Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการศึกษาประชามติแก้รัฐธรรมนูญมีมติตั้งอนุกรรมการสองชุดมาทำงานเพื่อรับฟังความเห็นจากกลุ่มอาชีพต่างๆ เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ และศึกษาแนวทางการทำประชามติให้สอดคล้องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย้ำต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้ได้ ตั้งเป้าทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญไตรมาสแรกของปี 2567

เมื่อวานนี้ (10 ต.ค.2566) ไทยรัฐออนไลน์รายงานถึงการประชุมของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มีภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม

ภูมิธรรมกล่าวเปิดการประชุมว่าอยากจะเร่งและดำเนินการให้เต็มที่ในการทำรัฐธรรมนูญโดยการขอประชามติ แต่จะไม่ไปแตะหมวด 1 และ 2 รวมถึงพระราชอำนาจในมาตราอื่นๆ โดยจะให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จบภายใน 4 ปีพร้อมมีกฎหมายลูกประกาศออกมาและตั้งมั่นที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ผ่าน จึงต้องพยายามรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ตามที่เราจะให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และคิดว่าการทำรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีวิวัฒนาการและเป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกตั้งที่ดี

รองนายกฯกล่าวด้วยว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้กำหนดกรอบการทำงานและดูวิธีการทำงานว่าจะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้และได้แสดงความขอบคุณบุคคลที่เข้าร่วมคณะกรรมการ

จากนั้นเวลา 14.40 น. นิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการฯ กล่าวภายหลังการประชุมว่าที่มาคณะกรรมการชุดนี้เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลคือการแก้ปัญหาความเห็นต่างเรื่องรัฐธรรมนูญให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยึดรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หาแนวทางทำประชามติให้เป็นที่ยอมรับ

นิกรกล่าวว่ายังมีเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อสรุปคือจะมีการทำประชามติกี่ครั้ง ซึ่งยังมีความเห็นเป็นสองทางระหว่าง 2 หรือ 3 ครั้ง ต้องไปศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่เราคิดเองไม่ได้ รวมถึงต้องไปศึกษาร่างรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่ค้างอยู่ในรัฐสภาและศึกษารัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทั้งปี 40 และ 50  ศึกษาที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และวิธีการเลือกตั้ง สสร. ที่ต้องทำไปด้วยกัน

โฆษกคณะกรรมการฯ ระบุว่าที่ประชุมครั้งนี้เห็นว่าให้คณะกรรมการชุดใหญ่มีการประชุมเดือนละครั้ง และตั้งคณะอนุกรรมการมา 2 ชุดเพื่อเป็นคนทำงาน โดยชุดแรกให้ทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มอาชีพต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้เวลาจำกัดและไม่ดึงเวลา ส่วนชุดที่สองจะศึกษาแนวทางการทำประชามติให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและกำหนดว่าจะทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง การตั้งคณะอนุกรรมการจะให้เวลา 2-3 วัน และคณะกรรมการชุดใหญ่สามารถเข้าไปสมัครด้วยความสมัครใจได้

ภูมิธรรมกล่าวด้วยว่า คาดว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่วันที่ 10 พ.ย. แล้วให้คณะอนุกรรมการรายงานความคืบหน้าว่ามีอะไรติดขัดหรือไม่ และคณะกรรมการชุดใหญ่จะมีหน้าที่เชิญภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมารับฟังให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นเพราะไม่อยากให้เกิดความเห็นต่างแล้วไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ

ประธานคณะกรรมการฯ ระบุเป้าหมายที่จะได้ข้อสรุปทั้งหมดในสิ้นเดือนธันวาคม 2566 และจะมีประชามติเกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2567 และต้องร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เสร็จภายใน 4 ปีเพื่อใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ส่วนเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ผ่านศาลรัฐธรรมนูญนั้นต้องหาทางว่าอะไรที่เป็นปัญหาก็จะต้องแก้ไข ต้องทำรัฐธรรมนูญให้สำเร็จให้ได้ และขั้นตอนแก้ไขในรัฐสภาก็ทำหน้าที่ไปโดยไม่ต้องรอว่าจะต้องให้มี สว.ชุดใหม่ก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net