Skip to main content
sharethis

ก.แรงงานหนุนจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 67 พร้อมเปิดพื้นที่รับฟังข้อเรียกร้อง ย้ำแรงงานเป็นกำลังผลักดันเศรษฐกิจสังคมไทย

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ โดยรัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันสำคัญของพี่น้องแรงงานที่เป็นกำลังในการผลักดันและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ในปีนี้สภาองค์การลูกจ้าง 16 แห่ง สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ได้เห็นชอบให้นายทวี ดียิ่ง ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ และอำนวยความสะดวกแก่คณะกรรมการจัดงาน ที่สำคัญจะเป็นโอกาสให้ผู้ใช้แรงงานได้นำเสนอข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ต่อรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานจะนำมาดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน และหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องแรงงานต่อไป

สำหรับการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 1 พ.ค. ณ บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เริ่มตั้งแต่เวลา 07.30 น. พิธีสงฆ์ มีสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธี เวลา 08.45 น. ริ้วขบวนลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน เคลื่อนออกจากบริเวณแยก จปร. ถ.ราชดำเนินนอก ไปยังลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพหานคร เวลา 11.00 น. พิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 ซึ่ง นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธานในพิธี โดยประธานคณะกรรมการจัดงานจะแถลงข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ และยื่นต่อรองนายกรัฐมนตรี จากนั้นรองนายกรัฐมนตรีจะเยี่ยมชมนิทรรศการของกลุ่มผู้ใช้แรงงานและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ณ เต็นท์กิจกรรมกระทรวงแรงงาน

โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงแรงงานมีของขวัญวันแรงงานให้กับผู้ใช้แรงงาน เช่น การผลักดันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 เพื่อส่งเสริมเสรีภาพและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ซึ่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาไม่เคยผ่านขั้นตอนแรก รวมทั้งการขยายเวลาให้เงินกู้สำหรับแรงงานอิสระที่รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ออกไปจนกว่าจะครบวงเงินกู้ โดยปลอดดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีแรก เป็นต้น

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 28/4/2567 

ทูตแรงงานเมียนมาประจำประเทศไทย พาแรงงานชาวเมียนมาเข้าแจ้งความ หลังถูกนายจ้างและพวกรวม 4 คน รุมทำร้าย

27 เม.ย. 2567 ที่สถานีตำรวจภูธรเมือง จังหวัดนครปฐม ทูตแรงงานเมียนมาประจำประเทศไทย พาแรงงานชายชาวเมียนมา อายุ 28 ปี เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของโรงงานชำแหละหมูแห่งหนึ่ง ในอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โดยให้การว่า ถูกเจ้าของโรงงานและพวกรวม 4 คน กระทืบจนสลบ ก่อนจะนำขึ้นรถออกไปโยนไว้ข้างทาง พอฟื้นขึ้นมาได้ จึงพยายามพาตัวเองออกมาขอความช่วยเหลือจากคนที่สัญจรผ่านไป-มา จนมีพลเมืองดีนำส่ง รพ.สต.มาบแค ก่อนจะนำส่งต่อโรงพยาบาลนครปฐม เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 24 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา

ทูตแรงงานเมียนมา ยืนยันว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บเข้ามาทำงานถูกต้องตามกฎหมาย แต่เนื่องจากตัวผู้ได้รับบาดเจ็บและญาติ ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ หลังเกิดเหตุไม่รู้จะไปติดตามตรวจสอบกับใคร จึงต้องไปร้องขอความช่วยเหลือจากทูตแรงงานฯ

ด้านรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า โรงงานดังกล่าว มีรั้วคอนกรีตสูง ปิดมิดชิด ทำให้คนที่ขับรถผ่านไปมา ไม่สามารถมองเห็นภายในได้ แต่ตอนนี้ได้สั่งการให้หาหลักฐานจากกล้องวงจรปิด เพื่อดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุแล้ว วันนี้ได้เชิญผู้แทนจากแรงงานจังหวัด เจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัด และพม.จังหวัด เข้ามาร่วมรับฟังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าตำรวจให้ความเป็นธรรมกับผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างแน่นอน และหลังจากผู้ได้รับบาดเจ็บดีขึ้น จะสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดอีกครั้ง

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 27/4/2567 

Voice TV ประกาศปิดกิจการ พร้อมจ่ายชดเชยให้พนักงานทุกคนตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม

26 เม.ย. 2567 Voice TV เผยแพร่ประกาศอำลาผู้ชมจากทีมงานวอยซ์ โดยระบุว่าตลอด 15 ปี ที่ผ่านมา วอยซ์เป็นสื่อมืออาชีพที่สร้างสรรค์แนวทางการนำเสนอใหม่ๆ ผลักดันให้สังคมตั้งคำถามกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และกระตุ้นให้เกิดการตื่นรู้ มีความหวัง และเลือกใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และประชาธิปไตย 

เราผ่านภาวะวิกฤตมามากมาย ผ่านเหตุการณ์สำคัญ ผ่านความรัก และความปลุกปั่นเกลียดชัง ทั้งทางการเมือง การชุมนุมและการรัฐประหาร ผ่านวิกฤตโควิด และวิกฤต disruption ของวงการสื่อ จากดาวเทียม สู่ดิจิทัลทีวี สู่ออนไลน์และแพลตฟอร์มโซเชียล

เราฝ่าฟันอุปสรรค เพื่อมุ่งสร้างกิจการให้มั่นคงตลอดมา ทุกครั้งที่เราเห็นผู้ประกอบการหลายรายพยายามฝ่าภาวะวิกฤตจากผลประกอบการ และหยุดกิจการไป เราก็ยังปักหลักปรับเปลี่ยนการบริหาร จัดการจากข้อจำกัดต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การแสวงหากำไรความยั่งยืนให้กับ Voice TV เพื่อเป็นหลักให้ผู้สื่อข่าวและผู้ปฏิบัติงานทุกคนได้มีโอกาสทำหน้าที่ตามปรัชญาสื่อมวลชน ท่ามกลางการลดขนาดกิจการ เราประเมินสถานการณ์ตัวเองและเลือกที่ฝ่าฟันเดินหน้า

วันนี้ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น ประเมินกิจการและภาวะวิกฤตในอุตสาหกรรมอย่างรอบด้านแล้ว มีความเห็นสรุปปิดกิจการ เนื่องจากกลไกตลาด เทคโนโลยีแพลตฟอร์มมีผู้ผลิตมากมายและหลากหลาย ที่สามารถสานต่อภาระกิจสังคมต่างๆ ได้ ขณะที่ประชาธิปไตยกำลังลงหลักเพื่อเริ่มต้นต่อไปได้ จากนี้ทางบริษัทจะมีการจ่ายชดเชยให้พนักงานทุกคนตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม โดยเราจะทยอยหยุดออกอากาศทั้งบนทีวีและออนไลน์ภายในเดือนพฤษภาคมนี้

ตลอด 15 ปี เราภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมผลิตผลงานเพื่อสังคม รวมถึงผู้ถือหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน อดีตพนักงาน ผู้สื่อข่าว ผู้ดำเนินรายการ ทั้งที่อยู่ปัจจุบัน และที่เคยมีส่วนร่วมสร้างมาด้วยกัน เราภาคภูมิใจในการสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม เราภูมิใจในสิ่งที่เราเป็นและสิ่งที่เราทำตลอดมา

ที่มา: Voice TV, 26/4/2567 

แรงงานไทย ฮีทสโตรกจากอากาศร้อนจัด แนะผู้ประกอบการติดตั้งพัดลมไอน้ำช่วย

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล ประจำปี พ.ศ.2567 ภายใต้หัวข้อ "ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความปลอดภัยและชีวอนามัย" ถึงปัญหาสภาพอากาศ ว่า ในปัจจุบันที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ขณะนี้อุณหภูมิประมาณ 40-43 องศาเซลเซียส

ผู้ใช้แรงงานหากรู้สึกร้อนจนเกินไปให้พยายามจิบน้ำบ่อยๆ เวลาทํางานให้ใส่เสื้อผ้าสีอ่อนๆ และไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าหลายชั้น

เพื่อให้การระบายความร้อนดีขึ้น และที่สำคัญเวลาออกไปทำงานควรจะอยู่กันเป็นกลุ่ม หากเกิดโรคลมแดด (ฮีทสโตรก) ขึ้นมาจะได้ช่วยเหลือกันได้ รวมทั้งต้องหลีกเลี่ยงการทำงานกลางแจ้งในขณะที่แดดร้อนๆ เพื่อเป็นการรักษาอุณหภูมิในร่างกายไม่ให้ร้อนจนเกินไป

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ อย่าลืมเอาลูกๆ หลานๆ หรือเด็ก ทิ้งไว้ในรถในขณะที่รถจอดตากแดดเป็นเวลานาน จะเป็นอันตรายมาก เพราะเมื่อเกิดความร้อนมาก จะไม่มีอากาศ ทําให้เด็กไม่สามารถหายใจได้ ถือเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด และในช่วงอากาศร้อนอย่างนี้ต้องงดดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมทั้งต้องดูแลตัวเอง รักษาความสมดุลของร่างกาย จึงอยากจะให้เพื่อนๆ ผู้ใช้แรงงานช่วยกันปฏิบัติ เพื่อที่จะดูแลตัวเองได้

นายพิพัฒน์ ยังฝากไปถึงเจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการ ควรจะดูแลผู้ใช้แรงงานในขณะทํางานในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัด ให้ทำงานในที่มีความเหมาะสม ถ้าหากอากศร้อนจนเกินไป ควรงดทำงานกลางแจ้ง หรือหากจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้งโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรติดตั้งพัดลมไอน้ำ เพื่อเป็นการลดอุณหภูมิให้กับลูกจ้าง

ที่มา: PPTV, 26/4/2567 

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวงแรงงาน เรื่อง ค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย

วันที่ 25 เม.ย.2567 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวงแรงงาน เรื่อง ค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 และมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2563 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 2 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินหกหมื่นห้าพันบาท”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (3) ของข้อ 3 แห่กฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2563 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“(3) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะ”

ข้อ 3 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับรวมถึงลูกจ้างซึ่งประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับและยังคงรักษาพยาบาลอยู่จนถึงวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ

ให้ไว้ ณ วันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2567 พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ที่มา: ข่าวสด, 25/4/2567

มจร.วัดไร่ขิง เปิดหลักสูตรปั้น "มัคนายก" ต้นแบบ สร้างอาชีพ - มีใบรับรองให้

พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ รองผอ.วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร.วัดไร่ขิง จ.นครปฐม กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพมัคคนายกเพื่อเป็นผู้นำศาสนพิธีแห่งศรัทธา ทางมจร.วัดไร่ขิง ได้ทำความร่วมมือกับคณะสงฆ์ภาค 14 (นครปฐม สมุทรสาคร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี) ในการกำหนดทักษะสำหรับผู้จะทำหน้าที่มัคนายกเพื่อเป็นผู้นำศาสนพิธีแห่งศรัทธา ประกอบด้วย 1. ทักษะในการเป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 2. มีความรู้ในพระพุทธศาสนาและศาสนพิธีประเภทต่างๆ 3. ตั้งตนอยู่ในศีลธรรม (ศีล 5) 4. มีบุคลิกภาพน่าเชื่อถือ เป็นผู้นำ ปฏิปทาน่าเลื่อมใส และได้ร่วมกันออกแบบหลักสูตร “การพัฒนาศักยภาพมัคนายกเพื่อเป็นผู้นำศาสนพิธีแห่งศรัทธา” กำหนดเนื้อหาว่าด้วยความรู้ในพระพุทธศาสนา ศาสนพิธีอันเนื่องด้วยมงคลพิธีและอวมงคลพิธี สารัตถะธรรมที่แฝงอยู่ในงานพิธีต่าง ๆ มีทักษะในการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดศาสนพิธีต่อประชาชน มีบุคลิกภาพน่าเชื่อถือ เป็นผู้นำ มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส มีความเป็นผู้นำ เมื่อผู้เรียนผ่านการเรียนรู้จากหลักสูตรนี้แล้ว จะเป็นมัคคนายกที่เป็นผู้นำศาสนพิธีแห่งศรัทธา เป็นต้นแบบให้กับศาสนพิธีกรในคณะสงฆ์ภาค 14 ทั้งเชื่อมโยงการศึกษากับการทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ โดยจะออกใบรับรองเพื่อให้เป็นที่ยอมรับและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือ

พระมหาบุญเลิศ กล่าวต่อไปว่า สำหรับหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพมัคนายกเพื่อเป็นผู้นำศาสนพิธีแห่งศรัทธา รุ่น 1 จะเปิดรับมัคนายกประจำวัด จำนวน 20 คน ผู้สนใจทั่วไป จำนวน 20 คน เรียนทุกวันพุธ สัปดาห์ละ 1 วัน ระยะเวลา 7 สัปดาห์ ฝึกปฏิบัติในสถานที่จริง ระยะเวลา 9 สัปดาห์ ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา สมัครเรียนได้ที่ https://forms.gle/EKuZDBCZuHSnxaHRA หรือติดต่อสอบถาม พระปลัดประพจน์ สุปภาโต 089-223-1243

ที่มา: NBT Connext, 25/4/2567 

ศาลฯ เพิกถอนคำสั่ง ‘พนง.ตรวจแรงงาน’ ปมให้ ‘การบินไทย ’จ่ายค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนฯ’

สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ฝ่ายกฎหมายของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่สรุปคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ร 1196/2566 ระหว่าง บริษัท การบินไทยฯ (โจทก์) และพนักงานตรวจแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กับพวกรวม 3 คน (จำเลยที่ 1-3) ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของอดีตพนักงานบริษัท การบินไทย รายหนึ่ง โดยมีเนื้อหาว่า

ศาลแรงงานกลาง ได้มีคำพิพากษา ดังนี้ ประเด็นว่า สิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของจำเลยที่ 2 (อดีตพนักงานบริษัท การบินไทยฯ) ขาดอายุความหรือไม่ ศาลเห็นว่า สิทธิ เรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จะเกิดขึ้นเมื่อได้มีการเลิกสัญญาจ้าง ไม่ว่าจะโดยฝ่ายลูกจ้างหรือนายจ้างก็ตาม ตราบใดยังไม่ได้ทำการเลิกสัญญาจ้าง ลูกจ้างหามีสิทธิเรียกร้องไม่

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยที่ 2 พ้นสภาพ จากการเป็นลูกจ้างของโจทก์เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2563 การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน อันเป็นการใช้สิทธิเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี จึงยังไม่พ้นกำหนดเวลา 2 ปี สิทธิเรียกร้องสำหรับค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปีของ จำเลยที่ 2 จึงยังไม่ขาดอายุความ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 นั้น ยื่นเมื่อเกินกว่า 2 ปีแล้วจึงขาดอายุความ

ส่วนประเด็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 (พนักงานตรวจแรงงาน) ฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลายหรือไม่ ศาลเห็นว่า เพื่อพิจารณาตาม มาตรา 90/12 ไม่มีกำหนดห้ามไม่ให้ลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อจะบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ

ดังนั้น แม้ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทโจทก์ไว้พิจารณาลูกจ้าง หรือจำเลยที่ 2 ก็สามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อขอให้บังคับโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อน ประจำปีพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างได้ และพนักงานตรวจแรงงานก็มีอำนาจออกคำสั่งได้

ทั้งนี้ ไม่ว่าลูกจ้างจะได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้เดียวกัน ในคดีที่เจ้าหนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการหรือไม่ก็ตาม ซึ่งการจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุด พักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานให้แก่นายจ้างย่อมเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้า ตามปกติของนายจ้างสามารถดำเนินต่อไปได้ จึงไม่มีลักษณะเป็นการขัดต่อมาตรา 90/12 (9) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483

ดังนั้น จึงไม่ต้องห้ามจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน และจำเลยที่1 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน จึงชอบที่จะรับคำร้องและมีคำสั่งตามกฎหมายไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย

ประเด็นว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจที่ 370/2565 หรือไม่ ศาลเห็นว่า วันหยุดพักผ่อนประจำปี 2557 ถึงปี 2559 เกิดขึ้นในขณะที่โจทก์ยังคงมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาใช้บังคับ และมาตรา 4 (2) ไม่ให้นำมาใช้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 (พนักงานตรวจแรงงาน) จึงไม่มีอำนาจสอบสวน ข้ออ้างของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 370/2565 ที่สั่งให้โจทก์ (บริษัท การบินไทยฯ) จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบกรณีมีเหตุเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

ประเด็นว่าโจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ ศาลเห็นว่า โจทก์มีระเบียบว่าด้วยการ บริหารงานบุคคล ตอนที่ 1 สิทธิและหน้าที่โดยทั่วไปของพนักงาน พ.ศ.2539 ข้อ 9.1 ระเบียบดังกล่าวถือเป็นสภาพการจ้าง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจำเลยที่ 2 ไม่ใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามที่ระเบียบกำหนด จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2557 ถึงปี 2559 ที่เกินกว่าระเบียบได้ ข้ออ้างของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น

แต่โจทก์จะต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่นั้น ได้ความว่า โจทก์มีระเบียบของโจทก์ว่าด้วย การบริหารงานบุคคล ตอนที่ 1 สิทธิและหน้าที่โดยทั่วไปของพนักงาน พ.ศ.2539 ข้อ 9.1 และ ประกาศ 020/2558 เรื่อง การดำเนินการวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 ถือเป็นการใช้อำนาจของนายจ้างในการบริหารจัดการเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการการกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่มีอยู่ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ใช้สิทธิ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 สละสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2557 ถึงปี 2559 แล้ว โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อน ประจำปีในปี 2557 ถึงปี 2559 ให้แก่จำเลยที่ 2

ส่วนกรณีตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ขอให้บังคับให้โจทก์จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำปีและดอกเบี้ยนั้น ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ฟ้องแย้งที่เกี่ยวกับการเพิกถอนคำสั่งที่โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งโจทก์

พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ 370/2565 เฉพาะในส่วนที่สั่งให้โจทก์ (บริษัท การบินไทยฯ) โดยผู้บริหารแผนจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อน ประจำปีให้แก่จำเลยที่ 2 (อดีตพนักงานการบินไทย) เป็นเงิน 125,806.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 25/4/2567 

เผย 10 ประเทศ และตำแหน่งงาน คนไทยไปทำมากสุด

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยข้อมูลของ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศทั่วโลก รวม 138,021 คน จำแนกเป็นเพศชาย จำนวน 102,922 คน และเพศหญิง จำนวน 35,099 คน

10 ประเทศที่แรงงานไทยไปทำงานมากที่สุด

  1. ไต้หวัน 55,675 คน
  2. สาธารณรัฐเกาหลี 21,507 คน
  3. ญี่ปุ่น 15,949 คน
  4. รัฐอิสราเอลประมาณ 24,000 คน
  5. มาเลเซีย 6,022 คน
  6. สาธารณรัฐสิงคโปร์ 3,836 คน
  7. สาธารณรัฐโปรตุเกส 2,156 คน
  8. ฮ่องกง 1,836 คน
  9. ฮังการี 1,759 คน
  10. แคนาดา 1,610 คน

10 ตำแหน่งแรงงานไทยไปทำมากที่สุด

  1. คนงานเกษตร
  2. คนงานอุตสาหกรรมทั่วไป
  3. ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ
  4. กรรมกรหรือคนงาน
  5. นวดแผนโบราณ
  6. คนงานทั่วไป
  7. ผู้ปฏิบัติงานก่อสร้างอื่น ๆ
  8. ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
  9. ช่างเชื่อม
  10. คนงานผลิตผลิตภัณฑ์ พลาสติก

นายไพโรจน์กล่าวด้วยว่า จากเหตุการณ์การสู้รบระหว่างอิหร่านและอิสราเอล ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเดินทางกลับเข้าไปทำงานที่อิสราเอลของแรงงานไทยนั้น ในส่วนของกระทรวงแรงงานผมได้สั่งการให้ทูตแรงงานไทยที่ไปประจำการอยู่ที่สำนักงานแรงงานในต่างประเทศ เร่งหาตลาดแรงงานใหม่เพื่อทดแทนโดยเร็ว

พร้อมหาตำแหน่งงานในประเทศของตนเพิ่มเพื่อทดแทนตลาดแรงงานไทยในอิสราเอลที่ประสบปัญหาไม่สามารถจัดส่งแรงงานเข้าไปทำงานได้ในขณะนี้ โดยให้ดำเนินงานขับเคลื่อนเชิงรุก เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนไทยได้ไปทำงานในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศอื่น ๆ มากขึ้น นอกเหนือจากอิสราเอล เนื่องจากอิสราเอลเป็นประเทศที่มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากที่สุดเป็นอันดับที่สี่ และอาจส่งกระทบต่อตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศในอนาคต

“ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการดูแล และช่วยเหลือแรงงานไทยในต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการขยายตลาดแรงงานไทย เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานให้กับแรงงานไทย

โดยมอบนโยบายสำคัญให้ทูตแรงงานในต่างประเทศนอกจากจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ดูแลแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศให้ได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองแล้ว ยังจะต้องทำหน้าที่ขยายตลาดแรงงานให้กว้างขึ้นควบคู่ไปด้วย โดยต้องใช้ทักษะ ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของตนเองในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการตัดสินใจในแต่ละเรื่องต้องมีความละเอียดรอบคอบ เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ” นายไพโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงแรงงาน มีสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ จำนวน 12 แห่ง 11 ประเทศ ได้แก่ 1)สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย (กรุงริยาด) 2) ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 3) สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น 4) สำนักงานแรงงาน ณ เมืองฮ่องกง 5) สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) กรุงไทเป 6) สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) สาขาเมืองเกาสง 7) สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย 8) สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ 9) สำนักงานแรงงานในประเทศบรูไน สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน 10) ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล 11) ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี และ 12) ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/4/2567 

พนักงานขนส่ง ร้องบริษัทลดค่าจ้างโดยไม่แจ้ง หากไม่พอใจให้ไปลาออก

24 เม.ย. 2567 เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ถนนเทพารักษ์ ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมือง สมุทรปราการ มี "พนักงานขนส่ง" พัสดุบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรปราการ กว่า 70 คน เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ฯ เพื่อร้องขอความเป็นธรรม

หลังถูกปรับเรทเงินค่าจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้า และหาก "พนักงาน" รับข้อตกลงไม่ได้ ก็จะให้ออกจากงาน โดยไม่มีการพูดคุยเรื่องการจ่ายค่าชดเชย ทำให้พนักงานหลายคนเกรงว่า จะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง จึงเดินทางมาขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่สวัสดิการ และคุ้มครองแรงงานสมุทรปราการ

หนึ่งใน "พนักงาน" บริษัท อายุ 33 ปี (ขอสงวนนาม) กล่าวว่า ตนและพนักงานอีกหลายคน เดินทางมาที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เพราะถูกบริษัทเลิกจ้างกะทันหัน เมื่อวานนี้ 23 เม.ย. 2567 เมื่อช่วงเวลาประมาณหนึ่งทุ่ม ทางตัวแทนบริษัทเดิม มาบอกพวกตนว่า บริษัทจะขายให้แฟรนไชส์ และแฟรนไชส์ จะปรับราคาค่าจ้างลง จากเดิมจะได้อยู่ที่ประมาณ 30,000 บ. ก็จะเหลืออยู่ที่ 20,000 บาท โดยไม่บอกล่วงหน้า

และหากใครที่รับข้อตกลงนี้ไม่ได้ จะไม่ทำงานร่วมกับแฟรนไชส์ ทางบริษัทก็จะยกเลิกสัญญาจ้างทุกคน ตนและ "พนักงาน" มองว่าไม่เป็นธรรม จึงเดินทางมาที่นี่ ซึ่งทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ก็ส่งตัวแทนมารับฟังปัญหา และให้คำปรึกษาว่า ให้ไปทำหนังสือคัดค้านกับนายจ้างก่อน หากตกลงกันไม่ได้อีกให้มายื่นคำร้องอีกครั้ง

ขณะที่เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ที่ "พนักงาน" เดินทางเข้ามานั้น มาในเรื่องถูกย้ายสถานที่ทำงานและเรื่องถูกปรับลดค่าแรง โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ซึ่งยังไม่ได้มีการยื่นคำร้องแต่อย่างใด เบื้องต้น ทางเจ้าหน้าที่ได้ให้คำปรึกษาเบื้องต้นไปกับพนักงานแล้ว หากระหว่างนี้ยังตกลงกับนายจ้างไม่ได้ วันที่ 28 เม.ย. 2567 ก็แนะนำให้พนักงานรวมตัวกันมายื่นคำร้อง

ซึ่งหลังจากเจ้าหน้าที่รับเรื่องแล้ว ก็จะเชิญนายจ้างเข้ามาสอบถามข้อเท็จจริงอีกครั้ง เพื่อรับฟังปัญหาของทั้ง 2 ฝ่าย และจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมายแรงงานต่อไป

ที่มา: คมชัดลึก, 24/4/2567

กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเตรียมคนพิการสู่ตลาดแรงงาน

นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กล่าวในการเป็นประธานเปิด “การประชุมเชิงปฏิบัติการการเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพของคนพิการ เพื่อส่งเสริมอาชีพด้าน Social Commerce” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการมีจำนวนกว่า 2.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 3.39 ของประชากรทั่วประเทศ เป็นคนพิการวัยแรงงานจำนวน 863,195 คน หรือร้อยละ 38.53 ดังนั้น พก.จึงได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนงาน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย 2.การค้นหาคนพิการเพื่อขึ้นทะเบียนคนพิการให้ได้รับสิทธิสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด และ 3.การลดการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยการส่งเสริมให้มีการจ้างงานคนพิการมากขึ้นทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้การสร้างโอกาส สร้างอาชีพให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ พก.ได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ในการเตรียมความพร้อมคนพิการเพื่อรองรับตลาดแรงงาน หรือเข้าสู่ระบบการจ้างงาน การสร้างอาชีพทางเลือกสำหรับคนพิการ การพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อการต่อยอดอาชีพในการสร้างรายได้เพิ่ม และการสนับสนุนการรวมกลุ่มประกอบอาชีพของคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ โดยให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการสามารถประกอบอาชีพได้

อธิบดี พก.กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการใน 3 ประเด็นดังกล่าว สามารถส่งเสริมให้คนพิการและครอบครัวคนพิการมีอาชีพ มีรายได้ที่เป็นรูปธรรม ผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายและองค์กรที่มีความรู้ความสามารถ จะทำให้คนพิการและครอบครัวคนพิการอยู่ในสังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งการพัฒนาศักยภาพคนพิการและผู้ดูแลคนพิการในครั้งนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมคนพิการ เพื่อส่งเสริมอาชีพด้านดิจิทัล ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการให้มีความมั่นคงด้านอาชีพ สร้างโอกาสให้คนพิการได้แสดงศักยภาพและความสามารถให้สังคมได้รับรู้

ที่มา: ไทยรัฐ, 24/4/2567 

ครม.รับทราบรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาการฝึกงานของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา

วันที่ 23 เม.ย. 2567 นายคารม กล่าวว่าคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมวุฒิสภาเห็นว่า การฝึกงานเป็นการจัดระบวนการเรียนรู้เพื่อฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้ที่เรียนมาใช้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา โดยการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาฝึกงานไม่มีลักษณะเป็น “ลูกจ้าง” ตามสัญญาจ้างแรงงาน มีวัตถุประสงค์ในการทำงานเพื่อเป็นการฝึกปฏิบัติงานโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของ “การศึกษาเพื่อให้สำเร็จตามหลักสูตร” เท่านั้น จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานเช่นเดียวกับลูกจ้าง และปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาฝึกงานในระดับอุดมศึกษาโดยตรง ปัญหาการฝึกงานของนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมอย่างเป็นทางการ เป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญที่จะต้องหาแนวทางการแก้ไข เพื่อให้เกิดการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ 4 ประเด็น ดังนี้

1. สิทธิของนักเรียน นิสิตและนักศึกษาฝึกงาน การกำหนดค่าตอบแทนเป็นเบี้ยเลี้ยง การจัดทำประกันอุบัติเหตุการมีสวัสดิการขั้นพื้นฐานในที่ทำงานแก่ผู้รับการฝึกอบรมฝีมือแรงานและผู้ฝึกงานอาชีวศึกษาแต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองนักศึกษาฝึกงานระดับอุดมศึกษาโดยตรง ซึ่งหากกรณีมีปัญหาเกิดขึ้นโดยเฉพาะกรณีค่าตอบแทน การประสบอันตราย หรือการเจ็บป่วยจากการฝึกปฏิบัติงานอาจต้องเทียบเคียงจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งย่อมจะเอิดความยุ่งยากหรือเกิดปัญหาการตีความซึ่งจะทำให้นักศึกษาฝึกงานไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม

2. การคุ้มครองนักเรียน นิสิตและนักศึกษาฝึกงาน เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาฝึกงานได้รับความคุ้มครองตามฎหมาย นั้น นักเรียนระดับอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ออกประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การฝึกงานหลักสูตรการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพในสถานประกอบการ พ.ศ. 2565 เรียบร้อยแล้ว ส่วนนักศึกษาระดับปริญญาตรีควรมอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องการกำหนดมาตรฐานการส่งนักศึกษาที่เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการเพื่อให้นักศึกษาได้รับการคุ้มครองในระหว่างการฝึกงาน ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานกลาง เพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแต่ละแห่งจัดทำเป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานการส่งนักศึกษา เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการและการคุ้มครองนักศึกษาระหว่างการฝึกงานให้เหมาะสมกับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยกระทรวงแรงงาน สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของนักศึกษาฝึกงาน ให้สอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน

3. ปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ควรสร้างและรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ปราศจากการล่วงละเมิดทางเพศด้วยการสร้างความตระหนักการสร้างความรู้ความเข้าใจ การกำหนดมาตรการป้องกันและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น และตำเนินการเมื่อเกิดกรณีการร้องเรียนเรื่องการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศอย่างทันท่วงที รวมทั้งการจัดสภาพแวดล้อมและมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศขึ้น

4. ข้อเสนอการยกระดับการคุ้มครองการฝึกงานในประเทศไทยของศูนย์วิจัยเฉพาะทางสหวิทยาการด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรม ศูนย์วิจัยเฉพาะทางสหวิทยาการด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมร่วมกับอีกหลายหน่วยงานในภาคีได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการฝึกงาน พ.ศ. .... เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองและรักษาสิทธิประโยชน์ที่ควรได้ ในฐานะลูกจ้างคนหนึ่ง โดยสถาบันอุดมศึกษาอาจอนุญาตให้บุคลากรและผู้เรียนไปปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ ได้ตามระเบียบที่สภาสถาบันอุดมศึกษากำหนดตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ดั้งนั้น สภาสถาบันอุดมศึกษา อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรกำหนดระเบียบการฝึกงานหรือเงื่อนไขหลักเกณฑ์การฝึกงานของนักเรียน นักศึกษาฝึกงาน ให้ครอบคลุมเนื้อหาและรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 23/4/2567 

สหพันธ์ขนส่ง ขีดเส้นตาย 7 วัน ขอพบนายก ลั่นพร้อมยกระดับถ้าไม่ได้รับการตอบรับ

นายศุภศักดิ์ รุ่งเจิดฟ้า ที่ปรึกษาสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมฯ อยู่ระหว่างประสานส่งหนังสือขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี หลังจากราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นมากว่า 1 บาทแล้ว ส่งผลต่อธุรกิจขนส่งโดยตรง ซึ่งจากนี้จะรออีก 1 สัปดาห์ หากไม่มีการตอบรับขอเข้าพบ ทางสมาคมฯ จะหารือร่วมกันอีกครั้งว่าจะมีการกดดันอย่างไรต่อไปเพื่อแสดงออกถึงความเดือดร้อน

“จุดประสงค์ในการเข้าพบนายกฯ ครั้งนี้ ต้องการเพียงขอความชัดเจนในเรื่องการปรับขึ้นราคาน้ำมันเท่านั้น ว่าทั้งปี 2567 นี้ จะมีการปรับขึ้นอีกกี่ครั้ง ครั้งละเท่าใดบ้าง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยเฉพาะภาครัฐจะสามารถช่วยประคองราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับปัจจุบันต่อไปได้อีกนานเท่าใด จึงจะมีการปรับขึ้นอีก เพราะสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ที่คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น แต่ก็สูงขึ้นเพียงระยะสั้นเท่านั้น รวมถึงเห็นการปรับลดลงแล้วด้วย จึงมองว่าการปรับราคาน้ำมันสูงขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ดีมากนักในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่บางส่วนเป็นผู้ประกอบการด้วย”

นายศุภศักดิ์ กล่าวว่า การปรับขึ้นของราคาน้ำมัน 1 บาท เท่ากับเพิ่มต้นทุนขึ้นมาประมาณ 3% คิดจากต้นทุนเชื้อเพลิงของธุรกิจขนส่งที่ตามจริงต้องไม่เกิน 40% แต่ขณะนี้ขึ้นมาอยู่ที่ 55% แล้ว หากรวมกับการจ้างพนักงานที่คิดเป็นต้นทุนอีก 12% เท่ากับผู้ประกอบการแทบไม่เหลืออะไรเลย ทำให้ขณะนี้เมื่อผู้ประกอบการไม่สามารถสะท้อนต้นทุนไปยังราคาขายได้ ก็ต้องหยุดวิ่งไป เพราะแบกรับภาระไม่ไหว โดยตอนนี้ประเมินว่า จำนวนรถบรรทุกทั่วประเทศ มีกว่า 1 ล้านคัน เดิมคาดว่ามีการวิ่งงานอยู่ประมาณ 70% แต่พอหลังสงกรานต์ผ่านมา คาดว่ารถที่วิ่งงานอยู่จะลดลงเหลือ 60% เท่านั้น เพราะผลกระทบจากราคาน้ำมันเป็นหลัก ทำให้วิ่งงานแล้วไม่เหลืออะไรเลย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 22/4/2567 

เปิดพื้นที่ให้ชาวฟรีแลนซ์ ดีลงานผ่านแพลตฟอร์ม “คนทํางาน.doe.go.th”

กรมการจัดหางาน ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม “คนทำงาน” ให้เป็นแหล่งบริการงานอาชีพอิสระ ครอบคลุมทุกอาชีพใน 10 หมวดงานหลัก ประกอบด้วย 1.Graphic & Design 2.การตลาดและโฆษณา 3.พิมพ์/เขียน/แปลภาษา 4.ภาพและเสียง 5.Web & Programming 6.ปรึกษาและแนะนำ 7.การให้บริการ 8.รับจัดทำสินค้าและอาหาร 9.งานช่างนอกสถานที่ 10.การสอน โดยให้บริการผ่านเว็บไซต์ “คนทํางาน.doe.go.th”

ทั้งนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ที่ต้องการใช้ทักษะความสามารถหารายได้เสริมมาประกาศรับจ้างทำงาน รวมทั้งผู้ว่าจ้างสามารถค้นหาผู้รับงานอิสระที่ตรงตามความต้องการ

การให้บริการดังกล่าว “ไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการ” จากแพลตฟอร์ม และมีความปลอดภัย เนื่องจากผู้รับงานอิสระและผู้ว่าจ้างผ่านการลงทะเบียนและยืนยันตัวตน ผ่านระบบ Single Sign-On ของภาครัฐ

คนทำงานอิสระ “ลงประกาศงานง่าย ๆ” ใน 4 ขั้นตอน :

1.ลงทะเบียนเป็นผู้รับงานอิสระ : กรอกข้อมูลส่วนตัว สำหรับยืนยันตัวตนให้ครบถ้วน (**หากมีหนังสือผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมสามารถแนบเพิ่มได้) และ /หรือยืนยันตัวตนที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ในพื้นที่ที่อยู่ปัจจุบันที่ลงทะเบียนไว้ เพิ่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ผู้ว่าจ้าง

2.นำเสนอตัวเอง : อธิบายตัวตนที่เกี่ยวข้องกับงานให้โดดเด่น เช่น ประวัติการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน ทักษะความสามารถ รางวัล ใบประกาศ เพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงาน

3.ลงประกาศงาน : เลือกหมวดหมู่งานหลัก ระบุรายละเอียด อัปโหลดรูปผลงาน ขั้นตอนทำงาน กำหนดราคาและวิธีการส่งงาน ส่งประกาศงานตรวจสอบผ่านระบบ หากตรงตามเงื่อนไข จะอนุมัติประกาศงาน ภายใน 2 วันทำการ

4.ประกาศงานเผยแพร่บนแพลตฟอร์ม "คนทำงาน"

สำหรับผู้ว่าจ้าง “จ้างงานง่ายๆ” 6 ขั้นตอน :

1.ค้นหาผู้รับงานอิสระที่ถูกใจ : พิจารณาจากผลงาน และรีวิว

2.ลงทะเบียนเข้าใช้งาน : กรอกข้อมูลส่วนตัว สำหรับยืนยันตัวตนให้ครบถ้วน **หากมีหนังสือผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมสามารถแนบเพิ่มได้ และ/หรือยืนยันตัวตนที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ในพื้นที่ ที่อยู่ปัจจุบันที่ลงทะเบียนไว้ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

3.สื่อสาร / สอบถามรายละเอียดผ่านช่องทาง chat ของระบบ

4.สร้างใบเสนอราคา – ผู้รับงานอิสระสร้างใบเสนอราคา หากถูกต้องแล้ว กดปุ่ม "อนุมัติใบเสนอราคา"

5.รอผู้รับงานอิสระส่งงาน

6. ให้เรตติ้งและรีวิวงานที่จ้าง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป

ที่มา: ไทยคู้ฟ้า, 22/4/2567 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net