Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2566 'The Fort' ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร จัดงานศุกร์เสวนา ในหัวข้อ "นโยบายลาคลอด/ลาเลี้ยงลูกในประเทศไทยควรเป็นแบบไหน" พร้อมฟังความเห็นผู้ปกครอง นักกิจกรรม และนักการเมือง ถึงการผลักดันนโยบายลาคลอดลาเลี้ยงลูก ให้เป็นประโยชน์ต่อคน(ทำ)งาน อย่างมีประสิทธิภาพ 

โดยมีผู้เข้าร่วมอภิปราย ประกอบด้วย

  1. ติมาพร เจริญสุข ตัวแทนแม่จากกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง
  2. รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  3. จะเด็จ เชาว์วิไล ผู้อำนวยการ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
  4. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ส.ส.กรุงเทพฯ เขตสายไหม พรรคก้าวไกล

กัลยาวีร์ แววคล้ายหงษ์ จากองค์กร "The Fort" ในฐานะผู้ดำเนินรายการ 

ประสบการณ์ลาคลอดสาวฉันทนา

ติมาพร ในฐานะคุณแม่ และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ย่านรังสิต เล่าประสบการณ์การตั้งครรภ์ ขณะทำงานในโรงงานย่านนวนคร จ.ปทุมธานี โดยเธอระบุว่า ตอนตั้งครรภ์เธอได้สิทธิหยุดลาคลอดจำนวน 98 วัน จากประกันสังคม ได้รับค่าคลอดเหมาจ่าย 1.5 หมื่นบาท และได้ค่าแรงที่บริษัทออกให้ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 45 วัน ส่วนเงินจากประกันสังคมได้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งเงินส่วนนี้ทำให้เราอยู่กับลูกเราได้เพิ่มอีก 3 เดือน แต่บางครอบครัวดิ้นรนมากกว่าเรา และมีเวลาน้อยมากในการเลี้ยงลูก

ติมาพร เจริญสุข

ติมาพร ระบุต่อว่า แม้ว่าข้อมูลขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า เด็กทารกคนหนึ่งต้องได้รับนมแม่ เป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือ 180 วัน แต่ในประเทศไทยทำไม่ได้แบบนั้น เพราะคุณแม่ต้องกลับไปทำงานเพื่อหาเงินประทังชีวิต และในส่วนของนายจ้างคงไม่ยอมให้ลาถึง 6 เดือน 

ติมาพร กล่าวต่อว่า เวลากลับมาทำงานคุณแม่บางคนน้ำนมยังไหลอยู่ ต้องใช้แผ่นซับน้ำนมปิดไว้ หรือบางบริษัทไม่มีพื้นที่หรือห้องให้ปั้มนมแม่ ยิ่งในบริษัทที่เป็นผู้ชายมีจำนวนมากกว่าแรงงานผู้หญิง แม่บางคนไม่มีพื้นที่ เขาต้องใช้ผ้าคลุมเพื่อปั้มนม มันลำบาก และรู้สึกว่าโรงงานไม่สนับสนุน แต่โชคดีที่บริษัทของเธอผู้หญิงเยอะ เราเลยมีห้องสามารถใช้ปั้มน้ำนมได้ ซึ่งมาจากการเรียกร้องของสหภาพแรงงาน บริษัทไม่ได้เอื้ออำนวยให้เราเอง 

สมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ระบุว่า บางครอบครัวลูกอยู่ต่างจังหวัด บางคนปั้มนมแล้วต้องฝากคนส่งรถตู้หรือพนักงานขนส่งนมไปให้ลูกที่บ้าน แม้ว่าจะมีการแก้ปัญหาโดยการซื้อนมผงให้ได้ แต่ว่าแม่อยากให้ลูกได้สารอาหารจากน้ำนมมากกว่า ส่วนนี้สำคัญจริงๆ แม่บางคนรู้สึกแย่ เพราะว่าลูกได้น้ำนมไม่ครบ 6 เดือน หรือบางคนได้เพียงเดือนเดียว เพราะบางคนท้องแก่ใช้สิทธิลาก่อนคลอดในระยะเวลา 3 เดือน ดังนั้น หลังคลอดแล้ว มีเวลาลาได้เพียงเดือนเดียว ก็ต้องกลับมาทำงาน

ติมาพร ระบุว่า ปกติคนต่างจังหวัดไม่อยากห่างจากลูกเลย แต่ด้วยสิทธิลาคลอดแค่ 3 เดือน ก็ต้องออกมาทำงาน ด้วยต้องหาเลี้ยงปากท้อง และมีค่าใช้จ่ายอย่างนมผง เรื่องผ้าอ้อม มีราคาแพงขึ้น ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยเงิน ถ้าเป็นไปได้อยากได้สิทธิลาคลอด 6 เดือนดีกว่า แต่โรงงานจะไม่อนุญาต เขาจะบอกว่าคนขาด เขาจะอ้างแบบนี้

เลี้ยงลูกงานหนัก ส่งผลกระทบต่อจิตใจ

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.พรรคก้าวไกล และผู้ร่วมผลักดันสิทธิลาคลอด 180 วัน ร่วมแชร์ประสบการณ์ช่วงตั้งครรภ์ลูกทั้ง 2 คนขณะทำงานที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยเธอระบุว่าตอนนั้นเธอได้วันลาคลอด 3 เดือน โดยได้เงินเดือนเต็ม และได้จากประกันสังคม 7,500 บาท ทำให้เธอมีเวลาอยู่กับลูก โดยไม่ลำบากมากเรื่องเงิน 

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์

อย่างไรก็ตาม สส.ก้าวไกล ระบุต่อว่า งานเลี้ยงลูก 3 เดือนเป็นช่วงเวลาที่งานหนักมาก เธอแทบไม่ได้เงยหน้าขึ้นมาเวลาเลย ชีวิตประจำวันตอนนั้นคือให้นมลูก หลังจากนั้นเธอจะปั้มนมต่อทุก 2 ชั่วโมง นำน้ำนมแม่ใส่ถุง เขียนระบุวันที่ปั้มนม เอานมเข้าตู้เย็น ล้างเครื่องปั้ม พอหัวแตะหมอนยังไม่ทันจะเข้านอน ลูกร้องหิวนมอีกแล้ว แทบไม่มีเวลาพักผ่อน นอกจากนี้ เธอเคยคำนวณว่า หลังจากหมดสิทธิลาคลอด 3 เดือนแล้ว อีก 3 เดือนที่เหลือที่ต้องกลับไปทำงาน เธอต้องปั้มนมแม่ตุนไว้อย่างน้อย 3-4 พันถุง เพื่อให้เพียงพอระยะเวลาที่ลูกต้องทานนมแม่ครบ 6 เดือน 

"ที่เขาบอกว่านอนให้พอนะก่อนเลี้ยงลูก เพราะว่ามันไม่ได้นอนจริงๆ ที่มีข่าวว่าลูกเสียชีวิตตอนอาบน้ำ เพราะว่าแม่หน้ามืด อยากบอกว่าตัวเองเคยเป็น เพราะว่าไม่ได้นอนเลย" ศศินันท์ กล่าว

ศศินันท์ กล่าวยอมรับด้วยว่า การที่ไม่ได้รับการพักผ่อนจากการเลี้ยงลูกส่งผลต่อสุขภาพจิตของเธอ ส่งผลกลายเป็นโรคซึมเศร้า และตั้งคำถามกับคุณค่าของตัวเองเหมือนเป็นเครื่องผลิตนมแม่ หรือเคยเหนื่อยถึงขนาดมีความคิดที่จะเอาหมอนปิดหน้าลูกและเธอเอง เพื่อให้ชีวิตกลับมาเป็นเหมือนเดิมและได้พักผ่อน ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าวทำให้ สส.ก้าวไกล เข้าอกเข้าใจว่า เวลาที่ข่าวรายงานว่ามีแม่ที่ฆ่าลูก เพราะมันเป็นสภาวะแบบนั้นจริงๆ ที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้น 

ศศินันท์ มองว่าปัญหารัฐไทยตอนนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนเป็นแม่มากพอ ทั้งในเรื่องวันลาคลอด สุขภาพจิต หรือโดยเฉพาะห้องให้นมลูก ตอนไปเที่ยวที่ไต้หวัน เธอพบว่าไต้หวันมีห้องนมให้เยอะมาก ซึ่งทำให้เรารู้สึกดี และเหมือนให้ความสำคัญกับเรา ซึ่ง สส.ก้าวไกล มองว่านี่จะเป็นนโยบายต่อไปที่เธออยากทำต่อหลังจากเรื่องลาคลอด 

สิทธิลาคลอดสามี แบ่งเบาภาระภรรยา

จะเด็ด เชาวน์วิไล จากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองในฐานะผู้เคยมีประสบการณ์ช่วยภรรยาเลี้ยงลูกนั้น ทำให้เข้าใจผู้หญิงมากขึ้นว่างานเลี้ยงลูกไม่ได้เป็นงานที่สบาย และมองว่านโยบายลาคลอดจะช่วยแบ่งเบาภาระทางด้านสุขภาพร่างกาย และจิตใจ ของฝ่ายภรรยาได้ 

จะเด็ด เชาวน์วิไล

นอกจากนี้ จะเด็ดอยากให้ผู้ชายมองว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเสียศักดิ์ศรี เป็นเรื่องของทุกคนเพศไหนทำได้หมด จริงๆ แล้วมันฝึกเราให้เข้าใจมากขึ้น และมองว่าอยากให้สิทธิลาคลอดกับฝ่ายชาย โดยให้สิทธิลาคลอด 180 วันให้เฉพาะผู้หญิงไปเลย และให้ผู้ชายมีสิทธิลาคลอดแยกออกมาอย่างน้อย 1 เดือน ตอนนี้ข้าราชการลาได้ 15 วัน แต่ยังไม่เห็นผลตอบรับว่าเป็นอย่างไร อันนี้อยากเก็บข้อมูลว่าเป็นอย่างไร แต่ตนเองมองด้วยว่า 15 วันอาจจะน้อยเกินไปที่จะเข้าใจเรื่องราวต่างๆ 

จะเด็ด มองด้วยว่า หลังจากผลักดันสิทธิลาคลอดของฝ่ายชายได้แล้ว เขามองว่าสิทธิลาคลอดหลังจากนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมองว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน อย่างที่ศศินันท์ ระบุว่า หลายคนคิดจะทำร้ายลูกเพราะว่าฝ่ายชายไม่ช่วยเหลือ มันจะช่วยลดเรื่องนี้ด้วย และต้องปรับทัศนคติฝ่ายชาย และขยายผลว่าเพศสภาพอื่นๆ ต่อไปสามารถทำได้ ซึ่งตนเองเชื่อว่างานนี้สามารถทำได้ทุกเพศ

ทลายมายาคติ 'ภาวะชายเป็นพิษ' 

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ในฐานะผู้ที่ผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการ ช่วยวิเคราะห์ว่า ทำไมสิทธิลาคลอดยังไปไม่ถึง 180 วัน กล่าวว่า ตอนสมัยที่ทำงานให้พรรคอนาคตใหม่ สำนักนายกฯ หรือองค์กรอื่นๆ มีการผลักดันแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งเพิ่มสิทธิวันลาคลอดจาก 90 วันเป็น 180 วัน แต่เนื่องจากเป็นร่างการเงิน จึงต้องให้ทางนายกรัฐมนตรีพิจารณาก่อน แต่สุดท้ายในสมัยประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่างดังกล่าวถูกตีตก ให้เหตุผลแนบมาว่าจะกระทบต่อเงินประกันสังคมทั้งที่จริงๆ กระทบก็กระทบน้อยมาก 

นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุต่อว่า ในประสบการณ์ที่เคยผลักดันเรื่องสวัสดิการนั้น มี 2 นโยบายที่ถูกต่อต้านเยอะคือเรื่องยกเลิกหนี้ กยศ. และสิทธิวันลาคลอด 180 วัน ซึ่งทั้งสองนโยบายไม่ได้ใช้งบประมาณเยอะ

ษัษฐรัมย์ ระบุว่า โดยเฉพาะเรื่องการลาคลอด 180 วัน พอเรื่องนี้ถูกจุดประเด็นขึ้นมา เราจะเห็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า 'Toxic Masculinity' หรือว่าสภาวการณ์ชายเป็นพิษ ในการที่จะบอกว่าถ้าเป็นแบบนี้จะกลายเป็นการลาหัวปีท้ายปี ผู้หญิงจะไม่สามารถทำงานได้ จะไม่แฟร์กับคนที่ไม่มีสิทธิ ถ้าคุณเป็นคนโสดจะถูกเอาเปรียบ จะมีการสร้างวาทกรรมนี้ขึ้นมา

"ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อพิสูจน์เลยว่า ประเทศที่มีวันลาคลอดเยอะ จะเป็นภัยกับผู้หญิง ไม่มีประเทศที่บอกว่าถ้าเพิ่มวันลาคลอดของผู้หญิง จะทำให้ผู้หญิงจะสูญเสียงาน สูญเสียรายได้ สูญเสียโอกาสในชีวิต… แต่มีงานวิจัยจำนวนมากอธิบายให้เห็นว่าหากผู้หญิงลาได้ถึง 7 เดือน สามารถเก็บงาน มากกว่าการเก็บงานคือการเก็บชีวิต เก็บความฝัน และประเทศที่สามารถลาคลอดได้เยอะ เราจะพบว่ารายได้ผู้หญิงระยะยาวจะสูงมากกว่า ประเทศที่มีวันลาคลอดน้อย" ษัษฐรัมย์ กล่าว

ทำไมสิทธิวันลาคลอด 180 วันในไทยยังไม่เกิดขึ้น 

ษัษฐรัมย์ ระบุว่า ทำไมประเทศไทยไม่เกิดขึ้น ไม่ใช่ประเทศไทยไม่มีงบฯ มันใช้งบฯ น้อยมาก โดยใช้งบประมาณราว 5 เปอร์เซ็นต์ ของนโยบายดิจิทัลวอลเลตซึ่งใช้งบฯ จำนวน 4 แสนล้านบาท ส่วนที่รัฐต้องจ่ายใช้น้อยมาก นอกจากนี้ ในแง่การเมือง เราจะเห็นว่าทุกพรรคพูดเหมือนกันหมด เรื่องผู้หญิง เรื่องลาคลอด หรือคนแก่ ไม่มีพรรคไหนไม่พูด ซึ่งในการเมืองมันเป็นฉันทามติประมาณหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ยากก็คือไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ หรือการเมือง แต่ที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดคือฐานความคิดที่ว่า 'ภาวะชายเป็นพิษ' 

"ผมว่ามันมีสัญญาณเปลี่ยนที่ดี อย่างเช่น คำว่า 'ชายแท้' เป็นคำชม แต่ว่าช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมา คำว่า 'ชายแท้' เป็นคำด่า อันนี้ผมคิดว่า มันเป็นจุดเปลี่ยนที่ดีสำคัญที่จะทำให้การเรียกร้องเรื่องความเสมอภาคมันก้าวกระโดดได้" ษัษฐรัมย์ 

นโยบายลาคลอดในฝัน

ติมาพร ระบุว่า อยากให้นโยบายสิทธิลาคลอด 6 เดือน หรือ 180 วัน จ่ายเงินเดือนเต็มตลอด 6 เดือน และอยากให้สามีมีสิทธิลาคลอดได้ 1 เดือน โดยจ่ายค่าแรงเต็ม และอยากได้เงินอุดหนุนบุตร โดยตอนนี้เราได้รับ 600 บาทจากรัฐบาล และได้รับจาก 800 บาทจากประกันสังคม ซึ่งเงินจากรัฐบาลมันน้อยไป อย่างน้อยควรได้สัก 3,000 บาท เพราะว่าค่าของใช้ หรือผ้าอ้อม ราคาแพงขึ้นด้วย 

นอกจากนี้ ติมาพร กล่าวว่า คุณแม่บางคนเขาไม่มีคนช่วยดูแลลูกให้ อย่างน้อยต้องจ้างเดือนละ 5,000 บาท มนุษย์โรงงานได้รับเงินค่าจ้าง 15,000 บาทต่อเดือน เจียดไปเป็นเงินเลี้ยงลูกอีก 5,000 บาท ค่าน้ำ และค่าไฟ บางคนมีค่ารถหรือค่าเช่าบ้านที่ต้องรับภาระ เลยอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องสถานเลี้ยงดูเด็กเล็กใกล้แหล่งที่ทำงาน

ความหวังสังคมเปลี่ยนแปลง

ศศินันท์ กล่าวว่า เนื่องจากการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพื่อผลักดันสิทธิลาคลอด 180 วัน (พ่อ-แม่แชร์กัน) เป็นร่างกฎหมายการเงิน ต้องรอว่านายกรัฐมนตรีจะปัดตกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้พยายามทำแคมเปญให้สังคมเห็นความสำคัญกับการลาคลอด เพื่อที่รัฐบาลจะได้ไม่ปัดตก และนอกจากกระบวนการทางสภาฯ แล้ว กระบวนการทางสังคมก็สำคัญ ต้องพูดเรื่องนี้ให้มากขึ้น

สส.พรรคก้าวไกล มองว่า มีความหวังเรื่องความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เพราะสังคมเปลี่ยนไปเยอะ เราเห็นผู้ชายเลี้ยงดูลูกเยอะมากขึ้น  มีการเปิดเพจเลี้ยงลูกของตัวเองมากขึ้น มีการแชร์ความคิดเกี่ยวกับความสำคัญของการเลี้ยงลูก หรือเรื่องนมแม่ ตอนนี้สังคมกำลังไปในทิศทางที่ดี และรัฐต้องพยายามตามสังคมให้ทัน ตอนนี้เราเริ่มเห็นหินก้อนแรกแล้ว แต่เราค่อยๆ ช่วยกันปาหินเข้าไปบ่อยๆ ทำให้เกิดคลื่น เกิดเป็นแรงกระเพื่อมให้เห็นความเปลี่ยนแปลง 

นอกจากนี้ สส.ก้าวไกล เสนอด้วยว่า เราอาจจะต้องชื่นชมบริษัทที่เริ่มสิทธิลาคลอด 6 เดือน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้บริษัทอื่นๆ จะเริ่มสนใจทำมากขึ้น 

"ลาคลอด 6 เดือนแล้ว (ผู้สื่อข่าว - กลัว) จะสูญเสียแรงงาน แต่ถ้าไม่ลาคลอด 6 เดือน ระวังจะไม่มีแรงงาน ไม่มีใครมีลูก ต่อไปสังคมเราจะยิ่งแย่กว่าเดิมอีก ถ้าเราไม่มีนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการแม่และเด็กมากขึ้น ไม่มีใครอยากมีลูกแน่นอน" ศศินันท์ กล่าว 

มองกรณีศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิก ให้หยุด 480 วัน 

ษัษฐรัมย์ กล่าวกรณีศึกษากลุ่มประเทศ 'นอร์ดิก' (ประกอบด้วย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน) นั้นเขาให้หยุดลาคลอด 480 วัน (ราว 1 ปี กับ 4 เดือน) แม้ว่ามันก็แตกต่างกันตามแต่ละประเทศ แต่เขาจะกำหนดเลยว่าผู้ชายได้หยุดลาคลอด 6 เดือน ซึ่งตรงนี้มันเชป (shape) ค่านิยมด้วย เช่น ผู้ชายที่ไม่ใช้สิทธิลาเพื่อไปเลี้ยงดูบุตร ถือว่าเป็นผู้ชายที่แย่ หรือเห็นแก่ตัว และให้ผู้หญิงไปใช้สิทธิ ต่อให้ประเทศเขาสวัสดิการดีมาก ซึ่งผู้หญิงได้ค่าจ้างเต็ม หรือได้ค่าจ้าง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าผู้ชายไม่ออกไปช่วย สังคมจะมองว่าผู้ชายคนนี้แย่ ในทางกลับกัน ถ้าผู้ชายที่ออกไปเลี้ยงลูก จะได้รับการชื่นชมจากสังคม

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

นักวิชาการจากธรรมศาสตร์ ระบุว่า ในรายละเอียดเชิงเทคนิค ลาหยุด 480 วัน ยังเป็นสิ่งที่เราควรจะพูดถึง แต่ในเรื่องตัวตนของผู้หญิง หรือแรงงาน เวลาที่ลามาเลี้ยงดูบุตรเกิน 7 เดือนแล้ว แรงงานหญิงจะเริ่มไม่สามารถกลับเข้าไปจูนระบบการทำงานหลังลามาเลี้ยงดูบุตรได้ และสูญเสียงานระยะยาว หลายประเทศจึงล็อกให้ผู้หญิงใช้สิทธิแค่ 7 เดือน และจากนั้นให้ผู้ชายมาใช้สิทธิลาหยุดแทน ผู้ชายแบ่งมาใช้ เพื่อที่ผู้หญิงจะได้กลับไปทำงาน ตัวตนยังคงอยู่ และไม่สูญเสียงาน 

บางคนใช้ไม่หมด เพราะ 480 วันเยอะมาก เขาให้ได้ใช้ได้จนกระทั่งถึงลูกอายุ 9 ขวบ สมมติว่า ใช้ลาหยุดไป 400 วันแล้ว ที่เหลือสามารถเก็บไว้ใช้ได้ปีละ 10 วัน โดยใช้อันนี้นอกเหนือจากวันลาพักร้อน หรือวันลาอื่นๆ ให้ 10 วันนี้พาลูกไปเที่ยวทะเล หรือเข้าค่าย 

บางคนอาจมองว่านี่เป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่เรากำลังบอกว่ามีคนหลาย 10 ล้านคนได้ประโยชน์ และในประเทศไทยเอง หากคุณไปดูชนชั้นนำ เขาก็ใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่มีใครตาย และลูกหลานเขาเติบโตมามีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่มีใครล้มละลายด้วยนโยบายนี้ เพราะฉะนั้น ในมุมของตนเอง มันสามารถออกแบบโมเดลได้ 

ขยายไปในกลุ่มแรงงานนอกระบบ

ษัษฐรัมย์ มองว่า โจทย์ต่อไปคือทำยังไงให้สิทธิลาคลอดสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยที่มีแรงงานอิสระปริมาณมหาศาลกว่า 20 ล้านคน โดยจำนวนนี้มีผู้หญิง 10 ล้านคน ซึ่งมันมีแนวคิดหนึ่งคือ 'ประกันสังคมถ้วนหน้า' คือให้ทุกคนอยู่ระบบประกันสังคมที่รัฐสมทบให้ ซึ่งตอนนี้ไทยไม่มี มีแต่เป็นภาคสมัครใจ และภาคบังคับผ่านนายจ้าง ซึ่งถ้ามีประกันสังคมถ้วนหน้า จะทำให้สิทธิสวัสดิการถูกส่งต่อไปยังแรงงานอิสระที่เป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ลำบากทึ่สุด มีความเปราะบาง และไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเคยคำนวณว่าน่าจะใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาท หลายคนอาจจะวิจารณ์เรื่องการใช้งบฯ ที่เยอะ แต่นี่คือหัวใจของคำว่า "รัฐสวัสดิการ" ที่บาทแรกจนบาทสุดท้ายถูกนำมาใช้คนธรรมดา 

"คุณจะเอาเรือดำน้ำไปทำไม คุณจะเอาทหารประจำการ 3 แสนนายไปทำไม คุณเอาเป็นห้องให้นม เป็นศูนย์เด็กเล็ก มาเป็นวันลาคลอด มาเป็นเงินให้เปล่าให้แม่ที่เป็นแรงงานอิสระ สิ่งเหล่านี้คือหัวใจของรัฐสวัสดิการ ประเทศไทยเรา 3 ล้านล้านเอามารวมกันหมดทั้งหมดยังไม่ถึงงบ 60 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีเลย นี่แหละคือคำว่า 'รัฐสวัสดิการ' บาทแรกถึงบาทสุดท้ายมาสู่คนธรรมดาให้ได้มากที่สุด" ษัษฐรัมย์ กล่าว

ษัษฐรัมย์ ระบุว่า ร่างกฎหมายของก้าวไกลมีความยืดหยุ่นและก้าวหน้ามาก คือไม่ใช่ระบุเฉพาะชายหรือหญิง แต่สามารถแชร์กันได้ ไม่ได้กำหนดเป็นเฉพาะแม่ผู้ให้กำเนิดบุตร ดังนั้น ตรงนี้เป็นเงื่อนไขสำหรับการรับเลี้ยงดูบุตร หรือเป็นหลานที่อยู่ภายใต้การดูแลของคุณ ก็ให้ได้รับสิทธินี้ เราถือว่าก้าวหน้ามากในด้านความเท่าเทียมทางเพศ เราพบว่าปัจจุบัน ความสำคัญที่มันหลากหลาย มากกว่าความสำคัญระบบเพศคู่ชาย-หญิง หรือไบนารี คำว่าชายและหญิงจะเป็นคำที่ล้าหลังในอนาคตอันใกล้

จะเด็ด มองนโยบายสิทธิลาคลอดเห็นด้วยกับษัษฐรัมย์ ถึงเวลาปฏิรูปประกันสังคมให้สอดรับคนงานให้มีความยืดหยุ่น ตอนนี้อาจจะหมดยุคของสาวฉันทนาแล้ว ต่อไปในอนาคตอาจจะไม่มีโรงงานเหลืออยู่มาก ประกันสังคมต้องเข้าไปรองรับแรงงานตลาดไม่ว่าหญิงหรือชาย หรือเพศสภาพอื่นๆ ก็ได้ นายจ้างอาจบอกว่าไม่มีเงิน ก็ให้ประกันสังคมช่วย ซึ่งน่าจะทำแบบนี้ได้ และอาจจะโยงเรื่องอื่นๆ ตามมา เช่น เงินอุดหนุนเด็ก หรือศูนย์เด็กเล็ก เห็นด้วยกับแนวคิดให้เป็นประกันสังคมถ้วนหน้า และให้ประกันสังคมออกจากรัฐราชการ ให้มันเป็นระบบซึ่งมีส่วนร่วมของคนที่เสียเงิน ตอนนี้คนจ่ายเงินมีส่วนร่วมน้อย 

สนับสนุนบทบาทสหภาพแรงงาน

จะเด็ด มองว่า นโยบายอื่นๆ ที่จะเข้ามาเสริมสิทธิลาคลอดมีหลายตัว เช่น สวัสดิการผู้หญิง เด็ก และครอบครัว ซึ่งอาจหมายรวมถึงครอบครัวรูปแบบใหม่ ไม่ได้เป็นรูปแบบเดิม และอยากสนับสนุนบทบาทสหภาพแรงงาน สหภาพเป็นตัวแทนของลูกจ้าง และสามารถเป็นตัวหลักออกมาช่วยขับเคลื่อนร่วมกับภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่ทำเรื่องประเด็นผู้หญิง หรือประเด็นอื่นๆ 

สมาชิกมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า โอกาสมันมีสูงที่จะผลักดันสิทธิลาคลอด เพราะว่าสังคมเริ่มเปลี่ยน แม้ว่าต้องใช้เวลา แต่เราสามารถทำได้ ตนเชื่อแบบนั้น เราต้องสู้กับความคิดแบบชายเป็นใหญ่ มันหมดยุคที่ผู้หญิงต้องดูแลคนเดียวอีกแล้ว และตอนนี้เราเห็นโรงงานที่ทำแล้วได้ผล ไม่มีปัญหาเรื่องที่ว่าทำให้ผู้หญิงมีปัญหากันเองอย่างที่มันมีการรสร้างมายาคติก่อนหน้านี้ แต่มันเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทั้งนี้ ช่วงท้ายของการเสวนา ได้เปิดโอกาสให้ผู้ชมซักถามเรื่องรัฐจะมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยอย่างไร เพื่อสนับสนุนสวัสดิการการลาคลอด 180 วัน และให้ผู้เข้าร่วมอภิปรายทิ้งท้ายเสวนา

โดยษัษฐรัมย์ ได้เสนอมุมมองว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายหญิงเท่านั้นถึงจะเริ่มผลักดันนโยบายลาคลอด แต่ทุกคนสามารถมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และร่วมผลักดันสวัสดิการส่วนนี้ได้ 

"จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องมนุษย์ และเราควรได้ในฐานะมนุษย์ และสิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์เราต่างจากสัตว์ เราสามารถเจ็บปวดกับคนที่เราไม่รู้จักได้ คนที่ตั้งครรภ์ ไม่สามารถลาคลอดได้ นี่ละความเป็นมนุษย์ อย่างตอนนี้ภรรยา ตั้งท้อง 7 เดือน เป็นประสบการณ์ใหม่ของผม เป็นอะไรที่ท้าทายในชีวิตมาก และผมรู้ว่าเป็นเวลาที่ยากลำบากสำหรับคน โดยเฉพาะคนชนชั้นกลางระดับล่างอย่างเราๆ ผมคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคนที่สามารถรู้สึกได้" นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทิ้งท้าย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net