Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวชายขอบรายงาน กมธ. การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ดึง สตง.-ป.ป.ช. ร่วมสอบโครงการเขื่อนปากแบง

สำนักข่าวชายขอบ รายงานว่าเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 ณ ห้องประชุม CA314 อาคารรัฐสภา ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานกมธ.ทำหน้าที่ประธาน ซึ่งมีวาระพิจารณาเรื่อง “โครงการพลังน้ำจากเขื่อนปากแบง” ซึ่งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล อาทิ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ เลขาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (สทนช.) และตัวแทนภาคประชาชน

นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานกมธ. กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเกี่ยวกับกรณีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและผลกระทบต่อชุมชนจากการทำสัญญาโครงการไฟฟ้าพลังงน้ำเขื่อนปากแบง สืบเนื่องจากประชาชนในพื้นที่ได้ยื่นร้องเรียนมาขอให้มีการตรวจสอบ จึงเชิญหน่วยงานต่างๆ และตัวแทนภาคประชาชน มาเพื่อให้ข้อมูล ข้อเสนอและหาทางออกร่วมกัน

น.ส.ไพรินทร์ เสาะสาย เจ้าหน้าที่รณรงค์ลุ่มน้ำโขง องค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่าโครงการเขื่อนปากแบง ที่จะก่อสร้างอยู่บนแม่น้ำโขง ที่เมืองปากแบง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว มีกำลังการผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ โดยได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นระยะเวลา 29 ปี ท่ามกลางความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนในเขตประเทศไทยที่ตั้งอยู่ห่างจากชายแดน 97 กม. ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่และภาคประชาสังคม ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้มีการตรวจสอบผลกระทบข้ามพรมแดนและความไม่จำเป็นของการซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้อย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม หน่วยงานรัฐกลับเดินหน้าเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอย่างไม่เป็นธรรม และเป็นเหตุให้ประชาชนต้องร้องเรียนต่อ กมธ. เพื่อให้มีการตรวจสอบความชัดเจนและหามาตรการแนวทางในการป้องกันและแก้ไขร่วมกันต่อไป

นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญแม่น้ำโขงจากกลุ่ม The Mekong Butterfly กล่าวว่า ข้อมูลความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบนั้นนับว่าเริ่มตั้งแต่กับกระบวนปรึกษาหารือล่วงหน้า ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง (PNPCA) โดยเฉพาะภาวะน้ำท่วมเท้อต่อพื้นที่ชายแดนและเกาะแก่ง พื้นที่เก็บไก สาหร่ายแม่น้ำโขง พื้นที่วางไข่ของนกอพยพ และปัญหาการอพยพของปลาต่างๆ รวมถึงพื้นที่ทำการเกษตรในพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ทั้งลุ่มน้ำงาว และลุ่มน้ำอิง ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่ และกรณีพื้นที่แก่งผาได บริเวณชายแดนไทยลาว ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำเท้อที่อาจจะสูงขึ้นตลอดทั้งปีหากมีการสร้างเขื่อนปากแบง ขณะที่ปัจจุบันไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน

นางชื่นชม สง่าราศีกรีเซ่น นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวหากดูไทม์ไลน์การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เดือนตุลาคม 2563 มีการอนุมัติแผนพัฒนาพลังไฟฟ้า PDP revised มีการอนุมัติความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีตัวเลขค่อนข้างสูง ค่าพยากรณ์ เปรียบเทียบการใช้ไฟสูงสุดที่เกิดขึ้นจริง ที่ผ่านมาการพยากรณ์มักจะสูงเกินจริง ปี 2563 มีปริมาณไฟฟ้าสำรอง reserve margin สูงมากถึง 62 % และการพยากรณ์มีความทยานขึ้นสูง ช่วงที่มีการออกแผนฉบับนี้ ความต้องการใช้ไฟต่ำกว่า 4,095 เมกะวัตต์ จากค่าพยากรณ์ได้มีการบรรจุความต้องการไฟฟ้าในแผน โดยมีแผนจะซื้อไฟจากต่างประเทศ 3,500 เมกะวัตต์ และไม่ได้ระบุชื่อโครงการและแหล่งที่มาจากประเทศใด เมื่อ 8 พ.ย. 2564 ได้มีการขยายกรอบ MOU รับซื้อไฟฟ้าจากลาว จาก 9,000เป็น 10,500 เมกะวัตต์ มีการระบุเรื่องการทำ Tariff MOU 3 เขื่อน และ 5 เดือนต่อมามีการเร่งลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขการซื้อขายไฟฟ้าต่อสาธารณะ ผลการวิเคราะห์ของนักลงทุนและแผนพีดีพีที่อนุมัติแล้ว จะเห็นว่าการซื้อไฟฟ้าจาก 3 แห่งจากสปป.ลาว พบว่า ราคาการซื้อไฟจากลาว ซื้อ2.79 -2.29 บาท ต่อหน่วย พบว่าเป็นราคารับซื้อที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และการลงทุนนี้จะก่อภาระที่ไม่จำเป็นให้กับประชาชนไทย ที่จะกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งในเชิงด้านสิ่งแวดล้อมและค่าไฟในระยะยาวต่อไป กล่าวได้ว่าการซื้อไฟถูกขับเคลื่อนเป็นการดำเนินการโดยบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ทางกรรมาธิการตรวจสอบในการวางแผนและการผลักดันโครงการดังกล่าว

ดร.วินัย วังพิมูล ผู้แทนสนนช. กล่าวว่าภายหลังกระบวน PNPCA มีการศึกษาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาทางภูมิศาสตร์ เพื่อดูระดับน้ำและมีการปักเสาระดับ 340 ม.รทก. เพื่อวิเคราะห์พื้นที่มีโอกาสเสี่ยงกรณีจะมีน้ำเท้อกลับเข้ามาจากกรณีเขื่อนปากแบง แม้จะสิ้นสุดกระบวนการ PNPCA และมีการออกแผนปฏิบัติการร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Joint Action Plan) ยังอยู่ในขั้นระดับที่ 1 เป็นการเตรียมการ และทราบว่า บริษัทต้าถัง (จีน) ได้คุยกับผู้นำชุมชนที่อยู่ในลาว เป็นการเตรียมการในประเทศลาวเท่านั้น ส่วนของประเทศไทย ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ส่วนของไทยจะต้องระยะที่ 2 ที่จะเป็นขั้นตอนการออกแบบเขื่อน ตามมาตรฐานของ MRC ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ยังไม่มีการก่อสร้าง

นายสุรชัย สุรเมธี ผู้แทนกฟผ. กล่าวว่า กฟผ. เป็นเพียงหน่วยงานฝ่ายปฏิบัติที่ทำตามนโยบายด้านพลังงานกรณีโครงการเขื่อนปากแบงทางการลาวได้เสนอขายไฟฟ้าตั้งแต่มิถุนายน 2560 และมีการเซ็นสัญญาซื้อขาย ใช้เวลาประมาณ 6 ปี โดยจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพานิชย์ (COD) ปี 2576 การเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้า กฟผ.มีหน้าที่ปฏิบัติตามหน่วยงานกำกับทางนโยบาย ให้ซื้อก็เลยจำเป็นต้องทำตามนโยบายสั่งการ และในสัญญาได้ระบุว่ามีการนำข้อมูลกังวลด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม บรรจุเข้าไปยังสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ให้ทางผู้พัฒนาโครงการได้ส่งรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนทุกปี โดยกำหนดระยะแรกที่จะต้องส่งคือ ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 และมีการจัดตั้งกองทุนเยียวยา 45 ล้านบาท

นายวทัญญู มุ่งหมายกลาง รองเลขาธิการฯสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) กล่าวว่าสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนของภาคประชาชนได้จัดเวทีรับฟังข้อมูลและลงพื้นที่อำเภอเชียงของเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567ประเด็นสำคัญคือ มีการลงนามซื้อขายไฟไปแล้ว แต่กว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบจริงๆ อาจจะสัก 10 ปีข้างหน้า และมาตรการที่ผูกอยู่กับสัญญาของไฟ ที่ระบุว่า กองทุนเยียวยา 45 ล้านบาท เป็นข้อกังวลของชาวบ้านว่า ถ้าเกิดความเสียหาย ทั้งน้ำเท้อและวิถีชีวิต จะดำเนินการอย่างไร และโครงการนี้ซื้อไฟยาว 29 ปี ถ้าผลกระทบมีจำนวนมาก กรณีการตรวจสอบหากพบว่า การลงนามสัญญาที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน และประชาชนเดือดร้อน ก็จะเสนอต่อฝ่ายนโยบายและนายกรัฐมนตรีต่อไป

ผู้แทนปปช. กล่าวว่าอำนาจหน้าที่ การตรวจสอบหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ การตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการละเมิดการกระทำของหน่วยงานรัฐและการให้สินบน ขณะนี้กรณีเขื่อนปากแบงยังไม่มีการร้องเรียนแต่อย่างไร แต่ต้องขอข้อมูลจากภาคประชาชน หากเกิดกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐทีเกี่ยวข้อง หรืองบประมาณที่ปฏิบัติไม่ชอบ หรือมีสินบน ให้ร้องเรียนเข้ามา

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการสอบถามเกี่ยวกับ การตรวจรับรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่กฟผ.ระบุในสัญญา ว่ามีขั้นตอนอย่างไร โดยผู้แทนกฟผ. ตอบว่าได้ระบุว่า มีเงื่อนไขว่า หากส่งรายงานแล้วจะสามารถตรวจสอบและส่งกลับไปภายใน 60 วันโดยจะต้องส่งกลับไปให้รัฐบาล และเนื่องจากไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ทางกฟผ.ก็อาจจะส่งให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติให้ความเห็นและต้องส่งกลับไปให้รัฐบาลลาว โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ในการปรับปรุงแก้ไขหรือบังคับใช้มาตรการใดๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net