Skip to main content
sharethis

มอบ กต.ดูข้อมูล ปมฟินแลนด์ระงับการขอวีซ่าแรงงานไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังพบพูดคุยกับตัวแทนผู้บริหารฟอร์มูล่า อี ที่โรงแรมอนันตรา เชียงใหม่ ว่ามีข่าวดี หลังได้พูดคุยและมีการกำหนดขั้นตอนต่อไปอย่างชัดเจน ดูสถานที่ว่าจุดไหนมีความเหมาะสม ตอนนี้สถานที่ที่มีความเป็นไปได้สูงคือ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี หรืออุทยานหลวงราชพฤกษ์ โดยทางฟอร์มูล่าจะไปดูเรื่องทางเทคนิคว่าสถานที่ไหนจะเหมาะสมที่สุด

ส่วนเรื่องของเม็ดเงินที่จะตามมานั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้ดู คงต้องไปดูรายละเอียดทั้งหมด และหากจะมีการจัดงานคงประมาณต้นปี 2568 แต่คงไม่หลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 เพราะเป็นช่วงฤดูหนาว และยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย เรื่องของฟอร์มูล่า อี ส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว ตนเชื่อว่าเรื่องของเวลาและเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นมิตรกับธรรมชาติ และเข้ากับธีมที่ว่ารัฐบาลสนับสนุนให้มีการลงทุนให้ประเทศไทยเป็นฮับของการผลิตรถอีวี และเป็นการส่งเสียงที่ชัดเจนกับชาวโลกว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก คาดว่าอีกไม่เกิน 60 วัน น่าจะสรุปได้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง และเป็นขั้นตอนเรื่องการต่อรองสัญญากัน

นายกฯ ระบุว่า มองถึงผลที่จะตามมาชัดเจนคือเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะจะได้เห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของ จ.เชียงใหม่ จะได้เห็นเรื่องวัฒนธรรมใน จ.เชียงใหม่ และในอดีตคนที่มาเที่ยว จ.เชียงใหม่ มาดูเรื่องวัฒนธรรม ศิลปะทั่วไป แต่เรายังไม่สามารถดึงนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มหนึ่งมาได้ ดังนั้น นี่จึงเป็นการเปิดช่องทางใหม่ และหวังว่าเมื่อเขามาดูเรื่องการแข่งขันฟอร์มูล่า วัน และเขาจะมาดูเรื่องวัฒนธรรมของเราต่อไปได้

ส่วนเรื่องการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงที่ จ.เชียงใหม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ขยายระยะเวลาเรียบร้อยแล้ว ส่วนจะขยายไปทั่วประเทศหรือไม่นั้น ต้องดูเรื่องของโซนนิ่ง เรื่องความเหมาะสม และดูความต้องการของแต่ละพื้นที่ด้วย

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงกรณีประเทศฟินแลนด์ ประกาศระงับการรับคำร้องขอวีซ่าแรงงานไทยไปเก็บเบอร์รีในป่า หลังมีข้อกล่าวหาว่าพัวพันกับการค้ามนุษย์ว่า ได้รับรายงานเมื่อคืนที่ผ่านมา และสั่งให้ กระทรวงการต่างประเทศไปตรวจสอบดูแล้ว และถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในช่วงที่เรากำลังเจรจาเรื่องของฟรีวีซ่า ไม่อยากให้มีอะไรที่ไปทำให้เกิดความระคายเคือง จึงต้องให้ทางกระทรวงการต่างประเทศไปรวบรวมข้อมูลก่อน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 17/3/2567

ฟินแลนด์เพิกถอนวีซ่าแรงงานไทยเก็บเบอร์รี่เป็นปีที่ 2 ต้นเหตุจากรายงานค้ามนุษย์ มีเหยื่อหลายร้อยคน ขณะกัมพูชา เมียนมาถูกเพิกถอนด้วยเพราะเป็นเขตอำนาจสถานทูตเดียวกัน

สำนักข่าวอิศรา รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับแรงงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยในประเทศฟินแลนด์ว่าทางกระทรวงต่างประเทศฟินแลนด์ได้ตัดสินใจที่จะเพิกถอนประเทศไทยจากรายชื่อประเทศที่มีสิทธิ์ได้รับวีซ่าระยะสั้นสำหรับแรงงานเก็บเบอร์รี่ป่าแล้ว ซึ่งการเพิกถอนรายชื่อเป็นปีที่สองติดต่อกัน

การตัดสินใจเพิกถอนวีซ่ายังครอบคลุมไปถึงประเทศกัมพูชาและเมียนมาด้วยเช่นกัน เนื่องจากว่าการยื่นขอวีซ่าสำหรับแรงงานเก็บเบอร์รี่ของทั้งสองประเทศนี้จะดำเนินการภายใต้เขตอำนาจของสถานทูตฟินแลนด์ในกรุงเทพ

การระงับวีซ่ามีผลกับผู้ยื่นขอทุกคนในประเทศที่อยู่ภายใต้เขตอํานาจของสถานทูตฟินแลนด์ในกรุงเทพฯ ได้แก่ ไทย กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งหมายความว่าแรงงานเก็บเบอร์รี่จากประเทศเหล่านี้จะไม่ได้รับวีซ่าเชงเก้นสําหรับฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งก็คือฤดูร้อนปี 2567

อนึ่งการเพิกถอนวีซ่าแรงงานเก็บเบอร์รีสำหรับคนไทยถูกระงับภายใต้ข้อสงสัยเกี่ยวกับการค้ามนุษย์  โดยปีที่แล้ว ฟินแลนด์ยังได้ระงับการออกวีซ่าสําหรับบุคคลสัญชาติไทย ตามแนวทางที่เข้มงวดในการดําเนินการขอวีซ่าสําหรับผู้เก็บเบอร์รี่ เนื่องจากสงสัยว่าเส้นทางดังกล่าวถูกใช้เพื่อการค้ามนุษย์

จากข้อมูลของกระทรวงฯ เป็นที่สงสัยว่าแรงงานเก็บเบอร์รี่จากประเทศไทยซึ่งได้รับวีซ่าเชงเก้นสําหรับเก็บผลเบอร์รี่ในป่าของฟินแลนด์มักเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และคาดว่าจํานวนเหยื่อจะเป็นจำนวนหลายร้อยคน

“กระทรวงการต่างประเทศในฐานะหน่วยงานด้านวีซ่าและหน่วยงานที่กํากับดูแลการออกวีซ่าให้กับสถานทูตมีมุมมองที่จริงจังมากเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์จากคนเก็บเบอร์รี่ป่าของไทย” กระทรวงฯระบุ

อย่างไรก็ตามคนไทยยังคงมีสิทธิ์ได้รับวีซ่าทำงานตามฤดูกาล หรือก็คือหมายความว่าคนไทยสามารถทำเรื่องยื่นขอวีซ่าแรงงานตามฤดูกาลสำหรับการไปเก็บเบอร์รี่ที่ไม่ใช่จากธรรมชาติ หรือว่าขอทำงานอื่นๆที่อยู่ภายใต้วีซ่าประเภทนี้ได้ โดยคนไทยที่ต้องการจะทำงานนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วันในประเทศฟินแลนด์ภายใต้เงื่อนไขวีซ่าทำงานตามฤดูกาลจะไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตถิ่นที่อยู่ อย่างไรก็ตามผู้ที่ประสงค์จะทำงานนานกว่านี้จะต้องได้รับใบอนุญาตถิ่นที่อยู่เมื่อมาถึงประเทศฟินแลนด์

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 16/3/2567

คบต.เห็นชอบแรงงาน 3 สัญชาติกลับบ้านช่วงสงกรานต์ 1 เม.ย.- 15 พ.ค.ไม่ต้องขอ Re-entry

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) พร้อมด้วยคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า ช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคมของทุกปี แรงงานไทยและแรงงานประเทศเพื่อนบ้านจะเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อร่วมประเพณีสงกรานต์ หรือเฉลิมฉลองปีใหม่ร่วมกับครอบครัว ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับแรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย รวมทั้งเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านแรงงานของประเทศไทยในระดับสากล ที่ประชุม คบต.ครั้งที่ 1/2567 จึงได้ร่วมกันพิจารณาผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา เดินทางกลับประเทศ เพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมในการเข้า-ออก ซึ่งผู้ได้รับการผ่อนผันจะต้องเป็นแรงงานสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่ถือหนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ที่ได้รับการตรวจลงตรา (VISA) ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non L-A Visa) รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี และระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ต้องมีอายุเหลืออยู่ไม่น้อยกว่าวันที่ 15 พฤษภาคม 2567

“เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน ให้พี่น้องแรงงานประเทศเพื่อนบ้านที่มาทำงานในบ้านเรา จึงผ่อนผันให้แรงงานเดินทางกลับประเทศต้นทางโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ และขอให้ทุกคนเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยตามช่องทางที่กฎหมายกำหนด” นายพิพัฒน์ กล่าว

ด้าน นายสมชาย กล่าวว่า สำหรับผู้ที่เดินทางในช่วงระยะเวลาผ่อนผันเจ้าหน้าที่จะประทับตราอนุญาตให้เดินทางออก – เข้าราชอาณาจักรในหนังสือเดินทาง เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตเพื่อกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีก (Re-Entry Permit) แต่หากประสงค์จะเดินทางกลับเข้าประเทศไทยหลังจากวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 หรือยังไม่ทราบกำหนดการเดินทางกลับเข้าประเทศไทยที่แน่ชัด จะต้องยื่นคำขอ Re-Entry ตามปกติ มิฉะนั้นการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวผู้นั้นเป็นอันสิ้นสุด

สัญชาติทราบต่อไป” นายสมชาย กล่าวและว่า ทั้งนี้ ระยะเวลาการผ่อนผันดังกล่าวจะเป็นไปตามที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนด ขอให้ติดตามข่าวสารจาก กกจ.อย่างใกล้ชิด ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน doe.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ที่มา: มติชนออนไลน์, 15/3/2567

ชี้องค์กรใช้วิธี "เลื่อนตำแหน่ง" รั้งคนไม่ให้ลาออก สู่ "ภาวะตำแหน่งงานเฟ้อ"

ผลสำรวจน่าสนใจจาก "โรเบิร์ต วอลเทอร์ส" ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลก เกี่ยวกับแนวโน้มภาวะตำแหน่งงานเฟ้อ (Job title inflation) ในประเทศไทย โดยพบว่า เกือบครึ่งหนึ่ง (50%) ของบริษัทที่ทําการสํารวจได้ใช้กลยุทธ์ในการ "ตั้งชื่อตำแหน่งสูงเกินจริง" เพื่อดึงดูดผู้สมัครงาน

จากข้อมูลระบุว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ชื่อตำแหน่งงานในตลาดแรงงานไทยมีความเฟ้อขึ้นอย่างมาก โดยตำแหน่งที่ขึ้นต้นด้วย “ผู้อำนวยการ” เพิ่มขึ้นถึง 24% และตำแหน่งที่ขึ้นต้นด้วย “หัวหน้าแผนก” ที่มีประสบการณ์เพียง 2 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นถึง 16%

เหตุผลก็คือ "ชื่อตำแหน่งงานที่สูงเกินจริง" เหล่านี้ ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยดึงดูดผู้สมัครในตลาด และ ช่วยรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัท ซึ่ง โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทย  ให้คำแนะนำว่า กลยุทธ์เหล่านี้ควรได้รับการทบทวนอย่างรอบคอบหากนำมาใช้ในการจ้างงาน เนื่องจากอาจสร้างปัญหาให้กับทั้งบริษัทและพนักงานในภายหลังได้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 14/3/2567

"ไทย-เกาหลีใต้" จับมือเพิ่มโควตา 15% ส่งแรงงานอุตสาหกรรม 5,500 อัตรา

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เข้าพบหารือกับนายลี จอง ชิก รมว.แรงงานและการจ้างงาน แห่งสาธารณรัฐเกาหลี ที่กระทรวงแรงงานและการจ้างงานแห่งสาธารณรัฐเกาหลี เกี่ยวกับการเพิ่มโควตาจัดส่งแรงงานไทย ภายใต้ระบบแรงงานต่างชาติ EPS และการแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สาธารณรัฐเกาหลีมีนโยบายกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราสูงตามภาวะการครองชีพ และมีกฎหมายมาตรฐานแรงงานที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตการทำงาน ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นจุดหมายสำคัญในการเดินทางไปทำงานของแรงงานต่างชาติทุกชาติ ไม่เว้นแรงงานชาวไทย ประกอบกับเกาหลีใต้ขาดแคลนแรงงานทักษะต่ำ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม งานภาคเกษตรกรรมและงานบริการ

"ไทยเจรจาขอเพิ่มโควตานำเข้าแรงงานต่างชาติ (EPS) ในปี 2567 สำเร็จ โดยเกาหลีใต้เพิ่มโควตางานภาคอุตสาหกรรม เป็น 5,500 อัตรา หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปี 2566"

นอกจากนี้ยังชื่นชมกระบวนการจัดส่งแรงงานโดยกรมการจัดหางานว่าเป็นไปอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ จึงให้ประเทศไทยจัดส่งแรงงานภาคบริการและท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งประเภทกิจการ เพื่อไปทำงานในโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของแรงงานเพศหญิง และเสนอการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ตามโครงการเปลี่ยนวีซาแรงงานไร้ฝีมือ E-9 เป็นแรงงานฝีมือ วีซา E-7-4 เพื่อแกปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะให้เกาหลี พร้อมกับช่วยให้แรงงานไทยมีรายได้ สวัสดิการและเงื่อนไขการพำนักในเกาหลีที่ดีขึ้น

รมว.แรงงาน เปิดเผยอีกว่า ฝ่ายไทยยังเสนอให้พิจารณาโควตาทักษะฝีมือ (E-7) ให้แรงงานไทย ซึ่งฝ่ายเกาหลีจะรวบรวมข้อเสนอจากประเทศผู้ส่งให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ไทยเสนอให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาขยายระยะเวลาโครงการนิรโทษกรรม เพื่อเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจ ซึ่งทางการเกาหลีแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการได้ แต่การแก้ไขปัญหาแรงงาน ผิดกฎหมายของไทย จะส่งผลดีต่อการพิจารณาโควตาแรงงานไทยในปีต่อๆ ไป

ขณะที่นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ย้ำว่า การเดินทางเยือนสาธารณรัฐเกาหลีครั้งนี้ มีเป้าหมายคือการเพิ่มโอกาสการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งการจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ในการแสวงหาโอกาส ลดข้อจำกัดและสร้างแนวทางแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ความต้องการของประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่งแรงงานสอดคล้องกัน

ที่มา: Thai PBS, 14/3/2567

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สั่งหน่วยปฏิบัติปูพรมตรวจไซต์ก่อสร้างบริษัทอิตาเลียนไทยทั่วประเทศ เพื่อเร่งช่วยลูกจ้างให้ได้รับค่าจ้าง

นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดี กสร. กล่าวถึงกรณีที่ลูกจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) รวมตัวเรียกร้องให้บริษัทจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่าย โดยจากการตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร มีสำนักงานสาขาและโครงการก่อสร้าง 25 โครงการทั่วประเทศ และมีลูกจ้างรวมทั้งสิ้นกว่า 20,000 คน โดยเป็นแรงงานข้ามชาติประมาณ 3,000-4,000 คน ทั้งนี้ พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 ซึ่งดูแลพื้นที่ที่สำนักงานใหญ่บริษัท อิตาเลียนไทย ตั้งอยู่ ได้ดำเนินการสอบสวนผู้แทนนายจ้างโดยยอมรับว่า บริษัทได้จ่ายค่าจ้างเดือนธันวาคม 2566 และเดือนมกราคม 2567 ให้กับลูกจ้างครบถ้วนแล้ว และยังคงค้างจ่ายค่าจ้างในเดือนกุมภาพันธ์ให้กับลูกจ้างในบางหน่วยงานจริง

“อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานทั่วประเทศเร่งตรวจสอบข้อมูลโดยให้ลงพื้นที่ตรวจสอบไซต์ก่อสร้างในเครือบริษัทอิตาเลียนไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะไซต์ก่อสร้างขนาดใหญ่ในเขตอุตสาหกรรม พร้อมทั้งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้หน่วยปฏิบัติในหลายจังหวัดได้มีหนังสือเชิญนายจ้างมาพบเจ้าหน้าที่เพื่อสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้ว” นางโสภากล่าว

ด้าน น.ส.กาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดี กสร. ในฐานะกำกับดูแลงานด้านคุ้มครองแรงงานแรงงานกล่าวเพิ่มเติมว่า กสร.ให้ความคุ้มครองแรงงานทุกคนภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าแรงงานไทย หรือแรงงานข้ามชาติ หากไม่ได้รับความเป็นธรรม กสร.ยินดีให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

รองอธิบดี กสร.ระบุว่า กรณีนี้ได้เน้นย้ำกับพนักงานตรวจแรงงานในหน่วยปฏิบัติให้เร่งตรวจสอบ พร้อมทั้งบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน กรณีที่พบว่าบริษัทยังคงการค้างจ่ายค่าจ้างให้ดำเนินการออกคำสั่ง และช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย และหากการค้างจ่ายค่าจ้างที่ส่งผลต่อลูกจ้างจำนวนมาก ให้พนักงานตรวจแรงงานอำนวยความสะดวกให้กับลูกจ้างนอกสถานที่ พร้อมเร่งรัดให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส และชี้แจงสิทธิให้ลูกจ้างทราบอย่างครบถ้วน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 12/3/2567

กมธ.แรงงานติดตามปางช้างเดวิด แรงงานจังหวัด เตรียมเพิกถอนใบอนุญาตทำงานเดวิด

นายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร และคณะ ศึกษาดูงานเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานในจังหวัดภูเก็ต โดยมี นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และ หน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอดีตลูกจ้างของนายเดวิด เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุมเจ้าฟ้าชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

นายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธาน คณะกรรมาธิการการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า “ตั้งใจมาตรวจเยี่ยมหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของกระทรวงแรงงานและติดตาม คดีชาวต่างชาติทำร้ายร่างกายแพทย์หญิง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน และติดตามชาวต่างชาติแย่งอาชีพ 40 อาชีพในจังหวัดภูเก็ตด้วยหรือไม่ รวมทั้งประเด็นแรงงานทั่วไป และการเลิกจ้างที่ไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย

โดย กรณีปางช้างของชาวต่างชาติที่มีปัญหาลูกจ้าง คือ คุณประนอม ที่ไปถอนฟ้องศาล แล้วนั้น เคสนี้ต้องใช้หลักนิติศาสตร์รัฐศาสตร์และหลักเมตตาธรรมและ ถ้าเขาไม่เดือดร้อนจริงคงไม่มาพบและพวกผมไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่นึกว่าจะเข้ามาพบกรรมาธิการฯในวันนี้ เคสแบบนี้ เป็นบทเรียน ให้กับกระทรวงแรงงาน ที่จริงกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเกรด A ที่สร้างชาติ ถ้าแรงงานไม่ดี รายได้คน ไม่มีความสุขหาเงินไม่ได้ ผมว่าประเทศชาติอยู่ลำบาก ซึ่งเคสนี้เขาสู้ไปมีแต่เจ็บตัวและเข้าเนื้อจึงยอม และเข้ามาพบกรรมาธิการฯเพื่อหาช่องทางผ่านกรรมาธิการแรงงาน กรณีแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว แสดงว่า ช่องทางกฎหมายบกพร่อง ต้องการให้เป็นเคสตัวอย่าง มีกองทุน รูปแบบโครงสร้าง ของราชการ ในการช่วยเหลือ”

ด้าน นางสาววรวลัญช์ วริษฐ์พุฒิเมธแรงงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การตรวจติดตามบริษัท Elephant Sanctuary Park Phuket จำกัด เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 พนักงานตรวจแรงงานได้เข้าตรวจสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน ณ บริษัท Elephant Sanctuary Park Phuket จำกัด ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานได้รับข้อเท็จจริงจากบริษัทไม่ครบถ้วน จึงมีหนังสือเชิญพบ ที่ภก 0030/0789 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2567 ให้บริษัทเข้าพบพนักงานตรวจแรงงานในวันที่ 7 มีนาคม 2567 เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและตรวจสอบเอกสารโดยมี นายมนตรีราชัย ผู้รับมอบอำนาจจากกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจมาพบพนักงานตรวจแรงงานตามหนังสือเชิญพบปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้ ผลการตรวจ บริษัท Elephant Sanctuary Park Phuket จำกัดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพุทธศักราช 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผลการวินิจฉัยมีคำสั่งให้บริษัท Elephant Sanctuary Park Phuket จำกัดปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง แรงงานพุทธศักราช 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ปฏิบัติภายใน 15 วันและข้อ 2 ให้ปฏิบัติภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งเป็นต้นไปบริษัทได้รับคำสั่งในวันที่ 7 มีนาคม 2567 ด้านการตรวจความปลอดภัย ผลการตรวจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานพุทธศักราช 2554 ผลการวินิจฉัย มีคำสั่งให้บริษัท Elephant Sanctuary Park Phuket จำกัดปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานพุทธศักราช 2554 ทั้งนี้ให้ปฏิบัติภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งเป็นต้นไปบริษัทได้รับคำสั่งในวันที่ 7 มีนาคม 2567

กรณีการยื่นคำร้องปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพรบ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำนวน 1 ราย ที่มาร้องเรียนคือ นางสาวประนอม สุขพรหม ลูกจ้าง ซึ่ง สวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ได้รับคำร้องเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นเคสเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย ผลการวินิจฉัย คำสั่งพนักงานตรวจรายงานที่ 79/2566 ลงวันที่ 24 เมษายน 2566 มีคำสั่งว่า นางสาวประนอม สุขพรม ลูกจ้างได้ยื่นคำร้องไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ความคืบหน้าจากนั้น น.ส.ประนอม สุขพรหม ลูกจ้างได้ไปดำเนินการยื่นคำร้องถอนฟ้องผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรมที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรีและส่งเอกสารมาที่ศาลแรงงานภาค 7 โดยศาลแรงงานภาค 7 อนุญาตให้นางสาวประนอม สุขพรหมลูกจ้างถอนฟ้องและจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ

การประกันสังคมบริษัทดังกล่าวมีลูกจ้างจำนวน 70 รายเป็นคนไทย 100% เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ระยะเวลาการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์เริ่มงาน 7 โมงครึ่งถึง 5 โมงเย็น มีสิทธิ์ลากิจและลาป่วยตามที่เป็นจริงโดยได้รับค่าจ้าง โดยนายจ้างส่งเงินสมทบ 5% เงินค่าจ้าง 15,000 บาทเงินสมทบจากลูกจ้าง 750 บาท

ด้านการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับจัดหางานซึ่งสำนักงานจัดหางานได้ดำเนินการไปแล้ว ตามที่เป็นข่าวปรากฏคือ Mr. URS BEAT FEHR หรือเดวิด สัญชาติสวิสเซอร์แลนด์มีใบอนุญาตทำงานเลขที่4070/60 ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและผู้จัดการทั่วไป นายจ้างคือบริษัท Elephant Sanctuary Park Phuket และมีการต่อใบอนุญาตทำงานถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 และเมื่อ 4 มีนาคม สำนักงานจัดหางานได้ร่วมกับ 5 หน่วยงานกระทรวงแรงงานได้ไปตรวจสอบที่ปางช้างดังกล่าวปรากฏว่าไม่พบการกระทำผิด มี นายเดวิดเป็นคนต่างด้าวเพียงคนเดียวของบริษัทและบริษัทไม่มีการจ้างงานคนต่างด้าว 4 สัญชาติ และปัจจุบันได้มีการเพิกถอนวีซ่า ของนายเดวิดแล้ว สำนักงานจัดหางาน ได้มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 8 มีนาคม เพื่อขอทราบรายละเอียดจาก ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ตเพื่อประกอบการพิจารณาเพิกถอน ใบอนุญาตทำงาน ต่อไป

ด้าน นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า “เหตุลูกจ้างของนายเดวิด เกิดขึ้นก่อนที่จะเป็นเรื่องใหญ่ในปัจจุบันจะมีส่วนช่วยเหลือลูกจ้างของนายเดวิดอย่างไรบ้าง ที่ทราบมามีมากกว่า 1 คน แต่ไม่กล้ามาร้องเรียน ต้องให้ความเป็นธรรมและ ต้องมีการถอดบทเรียนต่อกรณีดังกล่าว ในการจัดการแก้ปัญหา ซึ่งปางช้างแห่งนี้มีลูกจ้างเป็นคนไทย 70 คน จะให้ประกอบกิจการต่อหรือไม่ ถ้าประกอบการต่อต้องทำอย่างไร และถ้าไม่ประกอบกิจการต่อ ยกเลิกแล้วจะเป็นอย่างไร คือ สิ่งที่ต้องคิดต่อ สิ่งสำคัญที่สุด เรื่องปางช้าง ไม่อยู่ในอาชีพต้องห้าม 40 อาชีพทำให้คนต่างชาติมาประกอบกิจการแบบนี้ เอาช้างไทยไปหากินกับคนไทย และคนต่างประเทศสุดท้ายคนไทยได้อะไร ได้เศษเงิน ได้แค่ค่าแรง ซึ่งช้างเป็นของคนไทยคิดว่าไม่ถูกต้อง เมื่อก่อนไม่เคยเกิดแบบนี้ จึงไม่ระบุว่าอาชีพต้องห้ามห้ามเอาช้างเข้าไปเกี่ยว ซึ่งช้างไทยอยู่คู่กับบรรพบุรุษไทยมานาน แต่วันนี้กลายเป็นว่าเจ้าของที่เป็นคนไทย มีจำนวนกี่คน สุดท้ายเขาอยู่ไม่ได้ต้องมาขายให้ปางช้างฝรั่ง

ในเรื่องลูกจ้างของเดวิด ที่ได้รับผลกระทบและไปฟ้องไปขึ้นศาลมีค่าใช้จ่าย คือต้นทุนทั้งนั้น วันที่ต้องหยุดงานไปศาล ไปร้องเรียน เกิดค่าใช้จ่าย เพื่อไปทวงตังค์ แล้วต้องเสียต้นทุนด้วย คิดว่าไม่ยุติธรรม อยากให้กระบวนการยุติธรรม ทุกคนเท่ากันภายใต้กฎหมายเดียวกัน มีกองทุนยุติธรรมช่วยคนจน มีการช่วยเหลืออยู่แล้ว ปรากฎว่ากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถช่วยเขาได้ จึงถอนคดีความจากศาล ซึ่งข้อเท็จจริงเขาลาไปทำบุญ 100 วันมารดาจริง ปรากฏว่านายจ้างไม่ให้ลาจริง ถามว่า คนลาไปทำบุญแม่ 100 วัน คุณไม่ให้เขาลา มองว่านายจ้างทำไม่ถูกแต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่ David จะเป็นเรื่อง ดังนั้น การที่เขาบอกว่าเดวิดเป็นผู้มีอิทธิพล ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ดังนั้นจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ในเมื่อลูกจ้างของเดวิดถูกเลิกจ้างจริง และการที่เขาต้องถอนคดีออกจากศาลเพราะทนไม่ได้ต้องไปศาลหลายรอบ ใครจะไปศาลบ่อยๆ ในเมื่อรู้อยู่ว่า สู้ไม่ไหว ก็ยอมดีกว่า จึงถอนฟ้อง และตัวเขาเองนอนไม่หลับ รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงมาพบกรรมาธิการ แรงงานสภาผู้แทนราษฎร ที่จังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ เงินชดเชยอาจไม่ได้มากแต่ศักดิ์ศรีความเป็นคนต้องได้รับเท่าเทียมกันทุกคน จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ดำเนินการช่วยเหลือ กรณีดังกล่าว และทำไมแรงงานจังหวัดในพื้นที่ไม่ช่วยเหลือแรงงานด้วยกัน ตามกลไก กระบวนการที่มีกองทุนยุติธรรมจัดหาทนายความจัดหาค่ารถซึ่งมีอยู่แล้ว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ทำไมเข้าไม่ถึงซึ่งยุติธรรมจังหวัดภูเก็ตก็มี จึงขอให้ ดูแล ในประเด็นรายอื่นๆให้ทั่วถึง”

ด้าน นายธนพงศ์ อรชร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ข้อเท็จจริง กรณีคุณประนอม สุขพรหม ได้มายื่น คำร้อง ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ในกรณี เรียกร้องเงินค่าชดเชย ที่มีการประกอบการเลิกจ้าง ข้อเท็จจริงสรุปว่า คุณประนอม ขออนุญาตลางานไปทำบุญ 100 วันคุณแม่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่ปรากฏแก่เจ้าหน้าที่ และการลาของบริษัทปางช้าง คือเป็นการลาไม่มีลายลักษณ์อักษรกัน พนักงานตรวจรายงานเมื่อรับเรื่องเสร็จแล้ว ได้สอบพยานเพิ่มเติม รวมทั้งหมด 5 ปาก แต่พยานส่วนใหญ่ ไม่ได้ให้การเป็นพยานชัดเจน ว่าเลิกจ้างหรือลาออก ซึ่งไม่อนุญาตให้ไปแต่ยังไปแต่สุดท้าย พยานปากที่สำคัญที่สุดคือ นายเนตรนพพล ปั้นหยาซึ่งเป็นลูกชาย ของคุณประนอม ให้การกับเจ้าหน้าที่ว่า แม่ขอลาไปทำบุญ 100 วันยาย และทางคุณเดวิด ไม่อนุญาตให้ลา หากจะลาให้ออกไปเลย แม่จึงตัดสินใจออกจากบริษัทไป คุณประนอมออกไปแล้วไม่กลับเข้ามาทำงานที่บริษัทอีกเลย ตอนหลังมายื่นคำร้อง เรียกค่าชดเชย เจ้าหน้าที่ วินิจฉัยว่า คุณประนอม ละทิ้งหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานคือออกไปเอง ไม่มีสิทธิ์ได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย หลังจากนั้นคุณประนอมไปยื่นอุทธรณ์ ตามขั้นตอนตามกฎหมาย คำสั่ง พนักงานตรวจแรงงานที่ศาลแรงงานภาค 7 ซึ่ง คุณประนอมอยู่กาญจนบุรีไปยื่นที่ศาลแรงงานภาค 7 ได้รับคดี และ ประสานกับศาลแรงงานภาค 8 ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต ฟ้องเจ้าหน้าที่และฟ้องบริษัทมีการไกล่เกลี่ยนัดแรกเมื่อ 26 กรกฎาคม 2566 แต่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยและตกลงกันได้สารจึงเลื่อนนัดไปไกล่เกลี่ยครั้งที่ 2 วันที่ 6 กันยายน 2566 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้เช่นเดิม สารจึงกำหนดประเด็น เพื่อนำสืบ คือวันที่ 1 พฤศจิกายนและ 2 พฤศจิกายน เมื่อถึงวันที่ 1 พฤศจิกายนคุณประนอม ได้ไปที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ขอถอนฟ้อง ทางศาลแรงงานภาค 7 อนุญาตให้ถอนฟ้อง จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ด้าน น.ส.ประนอม สุขพรหม อดีตลูกจ้างเดวิด กล่าวว่า นางสาวคนึงนิจ ภรรยานายเดวิดได้ส่งข้อความทางแชทไลน์ วันที่ 18 ตอนเช้าเรียกเข้าออฟฟิศให้ดิฉันออกงานเลย นี่คือความจริงทุกมูลเหตุแต่ที่ดิฉันกระเสือกกระสุนไปฟ้องร้องเพราะต้องการสิทธิ์ในความเป็นธรรมตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเราเป็นแรงงานทำงานเพื่อเงินเพื่อเลี้ยงดู ตัวเองและครอบครัวทุกคนมีภาระ แต่ในความเป็นจริง เราต้องดิ้นรน เพื่อทวงสิทธิ แม่เพิ่งเสียและเป็นคนเดียวที่ต้องรับผิดชอบครอบครัว มาตลอด จนเหตุการณ์มาวันนี้ สุดท้ายต้องจำยอม เพราะกลัวและ ไม่มีเงินจะต่อสู้คดี ไม่มีทนายความที่ช่วยเหลือ วันนี้ ขอบคุณกรรมาธิการแรงงานที่ให้ความช่วยเหลือตามกระบวนการ

ด้าน นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เคสนี้จบง่ายเกินไปอย่างที่คุณประนอมบอกคือไม่มีทางไปต้องจบ ทางจังหวัดจะขอรับเคสนี้ไปดำเนินการช่วยเหลือจัดการให้ ตามขั้นตอน และ การช่วยเหลือเยียวยา รวมทั้งจะให้ยกให้เป็นกรณีศึกษา ทางจังหวัดภูเก็ตรับดำเนินการ ในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เป็นเคสตัวอย่างให้กับจังหวัดอื่นด้วยในกระทรวงแรงงาน จึงขอฝากกรรมาธิการฯ คือถ้าท้ายที่สุด มันไปต่อไม่ได้ ต้องเดินตามกระบวนการก่อนแต่ถ้าท้ายที่สุดไปไม่ได้ ต้องไปหารืออัยการ กรณีเคสคุณประนอม สามารถยื่นฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้หรือไม่ และ ถ้ามีลูกจ้างที่ร้องเข้ามาเพิ่มเติม จะช่วยไปในคราวเดียวกัน เป็นมาตรฐานในการดำเนินการปฏิบัติต่อไปในกระทรวงแรงงาน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 11/3/2567

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net