Skip to main content
sharethis
  • 'เศรษฐา' ย้ำ พักโทษ 'ทักษิณ' เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ไม่มีนิติรัฐแบบอภิสิทธิ์ชน หรือสองมาตรฐาน ระบุยังไม่มีการปรับ ครม.
  • รอง หน.เพื่อไทย ยันกรณีพักโทษเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม โฆษก ปชป. เผยเตรียมชงร่างแก้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ถอดบทเรียนจากกรณีนี้ ขณะที่สว.สมชาย เตือนทักษิณยังเป็นนักโทษเด็ดขาด ขอระวังการยุ่งเกี่ยวฝ่ายบริหาร - การเมือง

19 ก.พ.2567 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (19 ก.พ.) เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี ตำบลเวียงคำ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกรณีการพักโทษของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สะท้อนให้เห็นถึงหลักนิติรัฐแบบอภิสิทธิ์ชน หรือแบบสองมาตรฐานหรือไม่ว่า ตอนที่ทักษิณ ถูกคำพิพากษาก็มีการเรียกร้องจาก ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  แต่หากย้อนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้ก็มีการเรียกร้องให้ท่านกลับเข้าสู่กระบวนการ และเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ท่านก็กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เมื่อท่านกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว กรมราชทัณฑ์ก็มีการตรวจสอบ โรงพยาบาลตำรวจก็มีการตรวจสอบ รวมถึงคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรก็มีการตรวจสอบ ขณะที่กระทรวงยุติธรรมก็มีมาตรฐานในการตรวจสอบอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อท่านถูกพิพากษาไป เราก็เชื่อในระบบ แล้ววันนี้ เมื่อท่านเข้าสู่กระบวนการที่จะรับโทษและได้รับการพักโทษตามเงื่อนไข ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายเขียนไว้ เราจะต้องมาพูดกันเรื่องนี้ทุกวันหรือไม่ตนไม่ทราบ แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามกฎหมาย
 
ต่อคำถามที่ว่าถึงแม้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการชี้แจงแต่ก็ยังเชื่อว่าเป็นสองมาตรฐานอยู่ดีนั้น นายกฯกล่าวว่า เป็นความเห็นต่าง เมื่อเราอยู่ในสังคมที่เห็นต่างกัน หลายเรื่องก็มีคนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำอยู่ รวมถึงเห็นด้วยกับสิ่งที่เราไม่ทำ แต่เราก็ต้องอยู่ร่วมกันด้วยกฎหมาย เพราะวันนี้กฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อท่านเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายแล้ว ตนเองมองว่าเราก็ควรเดินหน้าดีกว่า เพราะวันนี้บ้านเมืองต้องการเดินหน้าอะไรอีกหลายอย่างจากรัฐบาลและทุกภาคส่วน  เรื่องความขัดแย้งก็ต้องบริหารจัดการกันไป แต่ต้องตั้งอยู่บนความสงบ เพราะเรามีพื้นที่ มีสภาฯ มี สส. และมีนักวิชาการ และควรใช้เวทีที่ปลอดภัยในการหาทางออกร่วมกัน

สำหรับกรณีที่ สว. ระบุว่า การพักโทษของทักษิณจะทำให้ นายกฯ เศรษฐา เป็นดาวไร้แสงนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า “จะคิดอะไรก็คิดกันไป เพราะพรุ่งนี้ 7 โมงเช้าผมก็ตื่นไปทำงานประชุม ครม. อาทิตย์หน้าก็ลงพื้นที่ภาคใต้ อาทิตย์ถัดไปก็ไปต่างประเทศเพื่อเจรจาFTA และหานักลงทุนใหม่เข้าประเทศ จะพูดอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้ตนสะทกสะท้านได้ เพราะตนก็จะทำงานต่อไป โดยยึดมั่นในผลประโยชน์และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคน จะว่าอย่างไรก็ว่าไปไม่เป็นไร”
 
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าการเมืองจากนี้จะร้อนขึ้นและจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีเร็วๆ นี้ หลังทักษิณได้รับการพักโทษนั้น นายกฯ กล่าวว่า มันก็ร้อนทุกวัน ทุกเรื่องก็ร้อนหมด  เพราะพื้นฐานทุกวันนี้เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ การใช้งบประมาณ ปี 68 ก็ยังไม่สามารถใช้ได้ ฉะนั้นถ้าเรามีเงินในกระเป๋าทำให้ทุกคนอยู่ดีกินดี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น การศึกษา และระบบสาธารณสุขที่ดี ก็เชื่อว่าชีวิตจะดีขึ้น

รอง หน.เพื่อไทย ยันกรณีพักโทษเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานปฏิกิริยาจาก ชูศักดิ์  ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์และสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา 

โดย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังกรมราชทัณฑ์ปล่อยตัวพักการลงโทษทักษิณว่า เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม และกระทรวงยุติธรรมก็ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน และมีผู้ได้รับการพักโทษพร้อมกับทักษิณ กว่า 900 คน ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการช่วยเหลือเฉพาะบุคคลหรือ 2 มาตรฐานแต่อย่างใด

ชูศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่มี สส. หรือบางพรรคการเมืองจะเข้าไปขอคำปรึกษา ทักษิณนั้น ส่วนตัวเห็นว่า ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลในการแสวงหาความรู้ ซึ่งกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ห้ามไว้ แต่ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเป็นการครอบงำนั้น ตนเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะเป็นการปรึกษาขอคำแนะถือเป็นเรื่องปกติ เช่น การขอคำปรึกษาเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต เป็นต้น และทักษิณ ก็ไม่ได้มีตำแหน่งใด ๆ ในรัฐบาล แต่ถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์และเคยเป็นผู้นำประเทศที่ได้รับการยอมรับ ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ตนไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาล และเป็นอำนาจการตัดสินใจของเศรษฐา นายกรัฐมนตรี

โฆษก ปชป. เผยเตรียมชงร่างแก้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ถอดบทเรียนจากกรณีนี้

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ว่า หลักกระบวนการยุติธรรม ต้องเป็นที่พึ่งหวังของประชาชน มีความน่าเชื่อถือ โดยกรณีนี้ รัฐบาลไม่ตระหนักถึงหลักนิติธรรมตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ทุกอย่างเป็นความลับ ช่วยปกปิดความจริงกันอย่างเป็นระบบ หลักนิติธรรมถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง อำนาจตุลาการถูกท้าทายจากอำนาจราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นปลายทางของกระบวนการยุติธรรม ส่วนทักษิณได้รับโทษจำคุกถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลารวม 6 เดือน ซึ่งชัดเจนจากข้อเท็จจริงว่า ทักษิณไม่ได้ติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว ป่วยจริงหรือไม่ รักษาตัวอยู่จริงหรือไม่ ประชาชนรู้ทัน เป็นการเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน ไร้ความเท่าเทียม เหยียบย่ำอำนาจศาล ไร้ซึ่งหลักนิติธรรม หากกระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนการบังคับโทษเป็นเช่นนี้ แล้วหลักการของบ้านเมืองจะเหลืออะไร ประชาชนจะพึ่งหวังได้อย่างไร

ราเมศ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นกระบวนการพักโทษนั้น แม้จะเป็นหลักการที่ราชทัณฑ์ใช้กับนักโทษทั่วไป แต่ประชาชนติดใจในเรื่องการจำคุกทักษิณจริงหรือไม่ และในเรื่องนี้ พรรคประชาธิปัตย์เคยเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ กับคณะ ต่อสภาฯ ชุดที่ผ่านมา แต่ญัตติได้ตกไปเนื่องจากหมดวาระของสภาฯ ดังนั้น ตนในฐานะกรรมการบริหารพรรคจะได้นำร่างกฎหมายฉบับนี้มาปรับปรุงและเสนอต่อที่ประชุม สส. โดยจะให้มีการแก้ไขเรื่องอำนาจในบางเรื่องของกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักกระบวนการยุติธรรม และรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อพรรคพิจารณาแล้วจะได้ยื่นเป็นญัตติใหม่ต่อสภาฯ ชุดนี้

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ ราเมศ ระบุว่า เป็นการมองเห็นถึงปัญหาการบังคับโทษในส่วนของกรมราชทัณฑ์ จึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง เนื่องจากเมื่อศาลตัดสินไปแล้ว ศาลไม่มีอำนาจในการพิเคราะห์พิจารณาว่าจะให้มีการลดโทษ หรือพักโทษ กับนักโทษอย่างไรบ้าง ซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวควรจะมีโครงสร้างที่มีตัวแทนจากองค์กรต่าง ๆ เช่น ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

สว.สมชาย เตือนทักษิณยังเป็นนักโทษเด็ดขาด ขอระวังการยุ่งเกี่ยวฝ่ายบริหาร - การเมือง

สมชาย แสวงการ สว. กล่าวกรณีนี้ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการพักโทษตาม พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 52 (7) ไม่ได้เป็นการพ้นโทษ โดยโทษของทักษิณยังคงเหลืออีก 6 เดือน ดังนั้นทักษิณยังเป็นนักโทษเด็ดขาดอยู่ และต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ทั้งนี้สิ่งที่หลายฝ่ายพยายามพูดหรือบอกสังคม ในการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ขอให้พิจารณาให้รอบคอบว่าดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ ประเด็นนี้สังคมตั้งคำถามอยู่แล้วถึงโดยเฉพาะเรื่องกระบวนการยุติธรรม และจะติดตามต่อไปว่าการพักโทษมีกติกาเคร่งครัดอย่างไร ส่วนสิ่งที่ครอบครัววางแผนว่าจะกระทำการใด ๆ นั้น ขอให้พิจารณาให้รอบคอบ ไม่เช่นนั้นหากเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารของรัฐบาล และฝ่ายต่าง ๆ ทางการเมือง อาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิด ซึ่งทักษิณที่อยู่ระหว่างการพักโทษ จะถูกยกเลิกพักโทษได้

สมชาย กล่าวด้วยว่ากรณีของทักษิณ อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายเดินหน้าตรวจสอบและตั้งสติให้ดี ให้ใช้กระบวนการทางกฎหมาย เช่น คณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขณะนี้ได้รับเรื่องไว้เรียบร้อยแล้ว ในส่วนของทักษิณคงไม่มีปัญหาเพราะใช้ช่องทางทางกฎหมาย แต่ส่วนที่ต้องถูกตรวจสอบ ได้แก่ ฝ่ายปฏิบัติซึ่งมีองค์ประกอบคือฝ่ายบริหาร ผู้ที่เกี่ยวข้องคือนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยราชการทั้งหมดซึ่งจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ และอีกส่วนที่ต้องรับผิดชอบคือโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์จะปฏิเสธไม่ได้และใครจะปรับปรุง ปรุงแต่ง แก้ไข บิดเบือน ถือว่ามีความผิด ทั้งนี้หลักฐานสำคัญคือเวชระเบียน การแถลงของแพทย์ใหญ่ที่ทำมาโดยตลอด แถลงว่าเจ็บป่วยต่อเนื่องร้ายแรง โดยตนมองว่าวิกฤตร้ายแรงสำหรับผู้ป่วยเชื่อว่าทุกคนทราบดีต้องเป็นโรคติดเชื้อ HIV ขั้นสุดท้าย มะเร็งขั้นที่ 4 และไตวายเรื้อรัง เป็นต้น แต่จากที่คณะกรรมาธิการของวุฒิสภาตรวจสอบมา ตามที่นายทักษิณได้ยื่นใบรับรองแพทย์ตั้งแต่เข้าประเทศไทย เป็นใบรับรองแพทย์จากสิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระบุว่าป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง กระดูกเสื่อม เส้นเลือดหัวใจตีบ และโรคปอด ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค และ กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา ได้เชิญตัวแทนโรงพยาบาลตำตรวจและกรมราชทัณฑ์มาชี้แจง แต่กลับไม่ได้รับคำตอบ ยืนยันว่าไม่ต้องการแทรกแซงสิทธิผู้ป่วย แต่เป็นหน้าที่ตามกฎหมาย แต่น่าเสียดายที่ผ่านมามีการอ้างสิทธิมาโดยตลอด ทำให้ กมธ.ทั้ง 2 คณะ ไม่สามารถหาคำตอบได้

สมชาย กล่าวเรียกร้องให้ ป.ป.ช. ทำหน้าที่ตรวจสอบเหมือนหลายคดีที่ผ่านมา โดยตนสนับสนุนให้ทักษิณ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไทย แต่สังคมก็ตั้งข้อสงสัยว่าไม่ได้อยู่ในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว เป็นการกระทำโดยชอบหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างอ้างว่าไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของตนเอง เมื่อไม่ได้รับคำตอบ ป.ป.ช. ก็ต้องไปตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ส่วนข้อถามว่า มองภาพที่ทักษิณ ออกมามีแค่เฝือกอ่อนที่แขนและคออย่างไร สมชาย กล่าวว่าสังคมตั้งคำถามเอง ตนไม่วิพากษ์วิจารณ์ เพราะนิยามคำว่าป่วยร้ายแรง ประชาชนทราบดีอยู่แล้ว ส่วนในการอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 153 ของสว. จะได้รับคำชี้แจงที่เป็นประโยชน์เรื่องทักษิณหรือไม่ สมชาย กล่าวว่าตนไม่ทราบว่าจะมีการเลื่อนอีกหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้มีการเลื่อนร่างพ.ร.บ. งบประมาณฯ เข้ามาแล้ว หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ถูกเลื่อนเข้ามาใกล้ การอภิปรายทั่วไปก็จะถูกข้ามออกไป แต่มองว่ายังสามารถอภิปรายได้เพราะยังไม่รับรอง สว.ใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net