Skip to main content
sharethis

นักวิเคราะห์มองกรณีที่จีนหันมาทำตลาดรถพลังงานไฟฟ้าหรือ EV ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังจากที่ล้นตลาดในบ้านตัวเอง เรื่องนี้สะท้อนแนวโน้มที่เอเชียอาคเนย์ต้องการจะเป็นแหล่งศูนย์รวมการผลิตชิ้นส่วนรถ EV รวมถึงเป็นตลาดใหญ่ให้จีน แต่ถึงแม้ว่าจะได้ประโยชน์ ก็มีข้อกังวลเรื่องอิทธิพลจากจีน จึงควรจะมีการทำข้อตกลงกับจีนอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมด้วย

แนนซี่ เหว่ย จากศูนย์วิเคราะห์วิจัยเรื่องของจีน "ทรีเวียมไชนา" ได้วิเคราะห์ถึงกรณีที่จีนมีการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือ "รถ EV" ออกมาเป็นจำนวนมากอย่างล้นตลาดในบ้านตัวเอง จนทำเกิดภาวะการแข่งขันตัดราคากันเองในประเทศสูง ทำให้พวกเขาต้องกระจายตลาดออกไปสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดูมีแนวโน้มจะเป็นแหล่งตลาดรถ EV ของจีน

การที่จีนขยายเข้าไปตั้งบริษัทรถ EV ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สื่อให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ที่สอดรับกัน ระหว่างเรื่องที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งตลาดเกิดใหม่ และเรื่องสมรรถนะทางเทคโนโลยีของบริษัทยานยนต์จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยเสนอว่าควรจะมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้กลายเป็นแหล่งส่งออกระดับต้นๆ ของรถ EV จากจีน

ในช่วงที่มีการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์การเมือง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นเวทีแข่งขันกันในด้านยุทธศาสตร์การขยายตลาด EV ระหว่างจีนกับบริษัทยานยนต์ดั้งเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบรนด์ญี่ปุ่น

ความต้องการซื้อรถ EV ของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะเดียวกันกับที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบ เรื่องนี้เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญว่าการหันมาใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าจะสามารถบรรเทาข้อกังวลเรื่องพลังงานและลดภาระทางการเงินในระยะยาวได้

จากข้อมูลขององค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก หรือ "โอเปก" (OPEC) ไทยทำการนำเข้าน้ำมันประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณการบริโภคน้ำมันทั้งหมดต่อปี ในขณะที่อินโดนีเซียเป็นผู้ที่ส่งออกน้ำมันมากกว่าจะนำเข้า ซึ่งทางการอินโดนีเซียได้ทำการขึ้นราคาน้ำมันหลังจากที่ในปี 2565 มีการขาดดุลงบประมาณ 464.3 ล้านล้าน รูเปีย (ราว 1,000 ล้านล้านบาท) จนทำให้มีการประท้วงใหญ่

ท่ามกลางปัญหาเรื่องค่าน้ำมันที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ก็มีอุปสงค์ความต้องการรถ EV เพิ่มขึ้นมากในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2566 ยอดขาย EV ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 894 แบบปีต่อปี เพิ่มขึ้นสูงที่สุดเมื่อเทียบกับทั่วโลก รายงานของหน่วยงานวิจัยเคาน์เตอร์พอยต์รีเสิร์ชระบุว่า อุปสงค์รถ EV แบบก้าวกระโดดนี้มาจากผู้บริโภคใน ไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ความต้องการรถ EV ที่เพิ่มมากเป็นพิเศษนี้ได้รับการตอบสนองโดยบริษัทจากจีน เทคโนโลยี EV จากจีนที่มีการวางรากฐานเอาไว้แล้วนั้นมีตลาดที่พร้อมจะซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อมูลของเคานเตอร์พอยต์ระบุว่ามี บริษัทยานยนต์สัญชาติจีนมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 75 ในปี 2566

ยกตัวอย่างเช่น ในไทยนั้นบริษัทจากจีนมีส่วนแบ่งตลาดยานยนต์ใหม่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่ากลายเป็นร้อยละ 11 ในปี 2566 ซึ่งมาจากการขับเคลื่อนโดยผู้นำการผลิตยานยนต์ EV คือบริษัท BYD การนำเข้ารถ EV ในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ขึ้นไปอยู่ที่ 33,000 คัน ซึ่งในจำนวนนี้มียานยนต์ของ BYD อยู่ราว 30,000 คัน ถือเป็นจำนวนที่มากกว่าคู่แข่งอย่างนิสสันและมาสด้า โดยรวมแล้วบริษัทยานยนต์จีนควบคุมส่วนแบ่งตลาดรถ EV ในไทยอยู่ที่ราวร้อยละ 80 ในขณะที่แบรนด์ญี่ปุ่นนั้นมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่น้อยกว่าร้อยละ 1

ความสำเร็จและความคงทนของอุตสาหกรรมรถ EV ในจีน

บริษัทรถ EV ในจีนนั้นได้รับเงินอุดหนุนส่งเสริมจากรัฐบาลตั้งแต่ปี 2551-2565 พวกเขาประสบความสำเร็จในประเทศได้จนกลายเป็นแรงส่งให้กับความสำเร็จในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปด้วย

จีนมี "แผนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ (ปี 2564-2578)" ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวนโยบายที่จัดให้ยานยนต์ EV เป็นชิ้นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจของจีน โดยมีเป้าหมายให้จีนเป็นผู้นำโลกในด้านตลาดยานยนต์ EV

เสาหลักของแผนการดังกล่าวนี้คือการพัฒนาโดยเน้นตลาด เน้นนวัตกรรม มีการประสานงานกันเพื่อโปรโมทส่งเสริม และมีการพัฒนาแบบเปิด มีการวางเรื่องระบบนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเป็นตัวนำทางธุรกิจ มีการจูงใจและการคุ้มครองนวัตกรรมทำให้เกิดช่องทางใหม่ทางเทคโนโลยีที่หลากหลาย มีความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อให้มีการบริหารจัดการกับหัวใจหลักๆ ในเรื่องเทคโนโลยี เช่น เรื่องแบตเตอร์รีลิเทียม-ไอออน, ระบบการจัดการพลังงาน, โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการชาร์จไฟ, เทคโนโลยีถ่ายเทพลังงานจากยานพาหนะสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า (V2G), เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง

ความคงทนของอุตสาหกรรมจีนนั้นมาจากที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากทั้งภาคอุปสงค์และอุปทาน ดังที่เห็นได้ในหลักฐานจาก สมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน (CAAM) การส่งออก EV นั้นเป็นไปได้ดีมาก โดยมีการเติบโตปีต่อปีร้อยละ 77 และมีสถิติส่งออกรวมแล้ว 1.2 ล้านยูนิตในปี 2566

นอกจากเรื่องการสนับสนุนเชิงนโยบายแล้ว การขับเคลื่อนตลาดก็มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของรถ EV ของจีนด้วย ทั้งเรื่องความต้องการจากผู้บริโภค กับ เรื่องการงดเว้นภาษีซื้อให้กับผู้ซื้อรถ EV ต่างก็เป็นสิ่งที่เร่งปฏิกิริยาการเติบโตของตลาด การที่รถ EV มีการพัฒนาในเรื่องราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้นและเรื่องสมรรถนะของการใช้งาน ก็ทำให้มันมีพลังในการแข่งขันกับยานยนต์ดั้งเดิมได้มากขึ้น รวมถึงเป็นการดึงดูดผู้บริโภค เนื่องจากมีราคาการปฏิบัติการที่ต่ำ และช่วยประหยัดในระยะยาวในเรื่องค่าน้ำมันและค่าการซ่อมบำรุง ความก้าวหน้าต่างๆ ยังนำไปสู่การพัฒนาในเรื่องประสิทธิภาพของแบตเตอร์รี, การขับในระยะทางที่ไกลขึ้น, ลูกเล่นเสริมใหม่ๆ ทำให้ EV ยิ่งมีความดึงดูดผู้ซื้อมากขึ้นไปด้วย

การที่ EV ของจีนยังคงเติบโตต่อไปได้เป็นผลมาจากทั้งนโยบายที่สนับสนุนส่งเสริมและผู้ขับดันตลาด นโยบายของรัฐมีการเสริมแรงจูงใจที่จำเป็นและกรอบแนวทางการกำกับดูแลเพื่อที่จะส่งเสริมให้เกิดการหันมาใช้ยานยนต์ EV ในขณะที่ผู้ส่งเสริมตลาดจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ต่างก็เป็นปัจจัยขับเคลื่อนอุตสาหกรรม EV ให้ก้าวต่อไปข้างหน้า

การที่จีนขยายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลดีกับทั้งสองฝ่าย

สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้คนยังไม่ยอมปรับมาใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบคือการขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งเหว่ยมองว่าโครงการริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ของจีนอาจจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

ตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ที่ส่งผลต่อการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ EV เพิ่มมากขึ้น ธนาคารพัฒนาเอเชียประเมินว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน EV 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ การที่จะทำตรงนี้ให้สำเร็จ ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องจัดสรรเงินทุนมากกว่าร้อยละ 5 ของจีดีพีของพวกเขาในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวภายในช่วง 10 ปีถัดจากนี้

ในช่วงที่แบรนด์ยานยนต์จีนใช้วิธีการผสมผสาน อย่างการขยายผลิตภัณฑ์, โรงงาน และเงินทุน ควบคู่กันไป รัฐบาลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เกื้อหนุนตรงจุดนี้อย่างแข็งขันโดยการสนับสนุนทางนโยบาย, การลดภาษีเพื่อจูงใจ, และการให้เงินอุดหนุน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างบรรยากาศโน้มนำให้กับตลาดรถ EV

การประสานงานกันระหว่างบริษัทยานยนต์จีน BYD, Great Wall, SAIC-GM Wuling, และ Geely กับคู่ค้าในประเทศต่างๆ เป็นสิ่งที่วางรากฐานให้กับการใช้ประเทศนั้นๆ เป็นฐานการผลิต, การเข้าถึงชิ้นส่วนวัสดุ, และการขายที่เน้นความต้องการเฉพาะด้านของประเทศเหล่านั้น

ยกตัวอย่างเช่นกรณีของบริษัท Geely ได้ร่วมมือกับแบรนด์ Proton ของมาเลเซียในการฟื้นฟูชื่อเสียงของแบรนด์ Proton ให้กลับมาอีกครั้ง จนทำให้ยอดขายและส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นสองเท่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับเป็นตัวอย่างของความสำเร็จจากการขยายตัวไปสู่นานาชาติ การเคลื่อนย้ายทุน ในแบบที่มีการบูรณาการทางวัฒนธรรมและการยกระดับแบรนด์

ไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย กำลังตั้งเป้าหมายและนโยบายที่มีความทะเยอทะยาน ในการจัดให้ประเทศของพวกเขาเป็นแหล่งศูนย์กลางการผลิตรถ EV ภายในช่วงสิบปีข้างหน้า ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกับนโยบาย 30@30 ที่ไทยมุ่งหวังจะมีการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์อย่างน้อยร้อยละ 30 ของยานยนต์ในประเทศทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)

นโยบายเช่นนี้ไม่เพียงแค่เน้นย้ำเรื่องพันธกรณีของไทยที่มีต่อพลังงานสีเขียวยุคอนาคตเท่านั้น แต่ยังเป็นการมองอนาคตประเทศตัวเองในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของโลกสำหรับยานยนต์ EV และสำหรับชิ้นส่วนวัตถุดิบของ EV

สำหรับอินโดนีเซียก็เช่นเดียวกับไทย พวกเขาทำการจัดสรรงบประมาณและเชิญชวนนักลงทุนผ่านการให้เงินอุดหนุนและลดภาษีสำหรับการผลิต EV กับแบตเตอร์รี ทางอินโดนีเซียคาดหวังว่าจะกลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอร์รี EV ชั้นนำของโลกภายในปี 2570

ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหล่านี้ต้องพึ่งพาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี แต่ก็มีเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจน พวกเขาต้องการการพึ่งพาตนเองได้ในเรื่อง EV

เหว่ยมองว่าการวางไทม์ไลน์ในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าใจเรื่องความจำเป็นของหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์และการส่งผ่านความรู้ เพราะเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรม EV ไม่อาจจะยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียวในตอนนี้ เห็นได้จากการที่กลุ่มประเทศเหล่านี้พร้อมที่จะให้บริษัทจีนที่มีรากฐานทางธุรกิจในเรื่อง EV สามารถเข้าถึงตลาดของพวกเขาได้เพื่อแลกเปลี่ยนกับเทคโนโลยี

กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความแข็งขันในการเชิญชวนบริษัท EV จีนเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันไม่เพียงแค่เพื่อเสริมสร้างการเปลี่ยนผ่านจากรถน้ำมันพลังงานฟอสซิลเท่านั้น แต่ยังเพื่อเติมเชื้อไฟให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีด้วย

อย่างไรก็ตามความยั่งยืนในระยะยาวของการตกลงกันในเรื่องนี้จะขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลต่างๆ จะจัดการอย่างไรกับเรื่องการต้องพึ่งพิงการรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และเรื่องความเป็นไปได้ที่จีนอาจจะส่งอิทธิพลต่อภูมิศาสตร์การเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

เหว่ยเสนอว่า การทำข้อตกลงกับจีนในเรื่อง EV ควรมีความโปร่งใส เป็นหุ้นส่วนที่มีความเที่ยงธรรม และมีการวางกรอบแนวทางการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นต่อการทำให้แน่ใจว่าผลตอบแทนจากการค้าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายในขณะเดียวกับที่จะช่วยรักษาผลประโยชน์และอธิปไตยของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปด้วย

สุดท้ายแล้ว การทำข้อตกลงกันอย่างเที่ยงธรรมและเป็นประโยชน์นั้น ขึ้นอยู่กับว่ามีการพิจารณาตามปัจจัยเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน และขึ้นดุลยภาพจากทุกฝ่าย

จนถึงตอนนี้จีนได้ทำการรุกตลาดในแบบที่หาคู่แข่งได้ยาก บริษัท EV อื่นๆ ที่สนใจในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรจะเข้าใจถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของภูมิภาคนี้ ควรจะมีการพิจารณาแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเหล่านี้ และปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่นด้วยการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการและความพึงพอใจของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ละประเทศ


เรียบเรียงจาก
Voltage Visions: China’s EV Surge in Southeast Asia, Nancy Wei, The Diplomat, 02-03-2024

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net