Skip to main content
sharethis

"Blood Money Campaign" และ "ETOs Watch" จับมือยื่น จม.เปิดผนึกถึง 'ก้าวไกล' สอบความเชื่อมโยงของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ไทยมีส่วนสนับสนุนความรุนแรงเมียนมา ผ่านการดำเนินการและรับซื้อโครงการก๊าซธรรมชาติในอ่าวเมาะตะมะ ชี้เงินค่าก๊าซมีส่วนหนุนความมั่งคั่งเผด็จการทหารพม่า เปิดทางสู่การปราบปรามประชาชน

 

2 ก.พ. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวันนี้ (2 ก.พ.) ระบุว่า เมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ณ อาคารรัฐสภา ตัวแทนจากภาคประชาสังคมเมียนมา-ไทย จากคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน หรือ ETOs Watch Coalition และกลุ่มรณรงค์หยุดเงินเปื้อนเลือดเมียนมา (Blood Money Campaign) ได้เข้ายืนจดหมายเปิดผนึก เรื่อง ความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทเครือ ปตท. กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา และขอเรียกร้องให้ยุติการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงครามในเมียนมา โดยมี สส.พรรคก้าวไกล ได้แก่ ชลธิชา แจ้งเร็ว และเบญจา แสงจันทร์ เป็นตัวแทนรับจดหมายดังกล่าว 

ภายในจดหมายระบุว่า ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมได้เขียนดจดหมายฉบับนี้เพื่อขอความช่วยเหลือจากพรรคก้าวไกล ในการหาหนทางหยุดยั้งบริษัทน้ำมันและพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทยอย่างเครือ ปตท. และบริษัทในเครือ จากการมีส่วนให้ทุนสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาโดยกองทัพเผด็จการทหาร ผ่านการพัฒนาและดำเนินการ รวมถึงรับซื้อก๊าซจากโครงการก๊าซนอกชายฝั่งบริเวณอ่าวเมาะตะมะ จำนวน 2 แห่ง (ได้แก่ โครงการยาดานา และโครงการซอติกา) ซึ่งเป็นโครงการที่มีผู้ถือหุ้นร่วมที่นอกจากจะมีบริษัทลูกของ ปตท. สผ. เป็นผู้ดำนเนินการและถือหุ้นร่วมแล้ว นอกจากนี้ ยังมีบริษัทวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซเมียนมา (Myanma Oil and Gas Enterprises : MOGE) ซึ่งเป็นกิจการของรัฐที่ขณะนี้ถูกควบคุมโดยคณะเผด็จการทหารเมียนมา นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2565 ถือหุ้นร่วมด้วย

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมยังได้เสนอว่าไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมระหว่างประเทศที่จะสามารถหยุดยั้งอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในเมียนมาได้ด้วยการยุตินโยบายที่ให้ความชอบธรรมแก่คณะเผด็จการทหารเมียนมา รวมถึงยุติการอนุญาตให้กองทัพเมียนมาเข้าถึงรายได้จากก๊าซ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เผด็จการทหารเมียนมาสามารถนำเงินรายได้ในส่วนนี้ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเงินตราต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด โดยตัวเลขจากบันทึกของฝ่ายกองทัพเผด็จการเมียนมา ระบุว่า ในช่วงหกเดือนนับถึง 31 มีนาคม 2565 เพียงอย่างเดียว มีรายได้สูงถึง 1.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากก๊าซที่ ปตท. ซื้อจากโครงการก๊าซนอกชายฝั่งที่ดำเนินการโดย ปตท.สผ. โดยรายได้เหล่านี้ทำให้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย สามารถเพิ่มงบประมาณทางทหารได้ประมาณ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2566-2567 ซึ่งรายได้ส่วนนี้ทำให้คณะเผด็จการทหารเมียนมามีงบประมาณไปเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและติดอาวุธให้กับเครื่องบินรบที่บินเพื่อทิ้งระเบิดใส่พลเรือนชาวเมียนมา ซึ่งส่งผลให้ปัจจุบันในเมียนมามีประชาชนที่ต้องหนีภัยการประหัตประหารจนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศตนเอง (Internally Displaced Person : IDP) เกือบ 3 ล้านคน และจำนวนมากต้องหลบหนีออกจากประเทศเข้ามาเป็นผู้หนีภัยการสู้รบและผู้ลี้ภัยในเขตเมืองในประเทศไทย อินเดีย และประเทศอื่นๆ

ประเทศไทยสามารถทำได้โดยที่จะไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงด้านพลังงานของไทย โดยภายในจดหมายให้เหตุผลว่าปัจจุบันปริมาณก๊าซในแหล่งก๊าซบางแห่งกำลังจะหมด อีกทั้งไทยเองก็ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับก๊าซเหลว หรือ LNG ขึ้นมาแล้ว ประกอบกับภายในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ไทยใช้ก๊าซ LNG เป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งในปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าก็ยังล้นระบบไปมากและควรปรับปรุงระบบค่าความพร้อมจ่าย หรือ ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้คนไทยต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น

ภายในจดหมายยังระบุเพิ่มเติมว่าเงินรายได้จากก๊าซอาจถูกระงับไปแล้วตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2566 หลังจากที่มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาที่ห้ามบุคคล/นิติบุคคลให้บริการทางการเงินแก่ MOGE เริ่มมีผล แต่ดูเหมือนว่าทางเครือ ปตท. ในฐานะผู้ซื้อก๊าซอาจกำลังช่วยหลีกเลี่ยงการถูกคว่ำบาตรจากธนาคารของสหรัฐฯ ด้วยการชำระเงินไปยังบัญชีธนาคารที่ไม่ถูกคว่ำบาตร โดย ปตท. อาจตกลงที่จะชำระเป็นเงินบาทเพื่อหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรดงักล่าว

อนึ่ง โครงการก๊าซนอกชายฝั่งถือเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานที่สำคัญของเมียนมาและไทยในฐานะผู้รับซื้อก๊าซเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยมากว่า 3 ทศวรรษ โดยเฉพาะโครงการยาดานาที่ถือว่ามีอายุการดำเนินการเก่าแก่ที่สุดและส่งปริมาณก๊าซเข้าสู่ระบบของประเทศไทยมากที่สุดในจำนวน 3 โครงการก๊าซที่ไทยรับซื้อจากเมียนมา โดยก่อนหน้าที่บริษัทลูกของ ปตท. สผ. จะเข้ามาเป็นผู้ดำเนินโครงการอย่างเต็มตัวนั้น บริษัท TotalEnergies ยักษ์ใหญ่พลังงานจากฝรั่งเศสได้เข้ามาเป็นผู้ดำเนินโครงการหลักหลายสิบปีนับตั้งแต่เริ่มโครงการในช่วงปลายทศวรรษ 2530 จากนั้นในเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 ได้ถอนการลงทุนออกจากโครงการยาดานา ด้วยเหตุผลด้านวิกฤตมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในเมียนมาซึ่งมีแรงกดดันอย่างมากก่อนหน้ามาจากภาคประชาสังคมให้ถอนตัวหรือหาทางผิดกั้นการไหลของเงินรายได้ในโครงการเข้าสู่กระเป๋าของกองทัพเมียนมา และในเวลาต่อมาในเดือน ก.ค. ของปีเดียวกัน บริษัทลูกในเครือ ปตท. สผ. จึงได้เข้ามาเป็นผู้ดำเนินโครงการแทนจากที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียงผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ถือหุ้นร่วม อีกทั้งหุ้นในส่วนของ TotalEnergies (โททาลเอนเนอร์ยีส์) ให้กับผู้ถือหุ้นที่เหลือ ได้แก่ บริษัท Chevron (เชฟรอน) ซึ่งขณะนี้ยังถือครองสัดส่วนหุ้นมากที่สุด รองลงมาคือผู้พัฒนาโครงการรายใหม่อย่าง ปตท. สผ. อินเตอร์เนชันแนล และ MOGE ที่กำลังถูกควบคุมโดยกองทัพเมียนมา

ตัวแทนจาก ETOs Watch Coalition ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ทำงานติดตามการลงทุนไทยข้ามพรมแดน กล่าวว่าเราอยากให้ภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนไทยให้ความสำคัญกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาโดยยึดหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGP) ที่ไทยไปรับหลักการดังกล่าวไว้จากเวทีโลกที่ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา โดยภาคธุรกิจมีพันธะที่จะต้องเคารพสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจของตนไม่ให้ธุรกิจของพวกเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในเมียนมา ข้อเสนอหลัก ๆ ของจดหมายไม่ได้ระบุว่าบริษัทในเครือ ปตท. จะต้องถอนการลงทุนออกไป แต่เราต้องการให้ทางพรรคการเมืองช่วยตรวจสอบประเด็นนี้ พร้อมทั้งหาวิธีการปิดกั้นไม่ให้เงินรายได้จากก๊าซเข้าไปยังกระเป๋าของกองทัพเมียนมา และมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลในการจัดการกับเรื่องนี้

ด้านชลธิชา และ เบญจา ตัวแทน สส. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ยินดีรับหนังสือนี้ไว้พิจารณาและจะนำเรื่องนี้กลับไปหารือกันภายในพรรค เพื่อดำเนินการตรวจสอบ หาข้อเท็จจริง และดำเนินการผลักดันผ่านกลไกของสภาต่อไป

รายละเอียดจดหมายเปิดผนึก

หมายเหตุ เมื่อเวลา 2 ก.พ. 2567 เมื่อเวลา 23.01 น. มีการปรับแก้ไขภาพปก และภาพประกอบ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของผู้ยื่นหนังสือ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net