Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเผย 20 ธ.ค นี้ ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาคดี 'ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร' เหยื่อตำรวจซ้อมทรมาน ฟ้อง สตช. เรียกค่าเสียหาย 13 ล้าน


แฟ้มภาพ

19 ธ.ค. 2566 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งข่าวว่าพรุ่งนี้ (20 ธ.ค.) เวลา 09.00 น.บันลังก์ 903 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เหยื่อตำรวจซ้อมทรมานคลุมถุงดำ ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เรียกค่าเสียหาย 13 ล้าน แม้ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฤทธิรงค์ เป็นจำนวนเงิน 3,380,000 บาท ส่วนคำขอให้ลบทะเบียนประวัติอาชญากรของโจทก์ให้ยกฟ้อง ในคดีหมายเลขดำ พ.949/2560 หมายเลขแดงที่ พ.2003/2562 

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2552 นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรีจับกุมและซ้อมทรมานทำร้ายร่างกาย โดยมีการใช้ถุงดำคลุมศีรษะให้ขาดอากาศหายใจ เพื่อบังคับให้รับสารภาพในคดีวิ่งราวทรัพย์ ซึ่งจากการสืบสวนในภายหลังพบว่าเป็นการจับผิด ขณะนั้นฤทธิรงค์มีอายุเพียง 18 ปี เท่านั้น ต่อมาปี 2558 ฤทธิรงค์ได้ฟ้องดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดในกรณีดังกล่าวรวม 7 นาย โดยในคดีนี้ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถือว่าถึงที่สุดว่า พันตำรวจโทท่านหนึ่ง(จำเลยที่ 3) กระทำความผิดจริง ตามประมวลอาญา มาตรา 157, 200 วรรคสอง, 295, 296, 309, 310 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จึงลงโทษฐาน “เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา กระทำการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ” ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด โดยลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 12,000 บาท แต่ศาลลดโทษให้โดยเห็นว่าคำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 8,000 บาท เมื่อคำนึงถึงประวัติ อาชีพ และสภาพความผิดแล้ว และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัว กล่าวคือรอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี

ต่อมา ศาลชั้นต้น ได้อ่านคำพิพากษา ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฤทธิรงค์ ประกอบด้วย ค่าเสียหายต่อชีวิตร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จำนวน 1 ล้านบาท ค่าเสียหายต่อการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวตั้งแต่เวลา 15.00-19.00 น. จำนวน 8 หมื่นบาท ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงโดยคำนวนจากสถานภาพของฤทธิรงค์ ขณะถูกทำร้ายและโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคต ให้ 3 แสนบาท และสุดท้ายค่าเสียหายต่อจิตใจ โดยศาลได้พิจารณาจากคำเบิกความของแพทย์ที่รักษาโจทก์มาเป็นเวลาหลายปี ว่าโจทก์มีอาการทางจิตเวชหรือ PTSD หรือโรคเครียดอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญดังกล่าว จำนวน 2 ล้านบาท สตช.จึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,380,000 บาทแก่โจทก์ โดยให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 หากรวมดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง เป็นจำนวนเงิน 6,844,500 และให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้แก่ฤทธิรงค์ เสร็จสิ้น ให้ยกคำขอให้ให้ลบประวัติอาชญากรของฤทธิรงค์  และฤทธิรงค์ ยังไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้พิจารณาต่อไป 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net