Skip to main content
sharethis

ถึงแม้ว่าแอฟริกาจะกำลังต้องการความช่วยเหลือในเรื่องการพัฒนาอินเทอร์เน็ตและไอที และการที่จีนเสนอเป็นผู้จัดหาและให้กู้ยืมเพื่อพัฒนาตรงจุดนี้ก็ส่งผลดีทางสถิติต่อแอฟริกาโดยมีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น แต่ก็มีความกังวลว่าจะกลายเป็นปัญหาเรื่องการพึ่งพาจีนมากเกินไป และเปิดโอกาสให้จีนซุกซ่อนการจารกรรมทางไซเบอร์ รวมถึงมีข้อกังวลเรื่องการแผ่ขยายอำนาจด้วย

เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างประโยชน์ให้กับประเทศแถบแอฟริกา มันเป็นการสนับสนุนส่งถึงบริการด้านสุขภาพ ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงส่งเสริมการคำนึงถึงอย่างครอบคลุมในด้านการเงิน แต่ทว่าในแอฟริกาก็ยังมีอุปสรรคที่ทำให้เทคโนโลยีไม่สามารถนำพาประโยชน์เหล่านี้มาสู่ประชาชนได้ นั่นคือการขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการเชื่อมโยงกับชุมชน นอกจากนี้ยังขาดแคลนในด้านการเงินและเทคโนโลยีด้วย

จากข้อมูลเมื่อปี 2566 ระบุว่า มีประชากรร้อยละ 83 ของแอฟริกาทางตอนใต้ของซาฮาราที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมือถือเครือข่าย 3G ได้เป็นอย่างต่ำ เทียบกับในพื้นที่อื่นๆ แล้วผู้คนที่เข้าถึง 3G ขึ้นไปได้นั้นมีอยู่มากกว่าร้อยละ 95 นอกจากนี้ ข้อมูลในปีเดียวกันยังระบุว่า มีประชากรในแอฟริกาไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่สามารถเข้าถึงการลงทะเบียนใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ได้ ตามหลังกลุ่มชาติอาหรับ (ร้อยละ 75) และตามหลังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ร้อยละ 88) เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าในจำนวนประชากรโลกที่ยังคงไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ราว 2,600 ล้านคนนั้น มีชาวแอฟริกันอยู่ในจำนวนนี้เยอะมากอย่างมีนัยสำคัญ

แอฟริกาอาศัยจีนในการเปิดทางให้กับพัฒนาการด้านเทคโนโลยีและการส่งเสริมโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลขนาดใหญ่ มีงานวิจัยระบุว่ามีอย่างน้อย 38 ประเทศที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัทจีนเพื่อพัฒนาโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกและโครงสร้างศูนย์ข้อมูล หรือเพื่อพัฒนาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีของกลุ่มประเทศแอฟริกา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนมีส่วนช่วยในการทำให้ประเทศแอฟริกันมีพัฒนาการด้านดิจิทัลอย่างมาก ถึงแม้ว่าแอฟริกาจะยังคงมีความเหลื่อมล้ำด้านไอทีอยู่ก็ตาม แต่การเข้าถึง 3G ก็เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 22 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 83 ในปี 2566 มีสถิติผู้ลงทะเบียนใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์จากที่มีอยู่น้อยกว่าร้อยละ 2 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 48 ในปี 2566

อย่างไรก็ตาม สำหรับรัฐบาลประเทศต่างๆ ในแอฟริกาแล้ว การให้ต่างชาติช่วยเหลือในการพัฒนาด้านดิจิทัลมาพร้อมกับความเสี่ยงในการที่จะต้องพึ่งพิงประเทศให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้โครงสร้างเหล่านี้ยังคงทำงานอยู่ต่อไปได้

 

ทำไมแอฟริกาถึงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและแหล่งเงินทุนจากภายนอก

ตลาดไอทีของโลกนั้นถูกควบคุมโครงสร้างโดยผู้ผลิตไม่กี่รายเท่านั้น เช่น ผู้จัดหาสินค้าสายเคเบิลไฟเบอร์ออปติคซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ทำให้เกิดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนั้น มาจากบริษัทสัญชาติจีนคือหัวเหว่ย และ ZTE กับบริษัทสัญชาติสวีเดนคืออิริคสัน

ประเทศแอฟริกันจำนวนมากมีรายได้ภายในประเทศที่จำกัดไม่สามารถซื้อเครื่องมือโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ได้เอง ทำให้ต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างชาติในการลงทุนโครงข่ายเหล่านี้ รวมถึงเงินกู้แบบผ่อนปรน, เครดิตเพื่อการพาณิชย์, หรือ หุ้นส่วนมหาชน-เอกชน เรื่องนี้อาจจะส่งอิทธิพลต่อรัฐในการเลือกผู้จัดหาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตด้วย

นอกจากนี้แอฟริกายังมีปัจจัยเรื่องสภาพภูมิประเทศที่ส่งผลให้เกิดความยากลำบากทางเทคโนโลยีและทางการเงิน พื้นที่ที่กว้างขวางและสภาพพื้นผิวของแอฟริกาทำให้การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานแพงมาก นักลงทุนเอกชนหลีกเลี่ยงที่จะลงทุนกับพื้นที่ๆ มีคนอาศัยกันอยู่กระจายตัวอย่างบางเบาเพราะมันให้ผลตอบแทนคืนกลับมาไม่มากพอ

ประเทศที่ไม่มีอาณาเขตติดกับทะเลเลยก็จะต้องพึ่งพิงด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านไมตรีจิตกับประเทศริบชายฝั่งเพื่อให้มีการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกของพวกเขากับสถานีเคเบิล

 

โครงการแบบครบวงจรจากจีน

บางคนเชื่อว่า สาเหตุที่ผู้นำประเทศในแอฟริกาเลือกจีนเป็นผู้จัดหาทางไอทีให้นั้น เป็นเพราะว่าราคาถูก แต่ก็มีเกร็ดหลักฐานที่ชี้ให้เห็นไปในอีกทางหนึ่งคือ แอฟริกาชอบทำสัญญากับจีนในเรื่องนี้เพราะจีนเสนอแพกเกจโครงการแบบครบวงจรรวมถึงมีการให้กู้ยืมทางการเงินด้วย

แผนการของจีนที่เรียกว่า "EPC+F" ที่ย่อมาจาก "วิศวกรรม, จัดหา, ก่อสร้าง + เงินทุน" นั้นเป็นการที่บริษัทจากจีนอย่างหัวเหว่ย และ ZTE ทำการดูแลจัดการเรื่องวิศวกรรม, การจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้าง ในขณะที่ธนาคารจีนจะเป็นผู้คอยให้เงินทุนโดยมีรัฐบาลจีนหนุนหลัง ประเทศแองโกลา, ยูกันดา และ แซมเบีย เป็นตัวอย่างของประเทศบางส่วนที่ดูเหมือนจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงในรูปแบบนี้

การเสนอโครงการแบบครบวงจรเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ดึงดูดให้ประเทศในแถบแอฟริกาทำสัญญาด้วย

 

แล้วจีนจะได้ประโยชน์อะไร?

ในฐานะส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ "ไปสู่นานาชาติ" ของจีน รัฐบาลจีนได้ส่งเสริมให้บริษัทจีนลงทุนและปฏิบัติการในต่างชาติ รัฐบาลเสนอการสนับสนุนด้านการเงินและคาดหวังว่าบริษัทต่างๆ จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกให้กับสินค้าของจีนและเศรษฐกิจของจีนได้

ในระยะยาวแล้ว จีนต้องการที่จะจัดตั้งและส่งเสริมมาตรฐานกับบรรทัดฐานดิจิทัลของจีน ความร่วมมือด้านงานวิจัยและโอกาสในการฝึกอบรมช่วยทำให้มีนักศึกษาไอทีของจีนเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจีนหวังว่า แอพฯ โทรศัพท์มือถือกับสตาร์ทอัพในแอฟริกาจะเป็นการสะท้อนหลักการด้านเทคโนโลยีและด้านอุดมการณ์ ซึ่งรวมไปถึงการตีความเรื่องสิทธิมนุษยชน, ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในแบบของจีนด้วย

นโยบายช่วยพัฒนาไอทีให้กับแอฟริกายังเป็นแนวทางวิสัยทัศน์แบบ "เส้นทางสายไหมดิจิทัล" ที่เป็นส่วนหนึ่งของความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ของจีนในการเบิกทางเส้นทางการค้าใหม่ด้วย

ในแง่ของดิจิทัลแล้ว เป้าหมายของจีนคือการเพิ่มสถานะของตัวเองในด้านไอที และทำให้ลดการพึ่งพาแหล่งผู้จัดหาทางเทคโนโลยีจากตะวันตกเพียงอย่างเดียว รัฐบาลจีนต้องการให้เกิดระเบียบโลกดิจิทัลที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างความร่วมมือด้านการฝึกอบรมกับประเทศแถบแอฟริกาสามารถเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่เป้าหมายที่ว่าได้

 

ปฏิบัติการในระยะยาว

ถ้ามองในแง่ของเทคโนโลยีแล้ว การที่เน้นพึ่งพิงโครงสร้างพื้นฐานจากผู้จัดหาแค่กลุ่มเดียวจะทำให้รัฐที่รับบริการในเรื่องนี้มีความเปราะบาง เมื่อลูกค้าพึ่งพาผู้จัดหารายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ มันก็เป็นเรื่องยากและมีค่าใช้จ่ายสูงในการเปลี่ยนผู้จัดหารายใหม่ ในแง่นี้กลุ่มประเทศแอฟริกันกำลังถูกทำให้ติดกับดักระบบนิเวศทางดิจิทัลของจีน

นักวิจัยอย่าง อาร์เธอร์ กวังวา จากสถาบันจริยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยยูเทรกต์ (เนเธอร์แลนด์) เชื่อว่าการส่งออกวัสดุจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของจีนจะเปิดทางให้เกิดการจารกรรมทางการทหารและทางอุตสาหกรรม ข้อกล่าวหาเหล่านี้เป็นการกล่าวหาไปในตัวด้วยว่าอุปกรณ์ที่ผลิตจากจีนนั้นออกแบบมาในแบบที่สามารถใช้ในการโจมตีทางไซเบอร์ได้

ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรเอ็นจีโอที่ทำการวิจัยและรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลว่า การใช้โครงสร้างพื้นฐานจากจีนอาจจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการใช้เทคโนโลยีเปิดทางให้กับระบอบอำนาจนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทหัวเหว่ยที่เคยถูกกล่าวหาเรื่องให้ความร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการสอดแนมศัตรูทางการเมืองในยูกันดาและแซมเบีย ซึ่งหัวเหว่ยปฏิเสธข้อกล่าวหานี้

 

ทางรอดของปัญหา

จีนมีส่วนร่วมให้เกิดการพัฒนาทางดิจิทัลอย่างรวดเร็วในประเทศแถบแอฟริกา แต่มันก็ทำให้กลุ่มประเทศแอฟริกามีความเสี่ยงเรื่องการพึ่งพิงจีนในระยะยาว การที่จะแก้ปัญหานี้ได้ คือต้องกระจายความเสี่ยงโดยการเพิ่มผู้จัดหาโครงสร้างพื้นฐาน โอกาสในการฝึกอบรม และความร่วมมือ ให้มาจากแหล่งต่างๆ ที่หลากหลายกว่านี้

นอกจากนี้ควรจะมีการเรียกร้องให้มีการสร้างมาตรฐานการทำงานร่วมกันในเวทีนานาชาติ เช่น สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งเป็นองค์การของสหประชาชาติที่รับผิดชอบประเด็นเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร การมีมาตรฐานการทำงานร่วมกันจะช่วยให้มีผลิตภัณฑ์หรือระบบที่จะปฏิสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์และระบบอื่นๆ หมายความว่าผู้รับบริการจะสามารถซื้อวัตถุดิบเทคโนโลยีต่างๆ จากผู้จัดหาที่แตกต่างกันได้ และสามารถสับเปลี่ยนผู้จัดหาที่ต่างกันในการแก้ปัญหาในทางเทคโนโลยีได้ เรื่องนี้เอื้อต่อการแข่งขันของตลาดและทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพสูงได้โดยการไม่ทำให้ผู้รับบริการถูกบีบให้อยู่แต่กับผู้ค้ารายเดียว

ทางแก้สุดท้ายคือ ในระยะยาวแล้วประเทศแถบแอฟริกาจะต้องหาวิธีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้วยตนเองให้ได้และลดการพึ่งพาลง

 

เรียบเรียงจาก

Africa needs China for its digital development – but at what price?, The Conversation, 27-02-2024

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net