Skip to main content
sharethis

'นิกร' เผยคณะอนุกรรมการประชามติ รับฟังความเห็นครบแล้ว 4 ภาค ประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็น สสร.จัดทำ รธน.ใหม่ เตรียมประชุมอนุกรรมการสรุป 22 ธ.ค.นี้ เผย 'ภูมิธรรม' นัดถกกรรมการชุดใหญ่ 25 ธ.ค. จับตาเคาะสรุป - 'เศรษฐา' โพสต์ 10 ธ.ค. วันรัฐธรรมนูญไทย ลั่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นภารกิจใหญ่ ที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันผลักดันสู่เป้าหมายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

10 ธ.ค. 2566 นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กล่าวว่าคณะอนุกรรมการได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากทั้ง 4 ภาคครบแล้ว ซึ่งได้รับคำตอบภาพรวมค่อนข้างดี โดยประชาชนอยากให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยกันทั้งนั้น และอยากให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยแต่ละภาคเห็นว่าต่างมีปัญหาอยู่มาก แต่ยังไม่สามารถเชื่อมต่อกับรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น แต่ละปัญหาหากจะมีการกำหนดในรัฐธรรมนูญ คณะอนุกรรมการฯ ก็ต้องรวบรวมไว้ เพื่อส่งให้ ส.ส.ร.ที่จะมีขึ้น เพราะหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ คือจะให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่นั่นเป็นหน้าที่

นายนิกร กล่าวว่า การจัดทำในภาคใต้มีพี่น้องมุสลิมเข้ามาร่วมเสนอนแนะข้อคิดเห็นหลายกลุ่ม แบ่งกันไปทำในแต่ละพื้นที่ กระจายกันไปในแต่ะภาคในนามของรัฐบาล ช่วยกันทำไม่มีการแบ่งพรรคการเมืองว่าพื้นที่ไหนพรรคอะไร ดังนั้น ข้อมูลทั้งหลายจึงได้ครบแล้วจากภาคประชาชน แต่ที่สำคัญคือข้อมูลจากความเห็นจากสมาชิกรัฐสภา เพราะเป็นคนที่จะต้องลงคะแนนในรัฐธรรมนูญ การขอความเห็นจากสมาชิกรัฐสภา ขณะนี้จึงได้ทำจดหมายไปถึงนายวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร แล้ว พร้อมกับส่งคำถามไปให้รัฐสภา เพื่อให้รับทราบถึงเนื้อหาการทำประชามติ และต้องการรับฟังว่าสมาชิกรัฐสภาต้องการทำประชามติกอ่นที่จะดำเนินการใดๆหรือไม่ ซึ่งส่วนนี้เป็นการทำก่อนที่จะมีการทำประชามติครั้งที่ 1 เพราะในทางการเมืองต้องรับฟังความเห็นของวุฒิสภาเป็นสำคัญ ว่ามีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการดำเนินการก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ ซึ่งในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ คณะอนุกรรมการฯ ชุดของตนจะมีการประชุมเพื่อสรุปงาน เพราะถือว่าเสร็จภารกิจในห้วงนี้แล้ว ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯชุดใหญ่ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ ว่าจะหาข้อสรุปอย่างไรให้ได้ก่อนสิ้นปี

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการชุดของนายวุฒิสาร ตันไชย ที่จะพิจารณาเรื่องประชามติเชิงกฎหมายได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายโดยเฉพาะว่าหากจะแก้ พ.ร.บ.ประชามติ โดยเฉพาะในมาตรา 13 ซึ่งเป็นประชามติสองชั้นจะแก้อย่างไรเพื่อทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น นอกจากนี้ ในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ ตนจะพบและหารือกับเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ และคณะทำงานของอนุกรรมการ เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นและศึกษาแนวทางของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากเขาเป็นประเทศที่ทำประชามติเป็นจำนวนมาก และใช้อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะได้ดูว่าจะใช้งบลดลงได้หรือไม่ ทำเพื่อเรื่องอื่นๆนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

สำหรับการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาในแนวทางใด นายนิกร กล่าวว่า แล้วแต่จะสรุปแต่สิ่งสำคัญคือรอของ ความเห็นของสมาชิกรัฐสภา ที่ต้องตอบในฐานะผู้ที่จะลงคะแนนในเรื่องนี้ด้วย ในขณะที่ ส.ว. ยังใช้แล้วธรรมนูญฉบับเดิม ต้องได้เสียง 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ถ้าไม่ได้คือไม่ผ่าน

'เศรษฐา' โพสต์ 10 ธ.ค. วันรัฐธรรมนูญไทย ลั่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นภารกิจใหญ่

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความระบุ 10 ธ.ค. วันรัฐธรรมนูญของประเทศไทย รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐบาลจึงมีหน้าที่ทำให้รัฐธรรมนูญมาจากประชาชน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นภารกิจใหญ่ จะอาศัยเพียงพลังของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ แต่ทุก ๆ ภาคส่วนในสังคมจะต้องช่วยกันผลักดันเพื่อให้เราไปถึงเป้าหมาย นั่นคือ การมี “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

‘ประชาธิปัตย์’ ย้ำจุดยืนพรรค แก้ 'รธน.' ย้อนทุกฝ่ายพร้อมผลักดันยกเว้นรัฐบาล

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ว่า พรรคประชาธิปัตย์ขอร่วมระลึกถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของประเทศไทย เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ดังนั้น ในวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีถือว่ามีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ในส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การระลึกถึงวันสำคัญก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่า สิ่งสำคัญที่มีจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันคือการผลักดันให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง

ขณะนี้อุปสรรคในการขอแก้รัฐธรรมนูญก็ยังมีอยู่ จึงทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จสู่เป้าหมายได้ พรรคประชาธิปัตย์นั้น มีเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งหัวใจสำคัญของการนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น คือการแก้มาตรา 256 เพื่อให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น โดยตัดสัดส่วนของ สว.ให้เหมาะสม แล้วใช้เสียงส่วนใหญ่จากสภา เพราะหากกำหนดให้ สว. เห็นชอบด้วยในวาระที่ 1 และที่ 3 เป็นจำนวน 1ใน 3 ทำให้ต้องได้รับความเห็นชอบเป็นจำนวนมากถึง 84 คน จึงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญได้

ดังนั้นการแก้มาตรา 256 จึงมีความสำคัญมากและในส่วนของพรรคหลักการยังเป็นเช่นเดิม และมีหลักการชัดว่าไม่ว่าจะมีการยกร่างใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องไม่แตะ หมวด 1 กับ หมวด 2 ที่ว่าด้วยรูปแบบของรัฐ คือ กำหนดให้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ทั้งสองหมวดนี้ เป็นจุดยืนพรรคเพื่อนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง

นายราเมศ ยังกล่าวอีกว่า ในความเป็นจริง รัฐธรรมนูญฉบับนี้นอกจากสิทธิของประชาชนลดน้อยถอยลงแล้ว ที่กล่าวอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงก็ไม่เป็นความจริง เพราะกระบวนการที่เป็นหลักการพื้นฐานในการป้องกันการทุจริตไม่ได้มีหลักประกันไว้ในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดพรรคประชาธิปัตย์ได้มองเห็นถึงปัญหาเหล่านี้มานาน ตั้งแต่รัฐธรรมนูญยังไม่มีผลบังคับใช้ จึงเป็นที่มาที่พรรคไม่ได้รับรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านการลงประชามติ บังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญ พรรคก็ยอมรับกติกา แต่ก็ได้ตั้งความหวังว่าจะมีการแก้ไขในวันข้างหน้า

โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิของประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรม สิทธิ์ในที่ดินทำกิน การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นการป้องกันและปราบปรามทุจริตจะต้องมีกระบวนการที่ป้องกันการทุจริตจริงๆ ไม่ใช่เปิดช่องให้สมยอมกัน รวมถึงประเด็นอำนาจ ส.ว. ด้วยซึ่งทุกเรื่องล้วนเป็นสาระสำคัญที่จะต้องมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในการตั้งต้นแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

นายราเมศกล่าวตอนท้ายว่า ที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้น ก็ต้องย้อนถามนายกรัฐมนตรีว่า ทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันนั้นความหมายคือ ยกเว้นรัฐบาลที่ยังไม่พร้อมใช่หรือไม่ เพราะคำพูดล้วนแล้วแต่สวนทางกับข้อเท็จจริงที่ประชาชนมองออกมาว่ารัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจต่อกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

'เป็นธรรม' หวังรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องมาจากเสียงของประชาชน รัฐบาลไม่ควรหมกเม็ด หรือขัดมติมหาชนส่วนใหญ่

ทีมสื่อพรรคเป็นธรรมแจ้งข่าวว่า วันที่ 10 ธ.ค. 2566 นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเป็นธรรม ร่วมพิธีวางพานประดับพุ่มดอกไม้ เนื่องในวันพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และงานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ประจําปี 2566 ณ อาคารรัฐสภา

นายกัณวีร์ กล่าวว่า วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี นอกจากเป็นวันรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็น วันสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งมีความสอดคล้องกัน เพราะการกำหนดสิทธิมนุษยชนในรัฐธรรมนูญ กลายเป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองประชาชน แม้วันสิทธิมนุษยชนสากล มาหลังวันรัฐธรรมนูญไทย ถึง 10 ปี แต่กระบวนการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนได้ล้ำหน้ากว่าประชาธิปไตยในไทยอย่างน่ากังวล โดยเฉพาะกลไกการเลือกตั้งของไทยที่อาจกลับไปสู่การสืบทอดอำนาจของฝั่งเผด็จการ

"ผลการเลือกตั้งทำให้ผมมองเห็นว่าประชาชนได้แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจน ถึงการไม่เอาอำนาจเผด็จการอีกต่อไป กว่า 24.5 ล้านเสียงแสดงความชัดเจนเรื่องนี้ที่เลือกสองพรรคหลักของฝ่ายค้านในรัฐบาลชุดก่อนมาเป็นผู้แทนและผู้รับใช้ประชาชน ซึ่งทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลได้ สส. รวมกันแล้วถึง 292 คน เกินครึ่งนึงไปถึง 42 ที่นั่ง ผมคิดว่าผมคงวิเคราะห์ผิดไปอย่างมากว่ายังไงคงต้องมีการสืบทอดอำนาจแน่ๆ"

นายกัณวีร์ กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ช่วงของจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่กำลังเปลี่ยนจากการเมืองเก่าไปสู่การเมืองใหม่ ที่ทางการเมืองเห็นความสำคัญของการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง เพราะประชาชนได้ตื่นรู้ทางการเมืองอย่างมาก และรวมถึงฝ่ายการเมืองเองตระหนักถึงพลังและความสำคัญของประชาชนมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

นายกัณวีร์ ระบุว่า ในขณะที่การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอาจดูเหมือนก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปของกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ และทั้งในรูปแบบของกฎหมาย รวมถึงการผลักดันต่างๆ แต่ปัญหาหลักๆ ของการทำงานด้านสิทธิฯ นั่นคือประสิทธิภาพการทำงานด้านสิทธินั้นจะถูกลดทอนไปเรื่อยๆ หากระดับของประชาธิปไตยในประเทศนั้นๆ ต่ำ

เพราะประชาธิปไตยจะถูกละเมิดหากการละเมิดสิทธิฯ ต่อเพื่อนมนุษย์มีมาก ดังนั้น ความสำคัญของสิทธิและเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงเป็นรากเหง้าแห่งประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนไปพร้อมๆ กัน

นายกัณวีร์ ย้ำว่า เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากลและวันรัฐธรรมนูญไทยในปี 2566 นี้ ไม่อยากให้ประชาชนผิดหวังกับการเมืองไทย ขอจงยึดมั่นต่อไปกับความสำคัญแห่งประชาธิปไตย ที่มีรากฐานของหลักการด้านสิทธิมนุษยชน

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายกัณวีร์ ระบุว่า เป็นสิ่งที่ทุกพรรคการเมือง พูดไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ด้วยความเข้าใจตรงกันว่า รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 หรือฉบับปัจจุบันนี้ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องผลักดันและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงแม้มีการผลักดันหลายรูปแบบและหลายกลุ่ม อย่างรัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติฯ และอย่างฝ่ายค้านโดยพรรคก้าวไกล ก็พยายามผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่ยังไม่ตกผลึกกันว่าจะเป็นรูปแบบใด

"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมาจากการฟังเสียงพี่น้องประชาชน มติมหาชนส่วนใหญ่ที่มีความต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องได้รับความสำคัญ ต้องเป็นส่วนกลางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราไม่ควรหมกเม็ดอีกต่อไป มิฉะนั้น อำนาจจะไม่กลับมาสู่ประชาชน” นายกัณวีร์ กล่าวย้ำ รวมถึงการทำประชามติ ที่ให้เกิดการยอมรับ

ส่วนกรณีบางส่วนมีความคาดหวังให้ทุกภาคส่วนร่วมกับรัฐบาล ในการผลักดันการจัดทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยเร็วนั้น นายกัณวีร์ เห็นว่า ความรวดเร็วเป็นสิ่งที่เราต้องการอยู่แล้ว แต่ต้องไม่ตกหล่นที่ขาดความต้องการของประชาชน ประชามติเป็นสิ่งที่ดี แต่ด้วยกลไกการจัดทำประชามตินั้นมีหลายสูตร หลายสมการ

“การจะทำประชามติมีเรื่องสัดส่วนอยู่ ต้องศึกษาและนำสัดส่วนให้สาธารณะรับทราบว่า หากจัดทำประชามติแล้วไม่แสดงถึงความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ผลกระทบก็จะกลับมาที่ประชาชนเหมือนเดิม ผมว่าน่าจะมีการพูดคุยเร็ว ๆ นี้ หากก้าวไกลมีข้อเสนออย่างไร ผมยังสนับสนุนก้าวไกล ให้เสนอรัฐบาลด้วย เพื่อบอกว่าสัดส่วนที่คิดอยู่นั้น ผิดตรงไหน และจะเสริมตรงไหน ให้ประชาชนส่วนมากในประเทศไทยมีส่วนร่วมจริง ๆ“ นายกัณวีร์ กล่าว

สำหรับที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้น นายกัณวีร์ ย้ำว่า ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 100% เพราะเป็นพื้นฐานในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา หากไม่มี ส.ส.ร. จากการเลือกตั้ง ก็แสดงว่าเป็นการเลือกคนมาทำหน้าที่ ส.ส.ร.

”เราไม่สามารถจะให้มีคนส่วนน้อย เลือกคนส่วนน้อย มาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อคนส่วนน้อยอีกต่อไป ส.ส.ร. จะเป็นพื้นฐานให้ประชาชนเลือกคนที่มีวุฒิภาวะ คุณวุฒิ คุณสมบัติต่าง ๆ นานา ที่เป็นตัวแทนประชาชน เสนอมาตราต่าง ๆ ให้ผลประโยชน์กลับมาสู่ประชาชน เพราะฉะนั้น ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% หรือให้เป็นส่วนมากที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และอาจมีส่วนน้อยเป็นนักวิชาการ ผู้มีคุณวุฒิ คุณสมบัติ ประสบการณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญสมัยก่อน มาช่วยให้คำแนะนำด้านกลไกและทฤษฎีต่าง ๆ ก็เป็นไปได้“ นายกัณวีร์ กล่าว และยังอยากเห็นรัฐธรรมนูญใหม่เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน


ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย [1] [2] | ไทยโพสต์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net