Skip to main content
sharethis

กลุ่มเพื่อนนักกิจกรรมไทยและเมียนมา จัดกิจกรรม THE RESISTANCE OF COMMONERS ‘สามัญชนสนทนา ใต้เงาเผด็จการ’ หวังปลุกพลังเปลี่ยนแปลงในสังคม ที่บันทึกเรื่องการต่อสู้ผ่าน นิทรรศการ ละครเวที หนังสั้น เสวนา และบทเพลง เพียงเพราะเชื่อว่านี่คือย่างก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงความคิด ชีวิต มิตรภาพ

20 ธ.ค.2566 สำนักข่าว Lanner รายงานว่า ระหว่างวันที่ 17-18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ SOME SPACE Gallery จ.เชียงใหม่ กลุ่มเพื่อนนักกิจกรรมไทยและเมียนมา จัดกิจกรรม THE RESISTANCE OF COMMONERS ‘สามัญชนสนทนา ใต้เงาเผด็จการ’ ที่เชื่อว่าพลังของสามัญชนคนธรรมดาที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคม จึงก่อการบันทึกเรื่องการต่อสู้ผ่าน นิทรรศการ ละครเวที หนังสั้น เสวนา และบทเพลง เพียงเพราะเชื่อว่านี่คือย่างก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงความคิด ชีวิต มิตรภาพ

ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ [บันทึกโดยสามัญชน เพื่อสามัญชน] โครงการบันทึกประวัติศาสตร์สามัญชนภาคเหนือ “The Story of North Commoner” ยกตัวอย่างเช่น บันทึกช่วงเวลาการต่อสู้ตั้งแต่ยุคสมัยผญาผาบ ครูบาศรีวิชัย นิสิต จิรโสภณ เกษตรกรคนจนปลดแอก เป็นต้น นิทรรศการภาพวาดของชาวเมียนมา ที่บอกเล่าวิถีชีวิต ความรุนแรงของกองทัพทหาร และเสาหลักของประเทศไทย เบื้องล่างเต็มไปด้วยร่องรอยของการต่อสู้ ไล่ระดับเป็นทหาร และจุดสูงสุดคือกรอบรูปสีทองอร่าม, ขับขานเพลงธรรมดาสามัญชน โดย ชวด สุดสะแนน, Performance Art Lu (มนุษย์) โดย Kelvin Shine Ko อีกทั้งละครเวทีเรื่อง ‘THE ORDINARY’ ละครโรงเล็กหัวใจใหญ่ในรูปแบบที่สอดประสานเสียงของไวโอลินและการเดินเรื่องอันธรรมดา อิสรภาพและความยุติธรรม

รวมไปถึงกิจกรรมรับชมหนังสั้น และการนำเสนอจาก 2 ฟากฝั่ง เมียนมาและไทย ที่จะฉายภาพ น้ำเสียง บรรยากาศ การต่อสู้ของคนธรรมดาที่ไม่ยอมสงบต่ออำนาจเผด็จการ ทั้งหมด 3 เรื่อง ได้แก่ Under One Sky โดย Poe po, The Nightmare and a Dream โดย Friends Without Borders Foundation, Human Rights Violantions in Myanmar by Kyi Phyu และการนำเสนอ KHRG Presentation โดย Sue เหมือนพรมแดนที่คอยขวางกั้นเราเอาไว้พังทลายลง และมีมวลมิตรเข้ามาแทนที่ เราคือเพื่อนกัน เพื่อนที่ร่วมชะตากรรมเดียวกัน

พรสุข เกิดสว่าง มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน Friends without borders (FWB) กล่าวเปิดงาน THE RESISTANCE OF COMMONERS อย่างเป็นทางการว่า งานที่จัดขึ้นนี้ เสมือนการพบปะกันของสามัญชนธรรมดามากกว่า เราในฐานะของ เพื่อนไร้พรมแดน เราชอบที่จะเปิดพื้นที่หรือเปิดเวที งานที่เกิดขึ้นจึงเสมือนการเป็นการเฉลิมการต่อสู้ของสามัญชนและมิตรภาพ

 “หากเราไม่เห็นคุณค่าของกันและกัน ก็จะไม่มีวันได้เห็นการเปลี่ยนแปลง” พรสุข กล่าว

พรสุขกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า มองเห็นอนาคตจากทุกคนในที่นี้ ซึ่งคำว่าอนาคตไม่ได้หมายถึงอายุ ฉะนั้นทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นจากที่ตัวเรา จะวางตัวเราให้เป็นอนาคตที่ดี หรือจะเป็นตัวฉุดรั้ง โดยสำหรับเพื่อนไร้พรมแดน เราพร้อมที่จะก้าวไปในอนาคต และพร้อมที่จะเป็นบ้านที่พร้อมให้การสนับสนุนทุกคน

วิศรุต ศรีจันทร์ จากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการเข้ามาทำงานในประเด็นที่ดิน การจัดการทรัพยากร และสิทธิชุมชนท้องถิ่น เพื่อเรียกร้องการเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกินและของเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและกฏหมายของรัฐว่า เขานั้นเป็นลูกหลานเกษตรมาตั้งแต่เด็ก ช่วงการเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 4 ได้มีโอกาสมาฝึกงานมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ในขณะนั้นเกิดรัฐประหารปี พ.ศ.2557 เขาได้พบเจอเหตุการณ์ที่ไม่เป็นธรรมต่อพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ การโดนคดีบุกรุกป่าอันร้ายแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เขาเกิดการตั้งคำถามกับสังคม “ซึ่งสิ่งที่เราเห็นนั้น มันเป็นสิ่งที่ค้นพบได้บ่อย ภายใต้การยึดอำนาจรัฐเผด็จการ” ต้นต่อของปัญหาไม่ใช่เพียงแค่นโยบายของรัฐ แต่รวมไปถึงระดับโครงสร้างของสังคม วัฒนธรรม จารีต ที่ยึดโยงกันล้วนส่งผลต่อคนตัวเล็กตัวน้อยทั้งสิ้น ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาเลือกมาอยู่ในจุดนี้ ต่อสู้เพื่อพี่น้องที่ถูกกดขี่

 “พอมีรัฐประหาร กลับเหมือนชีวิตเข้าไปในความมืด” วิศรุต กล่าว

ทางด้าน Poe po นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหว ชาว Karenni ประเทศเมียนมา ได้บอกเล่าแรงบันดาลใจในการปกป้องสิทธิมนุษยชนว่า Poe po นั้น เป็นประชาชนคนเมียนมาธรรมดาคนนึง กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีสิทธิน้อยอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นคือเธอเติบโตอยู่ในบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา จึงถูกจำกัดสิทธิในการศึกษาหรือการทำมาหากิน เธอต้องดิ้นรนเพื่อที่จะได้เรียนสังคมศาสตร์ เพื่อจะนำวิชาความรู้ว่าช่วยประเทศของตัวเอง แต่หลังจากเรียนจบได้เพียงสองวัน แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ “รัฐประหาร” เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะไปเรียนต่อ เธอมีความหวังที่อยากจะพัฒนาชุมชนของเธอ ท้ายที่สุดจึงกลับไปยังพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา เช่นเคย เพื่อทำงานปกป้องสิทธิของประชาชนผู้บริสุทธิ์ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอต้องเข้ามาทำงานตรงนี้

ธันย์รัตนราม ชีพนุรัตน์ นักการละครอิสระ ผู้ขับเคลื่อน และเรียกร้องสิทธิมนุษยชนผ่านละครเวที กล่าวถึงชีวิตในวัยเด็กของตัวเองว่า เขาเกิดและใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดหนองคาย ระหว่างพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว ธันย์รัตนรามได้พบเจอความเหลื่อมล้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนชินตา มีการใช้อำนาจศาลเตี้ยจากผู้มีอิทธิพล ตอนเด็กเขารู้สึกว่าเรื่องการกดขี่ การคุกคามโดยไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ พอเขาได้ย้อนกลับไปนึกถึงเหตุการณ์เหล่านี้ ในช่วงเวลานั้นว่า หากคนในชุมชนไม่เลือกที่จะเงียบ แล้วเกิดการต่อสู้กับผู้มีอิทธิพล มันก็เหมือนกับว่าตัวเขาเอง ลูกหลาน ทรัพย์สินก็จะไม่ปลอดภัย พวกเขาจึงเลือกที่จะเงียบเฉย เลือกที่จะสยบยอม

“แต่ในความเป็นจริงเราไม่ได้จะสยบยอม แต่เราไม่สิทธิ์ที่จะทำไปมากกว่านั้น” ธันย์รัตนราม กล่าว 

แต่ก็เพราะเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและครอบครัว พอเขาได้มีโอกาสได้เรียนการละคร จึงใช้ละครนำมาสื่อสารประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่วัยเด็ก ถ่ายทอดเรื่องราวประเด็นในสังคม ทั้งความขัดแย้ง อยุติธรรม ความไม่อิสระเสรีภาพที่เคยประสบพบเจอ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ ตระหนักในสิ่งเหล่านั้น

สามัญชน คนธรรมดามิใช่เจ้าชีวิตใคร ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ความเหมือนและความแตกต่างของความเป็นสามัญชนระหว่างไทย และเมียนมา แน่นอนว่าการปกครองด้วยรัฐบาลทหาร และเกิดรัฐประหารบ่อยครั้ง เราล้วนถูกกดขี่ และจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ต่างกัน  ธันย์รัตนราม ชีพนุรัตน์  นักการละครอิสระ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า เราต่างถูกจัดการโดยการปกครองที่ไม่ตอบโจทย์บางอย่าง พวกเขาพยายามกลบเราด้วยบางอย่าง ทั้งความเชื่อ อำนาจ Poe po นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เมียนมา ได้เสริมประเด็นนี้ว่า สิ่งที่เหมือนกันของประเทศพวกเราคือ การเมือง วัฒนธรรม สิทธิเสรีภาพในการพูด อย่างเมียนมาก็มีผู้คนออกมาแสดงพลังกันเยอะมากขึ้น คนรุ่นใหม่เข้ามา เพื่อต่อสู้อำนาจที่ไม่ยุติธรรม เพื่อสร้างชุมชนที่สงบสุข และความคิดเห็นสุดท้าย จาก วิศรุต ศรีจันทร์ เขากล่าวว่า ทั้งไทยและเมียนมา มีสถานะการไม่ต่างกันมาก  ​ “ที่ใดมีการกดขี่ ทุกที่มีการต่อสู้” เพราะเสมือนการมาวนลูปฉายภาพซ้ำ จึงมีการลุกขึ้นมาต่อสู้ในหลายรูปแบบ เพื่อมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

“ทหารเมียนรถทำสิ่งที่ไร้เหตุผล เพื่อขู่และไม่ให้ประชาชนต่อสู้ แต่ทางกลับกัน สิ่งนี้ได้เป็นแรงผลักดันในการสู้ครั้งต่อไป”

Poe po นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหว ชาว Karenni ประเทศเมียนมา บอกเล่าถึงความท้าทายในการทำงาน มีสองประเด็น ประเด็นแรกคือเรื่องความปลอดภัย เหตุเพราะประเทศไทย กำจัดสิทธิเสรีการพูด การแสดงออก ในการพูด ถูกอุ้มหาย ทำร้าย เหมือน ๆ กันกับประเทศเมียนมาที่เพียบแค่ทางแค่การกดไลก์ กดแชร์ เกี่ยวข้องกับการต่อต้านรัฐประหาร อีกประเด็นคือ สิ่งที่เป็นการขว้างกั้นประชาชน สิ่งที่ไม่ยุติธรรม ไม่ให้ประชาชนเข้าร่วม ตัวอย่างเช่น เทศกาลคริสต์มาส ปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา รัฐทหารได้จับกลุ่มคนการเมือง 40 คน ขึ้นหลังรถไปสิบคัน แล้วเอาน้ำมันราดเผาทั้งเป็น ซึ่งในที่นี่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา ไม่มีเหตุผล จะเห็นได้ว่าเผด็จการได้ทำร้ายประชาชนตามใจชอบ ไร้ซึ่งความยุติธรรม

วิศรุต ศรีจันทร์ จากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า บทเรียนวิธีการศึกษาการต่อสู้ ทั้งพัฒนาการต่อสู้แต่ละช่วงสมัย มีภาวะบางอย่างที่อุปสรรคตัวเดียวกันที่ทำให้ไม่บรรลุ เหมือนกับคำที่ว่า “ไม่อยากจบที่รุ่นเรา” ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ท้าท้ายอย่างยิ่งในอนาคตที่สังคมจะได้เรียนรู้ และสู้กับรัฐทหาร สู่วันที่ประชาชนจะได้รับชัยชนะอย่างแท้จริง

ด้าน ธันย์รัตนราม ชีพนุรัตน์  นักการละครอิสระ กล่าวปิดท้ายว่าในส่วนของการทำละคร สิ่งที่ท้าทายคือการสื่อสารไปยังผู้ชม ในประเด็นที่เขาต้องการอยากจะสื่อสาร โดยผ่านละคร ไม่ว่าจะประเด็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน การเมือง สังคม วัฒนธรรม บางสิ่งไม่สามารถพูดได้โดยตรง จึงต้องมีสัญญะ หรือสิ่งที่สามารถสื่อสารได้แยบยล แต่ยังคงเข้าใจในสารเดียวกัน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net