Skip to main content
sharethis

'ศุภโชติ ไชยสัจ' สส.พรรคก้าวไกล ตั้งคำถาม เซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนปากแบง จำเป็นแค่ไหน ชี้กระบวนการศึกษาไม่ชัด - ราคารับซื้อสูงเกินความเป็นจริง หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม-ชุมชนริมฝั่งโขง เรียกร้องรัฐบาลทบทวน

23 ก.ย. 2566 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล แจ้งข่าวว่า ศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้ากับผู้พัฒนาโครงการสร้างเขื่อนปากแบง เมื่อวันที่ 13 กันยายน โดยจะเริ่มขายไฟฟ้าให้ไทยในปี 2576 ราคาค่าไฟ 2.76 บาทต่อหน่วย เป็นสัญญาซื้อขายระยะเวลา 29 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศุภโชติกล่าวว่า ตนและพรรคก้าวไกล ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการเซ็นสัญญาในครั้งนี้ เนื่องจากมีข้อกังวล 3 ประการ

ประการที่หนึ่ง กระบวนการศึกษาที่ยังไม่ชัดเจน มีการตั้งคำถามอย่างมากจากทั้งฝั่งประชาชน รวมถึงองค์กรอิสระต่างๆ ถึงการศึกษาและการอนุมัติสร้างเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่สมบูรณ์ของเอกสารรายงานการศึกษาผลกระทบทั้งหมดของโครงการ มีการใช้ข้อมูลเก่า รวมถึงประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอของ จ.เชียงราย ได้แก่ อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ อ.เชียงแสน ไม่เคยได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับภาวะน้ำเท้อจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนปากแบง ว่าน้ำจะท่วมเข้ามาในพื้นที่ชุมชนของตนอย่างไร มีระดับสูงแค่ไหน จะเสียหายอย่างไร ระยะเวลาเท่าใด

แม้บางหน่วยงานยืนยันว่าจะไม่มีการสร้างเขื่อนเกิดขึ้น เนื่องจากต้องรอแผนรับรองผลกระทบเสร็จสิ้น รวมถึงยังต้องใช้ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ฝั่งลาวกำลังทำการศึกษาอยู่ แต่นั่นก็ยิ่งสนับสนุนข้อสงสัยมากขึ้นว่าเหตุใด กฟผ. จึงต้องรีบร้อนลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าครั้งนี้ขนาดนี้

ประการที่สอง ราคารับซื้อที่สูงเกิน หากเปรียบเทียบราคารับซื้อกับโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำอื่น ๆ อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงถือว่าสูงกว่าความเป็นจริง แถมยังมีราคาใกล้เคียงกับราคารับซื้อจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในประเทศ ดังนั้น แทนที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน เราเดินเครื่องจากโรงไฟฟ้าในประเทศ ที่มีอยู่เกินความจำเป็น จะดีกว่าหรือไม่ เนื่องจากกำลังไฟฟ้าสำรองของไทยในปัจจุบันมีมากกว่า 50% อีกทั้งไม่ต้องแลกกับต้นทุนที่จะหมดไปกับการสร้างเขื่อนใหม่ ไม่ว่าจะเป็น วิถีชีวิต เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง

ประการที่สาม ผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ เช่น ผลกระทบจากภาวะน้ำเท้อจากอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะส่งผลต่อพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรโดยรอบจำนวนมาก ผลกระทบต่อระบบนิเวศและพี่น้องประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำ ผลกระทบต่อการอพยพของปลาและการประมงของชุมชนริมแม่น้ำโขง หรือแม้แต่ผลกระทบต่อการเก็บไก ซึ่งเป็นสาหร่ายในแม่น้ำโขงในช่วงฤดูแล้ง ที่เป็นสินค้าเศรษฐกิจท้องถิ่นสำคัญของคนทั้ง 3 อำเภอ ที่ปัจจุบันสร้างรายได้ร่วมแสนบาทต่อคน

ศุภโชติกล่าวว่า จากสามข้อที่กล่าวมา ตนและพรรคก้าวไกลเห็นว่าการสร้างเขื่อนนี้จะก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน โดยเฉพาะประชาชนและเกษตรกรริมฝั่งแม่น้ำโขง รวมไปถึงการเร่งรัดกระบวนการ อาจทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใส กับโครงการขนาดใหญ่ที่ยังไม่มีความจำเป็นกับสถานการณ์ในบ้านเราในขณะนี้ก็เป็นได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net