Skip to main content
sharethis

“พิธา” ชี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบหลายด้าน-สภาย่อมมีความชอบธรรมเป็นพื้นที่พูดคุยปัญหาเมียนมา ยกไทยเป็นพื้นที่กลางสำหรับทุกฝ่ายได้ ชี้ถึงเวลาจับมืออาเซียน-จีน-อินเดียร่วมกู้สถานการณ์เมียนมาสู่สันติ

 

3 มี.ค. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า ในช่วงบ่ายของการประชุมระดับนานาชาติและนิทรรศการ "3 ปีหลังรัฐประหาร : สู่ประชาธิปไตยในเมียนมา และผลกระทบต่อความมั่นคงชายแดนไทย" ที่อาคารรัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมวงพูดคุยในหัวข้อ "การสร้างสะพานเชื่อมระหว่างประเทศ" ในกรณีบทบาทของประเทศไทยต่อการแก้ไขวิกฤติมนุษยธรรมที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมาขณะนี้ โดยมี สุทธิชัย หยุ่น เป็นพิธีกรถามคำถามในหลากหลายประเด็น

โดยพิธาเริ่มต้นจากคำถาม ที่เกี่ยวกับกรณีการออกจดหมายจากกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ประท้วงการจัดงานของรัฐสภาในครั้งนี้ โดยระบุว่ารัฐสภาเป็นสถานที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายอยู่แล้ว ในฐานะตัวแทนประชาชนที่มีส่วนได้เสีย รวมทั้งการตรวจสอบถ่วงดุลการบริหารของรัฐบาล ซึ่งย่อมต้องรวมถึงนโยบายด้านการต่างประเทศและด้านความมั่นคงด้วย 

และในเมื่อผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมา ล้วนแต่ส่งผลในทางตรงต่อคนไทยในหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่ต้องจ้างงานคนเมียนมา ปัญหาไฟป่าจากฝั่งเมียนมาที่กลายมาเป็น pm2.5 ในไทย ขบวนการคอลเซ็นเตอร์ที่มีที่ตั้งอยู่ตามชายแดน ฯลฯ รัฐสภาไทยจึงย่อมมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการพูดคุยกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา ตามหน้าที่ของผู้แทนราษฎรที่ต้องพูดคุยแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่ใช่การแทรกแซง แต่เราไม่สามารถตีตัวออกห่างจากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ได้

พิธายังได้ตอบคำถามที่ยกขึ้นมาโดยสุทธิชัย ถึงกรณีที่รัฐบาลไทยร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมา ในการสร้าง “ระเบียงมนุษยธรรม” เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยสงคราม ผ่านสภากาชาดของทั้งสองประเทศ โดยพิธาชี้ให้เห็นว่าแม้จะเป็นก้าวแรกที่ไปต่อได้ แต่ก็มีการวิจารณ์อยู่มาก ว่าการใช้สภากาชาดทั้งสองฝั่งอาจไม่ส่งผลดี เพราะสภากาชาดเป็นการให้ความช่วยเหลือแบบรวมศูนย์ ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและองค์กรอื่นๆ ซึ่งในกรณีของเมียนมา สภากาชาดอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไม่สามารถเลือกฝั่งได้

ในช่วงหนึ่ง สุทธิชัยได้ถามพิธาต่อว่าหากเป็นรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี สิ่งที่จะทำแตกต่างไปจากนี้คืออะไรบ้าง ซึ่งพิธาระบุว่าต้องแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

โดยในส่วนของระยะสั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้แน่ๆ ก็คือการทะลักเข้ามาของผู้หนีภัยความขัดแย้งระลอกใหม่ หลังการประกาศเกณฑ์ทหารแบบใหม่ ซึ่งประเทศไทยจะต้องเตรียมรับมือ ศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มีขึ้นแล้ว ต้องเปิดให้มีบทบาทมากกว่าของหน่วยงานรัฐ แต่ต้องมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทั้งในทางสาธารณสุข การศึกษา และเศรษฐกิจด้วย

ระยะกลาง การมีบทบาทต่อสถานการณ์เมียนมา ต้องอาศัยมากกว่าบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศหรือกระทรวงกลาโหม แต่ต้องมีการบูรณาการทุกส่วนของรัฐบาลเข้ามา หรือในอีกนัยหนึ่ง นี่เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย เพราะเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับปัญหาระดับชาติหลายกรณี

ทั้งนี้ บทบาทของประเทศไทยไม่อาจกระทำโดยลำพังได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งผู้นำอาเซียน และประเทศที่มีพรมแดนร่วมกับเมียนมารวมถึงจีนและอินเดียด้วย ไทยไม่อาจขาดอาเซียนในการมีบทบาท และอาเซียนก็ไม่อาจขาดประเทศไทยในการเดินหน้าตามฉันทามติ 5 ข้อกรณีเมียนมาได้

พิธากล่าวต่อไป ว่าในระยะยาว สิ่งที่ประเทศไทยสามารถมีบทบาทขึ้นมาได้ ก็คือการเป็นตัวกลางในการเจรจา เช่น อาจจะมี “เชียงใหม่ ไดอะล็อก” ขึ้นมา ที่จะเป็นพื้นที่ในการเชิญทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในสถานการณ์เมียนมาเข้ามาร่วมพูดคุยกัน โดยประเทศไทยมีศักยภาพจะทำสิ่งนี้ได้ ทั้งด้วยความใกล้ชิด และความรับผิดชอบที่ประเทศไทยมีในฐานะเพื่อนบ้าน

"จากนายกรัฐมนตรีไปจนถึงนายกท้องถิ่น หากมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็ย่อมสามารถบรรลุสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เวลานี้เหมาะสมแล้ว ที่การพูดคุยจะต้องเกิดขึ้นบนโต๊ะเจรจาเพื่อนำไปสู่การหยุดยิง และประเทศไทยสามารถเป็นได้มากกว่าผู้ยืนดูอยู่ห่างๆ แต่สามารถมีบทบาทในการเป็นผู้สร้างพื้นที่พูดคุยได้" พิธา กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net