและขบวนการต่อสู้เพื่อปาตานีเห็นว่า รัฐบาลไทยก็อยากเห็นความก้าวหน้าของการพูดคุยสันติภาพด้วยเช่นกัน ซึ่งมีหลายอย่างที่สามารถทำได้เลย เช่น ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ยกเลิกด่านตรวจบนท้องถนน ให้เสรีภาพในการแสดงออก และอื่นๆ ที่เป็นผลจากความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนาน

4. หากรัฐบาลใหม่จะส่งคณะพูดคุยสันติภาพอีกครั้ง สมควรที่จะต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ ดังนี้ 

4.1 ตอบสองผลการพูดคุยสันติภาพครั้งที่ผ่าน ๆ มา โดยเริ่มจากกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลภายใน 100 วันแรก เพื่อให้สังคมปาตานีและสังคมไทย รวมถึงขบวนการต่อสู้ ผู้อำนวยความสะดวกฝ่ายมาเลเซีย และนานาชาติ เห็นว่า รัฐบาลใหม่จริงจังมากกับการหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธี

4.2 พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) ตามที่คณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องมาแล้ว
ไม่เอาแล้ว ส่งมาคุยโดยที่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง

4.3 รัฐบาลไทยต้องพิจารณาว่า จะเริ่มการพูดคุยรอบใหม่อย่างไร จะแต่งตั้งใครเป็นคณะพูดคุย จะให้อำนาจตัดสินใจด้วยหรือไม่ ต้องไปคุยกับใครบ้าง ต้องจัดตั้งกลไกอะไรบ้างเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนกระบวนการพูดคุย ต้องไปคุยกับมาเลเซียก่อนหรือไม่ จะให้สังคมปาตานีมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง และจะมีกลไกอะไรบ้างในรัฐสภาที่จะคอยสนับสนุนกระบวนการพูดคุย “ไม่เอาแล้ว ที่อยู่ๆ RTG ก็ส่งคณะมาคุยโดยที่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร”

4.4 รัฐบาลปัจจุบันควรใช้ทีมพูดคุยทีมเดิมจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งทำหน้าที่ด้าน ด้านเนื้อหา และด้านการข่าว เพราะพวกเขามีประสบการณ์สูง มีฐานข้อมูลที่อับเดท และเข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลง
นานาชาติยังไม่เห็นความก้าวหน้าจากฝ่ายรัฐบาลไทย

5. รัฐบาลต้องเปิดเผยและไม่ปิดบังความเคลื่อนไหวของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ตลอดจนต้องกล้ายอมรับว่า กลุ่มบุคคลที่รัฐบาลแต่งตั้งเป็นคณะพูดคุยนั้นมีความเป็นตัวแทนจริงๆ และพวกเขาพร้อมที่จะหาทางออกทางการเมืองเหมือนที่รัฐบาลไทยต้องการเช่นเดียวกัน

5.1 ให้ผู้นำประเทศคนใหม่จงตระหนักด้วยว่า ปัญหาความรุนแรงในชายแดนใต้เป็นปัญหาที่นานาชาติเกาะติดและติดตามมาโดยตลอด และยังไม่เห็นความก้าวหน้าที่ควรจะเป็นจากฝ่ายรัฐบาลไทยเลย

6. ขอให้รัฐบาลใหม่พึงรู้ไว้ด้วยว่า การแสวงหาทางออกด้วยการพูดคุยสันติภาพเป็นแนวทางที่ BRN ต้องการ และเป็นแนวทางหลักในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่การปล่อยปละละเลยการพูดคุยสันติภาพ ก็คือการชักนำสถานการณ์ความรุนแรงให้กลับมาอีกครั้ง ดังนั้นทางออกของปัญหาที่ปาตานี อยู่ที่รัฐไทยเองว่าจะเลือกให้มันเป็นไปทิศทางไหน
เรียกร้องรัฐสภามีกลไกสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพ

7. เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาไทยเอาจริงเอาจังต่อการหาทางออกจากความรุนแรงในชายแดนใต้ โดยสนับสนุนให้มีกลไกต่างๆ ในรัฐสภาที่เกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ และเอื้อให้เกิดแรงตอบสนองต่อข้อตกลงสันติภาพ ร่วมกันตรวจสอบและสนับสนุนทำงานของรัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลจริงจังไปกว่าเดิม

“สุดท้ายขอให้รับรู้ว่า การเรียกร้องให้เกิดสันติภาพในปาตานีนั้น ขอให้รัฐบาลใหม่ตื่นตัวและตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของตนที่ต้องทำ อย่าให้ขบวนการต่อสู้ปาตานีเรียกร้องสันติภาพอยู่ลำพังฝ่ายเดียว” นายแวอิสมาแอล์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net