Skip to main content
sharethis

วรรณวิภา สส.ปีกแรงงาน พรรคก้าวไกล อภิรายงบฯ วันที่ 2 ของกระทรวงแรงงาน ติงงบปลัดกระทรวง กรมจัดหางาน และกรมสวัสดิ์ฯ เน้นใช้อบรมด้านกฎหมายแรงงานด้านต่างๆ แต่สถิติที่ผ่านมาเผยการละเมิดสิทธิแรงงานไม่ลดลงเลย

 

21 มี.ค. 2567 ยูทูบ TP Channel ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (21 มี.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 27 พิจารณางบประมาณฯ วันที่ 2 วรรณวิภา ไม้สน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคก้าวไกล อภิปรายแปรญัตติมาตรา 22 งบประมาณของกระทรวงแรงงาน ชี้ให้เห็นถึงการจัดการงบประมาณภายในกระทรวงแรงงาน 3 ส่วน ปลัดกระทรวงแรงงาน กรมจัดหางาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

วรรณวิภา ชวนดูงบประมาณของสำนักปลัดกระทรวงแรงงาน ภาพรวมเทียบระหว่างปี 2566 มีจำนวนราว 432 ล้านบาท และปี 2567 ได้งบประมาณจำนวนประมาณ 702 ล้านบาท หรือเพิ่มราว 269 ล้านบาททีเดียว

สส.พรรคก้าวไกล ชวนดูต่อว่า เมื่อมาดูงบประมาณของสำนักปลัดกระทรวงแรงงาน พบว่านำไปลงกับการอบรมการค้ามนุษย์ โดยปี 2567 ได้งบประมาณ 10 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมปี 2566 ที่มีจำนวน 3.3 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการให้แรงงานได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย เข้าใจและสามารถป้องกันตนเองจากขบวนการค้ามนุษย์ และบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ 

วรรณวิภา มองว่า รายละเอียดของโครงการมันคือการอบรมเรื่องกฎหมาย ซึ่งเธออยากเสนอเอางบประมาณไปใช้กับการบังคับกฎหมาย และป้องกันสัญญาปลอม เวลาที่แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ หรือให้กรมจัดหางานไปดูเรื่องกฎหมายแรงงานไทยเวลาไปทำงานต่างแดน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาไทยมีถูกกล่าวหาเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งสืบเนื่องจากบริษัทจัดหาแรงงานส่งคนงานไทยไปเก็บเบอร์รีป่าที่ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ยุโรป 

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า อีกโครงการคือเรื่องแรงงานผู้สูงอายุ และผู้พิการ โดยมีผลที่คาดว่าจะได้รับคือแรงงานผู้พิการและผู้สูงอายุมีงานทำ ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและมีหลักประกันสังคม ซึ่งวรรณวิภา มองว่าพันธกิจของโครงการอาจทับซ้อนกับงานของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเสนอว่าจะดีกว่าหรือไม่ถ้าไปบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ. ผู้พิการ มาตรา 33-35 โดยเฉพาะมาตรา 34 ไม่ได้บังคับใช้กับหน่วยงานของรัฐ มีการปรับเงินบริษัทเอกชน แต่ไม่ได้มีการปรับหรือบังคับใช้กับข้าราชการเลย ถ้าเอางบประมาณไปใช้เรื่องนี้ และให้ข้าราชการรับผู้พิการเข้าทำงานจะดีกว่าหรือไม่

นอกจากนี้ วรรณวิภา เสนอว่า กองทุนผู้พิการของ พม. ซึ่งปัจจุบันมีงบฯ อยู่ 8 พันล้านบาทที่ไม่ได้นำไปใช้ และกองทุนยังเก็บสะสมอยู่ อยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลด้วยว่า จะทำอย่างไรได้บ้างให้กองทุนสร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้พิการ และผู้พิการเข้าถึงให้ได้มากที่สุด

สส.พรรคก้าวไกล ชวนดูโครงการของกรมจัดหางาน มีโครงการในลักษณะเดียวกับปลัดกระทรวงแรงงาน เน้นเรื่องการป้องกันการค้ามนุษย์ โดยงบประมาณปี 2566 มีอยู่ราว 1 ล้านบาท แต่ปี 2567 เพิ่มเป็น 2 ล้านบาท เพื่อความจำเป็นในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และการไปทำงานอย่างถูกกฎหมาย ไปจนถึงการให้ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเธอมองว่า งบประมาณควรนำไปลงที่การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเสียมากกว่า 

นอกจากนี้ กรมการจัดหางาน มีการทำโครงการลักษณะเดียวกับ ปลัดกระทรวงแรงงาน คือการขยายโอกาสงานให้ผู้สูงอายุ ได้งบประมาณราว 3.3-3.4 ล้านบาท เพื่อสร้างงานให้ผู้สูงอายุ แต่วรรณวิภามองว่าน่าจะนำงบฯ ไปลงกับเรื่องสวัสดิการของผู้สูงอายุมากกว่า

เช่นเดียวกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตั้งงบประมาณลักษณะโครงการจัดอบรมให้กับบุคลากรภายในของราชการ หรือบุคลากรภายนอก ให้มีความรู้ด้านกฎหมายแรงงานต่างๆ และมีการจัดอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงาน 

สถิติการละเมิดกฎหมายแรงงาน สวนทางงบฯ ด้านอบรมกฎหมาย

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อมาดูผลประกอบการ โดยดูสถิติการละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานของสถานประกอบการไม่สอดคล้องกับงบประมาณด้านอบรมกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานของกระทรวงแรงงานจำนวนมาก เพราะเมื่อได้งบประมาณด้านนี้เพิ่ม การละเมิดสิทธิแรงงานควรจะต้องลดลง แต่ว่าสถิติที่ปรากฏนั้นสวนทางกัน ตัวเลขสถิติละเมิดแรงงานกลับไม่ลดลงเลย ซึ่งไม่สมควร

ท้ายสุด วรรณวิภา ตั้งคำถามถึง กมธ.ว่าพันธกิจของกระทรวงแรงงานทับซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ หรือไม่ โดยเฉพาะกระทรวง พม. ที่ดูแลเรื่องผู้สูงวัยและผู้พิการ และทำอย่างไรที่จะทำให้คนที่ไม่ทำตามกฎหมายแรงงานลดลง 

สุดท้าย วรรณวิภา เผยขอตัดลงงบประมาณของกระทรวงแรงงานลด 5 เปอร์เซ็นต์  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net