Skip to main content
sharethis

ชวนส่องสถานการณ์การเมืองโปแลนด์ หลังผ่านเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคแนวร่วมสายกลาง-เสรีนิยม-ฝ่ายซ้าย นำโดย โดนัลด์ ทัสก์ อดีตนายกฯ เตรียมรวมตัวโหวตคว่ำ รบ.ฝ่ายขวา แม้ชนะเลือกตั้ง แต่ได้ สส.ไม่พอตั้ง รบ. พร้อมดูผลกระทบต่อยุโรป และสงครามยูเครน หลังจากนี้ 

 

18 ต.ค. 2566 เว็บไซต์ เอบีซี นิวส์ (ABC News) รายงานเมื่อ 16 ต.ค. 2566 ระบุว่า สืบเนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปของโปแลนด์ ครั้งล่าสุดเมื่อ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ผลคะแนนเลือกตั้งอย่างมไม่เป็นทางการ ปรากฏว่า พรรคนิติและยุติธรรม (Law and Justice Party หรือ PiS) ซึ่งเป็นพรรคสนับสนุนแนวทางนโยบายอนุรักษ์นิยมและชาตินิยมสามารถชนะการเลือกตั้ง โดยได้ สส.จำนวน 194 ที่นั่ง หรือคิดเป็นราว 42 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่นั่งสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดของโปแลนด์ จำนวน 460 ที่นั่ง

ขณะที่พรรคอันดับ 2 อย่างพรรคแนวร่วมประชาชน (Civic Coalition หรือ KO) นำโดย โดนัลด์ ทัสก์ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานสหภาพยุโรป หรือ EU ได้ สส.จำนวน 157 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 34.13 เปอร์เซ็นต์ 

ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการที่จัดขึ้นในวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา ทำให้พรรคฝ่ายขวาชาตินิยม PiS ยังคงมีโอกาสชนะคะแนนเสียง แต่จะไม่มีที่นั่งมากพอในการที่จะเป็นผู้นำรัฐบาล ทำให้เปิดโอกาสให้กับพรรคการเมืองฝ่ายค้านอีก 3 พรรคที่เหลือ หากสามารถรวมที่นั่งในสภาได้มากพอ จะสามารถโค่นรัฐบาลเดิมลงได้

อย่างไรก็ตาม หนึ่งวันหลังการเลือกตั้ง ทัสก์ ได้ออกมาประกาศว่ายุคสมัยใหม่ของโปแลนด์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว หลังจากที่พรรคฝ่ายค้านดูเหมือนว่าสามารถหาพันธมิตรรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้มากพอ โหวตคว่ำพรรครัฐบาลฝ่ายขวาชาตินิยมที่เคยชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ได้ 

ทัสก์ กล่าวต่อหน้าผู้สนับสนุนที่ส่งเสียงเชียร์ในทำนองว่า การสิ้นสุดการปกครองของพรรค PiS เป็นเรื่องน่าเฉลิมฉลอง "โปแลนด์ชนะ ประชาธิปไตยชนะ พวกเราสามารถโค่นพวกเขาลงจากอำนาจได้แล้ว ... ผลที่ออกมาอาจจะยังดีขึ้นกว่านี้ได้อีก แต่ถึงตอนนี้เราก็พูดได้แล้วว่ามันคือจุดจบของช่วงเวลาที่เลวร้าย นี่คือจุดจบของพรรค PiS"

โดนัลด์ ทัสก์ เมื่อปี 2559 (ที่มา: EU Parliament)

พรรค PiS นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะจับมือเป็นแนวร่วมกับพรรคขวาจัดคือพรรค Confederation แต่ก็ดูเหมือนว่าที่นั่งในสภาของพวกเขาจะมีรวมกันไม่มากพอ ในขณะที่การจับมือกันของพรรคสายกลาง Civic Coalition, พรรคเสรีนิยม Third Way และพรรคฝ่ายซ้าย New Left ก็นับเป็นการจับมือของพรรคที่ต้องการโค่นพรรครัฐบาลเก่า PiS และต้องการคินความสัมพันธ์ที่ดีกับสหภาพยุโรป

อนึ่ง ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ สำหรับพรรค Confederation เข้าป้ายมาเป็นอันดับ 5 ได้ที่นั่ง สส.เพียง 11 ที่นั่ง หากรวมกับ PiS ยังได้ สส.เพียง 205 ที่นั่งเท่านั้น ยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร 

สื่อ ABC News เผยแพร่บทวิเคราะห์ว่า การเลือกตั้งโปแลนด์ อาจส่งผลต่อพันธมิตรในสงครามยูเครน และความสัมพันธ์ระหว่างโปแลนด์ และ EU

การเลือกตั้งครั้งสำคัญ

ในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง ชาวโปแลนด์จำนวนมากมองว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดของโปแลนด์นับตั้งแต่ปี 2532 ทีเดียว ซึ่งในยุคนั้น โปแลนด์เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย หลังจากที่อยู่ในระบอบคอมมิวนิสต์มาเป็นเวลานานหลายสิบปี

การเลือกตั้งในครั้งนี้ยังมีผู้คนที่มาลงคะแนนเสียงมากกว่าในปี 2532 อีกด้วย โดยในปีนี้ มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวนสูงถึง 21,596,674 คน ในบางแห่งถึงขั้นยังมีคนต่อคิวเข้าคูหาเลือกตั้งถึงแม้ว่าหน่วยเลือกตั้งจะปิดลงคะแนนตามเวลาทางการแล้วก็ตาม แต่ก็มีการอนุญาตให้คนที่มาต่อคิวสามารถลงคะแนนเสียงได้

ก่อนหน้าที่จะมีการลงคะแนน ทัสก์ กล่าวว่า การเลือกตั้งนี้เกี่ยวพันกับอนาคตของโปแลนด์ใน EU ซึ่งพรรค PiS กล่าวว่าพวกเขาไม่มีแผนการที่ให้โปแลนด์ถอนตัวออกจากอียู แต่แค่ต้องการจะลดอิทธิพลของ EU ที่มีต่อประเทศสมาชิก พรรค PiS กล่าวหาว่า ถ้าหากพรรคแนวร่วมของทัสก์ ชนะการเลือกตั้ง โปแลนด์ก็จะเต็มไปด้วยผู้อพยพ แต่พรรคแนวร่วมของทัสก์ ก็ปฏิเสธว่าคำกล่าวหานี้เป็นแค่การสร้างเรื่องให้คนกลัวไปเอง

นอกจาก EU แล้ว การเมืองโปแลนด์จะส่งผลต่อประเด็นยูเครนด้วย โดยที่ประเทศโปแลนด์ถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อการสกัดกั้นรัสเซีย โปแลนด์มีพรมแดนติดกับทั้งยูเครนและเบลารุส เบลารุสเป็นประเทศพันธมิตรกับรัสเซียที่กำลังทำสงครามกับยูเครน ถึงแม้ทุกพรรคของโปแลนด์ต่างก็เห็นด้วยกับการให้โปแลนด์ยังคงเป็นสมาชิกนาโต้ต่อไป แต่ก็มีจุดยืนต่อเรื่องยูเครนต่างกันออกไป สื่อ ABC ระบุว่า ความเรื่องสัมพันธ์กับยูเครน เป็นนโยบายที่คนให้ความสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้

เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โปแลนด์กล่าวหาเบลารุสว่าทำการละเมิดน่านฟ้าของของโปแลนด์ ก่อนที่จะส่งกองทัพ 10,000 นาย ไปที่ชายแดน

นโยบายชาตินิยมของพรรค PiS ยังได้ทำลายความสัมพันธ์กับยูเครนด้วย ในขณะที่โปแลนด์ถูกมองว่าเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกับยูเครนนับตั้งแต่รัสเซียก่อเหตุรุกรานยูเครน อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางที่คอยส่งอาวุธจากชาติตะวันตกให้กับยูเครนด้วย ขณะที่ยูเครนคอยส่งธัญพืชให้กับตลาดของโปแลนด์ ในตอนนั้นความสัมพันธ์ระหว่างโปแลนด์กับยูเครนยังคงเป็นไปด้วยดี

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างโปแลนด์ และยูเครน เริ่มตึงเครียดขึ้น หลังจำนวนสมาชิกพรรคขวาจัด Confederation เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นายกรัฐมนตรีของโปแลนด์ ก็บอกว่า ประเทศของเขาจะไม่ส่งอาวุธให้กับยูเครนอีก ถึงแม้ว่าโปแลนด์จะเป็นประเทศสมาชิกนาโตประเทศแรกที่ส่งอาวุธให้กับยูเครนก็ตาม

พรรคขวาจัด Confederation หาเสียงด้วยการใช้ข้อความต่อต้านยูเครน กล่าวหาว่ายูเครนเป็นประเทศที่ขาดความสำนึกในบุญคุณต่อโปแลนด์ที่ช่วยเหลือในสงครามรัสเซีย แต่พรรค Confederation ก็ทำคะแนนเสียงได้ไม่ดีนักในการเลือกตั้งล่าสุด ซึ่งอาจจะทำให้ยูเครนเบาใจลงได้

ใครคือ โดนัลด์ ทัสก์

โดนัลด์ ทัสก์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีโปแลนด์มาก่อนตั้งแต่ปี 2550 และชนะการเลือกตั้งรัฐสภาในอีกสมัย ทำให้ดำรงตำแหน่งอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี 2557 ทำให้เขากลายเป็นคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโปแลนด์ต่อเนื่อง 2 สมัยซ้อนนับตั้งแต่ที่ระบอบคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์ล่มสลายไปเมื่อปี 2532 นอกจากนี้ ทัสก์ยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะมนตรียุโรปตั้งแต่ปี 2557-2562  

ในช่วงที่ทัสก์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรค Civic Platform ได้ร่วมกับพรรคชาวนาโปแลนด์ในการจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาล เขามีนโยบายฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเยอรมนี และรัสเซียหลังจากเหตุการณ์เพื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเชิงสนับสนุนธุรกิจและสนับสนุนสหภาพยุโรป ซึ่งเชื่อว่าเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประเทศในช่วงที่มีวิกฤตทางการเงินปี 2551-2552

ความนิยมของทัสก์ เสื่อมถอยลงในช่วงสมัยที่ 2 หลังจากที่เขาเพิ่มเกณฑ์อายุเกษียณเป็น 67 ปี และมีเรื่องอื้อฉาวหลายเรื่องกับพรรคของเขา รวมถึงเรื่องที่ลูกของเขา ไมเคิล ทัสก์ ถูกพบว่ามีส่วนกับแชร์ลูกโซ่ 

หลังจากที่ทัสก์ หมดวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาก็ได้รับตำแหน่งประธานคณะมนตรียุโรปในปีเดียวกัน ปัญหาที่ท้าทายในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งที่ EU คือ กรณีที่รัสเซียทำการผนวกรวมไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตัวเองจากที่เคยเป็นของยูเครน และอีกความท้าทายคือเรื่องที่อังกฤษ ออกจากการเป็นสมาชิก EU ในปี 2559

ทักส์ ออกจากตำแหน่งใน EU เมื่อปี 2562 แล้วมาเป็นหัวหน้าพรรค Civic Platform ที่เป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วม Civic Coalition ทักส์ ให้สัญญาว่าจะทำให้หลักนิติธรรมกลับคืนมาในประเทศ และสร้างความสัมพันธ์กับ EU ใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ความสัมพันธ์กับ EU แย่ลงมากในช่วงสมัยรัฐบาล PiS

พรรค PiS อยู่ในตำแหน่งมานานเท่าไหร่แล้ว

พรรคฝ่ายขวา PiS เป็นรัฐบาลโปแลนด์นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ผู้นำพรรคคือ ยาโรสลอว์ คักซินสกี ซึ่งเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ทรงอำนาจที่สุดในประเทศ

นับตั้งแต่พรรคชาตินิยมอนุรักษ์นิยมอย่าง PiS ครองอำนาจพวกเขาก็ออกกฎเข้มงวดมากขึ้นในเรื่องการทำแท้ง และสร้างกำแพงที่ชายแดนใกล้เบลารุส เพื่อสกัดกั้นผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย PiS ยังสัญญาว่าจะคงนโยบายต่อต้านผู้อพยพต่อไป และจะต่อต้านแผนการของ EU ในการให้ประเทศในยุโรปแบ่งความรับผิดชอบในการรับผู้อพยพ

ยาโรสลอว์ คักซินสกี (Jarosław Kaczyński) (ที่มา: เว็บไซต์ รัฐบาลโปแลนด์)

นอกจากนี้ รัฐบาล PiS ยังเคยทะเลาะกับ EU ในเรื่องที่ PiS ละเมิดหลักการประชาธิปไตยด้วย จนทำให้ทาง EU ระงับเงินทุนช่วยเหลือฟื้นฟูโปแลนด์จากผลกระทบของโรคระบาด COVID-19 รวมหลายพันล้านยูโร ทางพรรค PiS ระบุว่า พวกเขาต้องการให้ EU มีอำนาจน้อยลงต่อประเทศสมาชิก 27 ประเทศ

พรรค PiS ยังได้เพิ่มงบประมาณกองทัพ และแสดงตัวสนับสนุนยูเครนอย่างแข็งขันหลังจากที่รัสเซียก่อสงครามรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ ถึงแม้ว่าในช่วงไม่นานนี้ความสัมพันธ์ระหว่างโปแลนด์กับยูเครนจะเริ่มเสื่อมถอยลงก็ตาม

รัฐบาลพรรค PiS ได้รับความนิยมในเรื่องการให้เงินสวัสดิการสำหรับครอบครัว และคนวัยเกษียณ รวมถึงให้สัญญาว่าจะมีการขยายสวัสดิการตรงนี้ถ้าหากพวกเขาชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง

เมื่อช่วงต้นปี 2566 มีชาวโปแลนด์ราวครึ่งล้านคนประท้วงบนท้องถนนของกรุงวอร์ซอ พวกเขาประท้วงที่พรรค PiS ทำให้ความสำเร็จของโปแลนด์จำนวนมากที่ได้มาในช่วงหลังการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ล่มสลายปี 2532 เสื่อมถอยลง

การโหวตประชามติเรื่องอื่นควบคู่ไปกับการเลือกตั้ง

นอกจากการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว ผู้ลงคะแนนเสียงในโปแลนด์ยังได้ตอบคำถามประชามติ 4 ข้อควบคู่ไปด้วย คือคำถามที่ว่าพวกเขามีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องการรับผู้อพยพ, การให้คงไว้ซึ่งกำแพงใหม่ที่ชายแดนติดเบลารุส, ความเห็นเกี่ยวกับการเพิ่มอายุเกษียณ และการขายทอดต่อทรัพย์สินของราชการ

กฎหมายโปแลนด์กำหนดให้ต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่าร้อยละ 50 มีส่วนร่วมในการลงประชามติเหล่านี้ ประชามติถึงจะมีผลผูกมัดทางกฎหมาย

มีฝ่ายค้านบางส่วนที่เรียกร้องให้ผู้ลงคะแนนบอยคอตต์ประชามติพ่วงในครั้งนี้ โดยบอกว่ามันเป็นความพยายามของรัฐบาลในการเรียกเสียงสนับสนุนให้ตัวเอง ซึ่งดูเหมือนว่ามีผู้ลงคะแนนจำนวนมากปฏิเสธที่จะลงคะแนนเสียงประชามติในโปแลนด์ ไม่มีการบังคับให้ประชาชนต้องลงคะแนนเสียง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net