Skip to main content
sharethis

'จ่ายเท่ากัน ได้สิทธิไม่เท่ากัน' ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดไม่รับพิจารณาคำร้องคดีแรงงานข้ามชาติฟ้องเพิกถอนระเบียบกระทรวงแรงงาน กีดกันแรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ศาลมองไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องใน 90 วัน และไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

 

29 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวานนี้ (28 มี.ค.) ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ทนายความคลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด ภายใต้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน สมาชิกแรงงานข้ามชาติ 'Bright Future' และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) เดินทางมาฟังคำสั่งศาลปกครอง รับพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ กรณีแรงงานผู้ประกันตน ยื่นฟ้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงาน กรณีไม่เร่งดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม และให้เพิกถอนกฎและระเบียบที่มีการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ

จิรารัตน์ มูลศิริ ทนายความจากคลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด HRDF กล่าวว่า กรณีนี้สืบเนื่องจากเมื่อ พ.ค. 2566 ทาง HRDF ได้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน เพื่อขอให้มีการเพิกถอนคำสั่งเกี่ยวกับระเบียบของคณะกรรมการประกันสังคม ที่กำหนดระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 ที่ระบุในข้อ 16 ว่า "แรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ตัวแทนคณะกรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน" 

 

จิรารัตน์ กล่าวว่า หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่ง 'ไม่รับคำฟ้อง' เนื่องจากอยู่นอกเหนือจากเขตอำนาจของศาลแรงงาน หลังจากนั้นมีการยื่นอุทธรณ์ และวันนี้มาฟังคำพิพากษาศาลฯ ว่ามีคำสั่งรับคำฟ้องเพิ่มไว้พิจารณาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองมีคำสั่งเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ และศาลระบุว่าไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาเช่นกัน เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 รายไม่ได้ปฏิบัติตามกรอบระยะคดีกฎหมายทั้ง 2 ราย หรือไม่ได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาตรา 42 โดยกำหนดว่าให้มีการฟ้องตามระยะเวลากรอบกฎหมาย โดยทางผู้ร้องฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งฯ มาตรา 9 อนุ 1 ซึ่งศาลมองว่า ทางผู้ร้องไม่ได้ใช้สิทธิคัดค้าน หรือโต้แย้งคำสั่ง ภายใน 90 วัน หลังมีประกาศปี 2564 

จิรารัตน์ ระบุด้วยว่า ศาลปกครองสูงสุดมองว่าคดีนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์สาธารณะ และก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ส่วนรวม 

จิรารัตน์ มูลศิริ (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

ทนายความจากคลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด กล่าวต่อว่า แม้ว่า ‘คำสั่งไม่รับคำฟ้องพิจารณา’ เป็นคำสั่งเด็ดขาดแล้ว หรือไม่สามารถอุทธรณ์ได้แล้ว แต่พอจะมีแนวทางดำเนินการต่อไปได้ในกรณีที่แรงงานข้ามชาติเมื่อไรก็ตามที่ใช้สิทธิเป็นผู้ประกันตน สามารถที่จะโต้แย้งคัดค้านระเบียบนี้ได้ และต้องดำเนินการในระยะเวลาที่กำหนด สามารถมาฟ้องที่ศาลปกครองได้โดยไม่ถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำฟ้องซ้อน 

ธนพร วิจันทร์ สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน มองว่า เวลาเราพูดวงกว้างเราต้องมีวิธีคิดแบบไหนว่า แรงงานข้ามชาติเกือบล้านคนในประเทศไทยเขาได้รับผลกระทบ เขามีปัญหากลไกการเข้าถึงสิทธิ ถึงบอร์ดประกันสังคม ถึงระบบประกันสังคมว่า เขาจ่ายประกันสังคมทุกเดือน แต่สิทธิกลไกการเข้าถึงทำไมมันถึงยาก และวันนี้เขาไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งมันเป็นผลกระทบของแรงงานข้ามชาติ เพราะว่าอย่าลืมว่าสิทธิประกันสังคม มีทั้งเรื่องเงินสงเคราะห์บุตร ค่าคลอดบุตร ค่าเสียชีวิต การรักษาเจ็บป่วย หรือการทุพพลภาพอะไรต่างๆ ปัญหาเหล่านี้เป็นวงกว้างของสังคม แต่มันขึ้นกับวิธีคิดของศาลจะมองยังไง 

"ศาลมองว่าคนล้านกว่าคนไม่ใช่วงกว้าง แต่เราคิดว่าพี่น้องแรงงานข้ามชาติล้านกว่าคนที่อยู่ในประเทศไทย มันเพียงพอแล้วสำหรับมันเป็นประโยชน์วงกว้าง มันมีผลกระทบต่อวงกว้าง และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะของพี่น้องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย" ธนพร กล่าว 

ธนพร กล่าวว่าจะมีการเข้าไปคุยหรือแก้ไขระเบียบให้แรงงานข้ามชาติได้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะว่าระเบียบจะถูกนำมาใช้พิจารณากรณีนี้ด้วย และอยากฝากทางคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายประชาธิปไตยที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปแก้ไขปัญหาให้แรงงานข้ามชาติ และผู้ประกันตน มาตรา 33 39 และ 40 ต่อไป

ทั้งนี้ จำนวนผู้ประกันตนทั่วประเทศกว่า 24 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ประกันตนสัญชาติไทย 22.8 ล้านคน และผู้ประกันตนต่างชาติ 1.2 ล้านคน แต่ผู้ประกันตนต่างชาติกลับไร้สิทธิ์เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม เมื่อ 24 ธ.ค. 2566 เพียงเพราะเงื่อนไขระบุว่า เฉพาะผู้มี 'สัญชาติไทย'

สุรัช กีรี แรงงานข้ามชาติชาวพม่า กลุ่ม Bright Future มองกรณีศาลไม่รับคำร้องเพราะว่าเลยเวลาใช้สิทธิคัดค้านภายใน 90 วันว่า ศาลน่าจะให้เวลามากกว่านี้ เพราะว่าตอนออกระเบียบเลือกตั้งประกันสังคมปี 2564 ตอนนั้นแรงงานข้ามชาติไม่ทราบว่าจะมีการเลือกตั้งประกันสังคม และมองว่าประกันสังคมทำงานไม่เต็มที่เรื่องประชาสัมพันธ์

"พอตอนนี้มีปัญหา มันทำให้เราต้องเรียกร้องความเป็นธรรมต่อ วันนี้ทำให้รับรู้ว่าความยุติธรรมมันไม่ได้มาง่ายๆ เราต้องสู้ สู้จนสุดๆ สู้จนหยดสุดท้าย" ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ กล่าว 

สุรัช กีรี (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

สุรัช กล่าวว่า การได้เลือกตั้งประกันสังคมจะช่วยเหลือชาวพม่า เพราะว่าถ้ามีคนของแรงงานข้ามชาติเข้าไปเป็นบอร์ดบริหาร ก็จะช่วยประชาสัมพันธ์สิทธิให้ชาวพม่ารับรู้สิทธิอะไรมากขึ้น เวลาไม่สบาย การคลอด มันต้องมีคนของเราเข้าไปอยู่ในบอร์ดบริหารแรงงานข้ามชาติเขาถึงจะทราบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net