Skip to main content
sharethis

'ภูมิธรรม' ประธานกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ เป็นผู้แถลงสรุปแนวทางจัดทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ระบุถามประชามติ 3 ครั้ง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่แตะหมวด 1 และ 2 เตรียมเสนอ ครม.ประมาณช่วงเดือนมกราคมหรือช่วงไตรมาสแรกของปี 2567

 

25 ธ.ค.2566 iLaw รายงานความคืบหน้าการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ วันนี้ (25 ธ.ค.) คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ) ซึ่งมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ เป็นผู้แถลงสรุปแนวทางจัดทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ

หลังคณะกรรมการประชุมสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในประเด็นการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งสี่ภูมิภาค กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มวิชาชีพ นักศึกษา ภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญ รวมถึงความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา (สส. และ สว.) ที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติเห็นว่า สิ่งที่สำคัญคือ คำถามประชามติการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ที่ระบุว่าประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า จะถามคำถามประชามติคำถามเดียวใจความว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”

ส่วนสิ่งที่ประชาชนหรือภาคประชาชนสะท้อนความคิดเห็นที่แตกต่างไว้นั้น ทางคณะกรรมการฯ จะบันทึกสาระสำคัญทั้งหมด และให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยคณะกรรมการฯ จะนำรายงานการรับฟังความคิดเห็นไปเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในประมาณช่วงเดือนมกราคมหรือช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 จากนี้ไปจะเป็นไปตามขั้นตอนที่รวดเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จภายในสี่ปี ตามกรอบระยะเวลาที่ ครม. แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ จะเปิดเผยต่อสาธารณะต่อไป

สำหรับประเด็นจำนวนครั้งในการทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ประธานกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ระบุว่าจะทำสามครั้ง ประกอบด้วย 1) การทำประชามติถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ 2) การทำประชามติตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 และ 3) การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ส่วนเรื่องที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) การออกแบบที่มาของสสร. ขึ้นอยู่กับกระบวนการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในรัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net