Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านซีโปยันมานานกว่า 200 ปี กังวลว่าเมื่อเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกชีโปถูกประกาศจะทับพื้นที่สวนลองกองและทุเรียนของพวกตน แต่ไม่เคยได้รู้เรื่องการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของกรมอุทยานฯ แม้ว่าสำนักงานอุทยานจะอยู่ติดชุมชน ที่ผ่านมายังถูกเจ้าหน้าที่ห้ามตัดต้นยางต้นลองกองที่ปลูกกันเองด้วย

เมื่อ 10 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมาที่โรงเรียนตาดีกามัสยิดบ้านซีโป หมู่ 3 ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส มีเวทีของ“โครงการการส่งเสริมและปกป้องสิทธิในที่ดินเพื่อรากฐานของสันติภาพชายแดนใต้ (พื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป)” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและกฎหมายป่าไม้ที่ดินแก่ประชาชน โดยมีวิทยากรจากสมัชชาคนจน และ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อศึกษานโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนศ.จชต.) เป็นผู้ทำกระบวนการและให้ข้อมูล

ในงานมีชาวบ้านซีโป ประมาณ 40 คน รวมทั้งผู้ใหญ่บ้านเข้าร่วม โดยมีการระดมข้อมูลปัญหาที่ดินจากผู้เข้าร่วม วิทยากรให้ข้อมูลปัญหาที่ดินในประเทศไทย และมีการร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาที่ดินของตำบลเฉลิม ตลอดจนการระดมความคิดเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา

จากการให้ข้อมูลของชาวบ้านชีโปในเวที พบว่า บ้านซีโปมีการตั้งถิ่นฐานมาเกือบ 300 ปีแล้ว ดังจะเห็นได้จากต้นลองกองอายุ 200 ปีที่โด่งดัง อีกทั้งที่นี่ยังเป็นพื้นที่ที่รัฐเคยให้สัมปทานแก่นายทุนข้างนอกมาตัดไม้อยู่เป็นเวลานาน ปัญหาหลักที่ชาวบ้านซีโปประสบมาตลอดก็คือ ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน อย่างมากก็มีแค่ใบ สค.1 ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยเข้าถึงช่องทางดำเนินการเพื่อขอให้รัฐออกเอกสารสิทธิให้ ต่อมาในระยะหลังมีปัญหาจากการที่เจ้าหน้าที่มาห้ามไม่ให้โค่นต้นยางที่แก่เสื่อมสภาพเพื่อปลูกใหม่ รวมทั้งการไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (การยางแห่งประเทศไทย) อีกต่อไป

น่าสนใจว่า บ้านซีโปเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ติดกับสำนักงานเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป (เตรียมการ) ในช่วงแรกเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ตอนที่เริ่มจัดตั้ง “วนอุทยานน้ำตกซีโป” (กรมป่าไม้ขึ้นทะเบียนเป็นวนอุทยานน้ำตกซีโปเมื่อปี 2519) ชาวบ้านซีโปเป็นผู้บริจาคที่ดินให้ทางการมาตั้งสำนักงาน และเป็นผู้ช่วยบุกเบิกสถานที่และก่อสร้างอาคาร เพราะเห็นว่าหากน้ำตกซีโปได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็จะเป็นการดีต่อเศรษฐกิจของชุมชน ชาวบ้านไม่คาดคิดว่าต่อมาที่นี่จะถูกยกระดับให้กลายเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งกินขอบเขตพื้นที่กว้างขวางหลายหมื่นไร่และทับพื้นที่สวนผลไม้และสวนยางของชาวบ้าน

ตั้งแต่เริ่มมีการเตรียมการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านก็ต้องเผชิญกับข้อห้ามในการตัดโค่นต้นยาง และต้องอยู่ภายใต้การจับตาของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าจู่ๆ ตนเองก็ได้กลายมาเป็นผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ ทั้งที่เป็นที่ดินที่ชาวบ้านบุกเบิกวางรากฐานทำกินมาตั้งแต่ก่อนการตั้งวนอุทยานฯ แม้ว่าชาวบ้านที่นี่จะได้รับการ “อะลุ่มอล่วย” จากเจ้าหน้าที่มากกว่าชุมชนอื่นๆ ในตำบลใกล้เคียงก็ตาม โดยเจ้าหน้าที่ยังคงให้ชาวบ้านเข้าไปเก็บผลผลิตในสวนได้โดยห้ามถาง/ตัด (อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ กลัวปัญหาความขัดแย้งกับมวลชนในชุมชนที่ตั้งติดเขตสำนักงานอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป (เตรียมการ))

สำหรับการเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป แม้บ้านซีโปจะเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ติดกับสำนักงานอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป (เตรียมการ) แต่ไม่เคยได้ทราบข้อมูลอะไร เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เคยมาชี้แนวเขตที่จะประกาศเป็นอุทยานฯ ให้ทราบ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดรับฟังความคิดเห็นที่ทางสำนักงานฯ บอกว่าได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่กลางปี 2565 นั้น ชาวบ้านซีโปในระบุว่าไม่มีใครที่ได้เข้าร่วมเลย

ในเวที บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ได้ให้ข้อมูลกับชาวบ้านซีโปว่า ในการประกาศเขตอุทยานแห่งชาตินั้นต้องมีแผนที่แนบท้ายที่แสดงขอบเขตของอุทยานนั้นๆ  หากไม่มีขอบเขตที่แน่นอนก็จะส่งเรื่องต่อไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไม่ได้ เป็นที่น่าสงสัยว่ากรณีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปทางกรมอุทยานฯ ได้ทำการเดินแนวเขตร่วมกับชาวบ้านแล้วหรือยัง ซึ่งการเดินแนวเขตนั้นจะต้องมีชาวบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชนเข้าร่วมด้วย เพราะเป็นผู้ที่รู้จักพื้นที่ดีที่สุด

บารมีระบุอีกว่า นอกจากนั้นในส่วนของการตั้งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าตั้งได้อย่างไร เนื่องจากอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปยังไม่เกิดขึ้น และหากทางสำนักงานอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป (เตรียมการ) อ้างว่าจะให้คณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้นำชุมชนมาจัดการเรื่องแนวเขตก็จะเป็นการผลักให้คณะกรรมการชุดนี้ไปทะเลาะกับชาวบ้านแทนสำนักงานฯ

ที่ปรึกาสมัชชาคนจนกล่าวต่อไปว่า ที่สำคัญหากการประกาศจัดตั้งเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปทำได้สำเร็จ มาตรา 64 ตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่ให้กรมอุทยานฯ ทำการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนในเขตอุทยานแห่งชาติและให้ช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติที่มีมาก่อนหน้าการออกพระราชบัญญัตินี้ ก็จะไม่ถูกนำใช้ในกรณีอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปนี้ เพราะเป็นการประกาศจัดตั้งหลังการออก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งหมายความว่าชาวบ้านคงต้องถูกยึดพื้นที่และห้ามเข้าไปในเขตอุทยานฯ แต่เพียงสถานเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net